“Wenique” ผู้ร้ายสายแคร์โลก ที่ชอบหยิบขยะมาทำสินค้าแฟชั่น แม้แต่เศษประทัดแก้บนไอ้ไข่

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : เจษฎา ยอดสุรางค์





Main Idea
 
 
บทเรียนธุรกิจฉบับ “Wenique”
 
 
  • ไม่อยากถูกเอาเปรียบต้องสร้างแบรนด์ของตัวเอง
 
  • ไม่ยึดติด ทำธุรกิจเหมือนเชฟ หยิบสิ่งต่างๆ มาปรุงในสไตล์ตัวเอง
 
  • กระจายความเสี่ยงสู่งาน OEM เพื่อไปต่อได้ในวิกฤต
 
  • ชีวิตต้องสมดุล ทั้งธุรกิจ ครอบครัว และส่วนตัว
 
  • ทำธุรกิจต้องมีวินัยและยึดมั่นในสิ่งที่ทำ
 
  • ต้องเป็นคนที่มีน้ำใจและเสียสละ ธุรกิจถึงจะโตต่อไปได้
 


 
 
     “คนอาจจะมองว่า Wenique เป็นผู้ร้าย แต่สุดท้ายเราจะช่วยโลก”


     นี่คือคำของ “ธนธร ชนัฐทรงพล” CEO บริษัท ไบรท์คูณสอง จำกัด เจ้าของแบรนด์ Wenique (วีนีค) ที่ประกาศก้องในวันเริ่มต้นธุรกิจ โดยหยิบเอายางในรถสิบล้อ ถุงกระสอบ พลาสติกไบโอ กระดาษคราฟท์ หนังวัชพืช ฯลฯ สารพัดวัสดุเหลือทิ้ง มาสร้างสรรค์เป็นของดีไซน์สุดคูล ที่แจ้งเกิดในตลาดนัดรถไฟรัชดาเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน  และส่งขายเมืองนอกเมืองนามาแล้ว  


     เบื้องหลังคนทำธุรกิจบู๊เด็ดเผ็ดมันกว่าที่คิด ที่สำคัญเขายังเป็นผู้ประกอบการในวัยไม่ถึง 30 ปี ผู้เริ่มธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ด้วยซ้ำ  




 
จากเด็กดื้อ ล้มเหลว ถูกหลอก สู่เจ้าของธุรกิจ   


     ธนธร เกิดในครอบครัวคนจีน เขาชอบทำงานหาเงินเองตั้งแต่เด็ก เพราะถูกสอนว่า “เรียนให้เป็นเวลา เล่นให้เป็นการค้า” เลยทำมาหมด ตั้งแต่ชกมวย เทควันโด เตะบอลชิงเงินรางวัล ทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างเรียน เป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร ทำงานในผับ เป็นบาร์เทนเดอร์ เด็กโบกรถในคาร์แคร์ ฯลฯ เขาชอบทำงานมากกว่าเรียนหนังสือ จนเรียน ม.ปลายไม่จบ ต้องย้ายมาเรียนพาณิชย์ภาคค่ำ ก่อนจะมาต่อที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและได้ปริญญาเหมือนคนอื่นเขา แต่ระหว่างเรียนก็ยังสนุกกับการทำงาน


     จนวันที่ตลาดนัดรถไฟรัชดาเปิดตัวขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปี ก่อน นักศึกษาธนธรก็เลือกมาเช่าแผงเล็กๆ เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง  โดยเริ่มจากนำเข้าของจากเมืองจีนจำพวก Gadget และโดรนมาขาย ขายถ่านคาร์บอเนต หลังจากนั้นผู้เป็นพ่อก็แนะนำให้รู้จักกับเพื่อนที่ทำกระเป๋าจากวัสดุรีไซเคิล นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้รู้จักกับสินค้ารักษ์โลก และได้บทเรียนในการทำธุรกิจเป็นครั้งแรก    


     “ผมรู้สึกว่าถูกเขาเอาเปรียบเยอะมาก ผมเองเคยโลภมาก่อนแต่พ่อผมสอนจนผมเข้าใจแล้ว แต่ผู้ใหญ่ท่านนี้เขากำลังเอาเปรียบผม ตอนนั้นเหมือนผมต้องไปช่วยซื้อพวกกระเป๋ากระดาษ ถุงกระสอบที่เขาต้องการจะโละ ไม่มีแบรนด์ไม่มีอะไรเลย แล้วมาช่วยเขาขาย ซึ่งตอนแรกๆ มันขายไม่ออกอยู่แล้ว เพราะมันยังใหม่มากๆ ในตอนนั้น ร้านของผมเองก็อยู่ในมุมมากๆ แต่ผมเชื่อมั่นในตลาดนัดรถไฟรัชดา หลังๆ พอเริ่มขายดีขึ้นเขาก็เริ่มขึ้นราคาสินค้า ตอนที่ขายไม่ดีเขาก็ขึ้น จนผมรู้สึกว่าราคาไม่เป็นธรรม เหมือนเขาบีบให้ผมเหลือกำไรนิดเดียว ตอนนั้นผมทำอะไรไม่เป็น เก็บกดมาก เลยปรึกษาคุณพ่อ พ่อบอกมีเงินเก็บอยู่เท่าไหร่ไปซื้อจักรมาแล้วนั่งเย็บเองเลยที่บ้าน ตอนนั้นผมเหลือเงินไม่เยอะ เพิ่งเลิกกับแฟน จะแย่แล้วพูดตรงๆ ผมมีแค่ร้านที่ดีที่สุด ในทำเลที่ผมอยากเก็บไว้แค่นั้นเอง ผมเลยต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มีรายได้เข้ามา”


     ไม่อยากถูกเอาเปรียบก็ต้องหยุดซื้อมาขายไป แต่ต้องหันมาสร้างแบรนด์ของตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Wenique ที่มาจากส่วนผสมของคำว่า "We" และ "Unique" ให้ความหมายว่า "เราที่ไม่เหมือนใคร" แบรนด์รักษ์โลกที่เริ่มต้นจากการลองผิดลองถูกและรอยช้ำของเด็กหนุ่มในวันนั้น




 
นักปรุงอาหารที่หยิบวัสดุรอบตัวมาสร้างสรรค์สินค้าใหม่



     “ผมนั่งคิดอยู่ตั้งนานว่าจะทำยังไงให้แตกต่างจากคนอื่น เพราะแต่ละเจ้าเขาชัดเจนมาก อย่าง แบรนด์นี้ทำกระเป๋าถุงกระสอบ แบรนด์นี้ทำจากยางในสิบล้อ ผมเลยเกิดไอเดียว่า วีนีคนี่แหละจะเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง ผมจะเอาวัสดุทุกอย่างมารวมที่ผม โดยผมจะเป็นเหมือนเชฟทำหน้าที่ปรุงวัตถุดิบออกมาให้เป็นดีไซน์ในแบบของผมเอง  โดยไม่จำกัดตัวเองว่าจะทำจากวัสดุอะไร ผมรู้สึกว่าแบบนี้มันจะไม่มีทางตาย เพราะมันไม่จำกัด เป็นการทำงานที่ยืดหยุ่นมาก”


     ธนธร บอกว่าเขาสนใจนำขยะและของที่คนไม่ค่อยเห็นคุณค่ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใจลึกๆ คืออยากช่วยโลกเพราะมองเห็นว่าของแบบนี้ดี และในต่างประเทศก็กำลังมา จึงเริ่มมาศึกษาและเริ่มเข้าใจคำว่า Recycle การนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ Upcycling การแปลงสภาพของวัสดุหรือสิ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม และการสร้างมูลค่าเพิ่ม เริ่มอินและหลงรัก จนคิดถึงเรื่องธุรกิจน้อยลง แต่รักษ์โลกมากขึ้น มองเห็นคุณค่าของการสร้างงานสร้างอาชีพให้คน และได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยโลกใบนี้


     “บางคนบอกว่าวีนีคเหมือนเป็นผู้ร้าย เพราะเหมือนเราจะรักษ์โลกแต่จริงๆ เราก็เอาวัสดุอย่างอื่นเข้ามาเสริมด้วยเพื่อให้อยู่รอดเพื่อปากท้อง บางคนอาจจะมองว่าอย่างนี้ก็ไม่รักษ์โลกจริงนี่ ผมเลยจะขอเป็นแบรนด์ที่ไม่พูดในมุมรักษ์โลก แต่จะเป็นมุมดาร์กๆ เป็นผู้ร้ายได้ไหม แล้วมาดูกันตอนท้าย วีนีคอาจดูเป็นผู้ร้าย แต่สุดท้ายเราจะช่วยโลก” เขาว่า




 

จากแฟชั่นวัสดุธรรมชาติ สู่ไอเดียเครื่องรางจากเศษประทัดไอ้ไข่



     เพราะไม่เคยจำกัดตัวเองและมองทุกอย่างเป็นโอกาสอยู่เสมอ วันนี้เราเลยได้เห็นไอเดียการนำเศษประทัดไอ้ไข่ ผลพวงจากแรงศรัทธาของมหาชน มาทำเป็นเครื่องรางในสินค้าที่คนต้องใช้


     “ผมคุยกับพี่ พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ  แบรนด์ KEAPAZ ที่ทำหนังจากวัชพืชและวัสดุธรรมชาติ ปรึกษาแกเรื่องการเอาประทัดไอ้ไข่มาทำเป็นผืนผ้า เพราะผมเห็นเลยว่าแต่ละวันมีเศษประทัดที่เหลือทิ้งจากการแก้บนเยอะมาก ผมจะเอาไปดีไซน์ต่อเป็นพวกซองใส่โทรศัพท์ ซองใส่เหรียญนำโชค และซองใส่เงิน ที่คนใช้ได้จริง เบื้องต้นจะลองทำออกมาเพื่อทดสอบตลาดดูก่อน มันเป็นสินค้าเครื่องรางที่ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เหมือนห้อยพระส่วนตัวเลยแต่เป็นพระอีกรูปแบบนึง และเชื่อว่าสายกรีนจะต้องชอบแน่นอน ซึ่งหากทำตัวนี้สำเร็จผมยังเห็นโอกาสที่จะเข้าไปตามวัดต่างๆ เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ โดยจะเอาพวกเศษประทัด รวมถึงดอกไม้ต่างๆ ที่ตกอยู่ในวัดที่เป็นภาระต้องเก็บไปทิ้ง มาดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์โดยเราจะแบ่งรายได้ให้กับทางวัด รวมถึงให้ทางวัดนำไปเป็นเครื่องรางจำหน่ายในวัดได้อีกด้วย”


     แผนต่อไปคือการขยายธุรกิจไปงานรับจ้างผลิตเพิ่มมากขึ้นทั้งแบบ OEM  และ  ODM เพื่อให้โรงงานเล็กๆ ยังทำงานได้อย่างต่อเนื่อง หลังต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 ที่เขานิยามว่า ไม่ใช่แค่ฟ้าผ่าแต่พายุยังซ้ำเข้ามาด้วย
“ผมบอกพ่อว่าวิกฤตครั้งนี้เหมือนฟ้าผ่า แต่พ่อผมบอกว่ามันมีพายุเข้ามาด้วย ตอนนั้นผมไม่ได้เตรียมแผนสองอะไรเลย ตั้งแต่ทำธุรกิจมาไม่เคยล้มได้เงินเข้าตลอด แต่พอถึงจุดนี้พ่อสะกิดว่าหน้ากากกำลังมานะ เพื่อนๆ ก็ถามว่าเรามีโรงงานแล้วไม่ทำหน้ากากขายเหรอ สมัยก่อนผมก็ยังยึดติดอยู่ว่าเราเป็นโรงงานทำกระเป๋าและต้องรักษ์โลกนะ ยังสลัดไม่หลุด มันงงไปหมด แต่พอโควิดเข้ามา เริ่มเห็นสัญญานแปลกๆ คนเริ่มเดินน้อยลง ผมก็ปรับตัวมาทำหน้ากากขาย ซึ่งเราส่งออกไปอเมริกาด้วย จากนั้นก็มาคิดว่าเราต้องหาอาชีพเสริม ก็ชวนน้องในทีมว่าเรามาทำอาหารขายกันเถอะ ตอนนั้นอาหารออนไลน์กำลังบูม ก็ไปซื้ออุปกรณ์มาทำกันที่บ้าน สุดท้ายมาจบที่ทำน้ำตาลสดขาย ช่วงสงกรานต์ที่เขาหยุดก็ไปขายตามฟุตบาท  ขนทั้งหน้ากาก ทั้งน้ำไปขาย ขายได้บ้างไม่ได้บ้างก็สนุกดี โดนตำรวจจับล็อคล้อเพราะไปจอดที่ห้ามจอดก็มี สุดท้ายเราก็ผ่านวิกฤตมาได้ ตอนนี้ก็เลิกขายน้ำแล้ว” เขาเล่า





 

บทเรียนชีวิต ที่มีประสบการณ์ธุรกิจเป็นครูสอน



     ธนธร เริ่มธุรกิจตั้งแต่เด็ก ยังเป็นเด็กดื้อและใจร้อน ซึ่งนั่นสร้างความเจ็บปวดให้เขาอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่การตัดสินใจเร็วเพราะอยากไปให้ไวที่สุด สุดท้ายก็ต้องพลาดต้องสูญเสียในสิ่งที่ไม่ควรจะเสีย เคยทำแต่งานและคิดว่างานคือทุกอย่างในชีวิต สุดท้ายก็ต้องล้มเหลวในความรักและไม่มีแม้แต่สังคมหรือเพื่อนฝูง จนต้องมาเรียนรู้คำว่า “สมดุล” ใหม่ เคยถูกหลอก ถูกเอาเปรียบ แต่ทุกครั้งที่ชีวิตมีรอยแผลเขาจะเริ่มเรียนรู้ และทำทุกอย่างให้ดีขึ้น เริ่มใจเย็นลง และเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น


     “ที่ผ่านมาชีวิตสอนอะไรผมเยอะมาก โดยเฉพาะคำว่าวินัย การทำธุรกิจตั้งแต่เด็กเป็นการฝึกให้มีวินัยโดยที่ไม่มีใครมาสั่ง ผมต้องต่อสู้กับตัวเอง และต้องยึดมั่นในสิ่งที่ทำ อาจพักได้เหนื่อยได้บ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องไปต่อ เพราะเป้าหมายของผม คือผมจะทำทุกอย่างเพื่อทีมงาน ผมไม่มีตรงนี้ผมก็ยังมีข้าวกิน ยังมีชีวิตอยู่ แต่ผมต้องการทำเพื่อคนอื่น ผมเชื่อว่าเราต้องเป็นคนที่มีน้ำใจ และเสียสละธุรกิจถึงจะโตต่อไปได้” เขาบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้


     วันนี้วีนีคยังปักหลักอยู่ที่ตลาดนัดรถไฟรัชดา ที่ซึ่งเป็นเหมือนบ้าน เหมือนครอบครัว และเปิดโอกาสให้แบรนด์เล็กๆ อย่างพวกเขา ได้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ลูกค้าทั้งตลาดยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน ได้เรียนรู้การทำธุรกิจบนจุดยุทธศาสตร์แห่งนี้ ขณะที่สินค้ายังวางขายบนโลกออนไลน์ ส่งขายไปต่างประเทศ โดยมีกำลังผลิตงานยากๆ อย่างเป้ อยู่ที่ประมาณ  4 พันใบต่อเดือน


     เมื่อถามถึงสิ่งที่ยังอยากทำ ธนธรบอกแค่ว่า อยากเก่งภาษาอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพิ่ม เพราะเขาเชื่อว่าถ้ามีทักษะตรงนี้มาเติมเต็ม แบรนด์วีนีคจะบินไปได้ไกลกว่านี้ และสักวันก็คงไปถึงความสำเร็จในแบบที่เขาวาดหวังไว้  
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย