PHOTO : จอลลี่ แบร์

Main Idea
ทำธุรกิจฉบับ (ไม่) ลับ Jolly Bears
- ยืนหนึ่งเรื่องคุณภาพ และราคาย่อมเยา แม้จะมีสินค้าตัวเดียว แต่ก็สามารถครองใจผู้บริโภคได้
- มุ่งเน้นพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อช่วยในการประหยัดต้นทุน
- เมื่อตั้งธงธุรกิจไว้ในใจ กระบวนการดำเนินธุรกิจก็มีความชัดเจนขึ้น

ถ้าพูดถึงขนมกัมมี่แบร์หรือเยลลี่รูปหมีของไทย ไม่ว่าเด็กยุคนี้หรือเมื่อ 30 กว่าปีก่อน คงไม่มีใครไม่รู้จัก “Jolly Bears” เยลลี่ผสมรสผลไม้แบรนด์แรกของไทยเป็นแน่ แต่เคยคิดสงสัยกันไหมว่าแม้จะมีสินค้าอยู่เพียงชนิดเดียวมานานกว่าหลายสิบปี โดยเพิ่งมีการเพิ่มรสชาติออกมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทำไมแบรนด์ดังกล่าวจึงสามารถอยู่ได้ ที่สำคัญทำไมจึงยังสามารถขายได้ในราคาเริ่มต้นที่ซองละ 5 บาท ทั้งที่ปัจจัยต้นทุนแวดล้อมต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นทุกที ก่อนที่จะไปฟังคำตอบ ลองไปทำความรู้จักที่มาของเยลลี่รูปหมีสัญชาติไทยกันก่อน

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ จอลลี่ แบร์ มีจุดกำเนิดมาจากบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 โดยช่วงแรกนั้นเป็นการผลิตลูกอมแบบแข็ง (Hard Candy) ออกมาจำหน่ายก่อน ซึ่งเรียกว่าเป็นขนมที่ได้รับความนิยมค่อนข้างในเวลานั้น แต่ขณะเดียวกันคู่แข่งก็มากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปราวสิบกว่าปีธุรกิจดำเนินมาถึงมือของทายาทรุ่น 2 จึงได้มีการคิดค้นนำขนมรูปแบบใหม่เข้ามา ซึ่งก็คือ กัมมี่ หรือ เยลลี่ ลูกอมแบบเคี้ยวนุ่มหนุบๆ รูปหมีนามว่า จอลลี่ แบร์ นั่นเอง
แต่ด้วยความที่เป็นขนมตัวใหม่ ไม่เคยมีในท้องตลาดมาก่อน จึงทำให้ช่วงแรกนั้น จอลลี่ แบร์ ถูกปฏิเสธจากร้านค้าต่างๆ กระทั่งได้มีการตัดสินใจทำโฆษณาทางโทรทัศน์ออกมา (ถ้าใครเกิดทันคงพอจำกันได้กับสโลแกนคุ้นหู…นุ่มๆเหนียวๆ นุ่มๆ เหนียวๆ โอ่ จอลลี่แบร์…) จึงทำให้จากสินค้าใหม่ที่ไม่มีใครกล้าขาย กลายเป็นสินค้าขายดีจนแทบจะขาดตลาดในเวลานั้น


แม้จะดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาแบรนด์ไม่ค่อยมีการทำตลาดให้เห็นสักเท่าไหร่นัก แต่เคยคิดสงสัยไหมว่า เพราะเหตุใดเยลลี่รูปหมีดังกล่าวจึงสามารถเริ่มต้นขายได้ในราคาซองละ 5 บาทมานานกว่า 20 ปีตั้งแต่เริ่มขายราคาเท่านี้
นั่นเป็นเพราะว่าแบรนด์ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการผลิตมากกว่า ว่าทำอย่างไรจึงจะประหยัดต้นทุนได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถขายเริ่มต้นได้ในราคาซองละ 5 บาทเหมือนเดิม เพราะอยากให้เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยสิ่งที่แบรนด์นำมาใช้ ก็คือ การลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อสามารถผลิตได้ในปริมาณที่เยอะขึ้น ก็จะช่วยลดต้นทุนให้ถูกลงได้นั่นเอง


ปัจจุบัน จอลลี่ แบร์ ยังคงครองใจเด็กไทยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะมีคู่แข่งจากต่างประเทศอย่างแบรนด์ HARIBO เยลลี่สัญชาติเยอรมันเข้ามาตีตลาดอยู่บ้าง แต่ด้วยการเป็นสินค้านำเข้าจึงทำให้มีราคาสูงกว่า ซึ่งในเรื่องรสชาติความชื่นชอบอาจตัดสินกันไม่ได้อันไหนอร่อยกว่า เพราะแล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล

แต่สิ่งหนึ่งที่มองว่าจอลลี่ แบร์ น่าจะยังสามารถครองใจเด็กไทยไปได้อีกนานแม้จะไม่ทั้งหมด ก็คือ การเป็นเยลลี่ที่มีราคาย่อมเยากว่า เด็กๆ สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ซึ่งหากแบรนด์ยังคงรักษาคุณภาพและจุดยืนต่อไปเช่นนี้ได้ เชื่อแน่ว่าต่อให้ผ่านไปอีกสักกี่สิบปี เราก็จะยังได้เห็นเยลลี่สัญชาติไทยนี้อยู่ในท้องตลาดเมืองไทยต่อไปได้อีกยาวๆ แน่นอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี