รับมือกับ “ความล้มเหลว” ในแบบ พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ คนทำหนังวัชพืช ผู้ล้มได้แต่ตายไม่เป็น!

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : KEAPAZ




Main Idea

คิดแบบ “พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ”
 
  • วิกฤตเข้ามาเพื่อทำให้เราแข็งแรงขึ้น
 
  • ทำธุรกิจในยามยาก ต้องเลือกทำของที่ลงทุนต่ำสุด แต่ได้มูลค่าสูงสุด
 
  • คำว่า “คู่แข่ง” ในโลกธุรกิจคือ “ตัวเราเอง”
 
  • คนเราเกิดมาก็ต้องตาย ฉะนั้นจงใช้ชีวิตให้มีความสุข 





      “ถ้าเจอแบบพี่...คงฆ่าตัวตายไปแล้ว” คือคำที่อดีตเลขาบอกกับ “พลัฏฐ์ บุญพลอยเลิศ” ในตอนที่ยังทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัทญี่ปุ่น มีเงินเดือนเรือนแสน และต้องเจอกับวิกฤตชีวิตระลอกแรก  จากคนทำงานที่ประสบความสำเร็จ มีคอนโด 2 หลัง มีรถหลายคัน มีที่ในต่างจังหวัดเป็น 100 ไร่ มีมูลค่าสินทรัพย์นับ 10 ล้านบาท ทว่าวันหนึ่งทุกอย่างกลับพังทลายเป็นผุยผง  เมื่ออสังหาริมทรัพย์ที่คิดลงทุนทำต้อง “เจ๊ง” เพราะวิกฤตปี 2540 ต้องล้มละลาย กลายเป็นหนี้ ถูกขู่ฆ่า และต้องออกจากงาน





      นั่นคือจุดพลิกผันที่ทำให้เขาเดินเข้าสู่ถนนธุรกิจ มาทำหนังจากวัชพืช KEAPAZ (เคียพาส) ภายใต้ บริษัท คีอะพัช จำกัด เจ้าของสิทธิบัตรผ้าที่ออกแบบลวดลายโดยวัสดุธรรมชาติ ซึ่งอยู่เบื้องหลังผลงานของหลายๆ แบรนด์ในวันนี้


      ทว่าถนนเส้นนี้ไม่มีอะไรง่าย และวิกฤตก็ไม่เคยหายไปไหน แต่ยังแวะเวียนมาทักทายอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ทุกครั้งที่เจอเขาก็ยิ่งแข็งแกร่งและเก่งขึ้น ซึ่งนั่นคือ “ของขวัญ” ที่วิกฤตทิ้งไว้ให้กับเขา  
              

      เขาเรียนรู้ที่จะรับมือกับ “ความล้มเหลว” ที่ผ่านมาอย่างไร มาหาคำตอบกัน




              
              
ไม่เสียใจ ไม่โทษวาสนา วิกฤตเข้ามาเพื่อทำให้เราแข็งแรงขึ้น
           

      พลัฏฐ์ ผ่านช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตเมื่อวัย 30 ต้นๆ ขณะที่เพื่อนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ได้เงินเดือนหลักหมื่น แต่เขามีเงินเดือนหลักแสน แต่นั่นไม่เท่ากับการได้เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลแล้วมีคนยอมรับ ไม่ว่าจะเพื่อนพนักงานหรือแม้แต่เจ้านาย การได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับองค์กร และมีคนแคร์เมื่อวันที่ตัดสินใจลาออก เขาบอกว่านั่นคือความภูมิใจสูงสุดในชีวิต ..แต่ใครจะคิดว่าชีวิตที่บินสูงจะต้องมาเจอกับวิกฤตที่พังทลายทุกอย่างลงในชั่วข้ามคืน
              

      “ตอนนั้นผมอยู่ที่อมตะนคร มันตรงกับช่วงปี 2540 พอดี ผมตัดสินใจหาซื้อที่ดินด้านหลังเพื่อสร้างเป็นทาวน์เฮ้าส์ ราคาถูกขายให้กับคนงานแถวนั้น ตั้งใจจะทำประมาณ 50 หลัง และขึ้นโครงการไปแล้วกว่า 10 หลัง ผมใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ลงทุนทำอะไรต่อมิอะไรไปแล้ว แต่ปรากฏธนาคารไม่ปล่อยกู้ มันทำให้ธุรกิจผมพังหมด ต้องสูญเงินไปเป็น 10 ล้านบาท ตอนนั้นไปดูหมอทุกคนทักเหมือนกันหมดว่า ผมจะล้มละลาย แต่ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นตัวเองมาก แต่ก่อนหลงตัวเอง นิสัยไม่ดี เพราะเคยประสบความสำเร็จและเติบโตมาตลอด จนเจอวิกฤตต้องเจอสถานการณ์ที่โดนทวงหนี้ ถูกขู่ฆ่า มันกลุ้มใจไปหมด ตอนนั้นเรามีคอนโดอยู่ 2 หลัง มีรถหลายคัน มีที่อยู่ที่บุรีรัมย์ประมาณ 100 ไร่ กำลังจะเริ่มทำสวน ทำรีสอร์ต ก็ต้องปล่อยให้โดนยึดหมด  ตอนหลังโดนทวงหนี้จนเริ่มไม่ไหว บอกภรรยาว่าออกเถอะ เพราะไม่มีความสุขแล้ว”
                

      พลัฏฐ์ บอกว่าช่วงนั้นเป็นปีที่ยากลำบากมาก หลังออกจากงานมีเมนูไข่ทอดเป็นมื้อหลัก เดินเป็นกิโลๆ แทนขึ้นรถเมล์เพราะต้องประหยัดเงิน ไหนจะเจอกับคนทวงหนี้ ถูกขู่ฆ่า สารพัดเรื่องหนักที่ไม่คิดว่าจะเจอมาก่อนเลยในชีวิตนี้


      “ตอนเจอวิกฤตครั้งแรก เลขาผมบอกว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเขา เขาคงฆ่าตัวตายไปแล้ว แต่ตอนนั้นผมคิดแค่อย่างเดียวว่า คนรอบข้างที่รักผมยังมีอีกเยอะมาก ดังนั้นผมต้องไม่ทำให้เขาเสียใจ ตัวผมเองอาจตายไปแล้วจบ แต่ทุกคนยังเศร้าอยู่และผมก็ไม่รู้ด้วยว่าทุกคนจะเศร้านานแค่ไหน ฉะนั้นผมจะตายไม่ได้”


      ครอบครัวและคนรอบข้างที่เข้าใจและคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ ทำให้เขายังพร้อมที่จะลุกมาต่อสู้ โดยไม่เคยท้อกับชีวิต ไม่เคยโทษวาสนา คิดแค่ว่า...ปัญหาเข้ามาเพื่อทำให้เราแข็งแรงขึ้นเท่านั้น
 



ทำธุรกิจในยามยาก ต้องเลือกทำของที่ลงทุนต่ำสุด แต่ได้มูลค่าสูงสุด


      ทางออกของชีวิตในตอนนั้น คือการทำสินค้าสักอย่างที่จะสร้างเม็ดเงินขึ้นมาได้ โจทย์ที่เขาโยนให้กับตัวเองคือ “จะทำของต้นทุนต่ำสุดให้ได้มูลค่าสูงสุด” จึงนึกถึง “หญ้า” วัชพืชที่มีอยู่ทั่วไปที่ต้นทุนเท่ากับศูนย์เพราะไม่ต้องใช้เงินซื้อ โดยนำมาขึ้นรูปเป็นของตกแต่งและแพ็กเกจจิ้ง
 

      “ตอนนั้นผมชอบแนวธรรมชาติอยู่แล้ว และต้องการเริ่มจากสิ่งที่ง่าย ไม่มีต้นทุนสูงมาก ก็เลยเริ่มจากของที่ไร้ประโยชน์ โดยเก็บพวกหญ้ามาลองปั้นขึ้นรูปดู ซึ่งแรกๆ ไปเสนอตามบริษัทต่างๆ แต่ยังไม่ทันได้ออเดอร์อะไร พอดีมีหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์เสียก่อน เพราะเห็นว่าไอเดียผมมันแปลกดี ในยุคนั้นยังไม่มีใครทำ ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีสื่อเข้ามาสัมภาษณ์เต็มไปหมด ได้ไปออกรายการทีวีจนเป็นที่รู้จักขึ้นมา ทำให้เราได้ลูกค้ารายแรก ซึ่งผมประทับใจมาก เขาทำสบู่ต้องการให้เราขึ้นรูปเป็นถ้วยเล็กๆ มีหูหิ้ว เพื่อเอาไปใส่สบู่ทำเป็นของขวัญของฝาก โดยให้เราลองขึ้นตัวอย่างไปให้ดู ปรากฎเขาโทรกลับมาบอกว่าได้ออร์เดอร์แล้วนะ ขอให้ทำแบบนี้ 76,500 ชิ้น จะส่งไปอเมริกา ผมตกใจมากแทบหงายหลังเลย ก็ตอนนั้นเรายังไม่มีคนงาน ไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำ”






      สินทรัพย์ที่ถูกยึดก็ปล่อยให้เขายึดไป ส่วนเงินที่ยังพอเหลืออยู่ ก็เอาไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ราชบุรี โดยไปเช่าโรงงานร้างทำธุรกิจเล็กๆ ชวนคนงานที่เคยเกื้อหนุนกันในสมัยก่อนไปเริ่มต้นใหม่ด้วยกัน เริ่มรับงานลูกค้าพร้อมกับพัฒนาผลงานของตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ  ตามคำแนะนำและคำขอของลูกค้า จากงานหญ้าขึ้นรูป ก็พัฒนาไปสู่แผ่นผ้าจากใบบัวสำหรับทำแพ็กเกจจิ้ง ก่อนขยายมาสู่หนังเทียมจากวัชพืช และเปลือกไม้ธรรมชาติ ที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในวันนี้ และมีรางวัลระดับประเทศมาการันตีความสำเร็จอีกด้วย จากโรงงานราชบุรี ย้ายกลับมาที่กรุงเทพ ขึ้นเหนือไปอยู่ลำปาง ก่อนปัจจุบันจะลงหลักปักฐานอยู่ที่ลำพูนและยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานของเขาอย่างต่อเนื่อง
 




 
คำว่า “คู่แข่ง” ในโลกธุรกิจคือ “ตัวเราเอง”


      พลัฏฐ์ เป็นนักริเริ่มสร้างสรรค์ เขาทำธุรกิจจากพรสวรรค์และ Passion ไม่ใช่ความเก่ง เขาบอกว่าเรียนจบเศรษฐศาสตร์มา ไม่ได้มีรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ไม่มีห้องแล็บให้ทดลอง แต่ใช้การทดสอบด้วยตัวเอง พัฒนาของทุกอย่างขึ้นมาด้วยความชอบและความสนใจส่วนตัวล้วนๆ


      แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหลีกเลี่ยงได้ก็คือปัญหาการลอกเลียนแบบ ที่เขาบอกว่าเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่เจอการลอกเลียนแบบก็เหมือนเป็นตัวเร่งให้เขาพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ออกไปได้ไกลและกว้างขึ้นเรื่อยๆ


      “บางทีลูกค้าก็จะส่งรูปสินค้าของคนนั้นคนนี้มาให้ดู บอกว่าเป็นคู่แข่งเรา แต่ผมจะบอกเสมอว่า พวกเขาไม่ใช่คู่แข่งผมหรอก เพราะคู่แข่งผมคือตัวผมเอง ผมแข่งกับตัวเองเพื่อจะไปได้ไกลขึ้น ผมมองว่าถ้าเรามัวแต่คิดว่าคนทั้งโลกเป็นคู่แข่งก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี คงนอนไม่หลับ ยิ่งไปบอกว่า คนนั้นได้ออร์เดอร์อะไรมา ผมบอกว่ามันไม่เกี่ยวกับผม เพียงแต่หน้าที่เราคือจะหาตลาดของเราอย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าหาตลาดไม่เป็น ก็โง่ไป มันสมควรแล้วจริงไหม” เขาว่า




      พลัฏฐ์ เชื่อว่าทุกคนต่างมีเส้นทางของตัวเอง และมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เหมือนที่เป้าหมายสูงสุดของเขา ก็แค่อยากทำธุรกิจนี้ให้พออยู่ได้ ให้ลูกน้องมีรายได้และเติบโตไปด้วยกัน แต่ฝันสูงสุดคือการได้ทำงานที่มีประโยชน์ และอยากทำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อได้ช่วยเหลือคนในบั้นปลายของเขา


      “วันนี้ผมยังคิดอะไรออกมาได้เรื่อยๆ แต่ทุกคนบอกว่าทำไมไม่เห็นรวยสักที (หัวเราะ) ผมไม่ใช่คนดีอะไรนะ แต่ผมมีความเชื่อว่า ถ้าผมไม่รวย ลูกน้องก็ไม่รวย แต่ถ้าเมื่อไหร่ผมรวย พวกเขาก็จะต้องรวยด้วย ผมคิดแค่นั้นเอง อย่างทุกสิ้นเดือนเราจะไปกินหมูกระทะกัน บางครั้งเอารถไปเที่ยวไกลๆ ด้วยกัน ผมรู้สึกว่า คนเราเกิดมาวันหนึ่งก็ต้องตาย เลยอยากทำอะไรที่มีความสุขในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ อยากช่วยคนอื่นให้มากที่สุด ผมไม่ได้ต้องการรวย แต่อยากจะช่วยคนให้ได้เยอะๆ เท่านั้นเอง นี่คือความตั้งใจสูงสุดของผม” เขาบอกในตอนท้าย
              
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย