“เลอรส” ร้านรสเด็ดที่กล้าเปิดขายสูตรของตัวเอง เรียกคนแห่เรียนนับหมื่น!

TEXT : นิตยา สุเรียมมา  






Main Idea
 
 
     สร้างมูลค่าเพิ่ม พลิกธุรกิจกลับด้าน สไตล์ “เลอรส”
 
 
  • ไม่กลัวที่จะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาช่วยแก้ปัญหาและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ
 
  • สร้างความแตกต่าง โดยใช้ประสบการณ์จริงมาสร้างเป็นสูตร
 
  • ตั้งราคาไม่แพง ใครก็เข้าถึงได้
 
  • สร้างระบบดูแลบริหารจัดการขึ้นมา เพิ่มความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับลูกค้า



 
               
     ว่าด้วยสูตรลับการทำอาหารของแต่ละร้าน ย่อมเป็นคัมภีร์ลับสุดยอดที่ไม่มีใครย่อมเปิดเผยง่ายๆ อย่างแน่นอน  เพราะถือเป็นไม้เด็ดและหัวใจสำคัญที่หากเกิดหลุดรอดแพร่งพรายออกไปอาจสร้างความเสียหายให้กับตัวธุรกิจได้
               

     แต่ความคิดนี้อาจไม่ใช่กับ “เลอรส” ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ – ข้าวหมูกรอบหมูแดง ย่านจรัญสนิทวงศ์ 13 ที่แม้จะเปิดตัวได้ไม่นานแต่ก็มีลูกค้าแน่นร้านตลอด เพราะนอกจากจะเปิดหน้าร้านขายอาหารให้กับลูกค้าตามปกติแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็ยังเปิดคอร์สสอนทำอาหารจากสูตรลับก้นครัวให้กับคนอยากมีอาชีพอีกด้วย!
               

     อะไรจึงทำให้เกิดการคิดต่างและกล้าทำธุรกิจสวนทางกับคนอื่น วิธีคิดดังกล่าวสร้างโอกาส หรือส่งผลลัพธ์ให้กับธุรกิจอย่างไรบ้าง ลองมาฟัง พรภิชญา โพธิ์ทอง หรือ เอย เจ้าของร้านผู้พลิกธุรกิจคิดกลับด้านเล่าไอเดียให้ฟัง




 
เปิดร้านไม่ได้ ขายสูตรดีกว่า


     “มันเริ่มต้นขึ้นมาจากง่ายๆ เลย คือ เราเปิดร้านไม่ได้ ตอนนั้นกำลังเล็งย้ายจากชลบุรีมาเปิดร้านใหม่อยู่ในกรุงเทพฯ ติดต่อขอเช่าที่ทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว แต่มาเจอสถานการณ์โควิด-19 เลยทำให้เปิดไม่ได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างก็รันไปต่อเรื่อยๆ จึงคิดว่าจะหาทางออกยังไงดี ก็เลยได้ไอเดียว่าไหนๆ ก็เปิดร้านขายไม่ได้แล้ว ลองมาเปิดสูตรขายดีกว่าไหม อย่างน้อยๆ จะได้พอมีรายได้เข้ามาบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้วและสามารถทำได้เลย และตอนนั้นหลายคนก็ตกงานไม่มีอาชีพด้วย เลยทำเป็นคอร์สสอนออนไลน์ขึ้นมา ค่าเรียนไม่กี่ร้อยบาท โดยใช้สูตรเดียวกันกับที่เราทำขายนี่แหละมาสอน” พรภิชญาบอกถึงที่มา
               

     โดยหลังจากเริ่มเปิดสอนไปได้ไม่นาน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงได้เริ่มเปิดร้านขึ้นมาตามแผนเดิมที่คิดไว้ พร้อมกับค่อยๆ ทยอยเปิดหลักสูตรสอนทำอาหารอื่นๆ ขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมนูที่ทำขายจริงที่หน้าร้านและบางเมนูก็มาจากประสบการณ์จริงที่เคยได้ทดลองทำมาก่อน อาทิ คอร์สหมูทอด คอร์สหมูฝอย คอร์สหมูกรอบหมูแดง คอร์สก๋วยเตี๋ยวเรือ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่คอร์สละ 200 – 390 บาท




 
จ่ายแค่หลักร้อย...แต่คนแห่เรียนหลักหมื่น


     ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่แกะสูตรมาจากการขายจริงที่หน้าร้าน และด้วยราคาค่าเรียนที่ไม่แพง จึงทำให้แม้เริ่มเปิดสอนได้ไม่นาน แต่ก็มีลูกค้าให้ความสนใจสมัครเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก บางคอร์ส 3,000 – 4,000 คน แต่บางคอร์สที่ได้รับความนิยมมากอย่างหมูกรอบหมูแดง ก็มีคนสนใจสมัครเข้ามาเรียนเป็นหมื่นๆ คนเลยทีเดียว


     “ระหว่างทำเป็น กับทำขายได้ที่หน้างานจริงๆ มันแตกต่างกันมากเลยนะ เพราะเราเองก็เคยไปสมัครเรียนคอร์สทำอาหารอื่นๆ มาก่อน รู้สึกว่าถ้าทำกินในบ้านได้นะ แต่ถ้าทำขายจริงมันไม่พอ เลยคิดว่าถ้าวันหนึ่งมีโอกาสได้เปิดคอร์สสอนของตัวเองเราจะเอาสูตรที่ทำให้คนสามารถเอาไปต่อยอดอาชีพให้กับเขาได้ด้วย ซึ่งเรามั่นใจว่าสูตรของเราสามารถทำขายได้จริง เพราะเป็นสูตรของแม่ค้าเลยที่ทำขายจริง ไม่ใช่แค่พอทำกินได้”


     โดยรูปแบบการเรียนการสอนในแต่ละคอร์สนั้นจะใช้วิธีง่ายๆ คือ เปิดกรุ๊ปไลน์ขึ้นมา ผู้สมัครเรียนแล้วสามารถเข้ามาร่วมในกลุ่มได้ เบื้องต้นจะมีคลิปสอนทำอาหาร สูตรและขั้นตอนการทำต่างๆ แจ้งไว้ให้ โดยผู้เรียนสามารถสอบถามเข้ามาได้ตลอดเวลา จากนั้นจะมีการไลฟ์สดสอนเพิ่มเติมเทคนิคใหม่อยู่เรื่อยๆ รวมถึงผู้เรียนยังสามารถติดต่อเข้ามาขอดูงานที่หน้าร้านจริงได้ด้วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งแต่ละคอร์สจะมีระยะเวลาเปิดรับสมัครสมาชิกประมาณ 1 - 3 เดือนหรือตามความสนใจของลูกค้า จากนั้นจะทำการปิดรับสมัครและเปิดคอร์สใหม่ขึ้นมาแทน





     “เปิดคอร์สสอนทำอาหาร ไม่เหมือนกับการขายสินค้าที่พอใช้หมดแล้ว ลูกค้าก็ซื้อซ้ำอีก แต่เรียนทำอาหาร ไม่มีใครที่เรียนไปแล้ว อยากกลับมาเรียนซ้ำอีก ดังนั้นถ้าเปิดไปสักระยะหนึ่ง คนเริ่มไม่ค่อยสนใจสมัครเข้ามาเรียนแล้ว เราก็จะทำการปิดคอร์สไม่รับเพิ่ม เพราะยอมรับว่าถึงจะเปิดคอร์สสอนแค่ราคาไม่กี่ร้อยบาท แต่ทุกวันเรามีการยิงแอดโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเยอะมากวันละหลายหมื่นบาท บางทีคนสมัครเข้ามาน้อย ก็ไม่คุ้ม


     “นอกจากนี้เรายังมีการจ้างแอดมินประจำแต่ละคอร์สเพื่อให้เข้ามาช่วยดูแล เช่น คนนี้ดูหมูทอด คนนี้ดูหมูกรอบ ฯลฯ เพื่อคอยตอบแชทผู้เรียนซึ่งมีสอบถามเข้ามาตลอดเวลา โดยเราจะเป็นผู้ควบคุมอีกทีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการทำงานและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ลูกค้าเก่าที่สมัครเข้ามาเรียนแล้วก็ยังคงสามารถเข้ามาปรึกษาสอบถามได้ตามเดิม บางทีมีเทคนิคอะไรใหม่ๆ เพราะเราอยู่หน้าเตาตลอดต้องได้เรียนรู้ทุกวันอยู่แล้ว ก็จะนำมาไลฟ์สดสอนในกลุ่ม พูดง่ายๆ ว่าเขาก็จะได้เรียนตลอด ไม่ใช่เรียนครั้งเดียวจากวิดีโอที่เราอัดไว้ เราไม่กล้าพูดว่าเราเป็นคอร์สสอนทำอาหารที่มีคนเรียนเยอะนะ แต่แค่รู้สึกว่ามีฟีดแบคที่ดีกลับมา หลายคนมาเรียนแล้วกลับไปเปิดร้านของตัวเองได้ บางคนตอนนี้มีถึง 5 สาขาแล้ว ก็มาขอบคุณเราที่ทำให้เขามีวันนี้ได้”




 
เมื่อถึงวันหมดอายุ
               

     จากที่ต้องทำธุรกิจสองขาควบคู่กันไปด้วย ทั้งเปิดหน้าร้านและเปิดคอร์สสอนทำอาหารออนไลน์ ถามว่าต้องแบ่งเวลายังไง พรภิชญาเล่าว่าเธอพยายามบาลานซ์และให้น้ำหนักกับทั้งสองส่วนเท่าๆ กัน โดยสำหรับหน้าร้านในแต่ละวันก่อนเปิดขายเธอจะทำการตรวจเช็คทุกอย่างให้พร้อมก่อน ไม่ว่าการชิมรสชาติอาหารแต่ละอย่าง ตรวจความเรียบร้อยของร้าน จากนั้นจะส่งมอบหน้าที่ต่อให้กับผู้จัดการร้านและคิวซีประจำร้านคอยรันงานให้ในแต่ละวัน และจึงคอยไปดูแลการสอนออนไลน์ นานๆ ทีก็จะแวะออกมาดูความเรียบร้อยด้านนอกบ้าง ตกเย็นจึงจะมีการสรุปผลการดำเนินงานในแต่ละวันถึงข้อดีข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น


     ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาดสำหรับคอร์สสอนออนไลน์ แต่พรภิชญามองว่าสุดท้ายสิ่งที่จะเป็นธุรกิจยั่งยืนให้กับเธอต่อไป ก็คือ การทำหน้าร้าน เพราะคอร์สเรียนยังไงวันหนึ่งก็ย่อมเดินมาถึงทางตันและมีวันหมดอายุ


      “ทุกวันนี้ถึงเราจะพยายามบาลานซ์และให้ความสำคัญกับทั้งสองส่วนก็จริงอยู่ แต่ถ้าถามว่าธุรกิจตัวไหนที่น่าจะไปต่อได้ยาว ก็คือ หน้าร้าน เพราะทุกวันนี้ก็ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากลูกค้าและสื่อต่างๆ และอย่างที่บอกเรียนทำอาหารไม่เหมือนขายสินค้าที่วันหนึ่งหมดเขาก็มาซื้อเราใหม่ ยังไงวันหนึ่งก็ต้องถึงทางตัน และเราเองก็ไม่ได้คิดจะสอนไปเรื่อยๆ ด้วย ถ้าหมดสูตรความรู้ที่เราถนัดและเชี่ยวชาญแล้วก็คงเลิกสอน  เราจะไม่ใช่แค่ไปหาความรู้แค่พอเป็นนิดหน่อยและมาสอนแน่นอน”





     สุดท้ายกับความสงสัยที่หลายคนอาจยังคาใจว่าทำไมไม่หวงสูตร ไม่กลัวคนทำตามบ้างเหรอ พรภิชญาได้ให้คำตอบทิ้งท้ายว่า


     “การจะทำธุรกิจหนึ่งให้ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่สูตรการปรุงอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการทำตลาด ระบบบริหารจัดการต่างๆ อีกมากมาย ดังนั้นไม่กลัวค่ะ”

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย