เรื่อง : นิธิดา วงศาโรจน์
ภาพ : กฤษฎา ศิลปะไชย
ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากมีร้านอาหารใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์นอก เรียกว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการแข่งขันอย่างสูง ดังนั้นร้านอาหารที่จะมีโอกาสอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันเช่นนี้ นอกเหนือคุณภาพ รสชาติ และบริการแล้ว การบริหารจัดการภายในยังเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
แต่ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs จำนวนไม่น้อย ยังคงบริหารจัดการธุรกิจ ในรูปแบบเดิมๆ โดยใช้วิธีจดออเดอร์ใส่กระดาษ เก็บเงินใส่ลิ้นชัก หรือเช็คสต๊อกสินค้าด้วยการกะปริมาณ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดจึงมีสูง ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของร้าน หรือแม้แต่ความพึงพอใจของลูกค้าที่มาใช้บริการแล้ว ยังหมายถึงต้นทุนที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า เทคโนโลยีกลายเป็นความจำเป็นที่ SMEs หันมาหยิบใช้ อย่างในธุรกิจร้านอาหาร เทคโนโลยีสามารถช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้การเก็บข้อมูลเป็นระเบียบ สะดวกต่อการดำเนินงาน และลดข้อผิดพลาดและความซ้ำซ้อนของข้อมูล ช่วยให้ลูกค้าได้รับการบริการที่สะดวกและรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งอาหารไปจนถึงการคิดเงิน หรือแม้แต่ช่วยควบคุมการทำงานของพนักงาน และลดข้อผิดพลาดในการทำงานได้ เป็นต้น
โดยหนึ่งในผู้ให้บริการซอฟแวร์ด้านการบริการ อย่าง “นายเน็ต” ก็ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจร้านอาหาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน "ทินกร เหล่าเราวิโรจน์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท นายเน็ต จำกัด กล่าวว่า วันนี้ เทคโนโลยี ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขความสำเร็จให้ธุรกิจ แม้จะต้องลงทุนบ้าง แต่ก็เป็นการลงทุน เพื่อแลกกับผลกำไรที่จะได้รับกลับมามากกว่าเดิม แต่ก่อนอื่นผู้ประกอบการควรเริ่มเปิดใจให้กับเทคโนโลยีและมองถึงความสำคัญ อย่างซอฟต์แวร์ของนายเน็ตนั้นนอกจากจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการทั้งในแง่ของการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ควบคุมรายรับ รายจ่าย ไปจนกระทั่งบริหารจัดการวัตถุดิบภายในร้านแล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้อีกด้วย
“จุดสำคัญของซอฟต์แวร์เรานั้น คือสามารถช่วยนำสถานะทางการเงินภายในร้านมาเชื่อมโยงเข้ากับอุปกรณ์พกพาอย่าง โทรศัพท์มือถือ หรือแท็ปเล็ต ได้ด้วย ซึ่งถือเป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถอยู่ประจำที่ร้านได้ตลอดเวลา คือ เมื่อรายรับของทางร้านถึงเป้าหมายที่กำหนด จะมีข้อความแจ้งเตือนเข้าโทรศัพท์เจ้าของร้านทันที หลังจากนั้นเจ้าของร้านก็จะสามารถส่งข้อความไปยังพนักงานโดยผ่านซอฟแวร์ดังกล่าว เพื่อให้พนักงานนำเงินเหล่านั้นไปเข้าธนาคาร ซึ่งตรงนี้สามารถช่วยป้องกันการทุจริตจากพนักงานได้ด้วย ซึ่งมีข้อจำกัดเพียงข้อเดียวคือระหว่างดำเนินการต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตด้วย”
นอกจากนั้น ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ในธุรกิจร้านอาหารหรือภาคบริการต่างๆ แรงงานมักจะเป็นคนต่างชาติ ฉะนั้นความหลากหลายทางด้านภาษาก็จะเกิดขึ้น และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจได้ จากจุดนี้เองจึงได้มีการพัฒนาออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าวลง
“ร้านอาหารไทยในปัจจุบัน มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำกันเยอะ และยิ่งในกรณีที่ภายในร้าน มีพ่อครัวเป็นชาวอังกฤษ แต่พนักงานเสิร์ฟเป็นชาวพม่า ซอฟแวร์จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวด้วยการทำให้หน้าร้านและหลังร้านสามารถสื่อสารถึงกันได้ โดยเมนูที่ลูกค้าต้องการเมื่อป้อนคำสั่งส่งไปยังในครัว ภาษาจะแปลงเป็นภาษาอังกฤษโดยอัตโนมัติ ยิ่งกว่านั้นถ้าลูกค้าไทยต้องการออกใบเสร็จก็สามารถออกเป็นภาษาไทยได้ทันที โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระบบสามารถทำได้ตามที่ผู้ประกอบการต้องการ”
ปัจจุบันซอฟแวร์สำหรับร้านอาหารของทางนายเน็ตนั้น สามารถคลอบคลุมได้ตามความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งระบบหน้าร้านและหลังร้าน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ FR Table Service สำหรับร้านอาหารขนาดใหญ่ จะมีความโดดเด่นที่ Order station หรือจุดสั่งอาหารที่เป็นรูปแบบหน้าจอทัชสกรีนสำหรับพนักงาน ซึ่งสามารถกดคำสั่งบนหน้าจอเพื่อส่งข้อความไปยังในครัวได้ทันที และขนาดเล็กลงมาหน่อยคือ FR SME ซึ่งจะลดทอนฟังก์ชันในส่วน Order Station ออก และท้ายที่สุดคือ FR SME Mini ที่จะตัดฟังก์ชันหลังร้านที่มีความยุ่งยากอย่างการเช็คสต๊อกสินค้าแบบละเอียด เช่น การทำข้าวผัดหมูหนึ่งจานจะใช้หมูกี่กรัม และจะเหลือสต๊อกไว้อีกกี่กรัม เป็นต้น
นอกจากซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแล้ว นายเน็ต ยังมีซอฟแวร์การบริการในธุรกิจคลินิก ที่เน้นกลุ่มทันตกรรมและโรคผิวหนัง และซอฟแวร์บริการด้านโรงแรมที่ทางบริษัทเพิ่งจะจับมือกับพันธมิตรจากประเทศอินโดนีเซียนำเข้ามาพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการในอนาคต
ถึงตรงนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่าทำไมผู้ประกอบการถึงต้องเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ กอปรกับในอนาคตธุรกิจซอฟแวร์จะมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปได้อีกไกล โดยเฉพาะการให้บริการผ่านระบบ Cloud Computing ซึ่งระหว่างนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งศึกษาหาข้อมูล เพื่อนำเครื่องมือเหล่านี้มาเป็นตัวช่วยผลักดันให้ธุรกิจก้าวนำคู่แข่งไปได้
Create by smethailandclub.com