คุยกับ “ผู้ว่าการวว.” ส่องวิธีอัพเลเวลสินค้าด้วย "นวัตกรรม"

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     วิธีเพิ่มแต้มต่อ SME ด้วยนวัตกรรม
 
 
  • ใช้ต้นทุนที่ประเทศไทยมีเช่น สินค้าเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ มาสร้างสรรค์สินค้าคุณภาพ
 
  • เกาะเทรนด์ของอาหารสุขภาพและ Functional Food ที่กำลังเป็นที่ต้องการในยุคนี้
 
  • ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาแก้ปัญหาและเติมเต็มจุดแข็งให้สินค้า
 
  • สร้างสรรค์นวัตกรรมจากปัญหาและความต้องการของลูกค้า
 
  • ต้องทำสินค้าที่แตกต่างและเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม
 

 
 
     กล่องเก็บทุเรียนที่ล็อกกลิ่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หิ้วขึ้นรถตู้รถไฟฟ้าก็ไม่มีใครโกรธ กล่องใส่ผักและผลไม้สำหรับขายออนไลน์ ที่ลดความเสียหายและยังช่วยชะลอไม่ให้ช้ำหรือสุกเกินไปก่อนถึงมือลูกค้า อาหารเพื่อสุขภาพและเหล่าอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิด คือตัวอย่างของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยอัพเลเวลให้ผู้ประกอบการ SME  ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
 

     SME Thailand  มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต”   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระหว่างนำโซลูชั่นเพื่อ SME  และตัวอย่างผลงานนวัตกรรมไปจัดแสดงในงาน PRO PAK  ASIA  2020  ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการอัพเลเวลสินค้า SME ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม





 
วิกฤตโควิดคือโอกาสธุรกิจ SME ไทย


     ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปในหลายอุตสาหกรรม ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนผลงานวิจัยพร้อมใช้ ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างความได้เปรียบให้กับ SME ไทย ผู้ว่าการวว.บอกเราว่า ในช่วงโควิดที่ผ่านมาเกิดโอกาสทางธุรกิจมากมาย โดยเฉพาะเทรนด์ของอาหารสุขภาพและ Functional Food ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในวันนี้


     “โอกาสทางธุรกิจมันเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเรามีความสามารถในการควบคุมและกำกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีเป็นระดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้  ขณะที่เรายังมีต้นทุนที่ดีในเรื่องของสินค้าเกษตร จึงสามารถหยิบตรงนี้มาทำเป็นโปรดักต์แล้วขายคนในต่างประเทศได้ เพราะเขามองว่าประเทศไทยปลอดภัย อาหารของเราก็ต้องปลอดภัยด้วย นี่จึงเป็นโอกาสที่ SME สามารถมองหาได้ในตอนนี้


     กับอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพที่บ้านเรามี เรื่องของ โพรไบโอติกส์ (Probiotics)  ซึ่งเป็นตัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในช่วงโควิดระหว่างรอวัคซีน โดยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งตัวโพรไบโอติกนี้วว.ก็มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจด้านอาหารหรืออาหารเสริมก็สามารถมาใช้โซลูชั่นของเราเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะคิดสร้างสรรค์สินค้าในช่วงนี้ที่มีความท้าทาย และอัพเลเวลตัวเองขึ้นไปได้”




 
ปิดจุดอ่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม


     วันนี้หลายคนอยากลุกขึ้นมาทำธุรกิจ ขณะที่คนมีธุรกิจอยู่แล้วก็อยากมาอัพเลเวลตัวเองให้ดีขึ้น นั่นคือที่มาของการมองหาโซลูชั่นมาช่วยแก้ปัญหา และเติมเต็มจุดแข็งให้กับการทำธุรกิจของพวกเขา


     “ปัญหาหรือความเสี่ยงของการทำธุรกิจหลักๆ คือเรื่องของเชลฟ์ไลฟ์ การยืดอายุสินค้า เพราะว่าสำหรับ SME แล้วการลงทุนแบบนี้เขาจะทำออกมาเยอะไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องเชลฟ์ไลฟ์ ซึ่งการยืดอายุสินค้าด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ความเสี่ยงของการขายสินค้าลดลงและคุณภาพของสินค้าก็ยังคงสดใหม่ สามารถส่งถึงมือผู้บริโภคได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น”  


     ขณะที่การยืดอายุและการถนอมอาหารอาจไม่ได้ใช้เทคโนโลยีไปกับตัวสินค้า แต่สามารถทำได้จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช่


     “อย่างสินค้าเกษตรที่เดิมคนจะซื้อจากตลาดหรือซื้อจากห้าง แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เราเลยจะเห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มส่งขายเองทางออนไลน์ ฉะนั้นเขาจึงต้องการแพ็กเกจจิ้งที่ช่วยยืดอายุ ทำให้ไม่สุกเร็วเกินไป เพื่อส่งถึงมือผู้บริโภคแบบพร้อมที่จะทานได้ ไม่ใช่ส่งมะม่วงไปแล้วพอลูกค้าเปิดมามันสุกจนเละอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ หรืออย่างเทคโนโลยีที่ช่วยเก็บกลิ่นทุเรียนที่เราเพิ่งเปิดตัวไป อย่าง กล่องทุเรียนที่ไม่มีกลิ่นรบกวน ทุเรียนแกะแล้วแต่ไม่มีกลิ่นไปรบกวนใคร ใส่ไปในรถก็ไม่โดนคนที่ไม่ชอบทุเรียนบ่น เหล่านี้มันเป็นเทคโนโลยีเรื่องของการดีไซน์ บางคนอาจมองว่าแพ็กเกจจิ้งก็แค่ส่งเสริมการขาย ทำให้สวยแล้วคนอยากหยิบอยากซื้อ แต่จริงๆ แล้วแพ็กเกจจิ้งมีความสำคัญกว่านั้นมาก มันช่วยทำให้สินค้าอายุยืนขึ้นได้ ทำให้เราปิดจุดเสี่ยงต่างๆ สามารถปกปิดกลิ่นได้ เป็นต้น ฉะนั้นเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายของ SME ไปได้อีกไกล”


     ผู้ว่าการวว.บอกเราว่า  วันนี้เราต้องเปิดตัวให้รู้ว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่หลากหลาย และถ้ามีผู้ประกอบการที่มีความคิดดีๆ ผันตัวเองมาเป็น SME กันเยอะขึ้น ก็จะช่วยเศรษฐกิจประเทศชาติได้อีกมาก เพราะฉะนั้นการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าไปเติมในสินค้าของ SME ก็จะช่วยส่งเสริมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับที่สูงขึ้น และมีโอกาสทางการตลาดไม่เพียงแค่ในไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศรอบข้าง รวมถึงตลาดโลกอีกด้วย




 
ปัจจัยความสำเร็จของการทำธุรกิจนวัตกรรม


     การทำงานสนับสนุน SME  ผ่านโมเดลที่เป็น Total  Solutions  หรือการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แบบบูรณาการมาสนองตอบต่อ SME  ทั้งด้านการพัฒนาสินค้า ส่วนผสม การยกระดับคุณภาพวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อขยายตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ  เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ผู้ว่าการวว.บอกเราว่า  Key success หรือปัจจัยแห่งความสำเร็จของการทำธุรกิจนวัตกรรมของ SME ที่เห็นจากการทำงานที่ผ่านมา คือการคิดในสิ่งที่แตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้ได้


     “อย่างแรกเลยคือเขาต้องมีสินค้าที่ดี สินค้าที่เขาเป็นคนคิดที่มีความแตกต่าง และเป็นที่ดึงดูดใจลูกค้า ส่วนในเรื่องของคุณภาพและการผลิต เขาสามารถหาหน่วยงานมาสนับสนุนและเติมเต็มได้ ในส่วนของการขายหรือการตลาดเอง ยุคนี้ก็ง่ายขึ้นมากเพราะสามารถขายออนไลน์ได้ และพฤติกรรมคนก็คุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์ เพราะฉะนั้นเรื่องของแพ็กเกจจิ้งที่ห่อหุ้มสินค้าไม่ให้เกิดความเสียหายและช่วยยืดอายุสินค้าต่างๆ เหล่านี้ก็จะเข้ามาช่วยเขาได้
สิ่งสำคัญคือนวัตกรรมต้องเริ่มจากความต้องการ ต้องคิดจากปัญหา (Pain point) ของผู้บริโภค ถ้าเราขายของดีโดยที่ผู้ใช้ไม่ได้อยากใช้ มันก็จะไม่เกิด แต่ต้องมาจากโจทย์ที่เขาอยากได้ และต้องแก้ปัญหาให้ตรงใจเขา”  



 

     เมื่อถามถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการทำธุรกิจยุคนี้ ผู้ว่าการวว.บอกเราว่า  สินค้าทุกอย่างถ้าไม่มีนวัตกรรมมันก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ เมื่อไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ก็ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน


     “วันนี้ถ้าเราจะแปรรูปอะไรสักอย่างเราเข้าไปดูในยูทูบมันก็มีหมดไม่ว่าจะทำอะไร เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความแตกต่างเพราะทุกคนสามารถเข้าถึงในเรื่องเดียวกันได้หมด ถ้าเราไม่มีนวัตกรรม ก็ไม่มีความแตกต่าง เมื่อไม่แตกต่างของเราก็ขายไม่ได้หรือขายได้พอๆ กับคนอื่น  เพราะฉะนั้นนวัตกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องพยายามเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค และแก้ปัญหาให้เขาให้ได้ นี่เป็นจุดที่มีความจำเป็น และสำคัญมากต่อการที่จะสร้างนวัตกรรม” ดร.ชุติมา สรุปในตอนท้าย

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย