Main Idea
คมคิดทำธุรกิจในแบบ “บอม บูธ บุ๊ค”
- รู้ลึกรูู้จริงในสิ่งที่ทำ สามารถแนะนำลูกค้าได้อย่างฉะฉาน
- ให้บริการลูกค้าอย่างเท่าเทียม พยายามตอบสนองในสิ่งที่ต้องการให้ได้
- จริงใจกับการให้บริการ ไม่เอาเปรียบลูกค้า ถ้าใครเอาเปรียบก็ไม่ถือสา
- ไม่เหมือนร้านหนังสือ แต่เหมือนร้านแห่งความทรงจำ ที่มีผู้ใหญ่เล่าเรื่องราวให้ฟัง
สำหรับนักอ่านที่ชอบตามหาประวัติศาสตร์ ทั้งในการทำวิจัย หรือ อยากจะค้นหามุมมองหลายๆ ด้านของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ หรือเป็นนักสะสมมรดกของโลกที่เป็นสิ่งพิมพ์ ผมมีร้านหนังสือเก่ามาแนะนำ เก่าขนาดที่คุณนึกไม่ถึงเลยว่า หนังสือเหล่านั้นยังคงมีอยู่ในปัจจุบันจริงๆ
ห้างสรรพสินค้า ดองกิ ถนนที่เชื่อมทองหล่อซอย 10 หรือเอกมัยซอย 5 ขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้น 2 คุณจะเห็นหนังสือวางเรียงเป็นแผงเรียบง่าย ดูไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ยาวประมาณ 20 เมตร มีป้ายเล็กๆ เป็นกระดานดำเขียนด้วยชอล์กแบบเราเคยเรียนในสมัยก่อนว่า “บอม บูธ บุ๊ค” อารมณ์เหมือนกองหนังสือที่ไม่ค่อยจะมีมูลค่า
แต่จุดที่ทุกคนจะสังเกตเห็นแบบโดดเด่นเลยคือ คุณลุงผมขาว ดูมีอายุ ใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นตัวใหญ่ๆ กางเกงสแล็กหลวมๆ สวมรองเท้าผ้าใบสีดำ ดูเป็นคนสมถะเรียบง่าย เดินไปมาอย่างขยันขันแข็ง ทักทายพูดคุยกับทุกคนที่เดินมาดูหนังสืออย่างเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ นี่คือสิ่งที่สะดุดตาผมในครั้งแรกสำหรับการไปร้าน “ลุงบอม”
คุณลุงผมขาวผู้นั้นช่างเป็นที่น่าสนใจมากจนผมต้องเดินเข้าไปชม มิใช่บรรยากาศหรือการตกแต่งเพราะว่าลุงไม่ได้ตกแต่งอะไรเลย แต่สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งมากคือหนังสือเหล่านั้นในมุมมองของนักอ่านมันเปรียบเสมือนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชั้นดีที่ไม่มีใครรู้แห่งหนึ่งเลยทีเดียว
หนังสือแต่ละเล่ม ทั้งภาษาไทย หรือ ต่างชาติ จะสามารถทำให้คุณขนลุกได้ ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆ มุมมองของทั้งสองฝั่ง และมุมมองของคนที่เป็นกลาง ได้ถูกนำมารวมตัวกันอยู่ในที่แห่งนี้ โฆษณาในหนังสือพิมพ์เมื่อ 40-50 ปีก่อน ตำรายาแปลกๆ เช่น ยาผีบอก หมอยาประจำบ้าน หนังสือทำอาหารแม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งได้ถูกเรียบเรียงในปี ร.ศ.127 ย้ำนะครับ ร.ศ.127 หนังสือพิมพ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ของอังกฤษและประเทศอื่นๆ ที่มีภาพที่เราเห็นแต่ในอินเตอร์เน็ต มันก็มาผุดต่อหน้าเรา
คุณลุงเดินเข้ามาทักทายผมแบบเป็นกันเอง “หาอะไรอยู่ครับ” ตอนนั้นผมตอบไม่ได้ แต่ว่าในมือของผม ผมหยิบไปประมาณ 7-8 เล่มแล้ว ผมยังไม่ได้เอ่ยปากอะไร ลุงบอมก็ได้พูดขึ้นมาว่า “เล่มนี้ดีมากๆ” และบอกว่า “หาไม่ได้อีกแล้วนะ” อธิบายได้อย่างละเอียดเกี่ยวกับทุกเล่ม ลุงคนนี้ทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกของเวทมนตร์ ที่ผมสามารถจินตนาการไปอยู่ในอดีตได้อย่างน่าทึ่ง
“คุณพิเชษฐ์ เพชรรูจี” หรือ “ลุงบอม” ปัจจุบันอายุ 64 ปี ผมได้ใช้เวลาพูดคุยกับลุงบอม 2 วัน รวมเวลาทั้งสิ้นเกือบ 4 ชั่วโมง ส่วนได้หนังสือไปกี่เล่ม ผมขออนุญาตไม่ตอบนะครับ คุณลุงเคยทำงานบนเรือ ท่องไปหลายประเทศมากมาย ทั้งยุโรป และ อเมริกา ซื้อหนังสือมาเก็บไว้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งลุงไม่ได้ทำงานบนเรือแล้ว มีหนังสือที่เก็บไว้เป็นจำนวนมาก และประสบการณ์ในการเดินทางของลุงนั้นทำให้มีคนรอบข้างแนะนำไปแปลหนังสือ
โดยผลงานชิ้นแรกของลุงคือบทความ “ขุดขึ้นมาดู ปอมเปอี” ในนิตยาสาร “แปลก รายสัปดาห์” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จินดาสาส์นในปี 2529 ต่อมาก็มีคนจ้างเขียนบทความต่างๆ เกี่ยวกับประวัติของบุคคลหรือประเทศต่างๆ ซึ่งปัญหาหลักของลุงคือ ต้องหาข้อมูล รูป หลักฐานมาสนับสนุน ส่วนตัวลุงบอมมีหนังสือเยอะอยู่แล้ว การค้นข้อมูลและรูปภาพต่างๆ เลยกลายเป็นจุดประกายให้เริ่มทำอาชีพขายหนังสือเก่าในปีเดียวกัน คือ 2529
ปัจจุบัน “ร้านบอม บูธ บุ๊ค” มีอยู่ 2 สาขา คือที่ห้างสรรพสินค้าดองกิ และ เกตเวย์เอกมัย ชั้น M ตรงทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า ความสุขของลุงในการทำอาชีพนี้คือลุงมีความสุขในการได้คุยกับลูกค้า สุขในการหาหนังสือที่ลูกค้าต้องการได้ ลุงได้กล่าวไว้ว่า
“ถ้ามีร้อยคนมาให้หาหนังสือ ลุงจะบอกตัวเองเลยว่า ลุงจะต้องหาให้ได้ทุกคน ถ้าไม่ได้ลุงก็จะพยายามหา หรือถ้าเจอจากเพื่อนๆ ในวงการ ลุงก็จะขอซื้อ”
ที่ประทับใจลุงมากๆ คือลุงต้อนรับทุกคนอย่าง “เท่าเทียม” ซื้อไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่เป็นความสุขที่ได้คุย โดยเฉพาะคนที่รักหนังสือ หรือประวัติศาสตร์ ลุงจะใช้เวลาอธิบายให้จบ แต่ก็เดินไปดูแลลูกค้าคนอื่นไปด้วย ลุงได้เล่าให้ฟังว่า เคยขายหนังสือให้เด็กนักเรียนคนหนึ่งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว โดยเด็กคนนั้นไม่มีเงินพอ แต่ลุงก็บอกไม่เป็นไร มีเท่าไหร่เอาเท่านั้น และ 4 ปีที่แล้ว เด็กคนนั้นได้เดินมาทักลุงและขอบคุณว่า หนังสือเล่มนั้นทำให้หนูจบปริญญาได้ด้วยเกรดที่ดี
ส่วนลูกค้าบางคนเอาเปรียบ ว่าเอาไปก่อน แล้วจะมาจ่ายทีหลัง ก็มีบ้างแต่ลุงก็ไม่ถือสา เป็นโชคไม่ดีไป หนังสือหนึ่งเล่มที่ลุงขาย เป็นคุณค่าทางใจที่ลูกค้าได้รับ เพราะบางทีหนังสือเล่มนั้น เป็นเล่มที่ลูกค้าหามานาน หรือเป็นความจริงที่เขาอยากจะพิสูจน์ เพราะสิ่งที่เห็นในอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถปลอมแปลงได้ แต่หนังสือของคุณลุง เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และหากดูจากสภาพ สี และ กลิ่นของกระดาษ มันเปรียบเสมือนกับการได้ลิ้มรสชาติอาหารที่คุณปู่คุณย่าที่ล่วงลับไปแล้วในลิ้นของเราอีกครั้งหนึ่ง
การเข้าไปร้านหนังสือครั้งนี้ แตกต่างกับการไปร้านหนังสือทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ร้านธรรมดาจะแยกหนังสือไทย ต่างประเทศ แล้วแต่ละหมวด ก็จะมีหมวดย่อยๆ เจาะลงลึกไปอีก โดยมีป้าย “หนังสือใหม่” “หนังสือแนะนำ (เคยอยากถามมานานว่าแนะนำใครบ้าง)” และ “หนังสือขายดี (จริงรึเปล่าเราก็ไม่รู้)”
หลายๆ อย่างในร้านหนังสือทั่วไปคือการตลาด ตำแหน่งการวาง หรือ การจับเอาเทรนด์ใหม่ๆ มาอธิบายให้ฟังแบบผิวเผิน แต่ร้านหนังสือร้านนี้ ผมไม่รู้สึกว่าผมไปซื้อหนังสือ แต่เป็นการไปนั่งเครื่องย้อนเวลากลับไปในอดีต ที่พ่อแม่ บรรพบุรุษเราเคยเอ่ยถึง ความทรงจำเก่าๆ ที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังแล้วเรานึกออกมาเป็นรูปภาพไม่ได้ และเจอลุงบอม คนรุ่นเก่าที่ไม่มีเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ยังพกสมุดจดเบอร์โทรไว้เพื่อบันทึกว่าใครให้หาอะไรบ้าง เปรียบเสมือนนักบินเครื่องย้อนเวลาที่พาเรากลับเข้าไปในอดีต โดยมีข้อแม้ว่า คุณต้องมีศรัทธาในการอ่าน และ เจตนาที่ดีในการหาความจริง
บทสนทนาของลุงกับผมเริ่มลงลึกเข้าไปถึงเรื่องการอ่าน และจิตใจของมนุษย์ รวมถึงรอยร้าวที่ใกล้จะแตกคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณลุงจะมีเซนส์ ในการดูลูกค้า ดูเจตนากับคำพูด เพราะหนังสือบางเล่ม หากอยู่ในมือคนที่ไม่คู่ควร ลุงก็จะรู้และไม่ไปหา ส่วนคนที่ต้องการข้อมูลเชิงคุณค่า หรือเห็นเป็นมรดกเชิงจิตใจ ลุงจะสัมผัสได้เช่นกัน
ผมได้สื่อสารความคิดกับลุงเรื่องของการอ่าน ว่าการอ่านเปรียบเสมือนการเติบโต ยิ่งเราโตขึ้น ความคิดเราก็จะเปลี่ยน จากเด็กที่เชื่อในตำรา โตมาก็เปลี่ยนความคิด หาข้อมูลใหม่ๆ เลือกข้างจากสื่อที่เสพเข้าไป พอโตมาอีกหน่อย ก็จะมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แยกแยะว่าสิ่งได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เรื่องไหนเป็นความจริง เรื่องไหนเป็นมุมมอง เรื่องไหนเป็นการชักจูงให้เชื่อ และสุดท้าย นิพพานของคนอ่านหนังสือก็คือ การอ่านโดยรู้สึกร่วมไปกับผู้เขียนเข้าใจว่าเจตนาของการสื่อสารคืออะไร รับทราบเป็นข้อมูลโดยไม่ตัดสินว่าอะไรเป็นขาว หรือ ดำ
ลุงบอมและตัวผมเอง อยากให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น การอ่านเป็นการเจริญสติ เป็นการเพิ่มฐานข้อมูลในสมอง ทำให้เราคิดตามตลอดเวลา และเป็นเครื่องมือที่ช่วยประคับประคองรอยต่อไม่ให้มันร้าวไปกว่าเดิม ส่วนเทคโนโลยีนั้นมันอาจจะเป็นดาบสองคม จริงที่เทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราสะดวก แต่มันอาจจะเป็นปีศาจร้ายที่ทำให้เราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเก่าแก่ เป็นศัตรูของวัฒนธรรม มรดกและคุณค่าของสิ่งเก่าๆ และ การคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นที่สุดในการอยู่ในสังคม การอ่านอย่างใช้สมาธิและความคิดจะช่วยได้อย่างมาก
ผมอยากให้ทุกท่านที่รักการอ่าน กลับไปย้อนอดีตกันบ้างครับ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี