เปิดสูตรลับ “แฮปปี้พลัส” จากคาเฟ่ขวัญใจนักศึกษา สู่ไอศกรีม DIY สอดไส้นวัตกรรม

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO :  Happy Plus Dessert





Main Idea
 
 
สูตรลับแจ้งเกิดนวัตกรรมในแบบ “แฮปปี้พลัส”
 
 
  • สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากปัญหาและความต้องการของลูกค้า
 
  • ต่อยอดการขายหน้าร้าน ทำไอศกรีม DIY ที่ทำง่าย ทำได้ทุกที่ทุกเวลา
 
  • ชูความเป็นไทยในรสชาติ สร้างโอกาสในตลาดโลก
 
  • เปิดตัวเองเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ เข้าหาหน่วยงานสนับสนุน
 
  • ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เติบโต นวัตกรรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว
 
 
 
     ใครที่เคยมีภาพจำว่า การทำไอศกรีมด้วยตัวเองจะเป็นเรื่องยุ่งยาก แถมยังต้องใช้อุปกรณ์เว่อวังมากมาย อาจจะต้องเปลี่ยนใจ ถ้าได้รู้จักกับ “แฮปปี้พลัส” (HAPPY PLUS) ไอศกรีมผงกึ่งสำเร็จรูป ที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้เครื่องทำไอศกรีม เพียงผสมนมสด-เท-เขย่า-แช่แข็ง เป็นอันครบจบขั้นตอนทำไอศกรีม
               

     นี่ไม่ใช่ผลงานของนักวิจัยหรือนักวิชาการที่ไหน แต่เป็นชายที่ชื่อ “ถนัดพงษ์ พรินทรากุล” กรรมการผู้จัดการ  บริษัท เชียงราย โฮมเมด ไอศกรีม จำกัด อดีตหนุ่มแบงก์ที่เออลี่รีไทร์ออกมาขึ้นสังเวียนผู้ประกอบการ โดยต่อยอดร้านคาเฟ่หน้ามหาวิทยาลัย ขวัญใจเด็ก ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่เปิดเป็นอาชีพเสริมเมื่อประมาณปี 2557 มาพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมผง DIY เพื่อต่อยอดธุรกิจให้บินได้ไกลกว่าหน้าร้าน



               
           
จากร้านกาแฟสู่ไอศกรีมโฮมเมดที่ครีเอทตามใจลูกค้า


     หลายปีก่อนในช่วงที่กาแฟสดกำลังได้รับความนิยม “ถนัดพงษ์” และภรรยา ตัดสินใจซื้ออาคารพาณิชย์หน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเปิดเป็นร้านขายกาแฟสด ก่อนไปลงเรียนทำไอศกรีมโฮมเมดเพิ่มเติม แล้วลองนำไอศกรีมฝีมือตัวเองมาวางขายที่ร้าน ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี จนกลายเป็นร้านไอศกรีมโฮมเมดแห่งแรกของ จ.เชียงราย ในเวลาต่อมา


     ด้วยความที่เป็นนักสร้างสรรค์ และมองออกว่าการทำตลาดกับนักศึกษาต้องมีอะไรใหม่ๆ มานำเสนออยู่ตลอดเวลา จึงได้ครีเอทเมนูออกมาถึงเกือบ 50 รสชาติ ชนิดที่ใครเห็นเป็นต้องร้องว้าว!


     “ด้วยความที่เราขายให้กับเด็กมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ดังนั้นกลุ่มนี้เขาจะมองหาอะไรที่แปลกๆ ใหม่ๆ มาถึงก็จะถามว่ามีไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ ไหม ซึ่งมันก็เป็นคำถามปลายเปิดให้เราได้คิดต่อ เราก็คิดกันออกมาซึ่งบางอันก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง บางอันก็ตรงกับจริตของเด็ก แต่บางอันก็อาจตรงกับจริตของผู้ใหญ่ อย่าง เราเคยทำไอศกรีมรสวาซาบิ หรือเอาสาหร่ายเถ้าแก่น้อยมาใส่ในไอศกรีมวนิลา เป็นต้น เด็กก็ตื่นเต้นว่าเราทำได้”
 

     จากจุดแข็งด้านการเป็นนักสร้างสรรค์ ทำให้พวกเขาต่อยอดมารับจ้างผลิตไอศกรีมโฮมเมดส่งให้ตามร้านอาหารและคาเฟ่ต่างๆ ที่อยากได้ไอศกรีมที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน อย่างทายาทโรงสีข้าว ที่มาทำร้านอาหารและอยากได้ไอศกรีมที่มีส่วนผสมของข้าวญี่ปุ่น พวกเขาก็รับโจทย์และพัฒนาออกมาเป็น ไอศกรีมชาเขียวข้าวญี่ปุ่นและไอศกรีมกะทิข้าวญี่ปุ่น เพื่อสะท้อนตัวตนของร้านลูกค้า
               

     และเพราะการฟังเสียงลูกค้านี่เองที่ทำให้มองเห็นปัญหา ซึ่งนำมาสู่โอกาสที่พลิกโลกธุรกิจของพวกเขา



 
 
เปลี่ยนไอศกรีมพร้อมทาน สู่ไอศกรีม DIY ทำกินง่ายทุกที่ทุกเวลา


     “มันเริ่มจากว่ามีลูกค้าที่มาทานที่ร้านแล้วอยากเอาไอศกรีมไปฝากคนอื่น ซึ่งมันเริ่มยากเพราะว่าจะมีปัญหาเรื่องการขนส่ง เพราะต้องใส่กล่องโฟม ใส่ดรายไอซ์ แต่ลูกค้าบางคนเขาไม่ได้สั่งเยอะแค่ถ้วย 2 ถ้วย จะซื้อไปฝากเพื่อนๆ เราก็ไม่รู้จะหาอะไรมาใส่ให้เขา เลยมาคิดว่า วัตถุดิบไอศกรีมโฮมเมดส่วนใหญ่เป็นของแห้งอยู่แล้ว มีแค่บางตัวที่เป็นน้ำ อย่างพวกวิปครีม ซึ่งเราก็พยายามหาตัวที่เขาทำเป็นผงขาย แล้วมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไอศกรีมผงกึ่งสำเร็จรูป”


     ไอศกรีมผง DIY กึ่งสำเร็จรูป ใช้หลักการของการเขย่าวัตถุดิบในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อผสมมาใช้แทนการปั่น ซึ่งสามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้เครื่องทำไอศกรีมให้ยุ่งยาก เพียง 3 ขั้นตอน คือ ผสมนมสด เท-เขย่า-แช่แข็ง สร้างทางเลือกในการทำไอศกรีม ที่เตรียมได้ง่าย ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการขนส่งและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่





     ถนัดพงษ์ เริ่มจากทดลองด้วยตัวเอง จนถึงจุดหนึ่ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มาชักชวนให้ไปประกวดสินค้านวัตกรรม หลังเคยร่วมอบรมโครงการสร้างและบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปูทางความเข้าใจธุรกิจมาก่อนหน้านี้  ซึ่งผลงานไอศกรีมนวัตกรรมของพวกเขา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ NSP Innovation Awards 2016 ภาคเหนือ รวมทั้งรางวัลรองชนะเลิศ RSP Innovation Award 2016 ประเภทกลุ่มโปรดักต์นวัตกรรมระดับประเทศมาได้สำเร็จ ล่าสุดก็เพิ่งไปคว้ารางวัล Creator Awards งานประกวด 7 Innovation Awards 2020 มาสดๆ ร้อนๆ โดยเปิดตัวครั้งแรกในงาน THAIFEX 2017 มีโอกาสร่วมงานแสดงสินค้า และจับคู่ธุรกิจที่ฮ่องกงกับเขาด้วย


     “ตอนแรกเราทำไอศกรีมโดยใช้ฐานเป็นนมผง แต่พอไปออกงาน THAIFEX ปรากฏมีผู้ประกอบการไทยที่ทำร้านอาหารในยุโรปและอเมริกา เขาแนะนำว่า จริงๆ แล้วถ้าจะไปตลาดโลก เราน่าจะมีอะไรที่มีความเป็นไทยมากกว่า เพราะเขามองว่าประเทศเราไม่ใช่ต้นกำเนิดไอศกรีม ดังนั้นต้องชูความเป็นไทย ก็เลยมานึกถึงไอศกรีมกะทิ บังเอิญในงานมีผู้ประกอบการที่ทำกะทิผงไปออกบูธพอดี เราเลยเปลี่ยนโดยเอากะทิมาแทนนม ก็ได้ออกมาเป็นไอศกรีมผงที่มีกะทิเป็นเบสแทนนมทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 รสชาติ คือ รสมะพร้าว รสทุเรียน และรสชาไทย” เขาบอกการเปลี่ยนเกมมาชูจุดขายความเป็นไทย ปูทางส่งออกในอนาคต



 
 
ต่อยอดแบรนด์ “แฮปปี้พลัส” สู่สินค้าที่สร้างความสุขที่มากกว่า


     เดิมไอศกรีมนวัตกรรมเปิดตัวด้วยชื่อ อีซี่ ไอซี่ (E-Z ICY) ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น “แฮปปี้พลัส” เพื่อให้สอดคล้องกับแบรนด์หลักที่แจ้งเกิดธุรกิจนี้


     “ร้านไอศกรีมที่เราทำอยู่ใช้ชื่อว่า Happy Plus คือไม่ว่าคุณจะมีความสุขหรือมีความทุกข์ แต่คุณจะมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้มาทานไอศกรีมที่ร้านของเรา ตอนแรกเราคิดว่า Happy Plus เป็นแม่ แล้วก็แตกลูกๆ ออกมาอย่างไอศกรีมสด เราใช้ชื่อว่า Little Happiness ความสุขเล็กๆ  มาเป็นไอศกรีมผงก็ใช้อีซี่ ไอซี่ แต่พอไปดูความหมายมันเป็นคำแสลงที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พอต้องไปทำแพ็กเกจจิ้งจริงๆ เลยมองว่าเราน่าจะสร้างแบรนด์ Happy Plus ให้มันแข็งแกร่งไปเลย ใช้ชื่อเดียวกันในทุกตัวสินค้า”


     วันนี้ไอศกรีมแห่งความสุข วางขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะห้างที่เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะ ไอคอนสยาม สยามดิสคัฟเวอรี่ และห้างโตคิว ในส่วนของตลาดต่างประเทศยังไม่ได้เริ่มทำอย่างจริงจัง โดยยังอยู่ระหว่างศึกษาตลาด เตรียมความพร้อมเรื่องคนและองค์ความรู้ โดยก่อนหน้านี้มีลูกค้าที่เป็นร้านอาหารไทยในต่างประเทศ หอบหิ้วสินค้าของพวกเขาเพื่อไปทำไอศกรีมจำหน่ายในร้านอยู่บ้าง สะท้อนโอกาสที่ยังมีอีกมากในธุรกิจนี้



 
             
นวัตกรรม SME ก็ทำได้ ถ้าแค่เปิดใจและแสวงหาโอกาสให้เป็น


     ถนัดพงษ์ไม่ใช่นักวิจัยหรือนักวิชาการที่ไหน  เขาทำงานแบงก์มาตลอดชีวิต และเริ่มต้นจากความไม่รู้เหมือนกับทุกๆ คน เขามีความเชื่อว่า ธุรกิจในโลกยุคใหม่จะอยู่รอดและยั่งยืนได้ก็ด้วย “นวัตกรรม” เพราะถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิมๆ อยู่ก็จะมีคู่แข่งที่ชอบลอกเลียนแบบมาแย่งชิงตลาด ถ้าไม่ยอมพัฒนา ไม่หาอะไรใหม่ๆ มาทำ ก็จะอยู่อย่างลำบากและอาจจะถูกคู่แข่งหรือรายใหญ่เข้ามาแย่งชิงตลาดไปได้ในที่สุด  


     “ผมมองว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนี้มันรวดเร็วมาก หลายคนเลยไม่อยากรอ แต่อยากจะเห็นผลสำเร็จภายในวันสองวันแทบทั้งนั้น แต่ว่าจริงๆ แล้ว การทำนวัตกรรมแม้จะใช้เวลาแต่มันช่วยให้เราพัฒนาทักษะ ช่วยพัฒนาความคิดของผู้ประกอบการ มันอาจจะไม่ได้ผลในวันสองวันหรือปีสองปี แต่ว่าในระยะยาวสิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ด้วยความยั่งยืนได้” เขาย้ำ


     แล้วเป็น SME จะไปหาองค์ความรู้เรื่องพวกนี้มาจากไหน เขาบอกว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ SME ขอเพียงแต่ให้เปลี่ยนความคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องเข้าหาหน่วยงานต่างๆ ในเวลาที่เดือดร้อนเท่านั้น แต่สามารถเริ่มจากมีไอเดียแล้วไปพูดคุยเพื่อต่อยอดไอเดียนั้น โดยไม่ต้องเริ่มจากทำอะไรที่ใหญ่โต แต่ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ลงทุน เริ่มจากเล็กๆ เห็นโอกาส แล้วพัฒนาตัวเองขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในคืนเดียว แต่ค่อยๆ โต ค่อยๆ ลงมือทำ แล้ววันหนึ่งก็จะไปสู่ความสำเร็จได้เหมือนที่พวกเขาเริ่มจากร้านเล็กๆ จนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ซึ่งยังมีโอกาสอีกมากในอนาคต
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย