คนว่างงานสูงสุดในรอบ 11 ปี หนี้ครัวเรือนพุ่ง รอยช้ำจากโควิดที่ SME ต้องจับตา

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
 

 
Main Idea


รวมความท้าทายในไตรมาส 2 ที่ SME ต้องจับตา

 
  • อัตราการว่างงานสูงถึง 7.5 แสนคน คิดเป็น 1.95 เปอร์เซ็นต์ ต่อกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 11 ปี
 
  • มีแรงงานต้องหยุดงานชั่วคราวสูงถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
 
  • ธุรกิจทยอยปิดกิจการ ความสามารถในการจ้างงานลดลงต่อเนื่อง
 
  • หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 83.8 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี ยอดคงค้างหนี้แตะ 9.22 หมื่นล้านบาท
 

 
              
     นับเป็นปีแห่งความท้าทายที่มีเรื่องให้ตื่นเต้นทุกไตรมาส สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ล่าสุดสองสำนักวิจัยออกมารายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนและอัตราการว่างงานไตรมาสที่ 2 ก็พุ่งสูงทำลายสถิติในรอบหลายสิบปี ซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่คู่เมืองไทยและโลกมาได้หลายเดือนแล้ว
              

     และนี่คือรอยช้ำจากโควิดที่ SME ต้องจับตา เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นคืนกลับ และยังมีความท้าทายอีกมากรอผู้ประกอบการไทยอยู่ในปีนี้
              
           


 
  • คนว่างงานไตรมาส 2 ทะลุ 7.5 แสนคน สูงสุดในรอบ 11 ปี


     รายงานจาก EIC เปิดเผยผลพวงจากวิกฤตโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงานไทย โดยนำไปสู่การตกงานของแรงงานในไตรมาส 2 ของปี 2563 สูงถึง 7.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95 เปอร์เซ็นต์ ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี และยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวสูงถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
              

     และในช่วงคลายล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคมและสิงหาคม แม้อัตราการว่างงานในภาพรวมจะลดลงบ้าง แต่ตลาดแรงงานยังถือว่าอยู่ในสภาวะซบเซา สะท้อนจาก 4 สัญญาณความอ่อนแอ ได้แก่ 1. อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น 2. กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง 3. จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (Furloughed workers) ยังสูงกว่าในอดีตมาก และ 4. สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ (Underemployment) ยังคงเพิ่มขึ้น
              




     สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตแรงงานครั้งนี้อาจจะไม่ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วนัก เนื่องจากหากมองไปในภาคธุรกิจ  จะเห็นถึงความสามารถในการจ้างงานที่ลดน้อยถอยลง และปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานกับความต้องการทางธุรกิจ (Skill mismatch) โดยเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก ทำให้แรงงานมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบมากขึ้น เช่น รับจ้างหรือทำงานอิสระมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระดับรายได้และความมั่นคงตามมานั่นเอง
 
  • ตลาดแรงงานยังฟื้นช้า ธุรกิจยังอ่วม การจ้างงานลดลง              

     EIC รายงานว่า ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 มีจำนวนธุรกิจที่แจ้งเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารวมทั้งสิ้น ราว 1.4 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 9.1 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถึงแม้จะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว การปิดกิจการก็ยังเพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้น โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การปิดกิจการขยายตัวที่ 29.2 เปอร์เซ็นต์ (YOY)  และในช่วง 28 วันแรกของเดือนสิงหาคม ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ 34.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY) โดยคาดว่า เป็นผลมาจากการขาดรายได้ของกิจการขณะที่สภาพคล่องมีไม่เพียงพอ ซึ่งกิจการที่ปิดตัวลงนี้จะส่งผลทำให้แรงงานในกิจการนั้นๆ ต้องว่างงานลงตามไปด้วย
 

     ขณะที่การเปิดกิจการใหม่ของภาคธุรกิจก็ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 จำนวน การจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ลดลง -12.5 เปอร์เซ็นต์ (YOY) สอดคล้องกับข้อมูลประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์ Jobsdb.com (วันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค.) ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนมีมาตรการปิดเมือง (วันที่ 21-27 มี.ค.) ถึง -20.8 เปอร์เซ็นต์ โดยต่ำกว่าในทุกอุตสาหกรรมและระดับเงินเดือน สะท้อนให้เห็นว่าภาวะการจ้างงานยังคงซบเซาเป็นวงกว้าง





     มองไปในอนาคตรายได้ของภาคธุรกิจก็ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ที่ต้องรอความชัดเจนในด้านการพัฒนาวัคซีนและการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการเปิด-ปิดกิจการ จะยังคงซบเซาและกระทบต่อการจ้างงานในระยะต่อไปด้วย
              

     อีกความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ วันนี้หลายธุรกิจมีการปรับตัวด้านการลดต้นทุนคนลง ทั้งการปรับวิธีการทำงาน
และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้โดยใช้แรงงานคนน้อยลง ทำให้ความต้องการแรงงานในระยะยาวสำหรับงานหลายประเภทอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป


     ถามว่าสถานการณ์การว่างงานกระทบอย่างไรต่อ SME  ถ้าตลาดแรงงานฟื้นตัวช้า จะชะลอการฟื้นตัวของรายได้ภาคครัวเรือนตามไปด้วย คนตกงาน ขาดรายได้ กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายในอนาคต และกำลังซื้อที่ลดลงของผู้คน ก็ย่อมส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ SME อย่างเลี่ยงไม่ได้
              


 
  • หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี
              
     ดูเหมือนว่าเรื่องท้าทายในไตรมาส 2 ไม่ได้มีเพียงปัญหาด้านแรงงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องถึง “หนี้ครัวเรือน” ที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 2 ปี2563 เพิ่มสูงสุดในรอบ 18 ปี อยู่ที่ 83.8 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส พบยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 9.22 หมื่นล้านบาท โดยระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ


     จากทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นเหรียญสองด้าน คือในขณะที่ครัวเรือนบางกลุ่มกำลังก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่คนอีกหลายกลุ่มต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน
              

     โดยกลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) กำลังก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ออกแคมเปญมากระตุ้นคึกคัก
              




     ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่ขาดสภาพคล่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ที่บางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน
              

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า  ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยสะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่  88-90 เปอร์เซ็นต์ ต่อจีดีพีในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ที่คาดว่าจะยังเติบโตในกลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ อาจทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ก็ตาม
              
              
     และนี่คือโจทย์ท้าทายที่กำลังส่งเสียงกระซิบถึงผู้ประกอบการ SME ในห้วงเวลาที่การทำธุรกิจจะยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ดึงเงินออกจากกระเป๋าได้ยากขึ้น แถมยังมีตัวเลือกสำหรับการใช้จ่ายแต่ละครั้งมากกว่าในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย ดังนั้นการทำให้สินค้าหรือบริการยังเป็นที่ต้องการ ตอบโจทย์ และสัมผัสได้ถึงความ “คุ้มค่า” จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่จะทำให้อยู่รอดในช่วงเวลาแบบนี้ได้
 

เรียบเรียงข้อมูลจาก : EIC และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย