Main Idea
แนวคิดทายาทธุรกิจจากยอดดอย
- ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ได้เปรียบ และไม่เสียเปรียบ
- ความถูกต้องอาจใช้ไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ในการทำธุรกิจ เพราะไม่มีใครได้อย่างที่คิดเสมอไป
- เราอาจยอมขาดทุนในวันนี้ ก็เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้า
- ผลตอบแทนที่แท้จริง มักไม่ได้มาในรูปแบบของเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว
การเป็นทายาทธุรกิจที่ต้องมารับช่วงสานต่อกิจการของครอบครัว เป็นอีกสิ่งไม่ว่าใครก็ตามหากต้องมารับผิดชอบหน้าที่ดังกล่าว มักเกิดความกังวลใจ ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับงาน ทัศนคติ และมุมมองต่างๆ ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ อยู่ในเมือง หรือแม้แต่บนยอดดอยเขาสูงก็ตาม
ณ บ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แหล่งเพาะปลูกและผลิตกาแฟขึ้นชื่อของประเทศที่ปีหนึ่งๆ ส่งป้อนวัตถุดิบให้กับร้านเชนกาแฟสีเขียวยักษ์ใหญ่ชื่อดังจากอเมริกากว่าหลายสิบตัน แถมมีผ้าทอขนแกะขึ้นชื่อ และยังมีโฮมสเตย์บรรยากาศดี มีเรือกสวนไร่นาและภูเขาสูงเป็นฉากหลัง
ที่นี่เราได้พบกับ “อังคณา นักรบไพร” หรือ “หมีน้อย” ทายาทสาววัย 26 ปี ผู้มาช่วยสานต่อดูแลวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าขนแกะบ้านห้วยห้อม รวมถึงไร่กาแฟ และโฮมสเตย์เล็กๆ ของครอบครัว
ระหว่างรอน้ำจากเครื่องกาแฟกำลังหยดลงบนแก้ว เราเอ่ยถามถึงสารทุกข์สุกดิบทั่วไป อังคณาเกริ่นเท้าความให้ฟังว่า เธอเองได้เข้ามาช่วยพ่อแม่ดูแลกิจการของชุมชนและครอบครัวตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลังจากที่จบการศึกษาเอกบัญชี จากมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
โดยเล่าว่าช่วงแรกที่ต้องกลับมาอยู่บ้านและช่วยดูแลกิจการร่วมกับพ่อแม่นั้น เธอเองก็มีปัญหาคล้ายกับทายาทธุรกิจคนอื่นๆ ที่มักมีปัญหาในการปรับตัวระยะแรกกับความรับผิดชอบที่เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว
“ตอนยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เรายังอยู่แบบเด็กๆ ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่ต้องคิดอะไร แต่พอกลับมาอยู่บ้าน คือ ปึ้ง! เลย ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ต้องเป็นแขนขาของพ่อของแม่ให้ได้ ไม่ใช่แค่กิจการของครอบครัว แต่ต้องช่วยดูแลงานชุมชนในหมู่บ้านด้วย เพราะครอบครัวเราเป็นผู้นำชุมชนมาตลอดทำมาตั้งแต่รุ่นคุณตา จนมาถึงพ่อแม่ ส่วนเราเป็นรุ่นที่ 3 ช่วง 1 – 2 ปีแรกเลยค่อนข้างเครียดมาก จันทร์-ศุกร์ทำงานอยู่แล้ว เสาร์อาทิตย์ถ้ามีลูกค้ามา ก็ต้องมาดูแลอีก ไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่ค่อยได้ไปคุยกับใครเลย มันเหมือนหมดอิสรภาพ ช่วงนั้นเลยกลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบเลย จนถึงขั้นต้องไปปรึกษาหมอ แต่ตอนนี้โอเคขึ้นเยอะ ปรับตัวได้แล้ว”
แก้วกาแฟถูกยกมาเสิร์ฟ หลังจากได้ลิ้มรสชาติกาแฟระดับพรีเมียมที่วันนี้แม้ไม่ได้นั่งอยู่ในร้านหรู แต่ก็ได้มาเยือนถึงถิ่นปลูก แถมยังได้จิบกาแฟแก้วละไม่ถึงร้อย แต่กลับได้ชมวิวหลักล้าน เราถามอังคณาต่อว่า นอกจากความรับผิดชอบที่เข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัวแล้ว ในด้านทัศนคติและการทำงานมีอะไรอีกบ้างที่เธอยังต้องปรับตัวอยู่ อังคณาเล่าเพิ่มเติมว่า
“ด้วยความที่เรียนบัญชีมา เราจะมองทุกอย่างเป็นระบบไปหมด แต่สิ่งที่พ่อและแม่ทำมาไม่ใช่แบบนั้น พ่อกับแม่ค่อนข้างใจดี ช่วงที่กลับมาช่วยแรกๆ เคยมีลูกค้ามาพักโฮมสเตย์ บางคนมานอน 8 คน บอกอาหารไม่เอา เขาขอจ่ายแค่ 500 บาท เขาบอกว่าเพิ่งไปบริจาคของมา สงสารเขาเถอะ ซึ่งเรามองว่าไม่ถูกต้อง หรือบางทีมา 2 คน จะขอจ่ายแค่ 200 บาท ถ้าเราให้ เดี๋ยวกรุ๊ปถัดไปเขาก็ไปบอกต่อเพื่อนได้อีก ซึ่งพ่อกับแม่จะไม่คิดแบบนี้ ช่วงแรกเคยทะเลาะกันเสียงดังเลย
“แต่พอผ่านมาเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจในสิ่งที่พ่อกับแม่ทำมากขึ้น ถ้าพูดถึงความถูกต้อง คือ มันไม่ถูกต้องนะ แต่บางทีความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมด ไม่มีใครได้อะไรอย่างที่คิดเสมอไป สิ่งที่เราได้ตอนนั้นอาจจะขาดทุน แต่สิ่งที่เราได้ตอนนี้ คือ เขาพาเพื่อนฝูงมาเที่ยวอีก มาช่วยกันอุดหนุน บางคนที่แม่บอกว่าเป็นเพื่อนให้มานอนฟรีไม่ต้องคิดตังค์ แต่พอกลับไป เขากลับเอาทุเรียนมาฝาก เอาลำไยมาให้เป็นกระสอบๆ เอาขนมเค้กมาฝากทุกปี บางทีพาเพื่อนมาซื้อน้ำผึ้งซื้อกาแฟกลับไป 4-5 ลัง เราเริ่มเห็นภาพพวกนี้ก็เลยเริ่มปรับวิธีคิด แต่ก็พยายามทำตามกฎเหมือนเดิม คือ จะไม่ค่อยลดราคา คนละ 400 บาทรวมอาหารเย็นและเช้า ก็คือ เท่านี้ แต่จะเปลี่ยนเป็นแถมอะไรให้มากกว่า เช่น น้ำพริก กาแฟ เรายินดี”
แก้วกาแฟว่างเปล่า ได้เวลาที่จะต้องเดินทางกลับ อังคณาเล่าสรุปจบท้ายชีวิตของเธอให้ฟังว่า ชีวิตทุกวันนี้ปรับตัวได้มากขึ้น และอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เธอเท่านั้นที่ปรับตัว พ่อและแม่ รวมถึงทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้องต่างก็เริ่มปรับความคิดและเห็นดีกับสิ่งที่เธอพยายามปลูกฝังและวางระบบให้กับกิจการของครอบครัว รวมถึงของชุมชนมากขึ้นเช่นเดียวกัน
“ไม่ใช่แค่เรานะที่พยายามปรับวิธีคิด หลังๆ มาทุกคนก็เริ่มเริ่มคิดแบบเรามากขึ้นด้วย ไม่ว่าพ่อหรือแม่บางทีเวลามีลูกค้ามาขอต่อราคา จากแต่ก่อนเขาก็ใจดียอมให้ แต่ตอนนี้ คือ โยนมาให้เราจัดการเลย คือ เขาเริ่มมองเห็นข้อดีกับการที่เราพยายามทำอะไรแบบชัดเจนตรงไปตรงมาบ้างแล้ว เพราะบางครั้งความไม่น่ารักของเรา ก็มีประโยชน์ขึ้นมาบ้าง” อังคณาเล่าอย่างมีความสุข
ก่อนกลับด้วยเส้นทางที่คดเคี้ยวและขรุขระ ค่อนข้างต้องใช้เวลากว่าจะพบถนนสายหลัก เราจึงทิ้งท้ายด้วยการสั่งกาแฟเย็นใส่น้ำผึ้งอีกแก้วหนึ่ง
“พี่เอาแก้วมาไหม”
“ไม่มี”
“งั้นครั้งนี้ไม่เป็นไร มาคราวหน้าถ้าไม่เอามา หนูดุนะ ขยะพลาสติกที่นี่เราจะแยกและขนลงไปทิ้งข้างล่างเดือนละครั้ง ถ้ามีแก้วของตัวเองก็จะดีกว่า ไม่ต้องเปลืองเงินซื้อ ไม่ต้องเป็นขยะ อยากดื่มเมื่อไหร่ก็หยิบขึ้นมา หนูเองยังมีเลย”
อังคณาพูดจบท้ายประโยคแบบเด็ดขาด พร้อมรอยยิ้มอันใสซื่อที่เจืออยู่บนใบหน้า
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี