PHOTO : ข้าวคุณแม่
Main Idea
สูตรแปลงข้าวให้เป็นธุรกิจ
- พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากข้าว
- ขยายสู่เครื่องสำอางจากข้าว
- ทำฟาร์มเป็นศูนย์เรียนรู้
- เอาองค์ความรู้เรื่องข้าวมาจัดเป็นคอร์สอบรม
- ต่อยอดสู่คาเฟ่ให้คนแวะมากินดื่มชิล
จมูกข้าวฮางงอกจากข้าวไทย 6 สายพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ Pop Rice ซีเรียลจากข้าวไรซ์เบอร์รีออร์แกนิก เซรั่มและ สบู่ข้าวไรซ์เบอร์รี
คือตัวอย่างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าว ผลงานของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวคุณแม่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เจ้าของแบรนด์ “ข้าวคุณแม่” (Khao Khun Mae) และแบรนด์ “MERE” ซึ่งแปลว่าแม่ในภาษาฝรั่งเศส ที่คว้ารางวัลมาจากหลายเวที และมีรายได้ต่อปีอยู่ที่หลักล้านบาท
ขยายจากธุรกิจเล็กๆ ไปสู่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ คอร์สอบรม ไล่ไปจนคาเฟ่สุดชิค ที่ใครๆ ต่างก็อยากแวะเยือนหา แต่ใครจะรู้ว่าในวันเริ่มต้น พวกเขาต้องผ่านการต่อสู้มาสารพัด และเคยหยุดทำธุรกิจไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็เลือกที่จะกลับมาสู้ใหม่ และเอาชนะทุกข้อจำกัดด้วยคำว่า “นวัตกรรม”
เริ่มต้นจากข้าวถุงมัดหนังยางทำแจกมากกว่าขาย
วันนี้แบรนด์ข้าวคุณแม่อยู่ในกล่องสวยหรูและดูดี มีแพ็กเกจจิ้งน่ารักน่าชัง โดดเด่นด้วยผลงานภาพประกอบจาก “ครูปาน-สมนึก คลังนอก” ศิลปินที่มีชื่อเสียง แต่ในวันเริ่มต้นใครจะคิดว่าพวกเขาจะเริ่มจากกรอกข้าวใส่ถุงแกงมัดหนังยางขาย แบบไม่มีแบรนด์ ไม่มีอะไรทั้งนั้น แถมยังกล้าตั้งราคาขายถึงกิโลกรัมละ 120 บาท คนต้นเรื่องที่สร้างปรากฎการณ์นี้คือ “ประธาน ศรีสุโน” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวคุณแม่ อดีตโปรดิวเซอร์รายการทีวี ที่ได้ไอเดียทำธุรกิจจากการลงไปถ่ายรายการที่ จ.สกลนคร และได้รู้จักกับภูมิปัญญาการทำ “ข้าวฮางงอก” ที่เป็นการนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำ และบ่มให้งอก จากนั้นก็นำมานึ่งทั้งเปลือกก่อนทำการกะเทาะเปลือกตามมา ข้าวฮางงอกจากสกลตั้งราคาขายที่กิโลกรัมละ 80 บาท ขณะที่ข้าวที่แม่เขาปลูกซึ่งอยู่ จ.นครพนม ห่างออกไปแค่ 70 กิโล แต่กลับขายไม่ได้ราคา แถมยังถูกกดราคาจากโรงสีจนขาดทุนทุกปี เลยไปชักชวนทั้งพ่อและแม่ให้เปลี่ยนมาทำข้าวฮางงอก โดยที่ยังไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า...ทำแล้วจะไปขายใครที่ไหน
“พอทำได้เยอะก็บอกแม่ให้ส่งมาที่กรุงเทพ แล้วผมจะเอาไปขายให้เอง ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลย ปรากฏว่าตื่นเต้นมากตอนที่แม่ส่งมา แต่พอเปิดกล่องตื่นเต้นมากกว่า เพราะแม่ใส่ถุงร้อนมัดหนังยางมาเลย ครั้งแรกแม่ส่งมาคิดเป็นเงินประมาณหมื่นกว่าบาท ปรากฏว่าผมก็ไม่ได้ขายใครหรอก เอาไปแจกเพื่อนๆ เสร็จแล้วก็โอนเงินกลับไปให้แม่ ซึ่งแม่ตื่นเต้นมาก เพราะปกติเขาขายข้าว 1 ตัน ได้มาแค่ 8 พันกว่าบาท แต่นี่ข้าวนิดเดียวขายได้เป็นหมื่น เลยบอกแม่ว่าเราขายกิโลกรัมละ 120 บาท แพงกว่าสกลนครอีกนะ แม่เลยกลับไปทำต่อ พอล็อตที่สองเยอะกว่าเดิมอีก ผมก็ทำแบบเดิมไปแจกเพื่อนๆ ย้ายที่แจกไปเรื่อยๆ จนล็อตที่สามงวดนี้มันเยอะมากประมาณ 45,000 บาท ตอนนั้นโอนเงินให้แม่รวมกับเงินที่ต้องให้เขาทุกเดือนเกือบหมดบัญชีเลย ผมขาดทุนไปหลายเดือนมาก”
ประธานบอกชะตากรรมของเขาในช่วงเริ่มต้น ที่ต้องเฉือนเนื้อตัวเองอยู่หลายเดือน เพื่อให้ธุรกิจของแม่ได้ไปต่อ แต่ข้อดีคือหลังจากที่แจกจ่ายไปเริ่มมีคนทักกลับมาว่าข้าวของเขาดี ผู้ใหญ่กินแล้วไม่มึนชา ตามมาด้วยออเดอร์จากการขายจริงเป็นครั้งแรก
“หัวหน้าเรียกเข้าไปคุยบอกจะสั่งข้าวสัก 100 กิโลกรัมไปแจกผู้ใหญ่ แต่แกขอว่าให้ช่วยทำให้มันดีกว่านี้ได้ไหม ไม่ใช่มัดหนังยางมาแล้วขาย 120 บาท ผมก็ถามแกว่าต้องทำยังไงเพราะไม่เคยทำ แกก็บอกให้ไปเปลี่ยนถุงไปหาถุงสำเร็จมาใส่ แล้วทำสติ๊กเกอร์มาติด บอกวิธีการกิน ข้าวอะไรต้องบอกหน่อย ผมก็เลยทำตามที่แกบอก ตอนนั้นใช้ชื่อแบรนด์ว่าข้าวฮางงอกแม่สุชาดา เอาชื่อแม่มาตั้งเลย ตอนหลังลูกค้าทักว่าชื่อยาวไปเรียกยาก เลยขอแม่ว่าจะตัดชื่อแม่ทิ้งนะให้เหลือแค่ข้าวคุณแม่ แล้วใช้เป็นชื่อแบรนด์ตั้งแต่นั้นมา”
จากดาวเด่นโอทอปสู่สินค้าที่ใครๆ ก็ทำได้
หลังจากข้าวฮางงอกเมืองนครพนมออกสู่ตลาดได้ 1 ปี พวกเขาก็เข้าประกวดโอทอปและได้เป็นโอทอป 4 ดาว ตั้งแต่ปีแรกที่ประกวด เขาบอกว่าตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำข้าวแปรรูป และข้าวฮางงอกก็ยังเป็นของใหม่ในตลาด พอได้ไปออกบูธที่เมืองทองธานี สินค้าเลยขายดิบขายดี ชนิดที่จัดงาน 9 วัน ขายข้าวหมดเกลี้ยงใน 7 วัน จนต้องไปซื้อข้าวบูธอื่นมาทำเป็นสลัดคำขาย ได้เงินมากว่า 3 แสนบาท ประธานบอกว่า ตื่นเต้นมากเพราะทำงานทั้งเดือนก็ยังไม่ได้ขนาดนี้
วันหนึ่งจึงตัดสินใจเดินไปบอกหัวหน้าว่า จะลาออกจากงานไปขายข้าว แล้วก็เริ่มชีวิตใหม่ของเขานับจากนั้น แต่ทว่าเส้นทางผู้ประกอบการก็ไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด
“มันเป็นอะไรที่ยากมาก ตอนขายมันไม่เท่าไหร่ แต่จะติดในเรื่องเวลาเราไปออกบูธต่างจังหวัด ซึ่งเราไปทุกที่ทั่วประเทศแต่มันไม่ได้ขายดีเหมือนกรุงเทพทั้งหมด สิ่งที่ตามมาคือมันมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ซึ่งบางทีก็ขาดทุน ที่สำคัญยิ่งนานวันวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ก็เยอะขึ้น หน่วยงานภาครัฐก็เข้าไปส่งเสริมให้ทำเหมือนๆ กันหมด ปี 2557 ผมเลยตัดสินใจหยุดทำ เพราะมันขายไม่ได้ มีคนมาทำข้าวฮางงอกเหมือนกันเยอะมาก ไม่ใช่แค่ภาคอีสานแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ก็ทำข้าวฮางงอกกันหมด”
หลังหยุดธุรกิจประธานก็กลับไปทำงานที่เขาถนัดอีกครั้ง โดยรับจ้างถ่ายรายการ ได้เงินสดกลับมาเป็นรายวัน แต่สุดท้ายก็พบว่า สิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ คือเรื่องข้าว เพียงแต่ว่าถ้าจะกลับไปทำข้าวอีกครั้ง ก็ต้องคิดและทำแบบใหม่ เพื่อไม่ให้ไปตกอยู่ในวงจรเดิมอีกแล้ว
แปลงกายข้าวอินทรีย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าว
หลังผู้เป็นแม่ยกที่ดินแปลงหนึ่งให้ เขาก็ย้ายกลับมาอยู่บ้าน และรวมตัวสมาชิกกว่า 20 คน ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวคุณแม่ เพื่อใช้วัตถุดิบข้าวอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรในเครือข่าย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนอีกทางด้วย
“เราพยายามหากลยุทธ์ โดยเปลี่ยนมาแปรรูปข้าว เริ่มต้นข้าวไปทำอะไรได้บ้างเราหมด ทั้ง โจ๊กข้าวกล้อง โจ๊กข้าวฮาง น้ำข้าวกล้องงอก ทำมาทุกอย่างแล้ว แต่ไม่ดีสักอย่าง เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องการแปรรูปอะไรเลย แต่ตอนหลังที่ผมอยากทำมาก เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งไปออกงานโอทอป จำได้ว่ามีพี่คนหนึ่งเขาขายน้ำมัลเบอร์รี ผมเลยไปถามเขาว่าพี่ทำยังไงให้มันอยู่ได้นาน แกบอกจะยากอะไร แค่ต้มน้ำร้อนๆ กรอกใส่ขวด แล้วเอามาน็อกน้ำเย็น ปรากฎพอทำตามเขาบอก ขวดแรกแตกเลย ถึงรู้ว่าถูกเขาหลอกแล้ว เลยคิดว่าคงไม่มีใครมาบอกอะไรเราง่ายๆ หรอก มันเป็นความเจ็บช้ำน้ำใจ จึงเริ่มศึกษาเองว่าการแปรรูปต้องทำยังไง รู้จักใครถามหมด ศึกษาเองจากในยูทูบ และกูเกิลด้วย จนเริ่มมาพัฒนาตัวแรกเป็นจมูกข้าวสำหรับชงดื่ม ส่วนที่เหลือก็มาทำ Pop Rice ซีเรียลจากข้าวไรซ์เบอร์รี คือเราพยายามใช้ข้าวให้ครบทุกส่วน”
จากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารที่ใช้แบรนด์ “ข้าวคุณแม่” ก็พัฒนามาสู่นวัตกรรมความงามจากข้าว ภายใต้แบรนด์ “MARE” ทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากข้าว เริ่มจาก เซรั่มและ สบู่ข้าวไรซ์เบอรี เดย์ครีม ไนท์ครีม และที่กำลังทำอยู่คือลิปสติกจากข้าวซึ่งจะออกสู่ตลาดในไม่ช้านี้
ขณะที่ด้านแพ็กเกจจิ้งก็มีการปรับโฉมใหม่ โดยได้ “ครูปาน” ศิลปินนักวาดภาพประกอบที่มีชื่อเสียงมาวาดภาพประกอบพร้อมลายเซ็นอยู่บนบรรจุภัณฑ์ จากนั้นก็เริ่มเอาสินค้าไปเสนอตามห้างสรรพสินค้า โดยปัจจุบันมีวางขายทั้งใน เลมอนด์ฟาร์ม ดอยคำ วิลล่า มาร์เก็ต และร้านอาหารสุขภาพในกรุงเทพฯ เวลาเดียวกันก็ยังคงออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา
แปลงที่ดินให้เป็นธุรกิจ แปลงความรู้ให้เป็นโอกาสทำเงิน
แม้จะเริ่มจากข้าว แต่ข้าวคุณแม่ก็ไม่ได้มีรายได้จากแค่การขายผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่พวกเขายังแปลงสินทรัพย์รอบตัวที่มีอย่างฟาร์มข้าวให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เปิดคาเฟ่ให้คนมาแวะพัก เอาองค์ความรู้ที่มีมาจัดเป็นคอร์สสอน กลายเป็นโอกาสทำเงินที่เข้ามาจุนเจือกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
“อย่างตัวศูนย์เรียนรู้เองก็เกิดจากมีหน่วยงานและโรงเรียนที่รู้ว่าเราทำแปรรูปต่างๆ และทำเศรษฐกิจพอเพียง ก็ขอมาดูงาน เราก็ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ จัดสรรพื้นที่ทำเป็นฐานต่างๆ เพื่อให้คนเข้ามาศึกษาดูงาน ก็คิดค่าวิทยากร ค่าดูงาน แล้วก็จะมีค่าอาหารต่อหัว ค่าเบรกค่าอะไรพวกนี้ และเราก็มีกิจกรรม พอมีคนมาถามว่าข้าวฮางทำยังไง เราเลยจัดเป็นคอร์สสอน ถ้าไม่เกิน 50 คน ก็คิด 5 พันบาท ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน เขาถามว่านอกจากข้าวฮางงอก สอนอย่างอื่นอีกไหม ก็เลยสอนทำปุ๋ยอินทรีย์ สอนปลูกผัก สอนทำขนมจากแป้งข้าว อะไรพวกนี้ตามมา” เขาบอกวิธีคิดในการต่อยอดธุรกิจจากข้าว
จากข้าวมัดถุงแกง วันนี้ข้าวคุณแม่อยู่ในแพ็กเกจจิ้งทันสมัย ได้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมของจังหวัด ล่าสุดยังเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รางวัล Creator Awards เวทีสุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards ผลงานที่เกิดประโยชน์ด้านสังคมอีกด้วย
เมื่อถามว่า อะไรคือหัวใจที่ทำให้ธุรกิจกระท่อนกระแท่นในตอนเริ่มต้น มาสู่ความสำเร็จในวันนี้ได้ เขาบอกว่า
“บางทีคนเราชอบคิดอะไรง่ายๆ มีความฝันว่าอยากจะทำ แต่ถ้าพูดในทางปฏิบัติแล้วยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ หรือไม่ได้ลงมือทำ แต่อาศัยว่าใจอยากทำและไม่เกิดการศึกษา สุดท้ายก็เกิดเป็นความล้มเหลว ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่ความท้อแท้ในที่สุด ผมอยากให้คนที่คิดอยากจะทำอะไร เอาใจมาก่อน ขอให้มีใจก่อน เสร็จแล้วก็ศึกษาหาข้อมูลให้เยอะที่สุด จริงๆ มันไม่ได้ยากอะไรเลย ถ้าเรามีข้อมูลมากพอและมีความอดทนในธุรกิจที่เราทำ หาข้อมูล วางแผนดีๆ และลงมือทำ ผมเชื่อว่าทุกคนก็ไปสู่ความสำเร็จได้”
เหมือนที่เขาและข้าวคุณแม่พิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี