“มัดแมน” แตก 2 แบรนด์ใหม่ ใช้ ‘สินค้า’ และ ‘ช่องว่างตลาด’ สร้างโอกาสในวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     แนวคิดการสร้างแบรนด์ใหม่ในภาวะวิกฤต
 
 
  • ในภาวะวิกฤตไม่ได้หมายความว่าธุรกิจต้องหยุดลง แต่หากมองหาโอกาสและเตรียมตัวให้ดีก็พร้อมขยายธุรกิจไปต่อได้
 
  • จงเรียนรู้จากช่วงวิกฤตว่าการใช้ชีวิตของลูกค้าเปลี่ยน ธุรกิจจึงต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคต
 
  • ต่อยอดแบรนด์ใหม่จากแบรนด์เดิม เสริมจุดแข็งด้านการผลิต และช่องว่างทางการตลาด
 


 
       
     ในวันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่รู้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน รายได้ยังไม่ขยับมาเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตจนทำให้ไม่กล้าขยับตัวทำอะไรมากนัก เพราะต้องเก็บเงินสำรองเอาไว้ก่อน แต่ไม่ใช่กับบริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากจะเคลื่อนไหวด้านการตลาดของแบรนด์ในเครือ ประกาศเปิดตัว “นางสาวอุบลพรรณ” หรือ เฌอแปง ตัวแทนของแบรนด์โอบองแปง และ “บักขิ่น” ตัวแทนของไอศกรีมบาสกิ้นรอบบิ้น จนเป็นที่ฮือฮากันเท่านั้น แต่พวกเขาลงทุนปลุกปั้นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาถึง 2 แบรนด์
                

     แน่นอนว่ามัดแมนก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แม้กระทั่งปัจจุบันที่ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นแล้วก็ตามแต่รายได้ของทั้งแบรนด์แฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็น ดังกิ้น โดนัท, โอบองแปง และบาสกิ้น รอบบิ้น ตลอดจนธุรกิจร้านอาหารเครื่องดื่มแบรนด์ตัวเอง อาทิ เกรย์ฮาวน์ คาเฟ่, อนาเธอร์ฮาวด์ คาเฟ่, ครัว M และ Le Grand Vefour ต่างก็มีรายได้ลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายกลับไม่น้อยลงเลย


     แต่แทนที่จะรอให้สถานการณ์คลี่คลาย พวกเขากลับเลือกไขว่คว้าหาโอกาสใหม่ในวิกฤต



 

     “ลภาพร เตียสกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการและรองประธานบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) บอกว่า “เรามองภาพรวมว่าบริษัทต้องมีแบรนด์ใหม่ๆ ถ้าอยากเพิ่มโอกาส เราต้องเพิ่มแบรนด์”
               

     จากการทำงานในวงการอาหารและเครื่องดื่มมาตลอด 20 ปี ทำให้เข้าใจธรรมชาติของการทำธุรกิจว่าในวิกฤตหรือในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดทุกสิ่ง แต่เราต้องมองหาโอกาสและเตรียมตัวให้ดี ก็จะทำให้ความเสี่ยงไม่สูง สามารถลงทุนทำโปรดักต์ที่เชื่อว่าสามารถเติบโตได้
               

     “เชื่อว่าผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจไทยหลายคนก็คิดแบบเดียวกันว่าในวิกฤตมีโอกาส ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่าหลายบริษัทเปิดตัวอะไรใหม่ๆ ในช่วงนี้เยอะ เพราะเขาเรียนรู้จากช่วงวิกฤตว่าลูกค้าใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เขาจึงเตรียมตัวสำหรับอนาคต”



               

     แบรนด์แรก “Crop Pul” (ครอปปุ) เป็นแบรนด์ขนมที่ผสมผสานครัวซองต์เข้ากับวาฟเฟิล เริ่มพัฒนาโปรดักต์ขึ้นเมื่อปลายปี 2562 โดยต่อยอดจากความสามารถในการผลิตขนมของโอบองแปง ที่มีโรงงานผลิตขนมปังแช่แข็งและครัวซองต์อยู่แล้ว นำมาสร้างสรรค์เป็นครัวซองต์แช่แข็ง (Frozen Croissant) ที่นำไปอุ่นแบบวาฟเฟิลประมาณ 3 นาทีให้รสชาติเนยหอมที่อร่อยยิ่งขึ้นบนความเป็นวาฟเฟิล นำเสนอในสไตล์เกาหลีเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่น


     แต่ก่อนที่จะตกผลึกรูปแบบแบรนด์ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นเสียก่อน จึงต้องหยุดการพัฒนาแบรนด์และกลับมาดำเนินการต่อหลังสถานการณ์คลี่คลาย ช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้ตัดสินใจทำร้านแบบ Take away เท่านั้น


     “ถ้ามองในช่วงโควิดที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ มีช่องทางการขายที่ไม่เคยปิดเลย คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากข้อสังเกตนี้เองกลายเป็นโอกาสของแบรนด์ ถ้าเรามีแบรนด์น้องใหม่ที่สามารถอยู่ตามสถานที่ใกล้ลูกค้าได้ อยู่ที่ที่มีคนจับจ่ายอยู่ตลอด อย่างไรก็ไม่โดนปิด ก็จะเป็นทางหนึ่งที่เราสามารถไปต่อได้ แบรนด์ Crop Pul จึงออกมาในลักษณะ Grab and Go จากร้าน Kiosk ในซูเปอร์มาร์เก็ต”



 
               
     หากแบรนด์แรกเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจาก “สินค้า” แบรนด์ที่ 2 ที่ชื่อว่า “Bon Eatery” เป็นโอกาสจากการมองเห็น “ลูกค้า” ของโอบองแปง
               

     “เรามีประสบการณ์เปิดร้าน เรามีสาขาในโรงพยาบาลระดับพรีเมียม ซึ่งช่วงบ่ายไม่มีอะไรให้กินเท่าไร ช่วงเย็นลูกค้าไม่กินครัวซองต์หรือแซนวิชเพราะไม่ใช่อาหารที่คนไทยคุ้นเคย ซึ่งดีมานด์นี้มีมานานแล้ว เราเลยเปิดตัว Bon Eatery ที่แปลว่า ร้านอาหารที่ดี คอนเซ็ปต์นี้สร้างสรรค์โดยใช้คำว่าบาลานซ์ (สมดุล) ใน 4 อย่าง คือ สุขภาพ การกิน ไลฟ์สไตล์ และกระเป๋าเงิน”
               

     ลูกค้าของ Bon Eatery ไม่ใช่คนไข้ของโรงพยาบาล แต่เป็นคนที่แพทย์แนะนำว่าควรรักษาสุขภาพ ทีมมัดแมนพิจารณาปัญหาของอาหารสุขภาพส่วนใหญ่ที่มีราคาแพงและไม่อร่อย ดังนั้น อาหารของร้านอาหารที่ดีอย่าง Bon Eatery จึงต้องอร่อย ใส่ใจคุณภาพ และคุ้มค่าคุ้มราคาไปพร้อมกัน โดยคัดสรรใช้โปรตีน 3 อย่าง คือ แซลมอน ปลากะพง และไก่ มีเมนูพิซซ่าที่เรียกว่า Guilty Free ที่ลูกค้าจะกินแล้วไม่รู้สึกผิด แต่กินแล้วมีความสุขกลับไปแน่นอน



               

     “เราคิดไอเดียนี้ก่อนโควิด-19 ตอนแรกจะไปทำที่โอบองแปง สาขาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ซึ่งเราสามารถเติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนตกผลึกอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าไม่สับสน จึงตัดสินใจเปิดเป็นแบรนด์ใหม่ที่มีตัวตนชัดเจน แบรนด์ชัดเจน โดยสาขาแรกอยู่ที่โรงพยาบาลบีเอ็นเอช”
                 

     มัดแมนเปิดตัว 2 แบรนด์ในเวลาห่างกันเพียงสัปดาห์เดียว แต่ลภาพรมั่นใจว่าความชัดเจนและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialty) จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้แน่นอน
               

     นี่คือหนึ่งในภาพสะท้อนว่า แม้ในวิกฤตยังมีโอกาส หากผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม และศึกษาตลาดให้ดี  ก็ยังสามารถก่อเกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาสนองตลาดอย่างทันท่วงทีได้

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย