Main Idea
ไอเดียทำธุรกิจสไตล์เครปเย็น Whip Me
- จริงใจกับลูกค้า ใช้วัตถุดิบดี มีคุณภาพ
- สร้างคาแรกเตอร์ให้โดดเด่น เพื่อเป็นที่จดจำของลูกค้า
- ใช้โอกาสที่เข้ามาให้เต็มที่ ไม่ปล่อยให้กระแสหลุดมือไปเฉยๆ
เคยคิดไหมว่าถ้าต้องขายสินค้าผ่านช่องออนไลน์ ซึ่งนับเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และลงทุนน้อยที่สุดในเวลานี้ เราจะทำให้ลูกค้าสนใจเข้ามาหาเราได้อย่างไร ไปจนถึงการตัดสินใจเลือกซื้อ ทั้งที่อาจไม่เคยมาที่หน้าร้าน ได้เห็นสินค้าจริง หรือทดลองใช้สินค้ามาก่อน บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากแคปชันกวนๆ น่าสนใจ สัก 1–2 ประโยคก็เป็นได้
“เครปเย็นสอดไส้ฟิลลิ่งช็อกโกแลต จากสวิตเซอร์แลนด์ เราไม่ได้ใช้เพราะแพงไป เลยซื้อจากร้านอาแปะข้างบ้าน แต่อร่อยนะแก๊รรรร ลองดูดิ...เครปเย็นบลูเบอร์รี่ เลือกเก็บผลเฉพาะต้นสูงไม่เกิน 170 ซม. เพราะถ้าสูงกว่านี้คงเก็บไม่ถึง...เครปเย็นสอดไส้ฟิลลิ่งส้ม เลือกเฉพาะผลสีส้มเท่านั้น เพราะถ้าผลสีเขียวกลัวจะเป็นมะนาว”
นี่คือ หนึ่งในตัวอย่างของแคปชันสุดกวนจาก Whip Me ร้านเครปเย็นจากนนทบุรีที่เพิ่งกลายเป็นกระแสไวรัลเล็กๆ ให้ผู้คนเข้ามารีทวิตกันมากกว่าห้าหมื่นครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนอกจากจะสร้างรอยยิ้มเสียงหัวเราะให้กับผู้คนที่แวะผ่านเข้ามาเห็นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นยอดขาย เพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจขึ้นมาได้อีกด้วย
ด้วยความอยากรู้ที่มาของไอเดียแคปชันสุดกวนดังกล่าว เราจึงได้ติดต่อเข้าไปที่เพจเฟซบุ๊กของร้าน จนทำให้ได้พูดคุยกับ “นพรัตน์ สุขเมือง” หรือ “คลาส” หนุ่มเจ้าของร้านที่เพิ่งเริ่มต้นเปิดกิจการได้เมื่อ 3 -4 เดือนที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ระบาดนี่เอง เนื่องจากอาชีพหลักที่ทำอยู่ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว
“จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจคิดสร้างเป็นกระแสขึ้นมา และไม่เคยคิดว่าจะมีคนเอามาแชร์บอกต่อกันเยอะถึงขนาดนี้ เราแค่อยากสื่อสารออกมาแบบเป็นกันเองกับลูกค้าที่เข้ามาดู แค่อยากบอกให้รู้ว่าร้านนี้เป็นกันเองนะ คนขายเป็นคนอารมณ์ดีนะ อย่างอื่นเป็นผลพลอยได้มากกว่า แต่ก็ต้องขอบคุณลูกค้า ขอบคุณคนเอาไปโพสต์มากที่ให้ความสนใจร้านของเรา” นพรัตน์เล่าให้ฟังถึงที่มาของแคปชันสุดกวนที่เขานำมาใช้อธิบายเมนูเครปเย็นที่ขึ้นอยู่ในหน้าแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีต่างๆ ตั้งแต่ Grab, Line Man จนถึง FoodPanda
“เราเริ่มจากโพสต์ขายผ่านช่องทางออนไลน์ในกลุ่มของกินนนทบุรีก่อน ครั้งแรกที่โพสต์ลงไปก็ได้ออร์เดอร์กลับมากว่า 500 ชิ้นเลย ของเราใช้วิปครีมสด ทำสดใหม่ทุกวัน ใช้ของคุณภาพดี รสชาติก็หวานน้อย ลูกค้าเลยติดใจ ช่วงแรกเรียกว่าขายดีมากเราทำเองส่งเองกับแฟน ออกจากบ้านไปส่งขนมตั้งแต่แปดโมงเช้า กลับบ้านอีกทีเกือบห้าทุ่ม ส่งไม่ไหวเลยเริ่มรับตัวแทนจำหน่าย จนตอนนี้เพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยลงขายผ่านแอปพลิเคชั่น Food Delivery ต่างๆ ด้วย เลยอยากลองทำอะไรที่แตกต่าง”
โดยเครปเย็น Whip Me มีทั้งหมด 8 ไส้ ได้แก่ สตรอว์เบอรี่, บลูเบอรี่, ส้ม, ช็อกโกแลต, ฝอยทอง, ครีมโอ, วนิลา และกล้วย ขายในราคาชิ้นละ 20 บาท โดยในแต่ละไส้นอกจากจะถ่ายรูปสินค้า อธิบายรสชาติต่างๆ ให้รู้แล้ว เขายังได้คิดแคปชันสนุกๆ ของแต่ละรสชาติใส่ลงไปด้วย จนถูกนำไปแชร์ต่อและกลายเป็นกระแสไวรัสอยู่ในโซเชียลขณะนี้ ซึ่งนพรัตน์เล่าว่า หลังจากที่เขาปล่อยแคปชันออกไปไม่กี่อาทิตย์ ก็ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากลูกค้าที่อยู่ไกลไม่เคยสั่ง ก็มาสั่ง ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 10 – 15 เปอร์เซ็นต์
ถามว่าแคปชันสนุกๆ กวนๆ นี้ ช่วยให้สามารถหยุดลูกค้าให้แวะเข้ามาดู หรือกระทั่งตัดสินใจซื้อเครปเย็นจากร้าน Whip Me ได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เคยได้ไปหน้าร้าน ไม่เคยเห็นสินค้าจริง หรือแม้แต่ไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติมาก่อน สามารถสรุปออกมาเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
- สร้างคาแรกเตอร์
ในตลาดออนไลน์อาจมีร้านเครปเย็นอยู่มากมาย แต่การที่ร้านเครปเย็น Whip Me เลือกใช้วิธีการเขียนข้อความอธิบายถึงตัวสินค้า โดยแทนที่จะบอกแค่เพียงว่าเป็นรสชาติอะไรเหมือนร้านทั่วไป แต่กลับเลือกสร้างกิมมิกให้แต่ละไส้ด้วยการสร้างมุกตลกใส่เพิ่มลงไป จึงเกิดเป็นคาแรกเตอร์ทำให้เป็นที่จดจำของลูกค้าได้ไม่ยาก
- ช่วยหยุดลูกค้าได้
การสร้างแคปชันแบบ Whip Me ถือเป็นวิธีที่แปลกใหม่ ไม่ค่อยมีใครทำ จึงทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจ จนอยากหยุดแวะเข้ามาลองดู มาอ่าน ซึ่งแค่นี้ก็ถือเป็นโอกาสที่มากพอสำหรับการขายสินค้าในโลกออนไลน์แล้ว
- สร้างอารมณ์ขัน
ด้วยแคปชันที่สนุก ตลก อ่านแล้วอารมณ์ดี จึงทำให้ใครๆ ก็ชื่นชอบ ดูแล้วไม่น่าเบื่อ แปลกใหม่ และน่าสนใจ จนอยากติดตาม อยากแชร์และบอกต่อให้คนอื่นได้รู้บ้าง
- ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง
การใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการมาก แถมมีลูกเล่นมุกตลกๆ จึงทำให้ลูกค้าอ่านแล้วรู้สึกเกิดความเป็นกันเอง เมื่อเกิดความเป็นกันเองก็จะเกิดความเชื่อใจ และก็ไม่อยากที่จะพัฒนาจนกลายเป็นลูกค้าได้
- กระตุ้นความอยากซื้อ
ด้วยภาษาที่อ่านแล้วสนุก ชวนให้ติดตาม บางครั้งก็ไปช่วยส่งเสริมจินตนาการของลูกค้า ทำให้อยากทดลองสั่งแต่ละรสชาติมาลองชิม
นอกจากการสร้างแคปชันสุดกวนช่วยเรียกความสนใจจากลูกค้าได้แล้วนั้น นพรัตน์ยังมีกลยุทธ์การทำธุรกิจที่น่าสนใจอย่างอื่นให้น่านำไปปรับใช้ด้วย เช่น ตั้งแต่แรกที่เริ่มขายเขาจะเขียนข้อความทักทายใส่กระดาษโน๊ตแปะส่งให้ลูกค้าทุกถุงพร้อมกับขนมที่ส่ง นอกจากนี้ยังพยายามจดจำชื่อลูกค้าขาประจำทุกคนให้ได้ ทำให้เกิดความคุ้นเคยเป็นกันเองได้ง่ายขึ้น
“เราขายออนไลน์ ลูกค้าเขาไม่รู้หรอกว่ารสชาติเป็นยังไง บางคนก็ไม่เคยกิน แต่อยากลองดู ดังนั้นสิ่งที่ผมทำได้อย่างแรก คือ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า แต่ในวันนี้เมื่อเราได้รับโอกาสที่ดีแล้ว มีคนรู้จักร้านเราเยอะขึ้น ถูกแชร์ออกไปมากมายในโลกโซเชียล เราก็ต้องใช้โอกาสตรงนี้ให้เต็มที่ ไม่ปล่อยทิ้งไปเฉยๆ” นี่คือสิ่งที่นพรัตน์ทิ้งท้ายกับเราไว้
นอกจากนี้เขายังได้ฝากเคล็ดลับการเขียนแคปชันแบบกวนๆ สไตล์ Whip Me ไว้ให้ด้วยว่า 1.ต้องจริงใจ เป็นตัวของตัวเอง 2. หามุกตลกเข้ามาสอดแทรก และ 3.สร้างความเป็นกันเองกับลูกค้า
เรียกว่าวันนี้ต่อให้คุณอาจยังไม่เคยได้ลองชิมเครปเย็นของที่นี่ แต่คุณก็ได้รู้จัก Whip Me ไปแล้วหล่ะ…
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี