“Survival Economy” บทเรียนจากโควิดที่ SME ได้เรียนรู้ จาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

TEXT : กองบรรณาธิการ






Main Idea


สูตรอยู่รอดใน “Survival Economy”
 
  • ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ใครเร็วกว่าคนนั้นรอด
 
  • ใช้ Innovation มาสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ
 
  • ใช้แต้มต่อที่ประเทศเรามีมาสร้างโอกาสธุรกิจ
 
  • ร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรอดไปด้วยกัน
 
  • ดำรงความคิดแบบนวัตกร อย่าหยุด ต้องขยับขยายต่อไป



     “หลังจากโควิด-19 เกิดขึ้น ยิ่งชี้ขาดเลยว่า ต่อไปนี้โลกเปลี่ยนแล้ว และเปลี่ยนเร็วกว่าที่เราคาดคิด 5 เดือนที่แล้วใครจะคิดว่าเราจะมีวันนี้ เกิดปรากฏการณ์ที่กระทบไปทั่วโลก วันดีคืนดีเครื่องบินหายไปจากท้องฟ้า  รถราหยุดวิ่ง ทุกคนอยู่กับบ้าน ธุรกิจหลายอย่างต้องชะลอตัว และหยุดด้วยซ้ำไป และหลายอย่างก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า”
               




      คำกล่าวของ “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่สื่อสารถึงผู้ประกอบการ SME ในงาน “Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย ประจำปี 2020” ที่ผ่านมา


      หลังจากโลกถูกเยี่ยมเยือนโดยวิกฤตโควิด-19 และเปลี่ยนแปลงความปกติให้กลายเป็นความปกติใหม่ ทุกคนลังเลระหว่างทางรอดของชีวิตกับผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับในแง่ของรายได้ ต่างวุ่นวายกับการมีเงิน มีบัตรเครดิต แต่กลับไม่มีของที่จะให้ซื้อ ปรากฏการณ์เหล่านี้ท้าทายความอยู่รอดของ SME ไทย  บีบบังคับให้ต้องปรับกลยุทธ์และวิธีคิดใหม่


      “ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่พวกเรานั่งรอเพื่อให้สถานการณ์เก่าๆ มันกลับมา อีก 2 เดือนเท่านั้นมั้ง บางคนก็มองโลกในแง่ร้ายอีก 2 ปีมั้ง  แต่มันอาจจะไม่กลับมาเลยก็ได้  New Normal นี้มันอาจจะอยู่กับเราไปตลอดเลยก็ได้  เพราะฉะนั้นเราจะเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทันทีทันใดนี้อย่างไร ซึ่งใครคิดก่อน ใครเร็วก่อน และใครมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงก่อน คนนั้นจะต้องรอด”




 
วิกฤตก่อเกิด Innovation สร้างโอกาสให้ธุรกิจ


      ระหว่างที่โลกเผชิญกับวิกฤต เกิดเป็นภาพของหลายธุรกิจไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ที่ปรับตัวเพื่ออยู่รอด โดยคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านสินค้าและบริการ เพื่อประคองตัวเองให้รอดพ้นจากวิกฤต


      “การบินไทยโฆษณาให้ไปรับประทานอาหารในเครื่องแต่กินบนบก เพราะเขาไม่รู้จะบินยังไงแล้ว แต่มันมีห้องครัวที่ดังอยู่  ไม่มีผู้โดยสารก็เอามาตั้งที่ทำงานใหญ่ของเขา แล้วเชิญทุกคนไปดูที่นั่น ใครจะไปเชื่อว่ากิจการการบินจะต้องมาเสิร์ฟอาหาร หรืออย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์ก็มีนวัตกรรมเหมือนกัน เขาขายตั๋วเครื่องบิน โปรแกรมที่พาไปนั้นคือ  Go to nowhere แปลเป็นภาษาไทยว่า ไม่ไปไหน ก็ไม่ไปไหนจริงๆ ขึ้นเสร็จบินรอบๆ เกาะเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง แล้วเสิร์ฟอาหาร เพราะเข้าใจว่าคนเคยขึ้นเครื่องบินมีความเคยชิน ตอนนี้ไม่ได้ขึ้นมานานคงคิดถึง ก็บินมันเสียหน่อย คิดราคา 6,000 บาท แพงกว่าค่าโดยสารธรรมดาที่มากรุงเทพฯ หรืออะไรด้วยซ้ำ เผื่อจะให้ได้บรรยากาศเก่าๆ ซึ่งบรรยากาศมันเป็น Innovation ที่จะขายได้เหมือนกัน”





 
            Survival Economy ดำเนินธุรกิจเพื่ออยู่รอด 


      ดร.สุเมธ นิยามเศรษฐกิจในวันนี้ว่าเป็น “Survival Economy” และโจทย์ของ SME คือเราจะดำเนินธุรกิจอย่างไรเพื่ออยู่รอด


      “ผมคิดว่าวันนี้มันคือ Survival Economy เราจะประกอบธุรกิจอย่างไรเพื่อให้ Survival มันจะรอดหรือไม่รอด ต่อไปนี้มันไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องของสังคม แต่เพื่อความอยู่รอดของพวกเรา ความอยู่รอดของมนุษยชาติต้องใช้ Innovation”


      ดร.สุเมธ  ยกตัวอย่าง กลุ่มท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด หลังเคยมีความสุขกับการรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเข้าประเทศ  เอาแค่ประเทศจีนประเทศเดียวก็นับสิบล้านคนต่อปีแล้ว  รับกันไม่หวาดไม่ไหว แต่วันนี้นักท่องเที่ยวที่เคยเป็นความหวัง หายไปหมดประเทศ


      “วันนี้โรงแรมว่างเปล่า ห้องอาหารปิดให้บริการ ห้องพักเริ่มพูดกันว่าจะทำอย่างไร ทุกคนรอนักท่องเที่ยวให้กลับมา ผมถามว่าแล้วเมื่อไหร่ ทำไมต้องรอ กล้าที่จะเปลี่ยนไหม ถ้ากล้าก็ต้องสร้าง Innovation ใหม่ๆ ประเทศไทยถูกประกาศว่าเป็นประเทศที่การสาธารณสุขที่ 1 ของโลก เรามีคนตาย 58 คนมาเป็นเวลา 4-5 เดือน ไม่มีการตายอย่างที่คนอื่นเขาตายกันโครมๆ อย่างประเทศมหาอำนาจหรืออะไรเขาจะแตะ 2 แสนอยู่แล้ว


      และทุกวันนี้เราก็รู้อีกว่า มันเป็น Aging Society  แล้วทำไมไม่เอาทุกอย่างมารวมกันล่ะ มันก็เป็น Innovation เหมือนกัน เอาโรงแรมหรือเอาที่ไหนก็ได้ไปผูกกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ๆ กัน แล้วประกาศไปเลยแทนที่จะทำเป็นโรงแรมเราทำเป็นศูนย์รับคนชราของโลก ขอเชิญมาตายที่เมืองไทยผมคิดว่าดึงดูดใจมากนะ เพราะเมืองไทยสวยงาม มีที่พักอย่างดี มีการแพทย์อย่างดี กับเงินจำนวนเดียวกับที่เขาจ่ายทั้งปีในยุโรป เอามาใช้ชีวิตตายอย่างสบายในเมืองไทย”


      ดร.สุเมธ บอกว่า โมเดลนี้จะทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้  โรงแรมอยู่ได้ คนผลิตอาหารการกินอยู่ได้ เด็กจบใหม่มีงานทำ โอกาสมีอยู่เต็มไปหมด ถ้าสามารถจับสิ่งเหล่านี้มาทำให้เป็นระบบ
 



 
ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและเดินไปข้างหน้า


      อะไรสำคัญที่สุดที่จะทำให้ SME เกิด Innovation และกิจการอยู่รอด ดร.สุเมธ ยกให้หัวใจที่ชื่อ “ความกล้า”


      “Innovation บางทีมันคิดง่ายๆ แต่บางทีเรากระดากเกินไป เราไม่กล้าเกินไป สุดท้ายก็ไม่ได้สักอย่าง ผมคิดว่านอกจาก innovation สินค้าต่างๆ Innovation โรงแรมต่างๆ  มันควรมี Innovation ความกล้าของเราที่จะเดินไปข้างหน้าลุยไปข้างหน้า ไปเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่มันจะเกิดขึ้นด้วย


      และต้องเตรียมพร้อมหลังจากโควิด-19 อาจจะมีอะไรต่ออะไรเข้ามาโดยไม่คาดฝันอีกเยอะ และคนไทยนั้นคิดว่าเรามีขีดความสามารถอันหนึ่งซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยนึกถึง แต่ตอนนี้เราต้องงัดออกมาใช้อย่างเต็มอัตราแล้ว นั่นคือความสามารถในการปรับตัว คนไทยเราปรับตัวเร็วมาก ไม่ว่าจะเจอกับอะไรเรามักจะพลิกแพลงและเผชิญหน้าได้ค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นขอให้กำลังใจนักนวัตกรทั้งหลาย ขอให้ดำรงความคิด อย่าหยุด ขอให้ทำต่อไปและพยายามขยับขยายต่อไป” เขาฝากไว้ในตอนท้าย

 


               
      การมาถึงของโควิด-19 มาพร้อมบทเรียนสำคัญให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย ช่วยให้พวกเราได้เรียนรู้ ปรับตัว สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่ออยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง ใน Survival Economy  
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย