‘ลี อายุ จือปา’ กับภารกิจใหม่ เปิดร้านกาแฟที่ญี่ปุ่น และหนทางรอดในวิกฤต

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สุนันท์ ล้อสมทรัพย์





Main Idea



แนวคิดธุรกิจแบบ “ลี อายุ จือปา”     
 
  • ให้ความเคารพกับความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น
 
  • มีฝันที่ดีได้ แต่ต้องมีกระบวนการ และรายละเอียดที่ทำได้จริงด้วย
 
  • มีวินัยทางการเงิน วางแผนรอบคอบไว้ตั้งแต่ทีแรก
 
  • อุปสรรคไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่กระบวนการบริหารจัดการมากกว่า
 
     

        
  
     ในวงการกาแฟบ้านเรา ถ้าพูดถึง “ลี อายุ จือปา” คงไม่ต้องเอ่ยกันมากว่าผู้ชายคนนี้ คือ ใคร เพราะใครๆ ต่างก็คงรู้จักเรื่องราวการต่อสู้ในธุรกิจกาแฟของเขาในฐานะเจ้าของแบรนด์ ‘Akha Ama Coffee’ (อาข่า อ่ามา) ร้านกาแฟที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟตัวจริงกันดีอยู่แล้ว


     แต่เรื่องราวที่เรากำลังจะนำเสนอต่อไปนี้ คือ ความท้าทายบทใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นของผู้ชายคนนี้กับการหาญกล้าไปเปิดร้านกาแฟที่ประเทศญี่ปุ่น ดินแดนแห่งความฝันของผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟจากทั่วโลก ที่มีผู้บริโภคกาแฟมากเป็นอันดับสามของโลก และมีร้านกาแฟอิสระเกิดขึ้นมากมาย


     บอกเลยความยากครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเปิดตัวกาแฟไทยบนเวทีโลกให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่เขายังต้องรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามาพร้อมๆ กันตั้งแต่ร้านยังไม่ทันได้เปิด ลี อายุ จือปา จะผ่านมันไปได้อย่างไร ไปติดตามคำตอบกัน
 




SME Thailand : คิดยังไง ถึงเลือกไปเปิดร้านกาแฟสาขาใหม่ที่ญี่ปุ่น


ลี อายุ จือปา : เป็นชาเลนจ์ที่คิดกันขึ้นมากับน้องๆ ในทีมว่าเราทำธุรกิจกาแฟมาครบสิบปีแล้ว มีอะไรใหม่ๆ อีกบ้างที่พวกเขาคิดอยากจะลองทำ แต่ไม่กล้าแสดงมันออกมา เพื่อช่วยให้เกษตรกรและกาแฟไทยได้มีพื้นที่ยืนและกระจายสินค้าออกไปได้มากขึ้น ตอนแรกเราคิดว่าเขาน่าจะตอบแค่กรุงเทพฯ เพราะเรามี 3 สาขาอยู่ที่เชียงใหม่แล้ว ซึ่งครั้งแรกเขาก็ตอบออกมาแบบนั้นจริงๆ แต่ยังมีอีกคำตอบหนึ่งซ่อนอยู่ คือ “อยากไปญี่ปุ่น”


     ยอมรับว่าได้ฟังครั้งแรกก็อึ้งเหมือนกัน แต่พอมาลองช่วยกันคิดก็พบว่ามันมีความเป็นไปได้หลายข้อทีเดียว หนึ่งคือ เราเชื่อว่ากาแฟไทยมันสามารถไปได้และตลาดกาแฟไทยที่ญี่ปุ่นน่าจะยังเป็นเรื่องใหม่ด้วย จากนั้นก็มาลองคิดถึงเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ เราพบว่าถ้าจะเปิดสาขาเพิ่มไม่ว่ากรุงเทพฯหรือญี่ปุ่น เราก็ต้องสร้างทีมใหม่ขึ้นมาใหม่อยู่ดี ส่วนค่าเช่าในกรุงเทพฯ บางแห่งถ้าทำเลดีๆ ก็เดือนละ 50,000 – 100,000 บาทเลย ซึ่งราคานี้ที่ญี่ปุ่นเราก็น่าจะหาได้เช่นกัน ในส่วนของการบริหารจัดการบังเอิญเรามีเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ใช้กาแฟของเราเป็นประจำอยู่แล้วก็น่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกันได้ ข้อดีอีกข้อ คือ ญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาโอลิมปิกด้วย ถ้าเราสามารถไปเปิดที่นั่นได้ น่าจะทำให้คนรู้จักเราได้เยอะขึ้น เมื่อได้ครบทุกคำตอบแล้ว ก็ตัดสินใจทำเลย
 







SME Thailand : กว่าจะเปิดร้านขึ้นมาได้ คุณใช้เวลานานเท่าไหร่

ลี อายุ จือปา : เราเริ่มคิดเมื่อปลายปีที่แล้ว จนบินไปดูที่ เช่าทำสัญญา ออกแบบตกแต่งร้าน จนถึงเปิดร้านได้ เราใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมาก เราทำทุกอย่างพร้อมไว้หมดแล้ว แต่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ คือ เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า
 

SME Thailand : ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย ว่าเกิดอะไรขึ้น

ลี อายุ จือปา : พอตัดสินใจว่าจะทำ ผมก็บินไปดูที่เลย กลับมาได้ไม่ถึงเดือน พอเข้าเดือนมีนาคม โควิด-19 ก็เริ่มระบาด ตอนนั้นเราเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว ทั้งเช่าที่ ติดต่อสถาปนิก จ้างช่าง หาเครื่องคั่ว หาอุปกรณ์ต่างๆ เหลือแค่สร้างร้านขึ้นมาอย่างเดียว ตอนแรกก็คิดว่าจะเอายังไงต่อดี แต่เมื่อเดินหน้ามาแล้ว ก็ต้องทำต่อไป ผมเป็นคนที่ให้เกียรติและเคารพความรู้สึกของตัวเองมากๆ รวมถึงผู้อื่นด้วย เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกอยากทำ ก็ทำเลย พอมาเจอโควิดถามว่ากลัวไหม ผมคิดว่าถ้าเรายิ่งไม่เปิด ก็เหมือนว่าเรายอมจำนน ผมคิดว่าโควิดไม่สามารถทำลายสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้ได้ จริงๆ ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นทำหรือไม่ทำในเชิงธุรกิจอาจมีค่าเท่ากัน แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราจะให้มันมาตีกรอบในสิ่งที่อยากทำ ในขณะที่ชาวบ้านหรือคนที่เราทำงานด้วย เขาก็ยังต้องใช้ชีวิต ยังต้องกิน เลยรู้สึกว่าแล้วทำไมเราต้องหยุด เพียงแต่เราต้องมีสติให้มากขึ้นเท่านั้นเอง
 




SME Thailand : พอตัดสินใจเดินหน้าต่อ แล้วคุณแก้ปัญหายังไง


ลี อายุ จือปา : เราก็ทำร้านต่อไปเรื่อยๆ กำหนดเดิมที่จะเปิด คือ ต้องเปิดให้ได้ก่อนเดือนกรกฏาคมที่จะมีโอลิมปิก ซึ่งปรากฏว่าเราก็สามารถทำได้จริงๆ เราเปิดร้านในวันที่ 28 มิถุนายน แต่กลายเป็นว่าเขาประกาศขอเลื่อนจัดโอลิมปิกออกไปก่อน ตอนนั้นก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้มาเพราะโอลิมปิกอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่พอยิ่งทำ ก็กลายเป็นว่าเคสผู้ป่วยก็ยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย เราเองก็ไปจากไทยไม่ได้ ก็ให้ทีมบาริสต้าที่ญี่ปุ่นเข้ามาฝึกที่เมืองไทยแทน กลับไปก็ให้เขาไปกักตัว และจากแพลนที่คิดจะไปคั่วกาแฟจากที่นั่น ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งที่เมล็ดดิบก็ส่งไปถึงแล้ว


     พอคั่วไม่ได้ เราเลยแก้ปัญหาโดยส่งเมล็ดคั่วจากที่นี่ไปให้แทน ต้องส่งผ่านขนส่งเอกชน ซึ่งค่าส่งแพงมาก แต่ถ้าเราไปเสียกำลังใจเพราะเหตุผลแค่นั้น ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี ผมว่านั้นไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เราล้มเลิกความตั้งใจง่ายๆ แต่ขึ้นอยู่ว่าเราจะบาลานซ์และจัดการกับสิ่งที่ที่เกิดขึ้นตรงนั้นยังไงมากกว่า ทำยังไงถึงจะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ผมค่อนข้างให้น้ำหนักกับเรื่องพวกนี้เสมอ ไม่ใช่แค่ความฝัน ฝันอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีกระบวนการ มีรายละเอียดที่สามารถตรวจสอบได้ด้วย
 




SME Thailand
: นอกจากเหตุผลทางธุรกิจ และเป้าหมายที่อยากช่วยเกษตรกรไทย ความท้าทายสำหรับตัวคุณเองที่ต้องไปเปิดร้านไกลถึงญี่ปุ่น คือ อะไร

ลี อายุ จือปา : ความท้าทายสำหรับผมเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า ผมชอบชาเลนจ์เรื่องพวกนี้ ซึ่งถ้าทำได้มันจะสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้หลายคนรู้สึกกล้าที่จะทำอะไรอย่างที่อยากทำได้อีกเยอะเลย ผมอยากทำให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย! ไอ้เด็กดอยคนหนึ่งมันทำได้ ฉันก็ต้องทำได้สิ เราอยากส่งต่อพลังงานบวกแบบนี้ออกไปให้กับคนอื่น มันไม่ใช่การโอ้อวด แต่ผมรู้สึกว่ามีคนหนุ่มสาวที่มีความคิดที่อยากจะทำอะไรแบบนี้อยู่เยอะ แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าที่จะทำออกมา  
 

SME Thailand : นอกจากสาขาใหม่ที่ญี่ปุ่น คุณยังมีร้านสาขาที่เมืองไทยด้วย คุณรับมือกับวิกฤตที่เข้ามายังไง

ลี อายุ จือปา : ตั้งแต่โควิด-19 เข้ามา รายได้หน้าร้านของเราหายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แต่โชคดีที่ผมเป็นคนค่อนข้างมีวินัยในการใช้จ่ายมาก ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจผมจะมีเงินก้อนหนึ่งเก็บเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งเราก็ได้นำออกมาใช้ รู้สึกขอบคุณตัวเองเลยที่วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าวางแผนดีแล้วเราจะไม่ลำบากนะ ไม่ใช่ แค่ทำให้เราลำบากน้อยลงเท่านั้น ช่วงแรกที่เกิดวิกฤตน้องๆ ในทีมเดินมาบอกกันเองเลยว่าลดเงินเดือนกันไหม เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดได้ มันทำให้เรายิ่งมีกำลังใจมากขึ้นว่าจะทำยังไงให้น้องๆ เผชิญปัญหานี้ให้สั้นที่สุด เราปรับลดเงินเดือนลงอยู่ 3 เดือน 1-2 เดือนแรกเยอะหน่อย พอเดือนที่ 3 ดีขึ้นก็เพิ่มให้ จนเดือนที่ 4 เดือนสิงหาคมทุกอย่างดีขึ้น ก็กลับมาให้ตามปกติ ต้องขอบคุณทีมขอบคุณน้องๆ ที่พยายามช่วยกัน และแก้สถานการณ์ได้ไว
 




SME Thailand : จากที่ลองสังเกต ทำไมคุณชอบหาอะไรทำใหม่ๆ ในทุกๆ 3 ปี ตั้งแต่สาขาแรก สาขาที่ 2,3 จนถึงการเปิดร้านที่ญี่ปุ่น

ลี อายุ จือปา : เราไม่ได้บังคับตัวเอง แต่รู้สึกว่าการทำธุรกิจทุกวันนี้ต้องมีการทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะแต่ละอย่างมันเปลี่ยนแปลงไวมาก ไม่มีทางที่เราจะปักตรงนี้ไว้ แล้วจะเดินไปหาตรงๆ แบบนั้นได้ บางทีอาจต้องมีเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาบ้าง แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญเท่ากับการมีทีมที่ดี หลายคนอาจมองว่าธุรกิจประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มาจากผู้นำ แต่ผมมองว่ามาจากทีมที่ดีมากกว่า
 

SME Thailand : อนาคตนอกจากญี่ปุ่น คุณคิดจะไปที่ไหนต่ออีก เพราะอะไร

ลี อายุ จือปา : ผมอยากไปเดนมาร์กกับเนเธอแลนด์ เพราะรู้สึกชอบที่เขาเป็นชาวยุโรป แต่มีวัฒนธรรมที่สูงในเรื่องของการบริโภค และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น ผมชื่นชมตรงนี้ การที่มีจำนวนผู้บริโภคเยอะ ขายได้ปริมาณมาก ไม่ใช่เหตุผลที่ผมจะไปแน่นอน
 




SME Thailand เห็นคุณชอบพูดคำว่า “ให้เกียรติ” เยอะมาก คุณไปเอาแนวคิดนี้มาจากไหน

ลี อายุ จือปา : เป็นคำแรกๆ ที่ผมเติบโตขึ้นมาและได้เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่ ท่านมักสอนเสมอว่าเราต้องให้เกียรติคน คนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่มนุษย์อย่างเรา แต่ยังรวมถึงสรรพสิ่ง ต้นไม้ ป่าเขา ทุกอย่าง แม่มักบอกเสมอว่าอย่าคิดว่าตัวเองมีอำนาจทุกอย่างหรือเอาตัวเองไปตัดสินผู้อื่น เพราะจริงๆ แล้วมนุษย์เป็นแค่อณูเล็กๆ หนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น ฉะนั้นต้องให้ความเคารพกับทุกสิ่ง ยิ่งทำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น สุดท้ายไม่ใช่ใครเลยที่ได้ ตัวเรานั้นแหละที่ได้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย