Main Idea
5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ “เช็ง-กรภัคร์ มีสิทธิตา”
- สนใจถ่ายภาพมาตั้งแต่อายุ 18 เคยเรียนกับ “ทอม เชื้อวิวัฒน์” หนึ่งในช่างภาพที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย
- เป็นช่างภาพประจำรุ่นในหลักสูตรที่ลงเรียน และชอบเซอร์ไพรส์เพื่อนๆ ด้วยการอัดรูปใส่กรอบให้หลังเรียนจบ
- หลงใหลกล้อง Olympus และชอบถ่ายภาพบุคคล (Portrait) เป็นชีวิตจิตใจ
- ชอบแต่งบ้านให้ทุกมุมเป็นเหมือนสตูดิโอ มุมไหนก็สวย ถ่ายรูปโชว์ได้
- มองการทำธุรกิจเป็นเหมือนศิลปะ ไม่ได้ทำเพื่อ Make Money อย่างเดียว แต่ต้องการทำสิ่งสวยงามให้ผู้คน มีสมองเหมือนกับกล้องถ่ายรูป
ในแวดวงธุรกิจ เรารู้จัก “เช็ง-กรภัคร์ มีสิทธิตา” ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด เจ้าของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ “Fasttech” (ฟาสเทค) ที่ผ่านชีวิตและการต่อสู้มาอย่างโชกโชน เป็น SME นักสู้ที่ใครหลายคนคุ้นเคยดี
แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือเธอมีงานอดิเรกเป็นการถ่ายภาพ และฝีมือไม่ธรรมดาเสียด้วย ถึงขนาดที่ล่าสุดได้เป็น 1 ใน 10 ช่างภาพกิตติมศักดิ์ ร่วมถ่ายภาพสาวงามผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2020 (Miss Universe Thailand 2020) กับเขามาแล้ว ที่สำคัญเธอคือผู้หญิงคนเดียวบนเวทีนี้
SME Thailand ชวนมาเปิดกล้องส่องเลนส์ คุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังผลงานที่ก้าวข้ามความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจของเธอคนนี้
ศิษย์เก่า “ทอม เชื้อวิวัฒน์” หนึ่งในช่างภาพที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย
แม้จะร้างราเรื่องการถ่ายภาพมาหลายสิบปี แต่ในอดีต “เช็ง-กรภัคร์” ก็เป็นศิษย์มีครูด้านการถ่ายภาพกับเขาเหมือนกัน เธอเล่าให้ฟังว่าสนใจถ่ายภาพมาตั้งแต่ตอนอายุประมาณ 18 ปี พอ 20 ต้นๆ ก็มีโอกาสไปเรียนถ่ายภาพเปิดกล้องส่องโลกกับ “อาจารย์ทอม เชื้อวิวัฒน์” หนึ่งในช่างภาพที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นประมาณ 10 คน เรียนอยู่เป็นปี ได้ควงกล้องฟิล์มท่องเที่ยวถ่ายรูปเสียทั่ว เธอว่าถ่ายกันสนุกๆ แบบไม่ได้คิดอะไรมากมาย จนเมื่อเริ่มทำธุรกิจและมีครอบครัว ก็ต้องทิ้งความชอบนี้ไป
“ตอนนั้นเริ่มมีครอบครัวตอนอายุประมาณ 29 ปี จนมาถึงปี 2540 ที่เจอกับวิกฤตก็ทิ้งเรื่องถ่ายรูปไปเลย เรียกว่าทิ้งไปเป็นสิบๆ ปีเพราะไม่มีเวลาเล่น มีแค่ถ่ายรูปลูกๆ บ้าง แต่ก็ไม่ได้จริงจังหรือต่อเนื่องอะไร ตอนหลังพอธุรกิจเริ่มอยู่ตัว ก็มีโอกาสลงเรียนหลักสูตรต่างๆ อย่างตอนไปเรียนที่สถาบันพระปกเกล้าปีแรก เห็นเพื่อนเอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูปเล่นแล้วรู้สึกว่าทำไมมันมืดอย่างนี้ ต้องไม่ใช่แบบนี้สิ เลยไปซื้อกล้องดิจิทัลมาลองเล่นดูบ้าง เอาความรู้ที่เคยมีในอดีตมาปรับใช้กับกล้องที่ซื้อมา เริ่มจากกล้องตัวเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยับมาเรื่อยๆ สุดท้ายก็ได้กลับมาถ่ายรูปอีกครั้ง” เธอเล่าเส้นทางของช่างภาพที่เริ่มจากความชอบ
ช่างภาพของรุ่น ที่มีเซอร์ไพรส์ให้เพื่อนร่วมรุ่นอยู่เสมอ
เช็ง-กรภัคร์ ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก ว่างๆ เธอชอบชวนลูกสาว “เอิน-พะณิชา มีสิทธิตา” ออกไปเที่ยวเพื่อเป็นนางแบบให้แม่ถ่ายรูปเล่น เวลาไปลงเรียนหลักสูตรต่างๆ หนึ่งในบทบาทที่เธอชอบทำคือการเป็น “ช่างภาพประจำรุ่น”
“คนส่วนใหญ่ชอบเป็นแบบ แต่พี่ชอบเป็นตากล้องเพราะชอบถ่ายรูปมาก แล้วของพี่ไม่ใช่ถ่ายเสร็จแล้วส่งให้เขาเลยนะ แต่พี่จะเอามารีทัช มาตัดกรอบตัดแสงทุกใบ ถ้าถ่าย 500 รูป ก็ปรับทั้ง 500 อย่างเรียนโปรเจ็กต์กับเพื่อนๆ 100 กว่าคน ทำอย่างไรให้ทุกคนเขาแฮปปี้กับพี่ พี่เลยถ่ายรูปเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันแล้วอัดใส่กรอบแจกให้ทุกคนเลย ให้เขาเป็นที่ระลึกตอนเรียนจบ ที่ทำแบบนี้เพราะพี่เสียดายรูปที่ถ่ายออกมาสำหรับพี่มองว่ามันสวย เพราะพี่ตั้งใจถ่ายให้ทุกคน แล้วเราเรียนกัน 4 เดือน ไม่ใช่ว่าเขาได้แค่ใบเดียวแต่พี่ถ่ายเก็บไว้เยอะมาก กลับมาบ้านก็เก็บรูปที่สวยที่สุดใส่ไว้เป็นอัลบั้ม พอใกล้จบก็เอารูปพวกนี้มานั่งเรียงตามรายชื่อเลย แล้วเลือกรูปที่สวยที่สุดอัดใส่กรอบให้เขา พี่คิดเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเรียนแล้ว แอบทำโดยที่ไม่ได้บอกใคร เพราะอยากถ่ายภาพและอยากเก็บช่วงเวลานั้นไว้ พอตอนได้รูปทุกคนก็จะเซอร์ไพรส์มาก” เธอเล่าเรื่องสนุกจากความชอบ
ทักษะในการถ่ายภาพกับกล้องดิจิทัลตลอดจนการตกแต่งภาพก็อาศัยเรียนรู้ด้วยตัวเอง ศึกษาจากโปรแกรมที่ติดมากับกล้องแต่ละตัวบ้าง บวกกับเทคนิคที่เคยเรียนมาในอดีต ก็ทำให้งานอดิเรกกลายเป็นความสนุกขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อถามถึงแนวถ่ายภาพที่ถนัด เธอบอกว่า ชอบถ่ายรูปบุคคล (Portrait) เพราะชอบที่จะดึงอารมณ์ความรู้สึกของคนที่เป็นแบบออกมาผ่านทางรูปภาพ
จากงานอดิเรกสู่การเป็นช่างภาพนางงาม มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2020
ด้วยฝีมือด้านการถ่ายภาพ ทำให้ เช็ง-กรภัคร์ ได้รับการทาบทามจากผู้จัดงาน “มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2020” ให้เป็น 1 ใน 10 ช่างภาพกิตติมศักดิ์ ร่วมถ่ายภาพสาวงามผู้เข้าประกวดในปีนี้ โดยผลงานของแต่ละคนจะถูกจัดแสดงใน “นิทรรศการความงาม มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2020” (MUT2020 Beauty Exhibition) ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และบนแอปพลิเคชัน TrueID เพื่อเปิดให้สาธารณชนโหวตให้คะแนน
ช่างภาพแต่ละคนจะหยิบฉลากจับคู่นางงาม 10 คน เพื่อถ่ายทอดความสวยงามผ่านเลนส์ รวมเป็น 100 นางงามกับช่างภาพทั้ง 10
“จากเด็กทั้งหมดร้อยคนเขาเห็นช่างภาพผู้ชาย 9 คน มีผู้หญิงอยู่คนเดียว เอาจริงๆ เขาก็ไม่ได้อยากมาอยู่กับพี่เท่าไรหรอก ป้าที่ไหนก็ไม่รู้เป็นผู้หญิงอีกต่างหากจะมาถ่ายรูปเขาได้ดีแค่ไหนเชียว แล้วแต่ละคนนี่อุปกรณ์ครบชุดมาก แพงๆ ทั้งนั้น ของพี่มีแค่กล้อง Olympus ตัวเดียวไม่กี่ตังค์ ลูกสาวก็บอกว่าม๊าอย่าไปสนใจเห็นมาเยอะแล้วพวกอุปกรณ์ดีนี่ เพื่อนๆ ก็บอกพี่เช็งสู้เลย พี่มีมุมมองที่แตกต่าง
ตอนนั้นพี่ก็ต้องเรียกความเชื่อมั่น ตอนประชุมนางงามพี่เอารูปตัวอย่างของน้องเอินที่สวยที่สุด 10 กว่าใบสไลด์ให้เขาดู ว่านี่คือนางแบบที่พี่ถ่ายแล้วตอนนี้คนนี้ก็ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์แล้ว ซึ่งก็จริงน้องเอินเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าฟาสเทคของพี่แล้วตอนนี้ จากนั้นพี่ก็ให้โจทย์เขาไป ให้ใช้สายตาบ่งบอกถึงอารมณ์ สอนเขาว่าลองดึงสายตาตัวเองออกมาแล้วคิดว่าในใจเราทำอะไรมันจะบ่งบอกออกมาได้หมด ซึ่งแต่ละคนเขาทำออกมาได้ค่อนข้างดี ถ้าดูจากรูปที่พี่ถ่ายทุกคนถ่ายทอดทางสายตาได้ดีมากๆ พอวันที่จัดแสดงเด็กๆ ก็โทรมาบอกว่าเลิฟพี่เช็งมาก รูปที่พี่ถ่ายสวยที่สุดเลย ก็ดีใจกับเขา” เธอเล่าผลลัพธ์ของงานถ่ายภาพเวทีแรก
ถามว่าการถ่ายรูปนางงามยากไหม เธอบอกว่าแต่ละคนก็มีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกัน หน้าที่ของเธอคือต้องดึงอารมณ์ของแต่ละคนออกมาให้ได้ ซึ่งถ้าทำได้ก็ไม่ได้ยากอะไร เพราะการถ่าย Portrait เป็นการถ่ายภาพที่เธอถนัดที่สุดแล้ว
“ที่ผ่านมาพี่ไม่เคยไปยุ่งกับนางงามเลย เคยดูประกวดนางงามแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจขนาดนี้ แต่ครั้งนี้มันลุ้นมากเลย เหมือนส่งลูกๆ ทั้ง 10 คนเข้าประกวด ที่สำคัญคือถ้านางงามในกลุ่มของใครเกิดได้มิสยูนิเวิร์สนี่พี่ว่าก็คงสนุกดีนะ แต่เขาต้องมีความสามารถที่จะต้องโชว์บนเวทีด้วย อันนี้เราคงไปช่วยอะไรเขาไม่ได้ แต่สำหรับพี่ โปรเจ็กต์นี้มันสนุก เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เราได้ทำในวัยนี้ ถึงเวลาที่อยากให้มีกิจกรรมอะไรใหม่ๆ มาเป็นประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ก็ถือว่าโชคดีที่ได้ทำ” เธอเล่า
ธุรกิจและการถ่ายภาพกับสายตาที่สร้างสรรค์ศิลปะในการทำงาน
เมื่อถามว่า การถ่ายภาพและฝีมือที่มีส่งผลอะไรกับการทำธุรกิจบ้าง เธอบอกว่า การถ่ายภาพอาจเป็นแค่งานอดิเรก แต่สิ่งที่อยู่ในตัวเธอมันคือมุมมองแบบศิลปิน ที่มักจะมองทุกอย่างเป็นศิลปะอยู่เสมอ
“พี่ว่ามันเป็นเหมือนศิลปะที่อยู่ในสมองของพี่ สำหรับพี่การทำธุรกิจพี่จะมองเป็นศิลปะเสียส่วนใหญ่ พี่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อ Make Money อย่างเดียว แต่จะมองว่าทำอะไรก็ตามเราต้องทำให้มันออกมาสวย อย่างเฟอร์นิเจอร์ที่พี่ทำ ทำอย่างไรให้เมื่อไปวางอยู่ในบ้านคนมันจะโดดเด่นและงดงาม สำหรับตัวพี่สมองพี่คิดอย่างนี้ สมองพี่ก็คงเหมือนกับกล้องนั่นแหล่ะ” เธอว่า
นอกจากความชอบด้านการถ่ายภาพ ผู้ประกอบการที่ชื่อ เช็ง-กรภัคร์ ยังมีพรสวรรค์ด้านการออกแบบตกแต่งภายในโดยที่ไม่ได้เล่าเรียนมา เธอบอกว่าอดีตสามีเป็นสถาปนิก แต่เธออาศัยเป็นสถาปนึก ชอบที่จะตกแต่งบ้านและออฟฟิศให้สวยงาม เธอว่าบ้านของเธอทุกมุมจะเหมือนสตูดิโอที่สามารถถ่ายรูปได้ ที่หลายคนจะเซอร์ไพรส์กว่านั้นเมื่อมาเยือนบ้านของเธอ คือผนังที่ยาวกว่า 20 เมตร บอกเล่าประวัติชีวิตของ เช็ง-กรภัคร์ ผ่านรูปภาพ ตั้งแต่เกิดมาจากไหน ทำอะไร เริ่มธุรกิจแบบไหน แต่งงานเมื่อไหร่ หย่าเมื่อไร มีลูกเมื่อไหร่ ความสำเร็จคืออะไร ฯลฯ เธอจ้างช่างมาทำให้เพราะอยากเก็บไว้ให้ลูกหลานและคนที่มาเยี่ยมบ้านได้รู้จักเธอคนนี้ให้มากขึ้นผ่านเรื่องเล่าบนผนังเหล่านี้
ทุกวันนี้เธอก็ยังเลือกทำงานอดิเรกที่ชอบ ไม่ว่าจะไปไหนก็มักพกกล้องติดตัวไปด้วยเสมอ บางทีไม่ได้ตั้งใจไปถ่ายอะไรแต่เห็นว่าบางสถานที่สวยงามก็เลือกที่จะหยิบกล้องออกมาถ่ายรูป หรือไม่ก็หยิบมือถือมาบันทึกความสวยเก็บไว้ เธอย้ำว่า การถ่ายภาพคือความสุข ไม่ว่าจะเครียดมาจากไหน จะเรื่องงานหรือธุรกิจ แค่ได้หยิบกล้องถ่ายรูปเธอก็อารมณ์ดีแล้ว
และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นางแบบหลังเลนส์ของ เช็ง-กรภัคร์ ถึงมีความสวยงามและสื่ออารมณ์ได้ดีอยู่เสมอ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี