คุยกับ “ยูน-ปัณพัท” ศิลปินไทยผู้เคยร่วมงานกับ Gucci ในวันที่ต้องมาเป็น ‘ผู้ประกอบการ’

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : บริษัท สายรุ้งแห่งความฝัน จำกัด





Main Idea
 
 
  • เป็นศิลปินต้องรู้เรื่องธุรกิจและการเงิน
 
  • องค์กรไม่ควรอยู่กันแบบครอบครัว
 
  • ธุรกิจต้องสมดุลเหมือนตุ๊กตาล้มลุก
 
  • ความถ่วงจะทำให้ปลอดภัย
 
  • “ความยั่งยืน” สำคัญกว่ากำไรสูงสุด 




     ใครว่าศิลปินจะไม่เข้าใจธุรกิจและจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีกับเขาไม่ได้


      ลองมารู้จักกับ “ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล” ศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 10 ปี ผู้พลิกชีวิตมาเป็นผู้ประกอบการ คุณอาจเปลี่ยนความคิดนี้






     “ยูน-ปัณพัท” คือชื่อที่คนในแวดวงแฟชั่นและงานศิลปะคุ้นเคยดี เธอสั่งสมชื่อเสียงในวงการมาหลายปี และเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง “Gucci” และ “Instagram” มาแล้ว และวันนี้เธอยังเป็นเจ้าของกิจการชื่อเก๋อย่าง “บริษัท  สายรุ้งแห่งความฝัน จำกัด” ชื่อที่ฝันอยากตั้งมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย คอยให้บริการด้านการทำงานศิลปะและงานดีไซน์แก่แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มไฮเอนด์เป็นหลัก  
               

     การได้เจอกันระหว่าง ยูน-ปัณพัท และ SME Thailand เราชวนเธอให้วางเรื่องงานศิลปะ แล้วมาคุยกันในบทบาทของการเป็นผู้ประกอบการแบบจริงๆ จังๆ กับความท้าทายของการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่

 


 

 
​เป็นศิลปินต้องเข้าใจธุรกิจ
                 

      บทเรียนแรกที่ ยูน-ปัณพัท เลือกหยิบมาคุยกับเราคือศิลปินหรือคนทำงานศิลปะต้องรู้เรื่องการเงินและเข้าใจเรื่องธุรกิจ ซึ่งเป็นความคิดที่เธอตกผลึกมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยเธอจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานฤมิตศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


      “ทุกคนจะเข้าใจว่าการทำงานศิลปะไม่ต้องดูเรื่องเงินก็ได้ หรือไม่ต้องรู้เรื่องธุรกิจเลยก็ได้ แต่สำหรับยูนมองว่าไม่ใช่ เรื่องพวกนี้สำคัญ คุณต้องรู้ ไม่ว่าจะเรื่องบัญชี การเสียภาษี หรืออะไรก็ตาม มันอาจเป็นทักษะที่สายงานของเราไม่คุ้นเคยก็จริง แต่อย่างไรพอถึงชีวิตจริงในการประกอบสัมมาอาชีพ เราก็ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้อยู่ดี ถึงจะไม่รู้ทั้งหมดแต่ก็ควรจะรู้ในสิ่งที่เป็นโครงสำคัญไว้ เพื่อที่จะสามารถทำงานของเราต่อไปได้อย่างราบรื่น”


     แล้วศิลปินอย่างเธอเรียนรู้เรื่องพวกนี้มาจากไหน ยูน-ปัณพัท ยกความดีให้ช่วงชีวิตที่เคยทำงานประจำมาก่อน เธอบอกว่านั่นเป็นเวทีที่สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำให้เข้าใจความเป็นธุรกิจ และรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในองค์กรๆหนึ่ง แล้วถ้าจะทำบริษัทของตัวเอง เธอต้องทำแบบไหน เวลาเดียวกันก็เลือกเปิดใจเรียนรู้จากคนรอบข้าง ทั้งที่ปรึกษาทางบัญชี เพื่อนฝูงที่มีประสบการณ์มาก่อน ตลอดจนเพื่อนรุ่นพี่ที่อาจอยู่ในสายธุรกิจอื่น แต่ก็สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เธอขาดได้






      “ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าบริษัทของเราจะดำเนินธุรกิจไปแบบไหน มีธรรมาภิบาลอย่างไรที่จะทำให้ทุกคนในบริษัทมีความสุขและสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ดูเพียงแค่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังดูในเรื่องของจิตใจด้วย เนื่องจากบริษัทของเราเป็นงานครีเอทีฟ งานดีไซน์


      อย่างเราไม่ได้บังคับให้ทุกคนเข้าทำงานทุกวัน แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบที่ตัวเองได้รับ และทำให้สำเร็จตรงตามเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราทำมาตั้งแต่ก่อนโควิดด้วยซ้ำ โดยตั้งเป็นโครงไว้ว่า เราอยากให้บริษัทของเราหน้าตาเป็นแบบไหน ปัญหาอะไรที่เคยเห็นหรือเคยเผชิญมาในตอนที่ทำงานประจำ เราจะเอามาปรับแก้กับบริษัทของเรา และทำทุกอย่างให้เป็นระบบมากขึ้น ที่สำคัญเราจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจไปได้อย่างสบายใจ” เธอบอก
 



 
บริษัทไม่ต้องอยู่กันแบบครอบครัว



     ขณะที่หลายๆ องค์กรออกมาประกาศชัดว่าอยู่กันแบบครอบครัว เพื่อสะท้อนความใกล้ชิดและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการทำงาน แต่สำหรับบริษัทที่ชื่อ สายรุ้งแห่งความฝัน พวกเขามีวัฒนธรรมที่ไม่ได้อยู่กันเป็น Family แต่คือคนที่ทำงานร่วมกัน


     “บริษัทเราไม่ได้อยู่ในรูปแบบครอบครัวหรือพี่น้องอะไร แน่นอนว่าความรักมันเกิดขึ้นได้อยู่แล้วเพราะเราผูกพันจากการอยู่ด้วยกัน แต่เราไม่ได้ใช้สิ่งนั้นมาผูกทุกคนเอาไว้ เพราะทุกคนต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง และมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบต้องจัดการด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นถ้าเราบอกว่าเขาเป็นครอบครัวก็จะไปเอาเวลาครอบครัวของทุกคนมา หรือคิดว่าเป็นครอบครัวแล้วเราจะทำอะไรกับเขาก็ได้ หรือ Take benefit จากพนักงานอย่างเต็มที่ ซึ่งสำหรับยูนไม่ได้มองว่าสิ่งนั้นคือครอบครัวที่แท้จริง แต่เราแค่อยากเห็นคนในบริษัทเติบโตขึ้นและสามารถใช้ชีวิตอย่างสวยงาม แต่แน่นอนว่าเขาก็ต้องทำผลงานที่ดีด้วย นี่คือสิ่งที่เราคุยกันตรงๆ”


      ยูน-ปัณพัท บอกว่า เธอเชื่อว่าวันหนึ่งเมื่อทีมงานเก่งหรือมีความสามารถมากขึ้นก็ต้องมีทางเดินของตัวเอง คงไม่ได้อยู่กับบริษัทตลอดไป นั่นคือความจริงที่เธอยอมรับได้ แต่การที่เขาจะเดินออกจากบริษัทไปนั้นก็ต้องมีทักษะและความพร้อมบางอย่างที่จะไปใช้ต่อยอดชีวิตของเขา เธอจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา หรืออะไรก็ตามที่พนักงานต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เธอบอกว่ายินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ และนี่คือความคิดที่แตกต่างของผู้ประกอบการที่ชื่อ ยูน-ปัณพัท
 




 
ทำธุรกิจต้องเป็น “ตุ๊กตาล้มลุก” อยู่ได้ด้วยสมดุล



     “Wealth Management” หรือภาพวาดตุ๊กตาล้มลุกที่ใช้เทคนิคสามมิติมาสะกดใจคนเดินผ่านบริเวณราชประสงค์ วอล์ก (R-Walk) คือผลงานล่าสุดของยูน-ปัณพัท หนึ่งในศิลปินที่ร่วมแคมเปญ “Ratchaprasong Stronger Together: Arts from The Heart” งานศิลปะสร้างกำลังใจ


      เธอหยิบตุ๊กตาล้มลุกมาเทียบกับการทำธุรกิจให้เราฟังว่า ในยุคที่ทุกอย่างเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วเช่นวันนี้ ทำธุรกิจต้องมีความสมดุล


      “ตุ๊กตาล้มลุกมันสมดุลด้วยความถ่วง คนเรามักคิดว่าความถ่วงหรือการทำให้ความเร็วลดลงจะเป็นสิ่งไม่ดี แต่ความจริงแล้วความถ่วงในการทำธุรกิจนั้นมีหลายแบบ เช่น การศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือชั่งใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น การตัดสินใจอะไรบางอย่างโดยพิจารณาหลายทิศทางมากขึ้น และต้องวางแผนการเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มันอาจจะทำให้เราช้าลงบ้าง แต่จะปลอดภัยมากขึ้น”


      ย้อนกลับมาที่บริษัทของตัวเอง เธอบอกว่าใช้หลักความสมดุลเดียวกันนี้เพื่อขับเคลื่อนกิจการให้เดินหน้า


      “แน่นอนว่ายูนไม่ได้ทำบริษัทนี้เพื่อกำไรสูงสุด หรือเพื่อตัวยูนเอง แต่เชื่อในการที่เราจะก้าวไปพร้อมๆ กันไม่ว่าจะกับทีมงานของเราเองหรือแบรนด์ที่เราร่วมงานด้วย มองว่าสิ่งนั้นต่างหากที่สำคัญ นี่เป็นการสร้างสมดุลของเรา และเชื่อว่าจะทำให้องค์กรเราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”





 
 
ความยั่งยืนคือเป้าหมาย ไม่ใช่กำไรสูงสุด               



      ในขณะที่หลายองค์กรตั้งเป้าที่จะเติบโตและมีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่นั่นกลับไม่ใช่ดัชนีวัดความสำเร็จของคนทำธุรกิจที่ชื่อ ยูน-ปัณพัท


       “เรามองเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก ไม่ได้มองว่าปีนี้ต้องทำกำไรเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่การทำธุรกิจอยากจะให้มันอยู่ได้ในระยะยาว ฉะนั้นความสำเร็จของเราก็คือการอยู่ได้อย่างยั่งยืนนี่แหล่ะ ซึ่งความยากในการทำธุรกิจก็คือการทำให้มันคงอยู่ได้นานๆ เหมือนที่เราได้ยินกันคือคำว่า Sustainable และสิ่งที่ฝรั่งเรียนรู้กันตอนนี้ก็คือเรื่องของความสุข ไม่ใช่การทำกำไรมากที่สุด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คนเอเชียอย่างเรามีมาตั้งแต่ยุคก่อนแล้ว”


      ยูน-ปัณพัท โตมาในครอบครัวที่ทำเสื้อผ้า เราถามเธอว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว เธอบอกว่า การทำธุรกิจต้องปรับตัว เพราะธุรกิจยุคนี้ไม่ง่ายเหมือนยุคก่อน


      “การทำธุรกิจในสมัยก่อนเราแค่ติดตามและพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะยุคนั้นยังไม่ได้มีคู่แข่งเยอะแยะอะไร และความเร็วของสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็ไม่ได้มากมายขนาดนั้น มันจึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อยมาก เขาจึงยังสามารถดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ได้ในเวลาหลายๆ ปี แต่ตอนนี้ธุรกิจเดิมก็อาจถูกดิสรัปต์ได้ในเวลาแค่ 1 ปี หรือเร็วกว่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวอยู่เสมอ” เธอย้ำในตอนท้าย
 



               

      และนี่คือเรื่องราวของศิลปินที่ทำงานศิลปะจนเป็นธุรกิจ  มีผลงานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีทัศนคติที่ดีกับชีวิตและการทำงาน เธอตกผลึกความคิดในหลายๆ เรื่อง ทั้งยังพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นคำตอบได้ชัดเจนว่า ทำไมศิลปินอย่างเธอ ถึงเป็นผู้ประกอบการที่ดีกับเขาได้
 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย