หาทางออกสวยๆ ให้ธุรกิจกล้วยไม้พ้นวิกฤตไวรัส สไตล์ ‘แอร์ออร์คิดส์’

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
 



Main Idea           
 
 
  • ทายาทแอร์ออร์คิดส์รุ่นที่ 3 คือตัวอย่างของ SME ที่พยายามตั้งสติ เมื่อประตูการส่งออกถูกปิดตายเพราะ โควิด-19 ก็เลือกที่จะเปิดประตูบานใหม่ๆ คือ ขายกล้วยไม้ออนไลน์เดลิเวอรีให้กับลูกค้าในประเทศ เพื่อสร้างรายได้เข้ามาชดเชยส่วนที่เสียไป
 
  • สิ่งที่ได้รับกลับมาทดแทนอาจมิได้หมายถึงเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว บางอย่างก็มาในรูปของฐานลูกค้าใหม่ โนว์ฮาวการจัดการใหม่ พนักงานที่มีสกิลใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต ควบคู่ไปกับการคิดหาทางกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม
 
              

     เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูบานใหม่จะเปิดขึ้นเสมอ… ประโยคนี้น่าจะอธิบายสถานการณ์ที่ สวนกล้วยไม้ แอร์ออร์คิดส์ จังหวัดนครปฐม ต้องพบเจอได้ดีที่สุด การที่แต่ละประเทศออกมาประกาศล็อกดาวน์ ปิดสนามบิน เท่ากับปิดช่องทางทำมาหากินของคนทำธุรกิจส่งออกกล้วยไม้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่  “ไชยพันธุ์ คุ้มวิเชียร” ทายาทรุ่น3 แอร์ออร์คิดส์ ก็ยังยิ้มสู้ และหาทางออกฝ่าวิกฤตให้กับธุรกิจตนเอง
              




     ปัญหาใหญ่ของไชยพันธุ์ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักคือ จะจัดการกับกำลังการผลิตที่มีเหลือมหาศาลอย่างไร อย่างกล้วยไม้ตัดดอกที่ก่อนหน้านี้เคยส่งออกไปขายเฉพาะที่จีนประเทศเดียวมีมากถึง 1.5-2 ล้านช่อต่อวัน แทนที่จะทิ้งกล้วยไม้ที่ส่งออกไม่ได้ให้เน่าเสียสูญเปล่า เขาเลือกที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมที่เกิดประโยชน์ขึ้นมา โดยเปิดฟาร์มให้ลูกค้าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และเอากล้วยไม้ตัดดอกไปใช้งานกันฟรีๆ
              

     “เราพบว่ามีหลายๆ บ้านไม่เคยซื้อกล้วยไม้ไปจัดแจกัน หรือประดับตกแต่ง เราก็ใช้วิกฤตตอนนั้นให้ลูกค้าได้รู้จักกล้วยไม้ไทยมากขึ้น มาเที่ยวในซูเปอร์มาร์เก็ตกล้วยไม้ที่เราทำมาปีนี้เป็นปีที่ 15 แล้ว เข้ามาถ่ายรูปในทุ่งดอกกล้วยไม้สวยๆ ตัดกล้วยไม้ฟรีๆ อยากได้เท่าไรเอาไปเลย ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ฟาร์มของเราว่าทำธุรกิจกล้วยไม้ครบวงจรไปด้วย





     ส่วนตลาดกล้วยไม้กระถางที่แอร์ออร์คิดส์เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ โดยขายกล้วยไม้ทั้งต้นทั้งดอกให้ลูกค้าไปประดับตกแต่งสร้างความสวยงาม ด้วยประสบการณ์การแพ็กกิ้งเพื่อการส่งออก และการกระจายสินค้าสำหรับการขายส่ง เราปรับสเกลงานให้เล็กลง แล้วหันมาขายกล้วยไม้ผ่านทางออนไลน์ โดยเดลิเวอรีถึงหน้าบ้านลูกค้าทั่วประเทศ”


     ไชยพันธุ์บอกว่า ตลาดกล้วยไม้ออนไลน์นี้จัดว่าดีมากๆ เพราะว่าทางแอร์ออร์คิดส์ขายไม่แพง และพยายามทำต้นทุนในการจัดส่งให้ต่ำที่สุด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าที่ล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน สั่งกล้วยไม้สวยๆ ไปสร้างความสดชื่น ทำกิจกรรมในครอบครัว หรือส่งกล้วยไม้ให้กับคนพิเศษ โดยไม่ต้องวิ่งหาซื้อเองให้เสี่ยงโรคและเสียเวลา







     แม้รายได้ที่เข้ามาจากการขายกล้วยไม้ออนไลน์ อาจจะยังไม่ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้หลักที่ส่งออกกล้วยไม้ แต่นี่คือกลไกการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทำอะไรได้…ทำเลยเมื่อมีเวลา โดยเฉพาะการโฟกัสเรื่องธุรกิจออนไลน์ ที่ทำให้ได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทีมงานของแอร์ออร์คิดส์ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้รับกับงานที่เปลี่ยนไป


     พนักงานหลายคนปรับตัวเป็นแอดมิน คอยให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับการเลี้ยงกล้วยไม้ทางออนไลน์ ส่วนการเดลิเวอรีสินค้าที่อ่อนไหวง่ายอย่างกล้วยไม้ก็ไม่ง่าย ต้องใส่ใจกับการแพ็กกิ้งและการจัดส่งอย่างมาก เพราะมีหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ดอกอาจจะหลุดหรือเหี่ยวเมื่อถึงมือลูกค้า แต่ยิ่งเรียนรู้ที่จะแก้ไข ก็ยิ่งมีโนว์ฮาวเพิ่มขึ้น
              






     ปัจจุบันรายได้จากการส่งออกกล้วยไม้ฟื้นคืนมาบ้างแล้วสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ทว่าตลาดนี้ยังต้องเหนื่อยอีกนาน เพราะต้นทุนการขนส่งทางเครื่องบินยังค่อนข้างสูง อีกทั้งตลาดยังขาดแคลนกำลังซื้อ ความท้าทายของทายาทรุ่นที่ 3 ของแอร์ออร์คิดส์ในเวลานี้ ก็คือการหารายได้ส่วนอื่นเข้ามาชดเชยเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตไปให้ได้
              

     “ทุกฟาร์มสามารถลงมาเล่นเรื่องกล้วยไม้กระถาง และงานออนไลน์ได้ ความต้องการยังมีอีกมาก เมื่อเริ่มคลายล็อกดาวน์แล้ว กล้วยไม้ก็ยังเป็นของที่ต้องใช้ประดับตกแต่งสถานที่ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้สินค้าไปส่งถึงบ้านลูกค้าได้อย่างปลอดภัย และราคาไม่แพง แต่ละสวนต้องมาช่วยกันคิดหรือหาเทคนิคของตัวเอง
              




     ตอนนี้ผู้คนก็เริ่มออกมาเที่ยวกันแล้ว ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตกล้วยไม้ของเราก็เป็นอีกสถานที่ที่คนเลือกมาพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากเป็นสถานที่เปิด โปร่ง โล่ง สบาย เหมาะกับการมาเที่ยว มาซื้อต้นไม้ แล้วเทรนด์ตอนนี้คนหันมาสนใจปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ไม้ฟอกอากาศ ไม้มงคลมากขึ้น ซึ่งมันดีต่อพวกเราที่เป็นเกษตรกร อาจมีคนบอกว่ากระแสคนดังปลูกต้นไม้ ทำให้ต้นไม้บางอย่างมีราคาแพงเกินไป แต่ผมกลับมองว่ามันเหมือนเป็นการให้กำลังใจแก่เกษตรกร ในสถานการณ์ที่มันยากลำบาก”
              

     นอกจากนี้ ไชยพันธุ์ยังจะเร่งศึกษาการแปรรูปกล้วยไม้ให้อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาการขายแต่กล้วยไม้สด ซึ่งปัจจุบันมีการสกัดสารจากกล้วยไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ไปเป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอาง ทางแอร์ออร์คิดส์เองก็กำลังเร่งต่อยอดการทำชาจากกล้วยไม้ ในสายตาของคนรุ่นใหม่ เขามองว่าการแปรรูปกล้วยไม้สู่ตลาดเครื่องสำอางหรือยาสร้างภูมิคุ้มกันโรค ยังมีอนาคตอีกมากทีเดียว  
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย