เปลี่ยนสวนผลไม้ ให้กลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวของ “Green Lovers” ที่ไร่ปอนด์หวาน

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย

PHOTO : เฟซบุ๊กบ้านไร่ปอนด์หวาน

 

 

Main Idea
 
  • จากที่ดินเต็มไปด้วยป่าไผ่ เจ้าของพื้นที่ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่นั้นให้กลายเป็นสวนผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์ ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย มะยงชิด และอินทผลัม
 
  • จากสวนผลไม้ค่อยๆ ขยายเป็นคาเฟ่บ้านไร่ปอนด์หวานที่ดึงดูดเหล่านักเดินทางสายรักธรรมชาติ ให้มาชิมผลไม้ ดื่มกาแฟ และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ไปพร้อมกัน
 
  • บ้านไร่ปอนด์หวานกำลังขยับจากจุดแวะพัก ให้กลายเป็นลานกางเต็นท์ตอบรับเทรนด์การท่องเที่ยวของเหล่า Green Lover ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
 
 
              

     ทันทีที่สิ้นสุดการกักตัวอยู่ในบ้านหลังการระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นหลายคนไปเช็กอินสถานที่ท่องเที่ยวสไตล์แคมปิ้งบนเขา ริมลำธาร เพื่อชมวิวสวยๆ ของธรรมชาติกันมากขึ้น โดยที่ระหว่างทางก็แวะเยี่ยมเยือนคาเฟ่หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ไปด้วย “บ้านไร่ปอนด์หวาน” เป็นหนึ่งในจุดหมายของเหล่าคนรักธรรมชาติที่ท่องเที่ยวในเส้นทางจังหวัดนครนายก
              




     จากที่ดินจำนวน 44 ไร่กลางหุบเขาที่เต็มไปด้วยไผ่ นันทนิจ จันทร์เปรม ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นให้กลายเป็นสวนผลไม้ต่างๆ ที่ชอบ ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย มะยงชิด และอินทผลัม
              

     “พื้นที่ตรงนี้ปลูกแล้วได้ผลไม้อร่อยเพราะเป็นพื้นที่ที่มีทั้งหินและทราย น้ำไหลผ่าน ไม่ใช่พื้นที่ชุ่มน้ำหรือน้ำขังทำให้ผลไม้ได้คุณภาพ พอเราได้กินทุเรียนจากสวนตัวเองก็ได้รู้ว่าที่เคยซื้อกินมักเป็นทุเรียนที่ยังไม่แก่จัด เลยตั้งใจว่าเราจะตัดทุเรียนก็ต่อเมื่อสุกแล้วเท่านั้น ทุเรียนที่สุกคาต้นนั้นอร่อยมาก อินทผลัมก็เช่นกัน สามารถเก็บจากต้นมากินได้โดยไม่ต้องล้างก็ได้ เราไม่ใช้สารเคมี ลูกค้าซื้อไปกินก็บอกว่าอร่อยกว่าที่อื่น ไม่ติดรสฝาด หวานกว่า กรอบกว่าที่เคยกิน ”





     เมื่อออกดอกออกผลได้มากจึงเริ่มคิดจะนำไปขาย แต่ก่อนจะทำเช่นนั้นมีเสียงจากเพื่อนรอบตัวบอกว่าที่ดินตรงนี้สวยเหมาะที่จะทำร้าน คาเฟ่เล็กๆ ในสวนขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “บ้านไร่ปอนด์หวาน” จึงก่อตัวขึ้นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ขายทั้งเครื่องดื่มและผลไม้สดๆ จากสวน


     “อินทผลัมออกมากว่า 200 กิโลกรัม ลูกค้าแวะมาซื้อไปชิม วันต่อมาเขาก็กลับมาซื้ออีกแถมยังพาคนอื่นมาซื้อด้วยทำให้ง่ายสำหรับเรา ไม่ต้องไปส่งขายข้างนอกเลย หรืออย่างกระท้อนเก็มาก็ให้ลูกค้าชิม พอเขารู้สึกว่าอร่อยแป๊บเดียวก็ขายหมด”
 




     บ้านไร่ปอนด์หวานไม่ได้มีดีแค่ผลไม้ แต่คือความเป็นธรรมชาติที่โอบล้อมสถานที่แห่งนี้ หากขึ้นไปบนชั้น 2 ของคาเฟ่ นั่นคือจุดชมวิวภูเขาแบบ 360 องศาที่เหมาะจะกางแขนสูดเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดหรือถ่ายรูปสวยๆ นอกจากนี้ยังมีน้ำตกเล็กๆ สะพานแขวน และสนามกอล์ฟขนาดเล็กที่เติมเต็มสีเขียวให้กับสวนสวย


     “คนที่เข้ามาเขาจะรักธรรมชาติเหมือนเรา เราเปิดพื้นที่ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายและก็ยังไม่หยุด ยังคิดกันว่าจะทำอะไรต่อ อาจจะมีที่นั่งเล่นยื่นลงไปในน้ำ ค่อยๆ ทำไปทีละสเต็ปส์เพื่อให้ลูกค้าที่แวะเวียนกลับมาอีกเขาได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่”
 






     ในวันนี้บ้านไร่ปอนด์หวานเป็นจุดแวะพักสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ในอนาคตเราจะได้เห็นสถานที่แห่งนี้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น มีสวนปลูกผักออแกนิกสำหรับใช้ในร้าน มีโรงเลี้ยงไส้เดือน โรงหมักปุ๋ยคอก กลายเป็นเกษตรอินทรีย์ครบวงจร


     มากไปกว่านั้นหากมองจากบริเวณทางเข้าสวนจะเห็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดไว้สำหรับใช้ในการเกษตรเพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำสวนผลไม้ และบ่อที่มีน้ำซับอยู่ตลอดเวลานี่เอง เหมาะจะเป็นลานกางเต้นท์ของนักท่องเที่ยวสายกรีนที่อยากสัมผัสความชุ่มฉ่ำยามค่ำคืนของจังหวัดนครนายก


     “เราจะเลือกรับลูกค้าตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ มีกฎสำหรับการอยู่ร่วมกัน ไม่ส่งเสียงดังเกินไป ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่รักธรรมชาติเขาอยากอยู่อย่างสงบๆ ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มนักปั่นจักรยาน เราอยากทำธุรกิจแต่ก็ต้องเลือกลูกค้าที่เข้ามา ไม่ค่อยเน้นจำนวนลูกค้ามากนัก”





     การดูแลลูกค้าอย่างเอาใจใส่ทำให้บ้านไร่ปอนด์หวานเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ผู้มาเยือนเช็กอินและบอกต่อ ผลไม้อร่อยๆ กลายเป็นของฝากที่ทำให้คนรับยิ้มแก้มปริ


     ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากความคิดง่ายๆ ของนันทนิจที่บอกว่า “การทำธุรกิจ เราใช้ความจริงใจก็พอแล้ว”
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย