4 เทรนด์โชห่วยต้องรู้! บริหารร้านยังไงให้ตอบโจทย์ลูกค้ายุค New Normal

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 
 

  

Main Idea
 
  • เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่ “โชห่วย” หรือร้านค้าชุมชน หน่วยธุรกิจเล็กๆ ที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ ค่อนข้างมาก
 
  • แต่จะเปลี่ยนไปแบบไหน ถึงจะถูกใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ต่อไปนี้ คือ 4 เทรนด์ผู้บริโภคยุค New Normal ที่แม้แต่ร้านเล็กๆ อย่างโชห่วยเอง ก็จำเป็นต้องรู้ด้วย
 
 
              

     จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่ตอนนี้หลายคนอาจคุ้นเคยดีกับคำว่า “New Normal” หรือ “วิถีชีวิตใหม่” ซึ่งเมื่อผู้บริโภคต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้แล้ว ร้านค้า หรือผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เอง ก็ต้องควรมีการปรับตัวเพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคในชุมชนต่างๆ มากก็คือ “โชห่วย” หรือร้านค้าชุมชน ซึ่งแม้จะเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ แต่ก็มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ค่อนข้างมาก มาดูกันสิว่ามีเทรนด์พฤติกรรมอะไรที่เปลี่ยนไปของลูกค้าโชห่วยยุคปัจจุบัน และโชห่วยเองต้องปรับตัวอย่างไร
 



 
  • คุ้นเคยกับการสแกนจ่ายมากขึ้น
              
     ด้วยยุคปัจจุบันเมื่อผู้คนหันมานิยมใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น หนึ่งในพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะแต่ในสังคมเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระดับชุมชน รากหญ้าต่างๆ คือ มีความคุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การหยิบมือถือขึ้นมา เพื่อสแกนจ่ายผ่าน e-Payment ในช่องทางต่างๆ ไม่ว่ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชันของธนาคาร เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น


     ดังนั้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกิจการได้มากขึ้น ร้านค้าต่างๆ เองควรเปิดช่องทางการรับเงินให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ก็จะสามารถช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า รวมถึงเพิ่มยอดการซื้อขายที่มากขึ้นได้ด้วย เพราะผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่ได้ใช้จ่ายผ่านรูปแบบของเงินสดเพียงอย่างเดียวแล้ว ที่สำคัญข้อดีอีกข้อของการใช้จ่ายผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ ช่วยป้องกันความปลอดภัยให้แก่เจ้าของร้านค้าเอง ไม่ต้องเก็บเงินสดไว้ที่ตัวมากเกินไปด้วย
 



 
  • หันมาทำอาหารรับประทานกันในครอบครัว

     ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อผู้คนต้องใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น รวมถึงการออกไปรับประทานอาหารข้างนอกบ้านอาจยังไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร จากที่เคยซื้อ ก็เริ่มหันมาลองหัดทำกับข้าว เพื่อรับประทานในครอบครัวกันมากขึ้น ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่โชห่วยจะสามารถปรับตัวเพื่อเพิ่มยอดขาย และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น ก็คือ การทำตัวเป็นครัวของชุมชน แน่นอนว่าการเพิ่มสินค้าประเภทของสด เช่น ผักสด อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนที่สูง เนื่องจากสามารถเน่าเสียได้ง่าย


     ทางเลือกที่ดีสำหรับร้านที่อยากเพิ่มรายได้ คือ ควรเพิ่มโซนหรือจัดพื้นที่ของอาหารแช่แข็งมาลงเสริม โดยอาหารแช่แข็งในที่นี้อาจไมได้หมายถึงแบบ Ready to Eat เสมอไป แต่อาจเป็นวัตถุดิบแช่แข็งต่างๆ เช่น หมูสไลด์ ไก่ หมึก กุ้ง ต่างๆ โดยอาจจะคัดเลือกที่เหมาะสมกับลูกค้าของตน จากที่ขนาดใหญ่ๆ อาจทำเป็นไซส์เล็กๆ ให้พอเหมาะ เพื่อแบ่งขายให้กับรายย่อยได้ด้วย บางคนอาจอยากซื้อพอดีมื้อ ใช้ปริมาณไม่เยอะมาก เป็นอีกช่องทางที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับร้านได้
 



 
  • ใส่ใจให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพของสินค้า
              
     จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกค้าทุกคนต่างหันมาดูแลใส่สุขภาพกันมากขึ้น รวมถึงการเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ดังนั้นแล้วเพื่อยกระดับตัวเองและทำให้เกิดความมั่นใจแก่ลูกค้าได้มากขึ้น โชห่วยหรือร้านค้าชุมชนต่างๆ ควรเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน มีฉลากบอกวันหมดอายุชัดเจน ใส่หีบห่อดี น่าเชื่อถือมาจำหน่ายให้กับลูกค้า
              

     นอกจากนี้ยังควรวางระบบการจัดเก็บรักษาสินค้าให้มีคุณภาพดีด้วย โดยควรจัดเก็บและจัดเรียงอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้า บริหารสินค้าเข้า-ออก อันไหนซื้อมาก่อนเอาออกไปขายก่อน เพื่อป้องกันการหมดอายุ โดยอาจทำเป็นสัญลักษณ์แต่ละล็อตที่ซื้อเข้ามาก็ได้ และหากเป็นไปได้ควรเก็บสต็อกบนเชลฟ์วางให้มากที่สุด ก่อนจะนำไปเก็บไว้ที่หลังร้าน


     จากการเลือกซื้อสินค้าที่ดีมาจำหน่ายแล้ว เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในชุมชนให้มากขึ้น ควรเพิ่มหมวดสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและอุปกรณ์ทำความสะอาดให้มากขึ้นด้วย เพราะคือ สิ่งที่ลูกค้ายุคนี้ต้องการ
 



 
  • ติดตามข่าวสารโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ

     จากปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ลูกค้ายุคปัจจุบันเองมีการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น ใครๆ สามารถทำได้ ดังนั้นแล้วร้านโชห่วยจึงควรนำสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น จากรูปแบบการขายหรือสื่อสารผ่านการเข้ามาที่หน้าร้านเพียงอย่างเดียว อาจเพิ่มช่องทางโซเชียลมีเดียให้ลูกค้าสามารถติดต่อร้านค้าได้ง่ายขึ้นด้วย


     เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยบริการลูกค้าให้สะดวกสบายได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยทำการตลาดที่ดีได้ด้วย โดยเมื่อมีสินค้าอะไรใหม่ๆ เข้ามาเราก็สามารถโพสต์แจ้งบอกลูกค้าได้ หรือลูกค้าอยากได้อะไร อยากให้ไปส่ง ก็สามารถเข้ามาบอกไว้ในช่องทางเหล่านี้ได้ แทนการเดินทางไปหน้าร้าน หรือโทรบอก ซึ่งในหลายพื้นที่ก็มีการทำไลน์กลุ่มของชุมชนขึ้นมา เพื่อติดต่อสื่อสารแจ้งข่าวสารซึ่งกันและกัน
 




     และนี่คือ 4 เทรนด์ที่ลูกค้าโชห่วยในยุคปัจจุบันมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น SME รายใดที่อยากเป็นโชห่วยยุคใหม่ที่เข้าใจลูกค้า เข้าใจชุมชนได้ ก็ลองนำไปปรับใช้กันได้ เพราะอย่างไรเสียชุมชนและโช่ห่วยก็เป็นของคู่กัน พึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันมาตลอดนั่นเอง
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย