Main Idea
- การมาถึงของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เช่นเดียวกับ “ธุรกิจค้าปลีก” หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผูกติดกับชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คน
- เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ทำการศึกษา “แนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกในปี 2020: ความเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเป็นจริงในรูปแบบใหม่” พบอิทธิพลของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกเกิดเร็วขึ้น ใน 4 ด้านหลักๆ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย
อุตสาหกรรมค้าปลีกเผชิญกับความท้าทายมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด-19 ด้วยซ้ำ ยิ่งในวันที่ไวรัสบุกโลก
ธุรกิจค้าปลีกก็ยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยบางแห่งยังมีการเติบโต ขณะที่บางแห่งต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่ออยู่รอด วิกฤตไวรัสเป็นตัวเร่งให้แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกเกิดเร็วและชัดเจนขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่ว่าจะมีอะไรบ้าง และผู้ประกอบการค้าปลีกบ้านเราต้องรับมืออย่างไร ไปดูกันเลย
- รูปแบบธุรกิจเปลี่ยนแปลง
โดยก่อนวิกฤตโควิด-19 พบว่าการค้าปลีกผ่านหน้าร้านนั้นได้รับความนิยมผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ถึงแม้ว่าร้านค้าที่มีหน้าร้านยังจะสามารถกลับมาเติบโตได้อยู่ แต่เห็นได้ชัดว่าจากนี้ไปการเพิ่มยอดขายผ่านหน้าร้านอย่างเดียวนั้นเป็นไปได้ยากขึ้น ธุรกิจที่ยังไม่มีช่องทางออนไลน์หรือช่องทางการส่งสินค้าจะดำเนินไปได้ยากลำบากขึ้น แต่ละองค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรเสียใหม่
นอกจากการซื้อและการขายสินค้าแล้ว ธุรกิจยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปัจจัยอื่นให้ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ การจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าโดยตรง การวิเคราะห์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และการใช้เครื่องจักรในระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ ซึ่งหลายองค์กรเองก็กำลังมองหาแพลตฟอร์มที่จะสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้
- ผู้บริโภคตัดสินแบรนด์จาก “จุดยืนองค์กร”
หนึ่งในแนวโน้มที่ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาคือ ผู้บริโภคตัดสินแบรนด์จากการกระทำและจุดยืนขององค์กรมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ที่แสดงให้เห็นว่าทำประโยชน์ให้กับผู้คนจะมีการเติบโตมากกว่าแบรนด์ที่ไม่ได้ทำประโยชน์ถึง 2.5 เท่า (ในระยะเวลา 12 ปี) ดังนั้นผู้ประกอบการค้าปลีกจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กร เป็นแบรนด์ที่สนับสนุนเกื้อกูลลูกค้าและพนักงานของตนมากกว่าแบรนด์อื่น จึงจะได้รับความไว้วางใจจากสังคมมากขึ้น
- ทบทวนต้นทุนในการทำธุรกิจ
วันนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างเล็งเห็นแล้วว่า “การลดต้นทุน” โดยใช้วิธีดั้งเดิมนั้นไม่เพียงพอต่อการประคับประคองผลประกอบการและฟื้นฟูธุรกิจได้อีกต่อไป ซึ่งรวมไปถึงกลยุทธ์รัดเข็มขัดอย่างเคร่งครัดเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอีกด้วย ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ตระหนักถึงความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องมีมาตรการที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและต้องมีความชัดเจนหากต้องการที่จะมีกำไรในปีถัดๆ ไป
โดยคาดว่าจะได้เห็นองค์กรลงทุนเพิ่มคุณค่าให้กับต้นทุนที่มีอยู่เดิมในเร็วๆ นี้ นอกจากนั้นการพิจารณาทบทวนค่าใช้จ่ายในการจัดการซัพพลายเชน การจัดการสินค้าคงคลัง และการวางแผนต้นทุนในการขนส่งและรับสินค้าแล้ว จะได้เห็นผู้ค้าปลีกเริ่มทบทวนมูลค่าสินทรัพย์อื่นๆ ขององค์กร โดยเฉพาะร้านค้า พนักงาน และความภักดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ (Customer loyalty) มากขึ้นด้วย
- อำนาจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค
ในปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการตัวเลือกที่หลากหลายเท่ากับความพร้อมของสินค้าในคลังและการเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างหาวิธีลดจำนวนชนิดของสินค้าที่ขาย โดยเน้นเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการสูง ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการซัพพลายเชน และการจัดการเงินทุนหมุนเวียนขององค์กรให้ดีขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ธุรกิจค้าปลีกที่จะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้มี 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่เสนอสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และธุรกิจที่เสนอขายสินค้าที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการของผู้บริโภค
นี่คือ เทรนด์ของธุรกิจค้าปลีก ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยต้องพัฒนาความจงรักภักดีของลูกค้า หาวิธีรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าใหม่ๆ มีจุดยืนที่ชัดเจนและโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และลงทุนในแพล็ตฟอร์มที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ก็จะสามารถฉกฉวยโอกาสให้เติบโต ท่ามกลางโลกวันนี้ได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี