“KOI Thé” ชานมไข่มุกคลื่นลูก 3 ที่เปลี่ยนเครื่องดื่มหลักสิบ ให้กลายเป็นหลักร้อย แต่ยังได้ใจลูกค้า

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
  • “KOI Thé” แบรนด์ชานมไข่มุกสุดคูลสัญชาติไต้หวัน ที่เติบโตแล้วกว่า 12 ประเทศทั่วโลก ด้วยจำนวนสาขามากกว่า 300 – 400 แห่ง
 
  • การเติบโตของ KOI Thé ไม่เพียงเติบโตแค่ตามกระแสนิยมของเครื่องดื่มสุดฮิต แต่ยังเป็นเหมือนภาพการเปลี่ยนแปลงของชานมไข่มุกเครื่องดื่มแห่งยุคที่มีการพัฒนาเติบโต จนกลายเป็นเครื่องดื่มพรีเมียม ที่แม้จะขยับจากหลักสิบขึ้นมาเป็นแก้วละร้อยกว่าบาท แต่ก็ยังมีลูกค้ายืนรอต่อคิวซื้อแบบไม่ขาดสาย
 


 

     ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มสุดฮอตฮิตแห่งยุคนี้ คงไม่มีใครเกิน “ชานมไข่มุก” เป็นแน่นอน เพราะฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองมีให้เลือกหลายแบบ หลายราคาเป็นร้อยๆ แบรนด์ก็ว่าได้ ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะว่าไปแล้วเจ้าเครื่องดื่มแสนหวานเคี้ยวนุ่มหนึบหนับนี้ ไม่ได้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในเมืองไทยหรือบนโลกเพียงแค่ 2 - 3 ปีเท่านั้น หากแต่ลองมองย้อนกลับไปจริงๆ แล้วชานมไข่มุกได้ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกบนโลกนานมากถึง 30 กว่าปีทีเดียว





     โดยมีประวัติเล่ามาว่าชานมไข่มุกแก้วแรกของโลกนั้นกำเนิดขึ้นเมื่อราวปี 2530 โดยร้านชุนสุ่ยถังที่เริ่มเปิดดำเนินการจากการเป็นคาเฟ่เล็กๆ อยู่ในไต้หวันตั้งแต่ราวปี 2526 จนเมื่อ 4 ปีถัดมา เจ้าของร้าน Ms.Lin ได้เกิดไอเดียอยากสร้างเครื่องดื่มที่แปลกใหม่ที่เหมือนได้กินเครื่องดื่มขณะเดียวกันก็เหมือนได้กินขนมพร้อมกันไปด้วย จึงได้นำเม็ดบัวลอยลองใส่เข้าไปในชานม จนในที่สุดได้กลายเป็นต้นกำเนิดของชานมไข่มุกแก้วแรกของโลกขึ้นมา
              

     ซึ่งหากจะย้อนมองพัฒนาการของธุรกิจชานมไข่มุกในไทยแล้ว ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วงเหมือนกับระลอกคลื่น โดยระลอกแรกนั้นย้อนไปเมื่อราว 20 กว่าปีก่อนที่คนไทยได้เริ่มรู้จักกับชานมไข่มุกเครื่องดื่มรสหวานที่มีเม็ดแป้งเคี้ยวหนึบหนับเป็นครั้งแรก ซึ่งแบรนด์แรกๆ เป็นที่รูจักในตอนนั้น คือ “Mr.Shake” ขายเพียงแก้วละไม่กี่สิบบาท และเติบโตได้ดีเพราะกระแส อีกทั้งมีร้านใหม่เกิดขึ้นมากมาย เพราะวัตถุดิบสามารถหาได้ง่ายในเมืองไทย จนใครๆ ก็สามารถเปิดร้านได้
              






     แต่เพียงไม่นานก็เริ่มลดความนิยมลง จนเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น คนมีรายได้มากขึ้น ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้ง แต่เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มรสหวานให้พลังงานสูง กินมากเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ จึงทำให้หลายแบรนด์เริ่มหันมามองเรื่องสุขภาพมากขึ้น พยายามหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาทดแทนเพื่อลดปริมาณแคลอรีลง จนกระทั่งปัจจุบันชานมไข่มุกได้เริ่มกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น แตกต่างไปจากชานมไข่มุกที่เคยรู้จักมา มีการใส่ลูกเล่นจากท็อปปิ้งใหม่ๆ การให้เลือกระดับความหวานได้ตามใจชอบ เพื่อสุขภาพ ชานมไข่มุกในยุคที่ 3 นี้จึงเป็นชานมไข่มุกระดับพรีเมียมที่แม้เปลี่ยนจากแก้วราคาหลักสิบมาเป็นหลักร้อยกว่าบาท ก็ยังมีลูกค้ายืนต่อคิวซื้อ โดยหนึ่งในแบรนด์ชานมไข่มุกพรีเมียมแห่งยุคต้องมีชื่อของ “KOI Thé” รวมอยู่ด้วยแน่นอน
 
                
     โดยที่มานั้น KOI Thé อ่านออกเสียงว่า “โคอิ เตะ” นั้น เป็นแบรนด์ชาพรีเมียมจากไต้หวันที่เข้ามาทำตลาดอยู่ในไทย จุดเด่นเอกลักษณ์ของแบรนด์อยู่ที่ไข่มุกเม็ดเล็กสีทองคาราเมล ซึ่งก่อตั้งโดยมิสหม่า (Ms. Khloe Ma) ชาวไต้หวันที่คิดอยากต่อยอดธุรกิจชาของครอบครัวชื่อว่า “อู่สือหลาน” (50 Lan) เพื่อปรับรูปแบบให้มีความทันสมัยเข้ากับผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น จึงทำออกมาในรูปแบบของร้านชานมไข่มุกขึ้นมาและใช้ชื่อแบรนด์ว่า KOI Thé โดยเปิดสาขาแห่งแรกขึ้นที่ไต้หวันในปี 2549
              






     โดยการขยายสาขาของชานมไข่มุก โคอิ เตะ ในไต้หวันนั้น เน้นเพื่อสร้างเป็นสาขาต้นแบบมากกว่า เพื่อมุ่งขยายสาขาสู่ต่างประเทศ เหตุผลอีกข้อเป็นเพราะไม่อยากแข่งขันกับแบรนด์แม่ด้วยนั่นเอง โดยปัจจุบันโคอิ เตะ มีสาขาแล้วกว่า 12 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย และพม่า รวมแล้วมากกว่า 300 – 400 สาขาในปัจจุบัน สำหรับในไทย โคอิ เตะ ได้เข้ามาบุกตลาดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือประมาณปี 2559
              

     ในช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาดนั้น ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากตั้งอยู่ไกล โดยเริ่มเปิดสาขาแรกขึ้นที่เซ็นทรัลบางนา แต่เพียง 3 เดือนให้หลัง ก็เริ่มมีการรุกตลาดอย่างจริงจังด้วยการเปิดสาขาสองขึ้นมาและปักหมุกอยู่ใจกลางเมืองอย่างสยามสแควร์ ตามมาด้วยสาขาที่ 3 เพียงหนึ่งเดือนให้หลัง จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การเติบโตและทำตลาดก็ยังคงเป็นไปแบบเงียบๆ โดยเลือกใช้ทำการตลาดผ่านการรีวิวมากกว่าที่จะทุ่มงบโฆษณาให้คนรู้จักแบรนด์เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักกับรสชาติแท้ๆ ของชาไต้หวัน ทำให้เมื่อผู้บริโภครู้ถึงความแตกต่าง และเป็นที่นิยมขึ้นมาในที่สุด
              




     ซึ่งสิ่งที่ทำให้ โคอิ เตะ ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับจากนักชิมทั่วไป คือ กรรมวิธีการผลิตที่ใส่ใจในคุณภาพของสินค้า โดยใช้กรรมวิธีที่ค่อนข้างมีความเป็นโฮมเมดสูง เน้นที่ความสดใหม่เป็นสำคัญ โดยตัวชานั้นจะเป็นการต้มชาแบบไต้หวันแท้  และแต่ละครั้งจะเก็บไว้ใช้ไม่เกินระยะเวลาภายใน 3 ชั่วโมง ส่วนตัวไข่มุกเม็ดเล็กสีเหลืองทองก็เช่นกัน ที่มีความพิเศษ คือ เม็ดเล็ก และมีความหวานในตัว ถึงแช่อยู่ในน้ำนานๆ ก็ไม่อืด ไม่บวม โดยหลังจากต้มแล้วจะต้องใช้ให้หมดภายในเวลา 1 – 2 ชั่วโมงเท่านั้น หากเหลือจะต้องเททิ้งทั้งหมดไม่ว่าชาหรือไข่มุก ซึ่งทำมาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเปิดสาขาจนถึงวันนี้ อีกทั้งด้วยฟังก์ชันและรูปแบบเครื่องดื่มที่มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จึงทำให้ชานมไข่มุกโคอิ เตะ ได้รับความนิยมและการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค แม้จะขยับราคาขายขึ้นมาเป็นแก้วละร้อยกว่าบาท แต่ก็ยังมีลูกค้ายินดีรอต่อคิวซื้อไม่ขาดสาย ซึ่งปัจจุบันมีสาขาในไทยแล้ว 20 กว่าแห่งในกรุงเทพฯ
              

     ในส่วนที่มาของชื่อนั้น ว่ากันว่าจริงๆ แล้ว ในภาษาอื่นไม่ได้เรียกชื่อแบรนด์ว่า โคอิ เตะ เหมือกับในเมืองไทย แต่จะออกเสียงว่า “ขอย เท” แต่เมื่อนำมาแปลงเป็นภาษาไทยแล้วอาจฟังไม่ค่อยเสนาะหูเท่าไหร่นัก จึงเปลี่ยนมาเป็นอ่านออกเสียงว่า โคอิ เตะ แทน เพราะส่วนหนึ่งก็มีความหมายดีเข้ากับธุรกิจที่ทำด้วยด้วย โดย KOI มีความหมายว่า เมล็ดถั่ว สำหรับ Thé นั้น ถ้าเป็นภาษาฝรั่งเศสก็จะมีความหมายแปลว่า Tea หรือ ชา นั่นเอง





     โดยนอกจากชื่อ โคอิ เตะ แล้ว อีกหนึ่งชื่อที่คนไทยนิยมเรียกกันเล่นๆ สำหรับแบรนด์ชานมไข่มุกนี้ ก็คือ “ก้อย” เพราะอ่านออกเสียงตามตัวสะกดภาษาอังกฤษว่า “KOI” นิคเนมชื่อเล่นอีกหนึ่งอันของโคอิ เตะ จึงมักเรียกกันเล่นๆ ว่า “ชานมไข่มุกของก้อย”  นั่นเอง



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย