ก้าวข้าม Comfort Zone สร้างเครดิตในใจลูกค้า ตำรากู้วิกฤตสไตล์ O&B

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand 




Main Idea           
 
 
  • สถานการณ์อาจสร้างวีรบุรุษ หรือพลิกชื่อเสียงของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน แต่ไม่ใช่สำหรับกรณีของรองเท้าแบรนด์ O&B ผู้สร้างตำนานรองเท้า 50 เฉดสี ที่ไม่หยุดมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า อดทนเก็บสะสมแต้มต่อเนื่อง เมื่อถึงวันฟ้าเปิด ยอดขายก็หลั่งไหลมาเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จ
 
  • ไม่ใช่ว่าขายรองเท้าแล้ว จะต้องขายรองเท้าไปทั้งปีทั้งชาติ ในอนาคตแบรนด์ O&B จะก้าวข้าม Comfort Zone ไปผลิตสินค้าอะไรก็ได้ เพราะแบรนด์มีเครดิตที่ดี ไม่ว่าจะผลิตอะไร ลูกค้าก็เชื่อมั่นในคุณภาพ และพร้อมสนับสนุน




      8 ปีที่เติบโตโลดแล่นขายรองเท้าอยู่บนโลกออนไลน์ ก่อนจะขยายมาเปิดหน้าร้าน “รรินทร์ ทองมา” เจ้าของแบรนด์รองเท้า O&B บอกว่าไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่ทำงานอย่างหนัก ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาด ยิ่งทำงานหนักกว่าเดิม เวลาทุกนาทีหมดไปกับการคิดกลยุทธ์หรือวิธีใหม่ๆ ที่จะทำให้ได้สินค้าที่ดี ในราคาที่ดี และถูกใจลูกค้ามากขึ้น
               





      เพราะตั้งแต่ต้นเลือกช่องทางการขายที่ถูกต้อง ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ช่วยปูทางความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง โดย O&B เป็นแบรนด์รองเท้าแบรนด์แรกๆ ที่บุกเบิกขายในเฟซบุ๊ก รวมทั้งสื่อโซเชียลต่างๆ ที่เกิดไล่หลังกันมา เช่น อินสตาแกรมและไลน์ แต่เหนืออื่นใด คีย์ซัคเซสที่ผลักดันให้ O&B ขึ้นไปติดท็อปแบรนด์ในกลุ่มรองเท้าแฟชั่นผู้หญิง ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์คือ การมีสินค้าที่ดี
               

      “ต่อให้อยู่ในช่องทางที่ถูกต้อง มีบริการที่ดี ทำการตลาดเก่ง มีดาราเป็นแบ็กอัพ ก็ไม่สู้การมีสินค้าที่ดีเป็นพื้นฐาน ตัวเองเป็นคนคลั่งไคล้รองเท้ามากๆ เราเลยเข้าใจว่าจะทำสินค้าอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกว่า นี่เป็นรองเท้าที่ดีที่สุดเท่าที่เคยใส่มา อีกอย่าง Business Model ก็ต้องถูกต้องด้วย ช่องทางไหนจะทำให้คุณขายดี และได้กำไรจริงๆ แม้ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด”





      อย่างการดีไซน์รองเท้าแบบเดียวกันให้ออกมา 50 เฉดสี ก็มาจากความชอบสีสันของรรินทร์ล้วนๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาบทวิเคราะห์การตลาดใดๆ เพราะผู้หญิงย่อมเข้าใจในผู้หญิงด้วยกัน เพศหญิงซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ อย่าได้ถามหาเหตุผล แต่เธอก็ยอมรับว่าที่คอลเลกชันนี้ขายดีแบบถล่มทลาย ส่วนหนึ่งก็เพราะโชคด้วย


      “ช่วงแรกที่เราลงแรงไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า การทำพรีเซนเทชัน มันอาจจะยังคงไม่ค่อยเห็นผลนัก แต่เรามีหน้าที่ทำสิ่งที่ดีออกมาเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจุดไหน โมเมนตั้มมันจะเหวี่ยงไปในทิศทางที่สูงขึ้นแบบเท่าตัว มันไม่ใช่สามล้อถูกหวยที่ดังชั่วข้ามคืน แต่มันเป็นเรื่องของการทำงานอย่างหนัก อย่างใส่ใจ อย่างต่อเนื่อง”


      ย้อนกลับไปในช่วงล็อกดาวน์ประเทศ สถานการณ์บีบบังคับให้หน้าร้านของ O&B จำนวน 5 ใน 6 สาขา ที่มีทำเลตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าจำต้องปิดตัวลงชั่วคราว รรินทร์ยอมรับว่ามีเครียดบ้าง แต่สุดท้ายคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจต้องมีสติ และมีกำลังใจที่ดี โดยหันไปโฟกัสช่องทางที่สามารถทำเงินได้จริงในเวลานั้น ซึ่งก็คือช่องทางออนไลน์ที่แจ้งเกิดและเติบโตมา โชคดีเป็นของเธอที่ทีมงานปรับตัวไว ช่วยกันระดมความคิดทำสิ่งที่แปลกใหม่ แม้กระทั่งผลิตสินค้าที่ไม่ใช่รองเท้า ออกมารับกับดีมานด์ของผู้บริโภค ณ เวลานั้น






      “แต่ก่อนเราอาจจะทำงานแบบ Comfort Zone มากเกินไป ทำอะไรออกมาก็ขายได้ พอสถานการณ์เปลี่ยนไป เราตกอยู่ในภาคบังคับที่ต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ อย่างช่วงโควิดจะทำอะไร ก็ต้องทำให้เร็ว ไม่ต้องคิดมาก ไม่เน้นลงทุนเยอะ แต่ต้องเร็ว แล้วดูว่าเวิร์กหรือเปล่า ถ้าไม่เวิร์กต้องรีบเปลี่ยน


      เป็นกรณีศึกษาเหมือนกันว่าเราทำรองเท้ามาตลอด แต่วันหนึ่งเราต้องมาทำหน้ากากอนามัย ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีมาก แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภครักแบรนด์เราจริง มันเป็นเครดิตที่เราทำไว้ดีด้วย ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในแบรนด์สูงว่าอะไรก็ตามที่ O&B ทำ มีคุณภาพที่ดีหมด พูดได้เลยว่ามันเป็นการกินบุญเก่าของแบรนด์ เพราะเรานำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้ามาโดยตลอด”


     รรินทร์บอกว่าการก้าวออกจากโซนปลอดภัย ทำให้ธุรกิจเติบโตไปอีกขั้น ในฐานะเจ้าของธุรกิจ เธอมองเห็นตลาดและช่องทางการขายใหม่ๆ และในฐานะที่ควบตำแหน่งดีไซเนอร์ด้วย โลกแฟชั่นยังมีอะไรสนุกๆ ให้ได้คิดและทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยไม่จำกัดกรอบของธุรกิจไว้ที่รองเท้าแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับเพื่อน SME เธอมีคำแนะนำในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ว่า…





      “การขายของบนโลกออนไลน์…ไม่ยาก มันอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง ความใส่ใจกับรายละเอียดอย่างรอบด้าน ดังนั้น SME ต้องอดทน ถ้าช่วงไหนสินค้าขายไม่ดี ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เปิดหูเปิดตากับเครื่องมือใหม่ๆ รวมทั้งศึกษา Success Case ของแบรนด์ดังในต่างประเทศว่าเขาประสบความสำเร็จมาได้อย่างไร และจะปรับตัวไปในทิศทางไหน เพราะกว่าที่แต่ละแบรนด์จะก้าวขึ้นมาในระดับท็อป ล้วนผ่านการทำงานหนักหนาสาหัสทั้งสิ้น”
แล้วคุณล่ะพร้อมที่จะทำงานหนัก เพื่อความสำเร็จแล้วหรือยัง?
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย