เทรนด์ควบรวมกิจการ กลับมาโตหลังโควิด ธุรกิจไหนเนื้อหอมสุด?




 Main Idea
 
  • การควบรวมกิจการ หรือที่เรียกกันว่า M&A (Mergers & Acquisitions) คือ การซื้อหุ้น สินทรัพย์ หรืออื่นๆ เพื่อให้ได้อำนาจควบคุม ครอบครองกิจการ ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัททั่วโลกเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการควบรวมกิจการกันมากขึ้น M&A ทวีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง
 
  • M&A มีแนวโน้มกลับมาเติบโตหลังโควิด -19 คลี่คลาย โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจการแพทย์ที่สอดรับกับเทรนด์ธุรกิจใหม่ (New Normal) โดยขณะนี้หลายบริษัทอยู่ระหว่างชะลอการลงทุนเพื่อปรับกลยุทธ์ M&A ให้สอดรับกับภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงมองหาบริษัทใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในระยะยาว
 
  • M&A เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่บริษัทไทยใช้ขยายการลงทุนในต่างประเทศ สอดรับกับแนวโน้มการออกไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศ แก้ปัญหาข้อจำกัดการขยายธุรกิจภายในประเทศได้อีกด้วย
 

 

     ในโลกของการทำธุรกิจ มีเครื่องมือในการขยายธุรกิจที่เรียกการควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions :M&A)  คือ การซื้อหุ้น สินทรัพย์ หรืออื่นๆ เพื่อให้ได้อำนาจควบคุม/ครอบครองกิจการนั้นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มูลค่า M&A ของโลก ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และทวีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น





     สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าธุรกรรม M&A ต่อ GDP โลกเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2558-2562 จาก 2.8 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2553-2557 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มูลค่าธุรกรรม M&A ชะลอลงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายบริษัทชะลอการลงทุนและรอดูทิศทางของธุรกิจหลังสถานการณ์คลี่คลาย ทั้งนี้ ภาพรวม M&A ของโลกทั้งในมิติของภูมิภาคและอุตสาหกรรม แนวโน้ม M&A ในระยะถัดไป ตลอดจนทิศทาง M&A ของไทยที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
  • การควบรวมกิจการระหว่างประเทศ เผชิญความท้าทาย

     การควบรวมกิจการหรือ M&A ของโลก สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ M&A ภายในประเทศ มีสัดส่วนราว 70 เปอร์เซ็นต์  และ M&A ระหว่างประเทศ (Cross Border M&A) มีสัดส่วนราว 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณที่ Cross Border M&A ชะลอตัวลง ล่าสุดในปี 2562 มีสัดส่วนเหลือ 26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี สาเหตุสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมในการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น สงครามการค้า การแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจาก EU (BREXIT) ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ นโยบายปกป้องการค้าภายในประเทศ (Protectionism) เป็นต้น
        


      
 
  • ประเทศพัฒนาแล้วคือตลาดหลักของโลก

     มูลค่าธุรกรรม M&A เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรปที่มีสัดส่วนรวมกันเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่า M&A โลก โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจใน 2 ภูมิภาคนี้ชะลอตัวอย่างมาก จึงเป็นโอกาสให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลก ทยอยเข้าไปทำธุรกรรม M&A เป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นภาพที่มูลค่า M&A ใน 2 ภูมิภาคนี้โตสวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจ
 
  • ธุรกิจไหนเนื้อหอมสุดในตลาด M&A

     ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มการเงิน อาหาร/เกษตร และเทคโนโลยี/สื่อสาร การผลิต และพลังงาน เป็น 5 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับการทำ M&A ของโลก อย่างไรก็ตาม กระแส Tech-Disruption นับเป็นปัจจัยเร่งให้กลุ่มเทคโนโลยีกลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งสำหรับการทำ M&A ในระยะถัดไป สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของ M&A ในกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงปี 2558-2562 ขยายตัวสูงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มพลังงานที่เคยเป็นกลุ่มที่เติบโตสูงกลับขยายตัวเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จากผลกระทบของปัญหาราคาน้ำมันโลกซบเซาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 



 
  • จับตาแนวโน้ม M&A หลังโควิด-19

     ผลกระทบจากโควิด -19 และความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันผันผวน เป็นปัจจัยบั่นทอนให้ M&A ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หดตัวถึง 38 เปอร์เซ็นต์ โดยหลายบริษัทรอดูสถานการณ์หลังโควิด -19 คลี่คลาย เพื่อกำหนดกลยุทธ์ M&A รอบใหม่ หรือมองหาบริษัทที่มีศักยภาพในระยะถัดไป ทำให้คาดว่า M&A จะกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจการแพทย์ สอดรับกับกระแส Tech-Disruption และเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ หลังโควิด -19 ขณะที่ M&A ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจาก M&A ระหว่างประเทศเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย เช่น Trade War & Protectionism, Supply Chain Shock (โควิด-19), Geopolitics, Reshoring (การถอนทุนและย้ายฐานกลับประเทศเจ้าของทุน)





     แม้ M&A ระหว่างประเทศของโลกเริ่มเผชิญความท้าทาย แต่บริษัทไทยมีแนวโน้มขยายการลงทุนในต่างประเทศด้วย M&A อย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดล็อกจากข้อจำกัดภายในประเทศ เช่น ตลาดขนาดเล็ก ขาดแคลนแรงงาน และเทคโนโลยีไม่ทันสมัย เป็นต้น สะท้อนจากสัดส่วนการทำ M&A ระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นแตะระดับ 33 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2562 จาก 17 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 ขณะเดียวกันมูลค่า Deal ก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ Deal ในปี 2562 จาก 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่าภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นที่คาดว่าการทำ M&A ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะถัดไป สอดคล้องกับเทรนด์การออกไปแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ในต่างประเทศของบริษัทไทยนั่นเอง
 
 
ที่มา :  EXIM BANK


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย