ไม่มีหน้าร้านแล้วไง! “ปัง มังกร” คาเฟ่สุดชิกริมทางใช้ผนังเก่าเนรมิตให้เป็นร้านใจกลางเยาวราช

TEXT / PHOTO : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea

 
  • โดยส่วนใหญ่แล้ว หากคิดจะเปิดร้านหรือทำธุรกิจขึ้นมาสักตัวหนึ่ง สิ่งที่ต้องลงทุนเป็นอย่างแรก ก็คือ การสร้างร้านขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
 
  • แต่นั่นอาจไม่ใช่สำหรับ “ปังมังกร” Stree Café เล็กๆ ริมทางบนถนนเยาวราช ถนนที่ขึ้นชื่อว่าค่าเช่าที่แพงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเพียงแค่มีผนังจากบ้านเก่า และพื้นที่ว่างเล็กๆ ก็สามารถเนรมิตขึ้นมาให้กลายเป็นคาเฟ่สุดชิกได้แล้ว
 


 

     ในตรอกซอกซอยแห่งหนึ่งของเยาวราชที่เต็มไปด้วยสินค้ามากมายจากร้านรวงที่ตั้งอยู่ริมทาง ในอีกมุมหนึ่งบนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามจากผนังบ้านเก่าที่ผุผังไปตามกาลเวลา ใครจะคิดว่ามีร้านกาแฟเล็กๆ ตั้งอยู่ ซึ่งหากมองดูแบบผิวเผินอาจเหมือนกับร้านกาแฟรถเข็นข้างทางทั่วไป





      แต่หากลองมองลึกลงไปในรายละเอียด ตั้งแต่เคาน์เตอร์ที่ดัดแปลงจากรถจักรยานสุดคลาสสิก โต๊ะเก้าอี้ประดิษฐ์ง่ายๆ จากลังน้ำอัดลมเก่าที่ไม่ใช้แล้ว ไปจนถึงป้ายไฟและโคมไฟที่ซ่อนโลโก้ของร้านอยู่ด้านใน หรือชุดยูนิฟอร์มที่สวมใส่ จึงทำให้รู้ว่านี่ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟและขนมปังปิ้งริมทางอย่างที่เราเคยเห็นมาแน่นอน แต่คือ Stree Café รูปแบบใหม่ที่ใช้งบน้อย แต่ความครีเอทสูง จึงทำให้รู้ว่าจากพื้นที่ว่างเล็กๆ ก็สามารถเนรมิตให้กลายเป็นร้านชิกๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน
              

     ร้านคาเฟ่ดังกล่าว มีชื่อว่า “Pang Mangkon” หรือ ปังมังกร  “บริบูรณ์ เหลืองประกาย” เจ้าของร้านเล่าที่มาของไอเดียให้ฟังว่าเกิดจากวันหนึ่งเมื่อคิดอยากลาออกจากงานประจำ ซึ่งอดีตเคยเป็นดีไซนเนอร์เสื้อผ้าให้กับแบรนด์ชื่อดังแห่งหนึ่งมาก่อน จึงได้ลองมองหาธุรกิจไว้เพื่อรองรับ ด้วยความผูกพันกับพื้นที่เยาวราชตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งโตขึ้นมาก็คุ้นเคยกับพื้นที่นี้มาตลอด ไม่ว่าจะทำงาน มาหาเพื่อน จึงคิดว่าหากอยากสร้างธุรกิจขึ้นมาสักตัวหนึ่ง ก็อยากจะเริ่มและทำที่ในพื้นที่นี้ก่อน
              






     โดยไอเดียในการทำเป็น Stree Café ขึ้นมานั้น ได้แนวคิดมาจากร้านคาเฟ่ริมทางของเมืองนอกที่แม้อาจไม่ต้องใช้อะไรมาก แค่พื้นที่เล็กๆ ข้างทางก็สามารถสร้างเป็นร้านขึ้นมาได้ จึงได้พยายามมองหาพื้นที่ว่างข้างตึกเก่าเพื่อสร้างเป็นร้านขึ้นมา ในส่วนของการตกแต่งร้าน ก็ดัดแปลงมากจากข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและที่เก็บสะสมไว้ ทำให้ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเช่นกัน


     ซึ่งบริบูรณ์กล่าวว่าวิธีการดังกล่าวอาจช่วยให้ประหยัดต้นทุน ไม่ต้องตระเตรียมอะไรมาก และใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถสร้างร้านขึ้นมาได้เลย แต่ทุกอย่างก็ต้องใส่ความจริงใจและจริงจังลงไปด้วย เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้  ตั้งแต่การสร้างภาพลักษณ์ การสร้างแบรนด์ ไปจนถึงการเลือกใช้สินค้าคุณภาพดี เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ แม้เป็นร้านริมทางก็สามารถทำให้กลายเป็นร้านที่ดีอยู่ในใจของลูกค้าได้เช่นกัน







     “ถึงเราจะเป็นร้านที่เหมือนสร้างขึ้นมาจากคอนเซปต์ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่เราก็มีความจริงจังในการทำธุรกิจ โดยวัตถุดิบต่างๆ ที่เลือกใช้ล้วนเป็นของคุณภาพ ยกตัวอย่างตัวขนมปังเองที่เป็นชื่อแบรนด์ ของเราใช้ขนมปังโฮมเมด ไม่ใส่สารกันบูด ซึ่งบังเอิญคุณป้าทำขายอยู่แล้ว เราเลยเอามาใช้ที่ร้าน เนยที่ใช้ทา ของเราก็เป็นเนยแท้ ไม่ใช่มาการีน หรืออย่างโก้โก้ ชาเขียวที่ใช้ชง ก็เป็นสินค้าที่นำเข้าทั้งนั้น


     "เมนูของเรามีทั้งแบบราคาแพงและถูกบ้างคละกันไป แล้วแต่ลูกค้าจะเลือกรับประทาน แต่ทุกอย่างเราจะตั้งพื้นฐานไว้ที่ราคาจับต้องได้ก่อน อย่างขนมปังก็จะเริ่มต้นที่แผ่นละ 20 บาท ถ้าเป็นหน้าที่แพงขึ้นมาหน่อยใช้ช็อกโกแลตชิพหรือบราวนี่นำเข้าก็ขายแผ่นละ 60 -70 บาท ก็มี ส่วนน้ำเริ่มต้นที่แก้วละ 40 บาท คือ นอกจากจะขายนักท่องเที่ยว เรายังขายคนแถวนี้ได้ด้วย อย่างช่วงนี้เงียบๆ นักท่องเที่ยวน้อย ก็ได้อากงอาม่าจากร้านแถวนี้มาช่วยซื้อ ทำให้พอมีรายได้เข้ามาบ้าง ทั้งหมดที่ทำได้แบบนี้ เพราะเราไม่ได้มีต้นทุนที่สูงมากนั่นเอง”







     จากบรรยากาศของร้านคาเฟ่ริมทางเล็กๆ น่ารัก ในมุมของคนที่อยากลาออกมาพักผ่อนและมาหาอะไรทำของตัวเองก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้นในช่วงแรก แต่สำหรับบริบูรณ์แล้ว เขาบอกว่าวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายธุรกิจของเขาไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ โดยนอกจากร้านที่สาขาเยาวราชแล้ว เขาวาดแผนการไว้ว่าจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นมาอีก 2- 3 แห่งบนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โดยใช้คอนเซปต์เดียวกัน คือ พื้นที่ตึกเก่าที่มีความคลาสสิก ซึ่งแต่ละสาขาก็จะใช้โลโก้เป็นรูปมังกรที่มีสีสันแตกต่างกันไป และสร้างกิจกรรมให้ลูกค้ามาประทับตราแต่ละสาขา เพื่อทำโปรโมชั่น รวมถึงอนาคตหากไปได้ดีเขาอาจขยายสาขาออกไปยังพื้นที่รอบนอกและขายแฟรนไชส์ด้วยก็ได้


     “เรามองว่าวันหนึ่งถ้าร้านเติบโตขึ้นมาได้ ก็อาจขยายโอกาสธุรกิจได้หลายรูปแบบ แต่ยังไงเราต้องสร้างสตอรี่และคุณภาพที่ดีแก่ลูกค้าให้เป็นที่จดจำก่อน เพราะวันหนึ่งหากเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้แล้ว ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนๆ ลูกค้าก็จะจดจำเราได้ ซึ่งง่ายต่อการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตได้”
              




     และนี่คือ คำกล่าวทิ้งท้ายของอดีตนักดีไซน์เนอร์หนุ่มที่ผันตัวมาเปิด Stree Café เล็กๆ ริมทางของตัวเองขึ้นมาบนพื้นที่ถนนที่อาจเรียกได้ว่ามีค่าเช่าที่สูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศเลยก็ว่าได้ และทำให้เราเห็นว่าถึงแม้วันนี้เขาจะไม่ได้วาดลวดลายเส้นสายอยู่บนผืนผ้าแล้ว แต่ไอเดีย ระบบความคิดต่างๆ ของนักคิดนักสร้างสรรค์กลับยังคงอยู่ แถมยังสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจในฝันให้ทำอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีกมากมาย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย