ฟัง “ทอม เครือโสภณ” ปลุกพลัง SME วิกฤตนี้ต้องรอด!

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea           
 
  • ถึงเวลายอมรับความจริงว่าวิกฤตโควิด-19 จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน SME ในฐานะแม่ทัพธุรกิจ อย่าหวังคอยโชคชะตาหรือรอรับการช่วยเหลือจากใคร ถ้าคิดอยากจะรอด สิ่งที่ควรทำในสถานการณ์เช่นนี้คือ ปรับมายด์เซ็ต และ Retrain ทักษะที่จำเป็นในการทำธุรกิจโลกยุคปัจจุบัน เพื่ออนาคตที่ดีที่รออยู่ข้างหน้า
 
  • ในการบริหารจัดการองค์กรในภาวะวิกฤต SME เหมือนยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ต้องตัดสินใจว่าจะ ลุย หรือ ลด หากคิดจะลุย นี่คือโอกาสในวันที่คู่แข่งอ่อนแอ แต่หากจำเป็นต้องลด นักธุรกิจคนดังแนะนำว่าลดต้นทุนได้หมด ยกเว้นลดคน เพราะเหตุผลใด ไปหาคำตอบกัน
 


               
     หมดโควิดแล้วจะทำอะไรเป็นอันดับแรก? คำถามนี้เคยเป็นที่นิยมถามกันอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ถึงเวลานี้เราคงต้องยอมรับความจริงกันแล้วว่า โควิด-19 จะอยู่กับเราไปตลอด ไม่ต่างอะไรจากไข้หวัด อาจฟังดูโหดร้าย แต่ชีวิตหลังโควิดนั้นไม่มีอยู่จริง และทุกคนบนโลกจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) นี้ไปด้วยกัน



               

     การบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤต แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนอาจคิดว่าไวรัสโคโรนาฆ่าเศรษฐกิจ แต่ “ทอม เครือโสภณ” นักบริหารธุรกิจชื่อดังชี้เปรี้ยงว่า สิ่งที่พิฆาตเศรษฐกิจวันนี้ คือ ความกลัว ตัวการสำคัญที่ฉุดรั้ง SME ให้หยุดอยู่กับที่ เฝ้าคอยมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ หวังว่าจะเอาเงินมาให้กู้ หรือรอให้เศรษฐกิจที่ดิ่งลงเหว เด้งกลับมาในลักษณะ V-Shape ตามที่กูรูว่าไว้ ซึ่งหากพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกแล้ว เศรษฐกิจไทยคงไม่ฟื้นตัวรวดเร็วขนาดนั้น และอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ปีด้วยซ้ำ
               

     อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เวลาจะมานั่งกลัวหรือท้อแท้ แต่เป็นเวลาทองคำที่ SME จะต้องปลุกพลังตัวเอง และทำในสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เช่น วิเคราะห์ธุรกิจที่ทำอยู่ว่ายังมีโอกาสไปต่อได้อีกไหม หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นดี ที่สำคัญทอมบอกว่าถึงเวลาที่ SME ไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการ Retrain ฝึกฝนบ่มเพาะทักษะใหม่ๆ ที่จะทำให้ตนเป็นผู้ประกอบการที่ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ใครยังขายของออนไลน์ไม่เป็น ทำการตลาดออนไลน์ไม่ได้ ไม่รู้จัก E-Logistic หรือแม้แต่การจ้าง Outsource นาทีนี้ต้องรู้จัก และต้องปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ





     “ทุกอย่างอยู่ที่มายด์เซ็ต สมองเราต้องเชื่อก่อนว่าถ้ายังมีลมหายใจอยู่ มันต้องมีวิธีที่จะรอด หาคนคุยด้วยเยอะๆ อ่านหนังสือหรือฟังสิ่งที่เปิดโลกทัศน์ให้กับตนเอง คุณอาจจะเห็นโอกาสหรือตลาดใหม่ๆ อย่างบริษัทผมก็ต้องเปลี่ยนแนวธุรกิจ จากเคยขายเครื่องสำอาง มาขายกระเป๋าเพื่อสุขภาพ ทุกวันนี้ไม่ใช่คนหยุดซื้อนะ แต่เราต้องมองให้ออกว่าในวิกฤตคนต้องการอะไร เช่น อาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ตอนนี้ผมก็ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยพัฒนาไก่ที่กินแล้วสุขภาพดี คนที่เป็นเกาต์กินได้ ไม่มีกรดยูริค


     ผมว่าถ้าไม่ยอมแพ้ ทุกคนทำได้หมด ถ้าวันไหนคุณบอกว่ายอมแพ้แล้ว วันนั้นคือวันที่คุณเจ๊ง อีกอย่างเวลามีปัญหา ต้องรู้จักที่จะขอความช่วยเหลือคน บางครั้งต้องหน้าด้านให้เป็น เพราะคุณต้องรอดในโลกยุคปัจจุบันให้ได้”
ที่ผ่านมาจะเห็นว่า SME พยายามเลือกใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย ทั้งลดต้นทุน ตัดหน่วยธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ปลดคนออกหรือให้สลับกันมาทำงาน เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอด ในมุมมองเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรในภาวะวิกฤต ทอมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในบริษัทว่า เขาใช้อยู่ 2 กลยุทธ์ คือ ลุย และ ลด ซึ่งกว่าจะตัดสินใจได้ว่าลุย ก็ใช้เวลาวิเคราะห์นานพอสมควร เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินที่ต้องเสี่ยงลงทุนใส่เพิ่มเข้าไป





     “ถ้าเรามีศักยภาพ นี่เป็นโอกาสอันดีที่จะลุย ผมลุยโดยคิดทำธุรกิจใหม่ที่มันกำลังเติบโต หรือเข้าไปในตลาดที่คนอื่นทำอยู่แล้ว แต่เขาอ่อนแออยู่และหาทางลดกัน ส่วนธุรกิจที่ผมทำอยู่เดิม คือธุรกิจที่รับซื้อขวด ตอนนี้มันดีอย่างตรงที่ต้นทุนการผลิตสินค้าเราต่ำลง เพราะซื้อได้ในราคาที่ถูก ผมก็ซื้อแหลกเลย เอามาเก็บไว้ก่อน


     สำหรับ SME บางรายที่ลุยไม่ได้ ก็ต้องลด ผมแนะนำข้อเดียวว่า ลดได้ทุกอย่าง แต่พยายามอย่าลดพนักงาน พวกโต๊ะ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ไม่ใช่ Asset แต่คนคือ Asset สำคัญ ถ้าคุณสามารถเลี้ยงพนักงานได้ในยามที่มีวิกฤตเช่นนี้ พนักงานจะรักคุณ และผูกพันกับบริษัทมากขึ้น”





     หากคิดจะรักษาคนแล้ว ทอมเสริมเพิ่มว่า SME ในฐานะผู้นำธุรกิจ ต้องหาทาง Restructure หรือปรับโครงสร้างการจ่ายเงินเดือนที่พนักงานก็อยู่ได้ องค์กรก็อยู่รอด เช่น บริษัทที่มีสินค้าเป็นของตนเอง อาจใช้วิธีขอลดเงินเดือนพนักงานลง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่จะให้คอมมิชชั่น 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงจูงใจแก่พนักงานทันทีหากช่วยขายสินค้าให้กับบริษัทได้ ถือเป็นกลวิธีดึงพนักงานทุกคนมาเป็นเซลล์กลายๆ เพื่อแลกกับรายได้ที่สูงขึ้น ในขณะที่บริษัทก็มียอดขายเพิ่ม


     “ถ้าคุณเป็นเจ้านายที่ดี ต้องทำทุกวิถีทางที่ไม่ให้ความรู้สึกของพนักงานต้องเสียไป และในฐานะที่เป็นเจ้านาย SME  ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปิดหู เปิดสมอง เพื่อเปิดการกระทำ ล้างความเคยชินกับสิ่งที่เคยทำมาออกไปจากสมอง หาสิ่งใหม่ๆ มาแก้ไขทุกอย่าง ถ้าคุณแสวงหา เดี๋ยวแสงสว่างมาเอง


     ในทุกวิกฤตจะมีคนรอดและคนเจ๊ง ผมตัดสินใจแล้วว่าผมจะรอด แล้วคุณล่ะ นี่คือสิ่งที่ SME  ต้องตัดสินใจแล้ว”
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย