ฟังรุ่นพี่ “ส.ขอนแก่นฯ” แนะวิธีพลิกเกมธุรกิจ จับโอกาสโตในวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea           
 
 
  • ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 หลายธุรกิจต่างประสบปัญหาด้านยอดขายที่ลดลง ทำให้ต้องมองหาจุดแข็งเพื่อสร้างโอกาสใหม่ที่จะผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีแก่นของธุรกิจคือ อาหาร จะมาร่วมแชร์มุมมองการปรับตัว และการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ภายใต้การบริหารของผู้บริหารรุ่นใหม่ ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ
 
  • ข้อดีของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดีกว่า แต่การเป็น SME จะสามารถปรับตัวได้คล่องตัวมากกว่า จึงมีคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยเป็น SME มาก่อนว่า ในวิกฤต SME ควรต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาจากจุดใด และจะสามารถสร้างโอกาสในวิกฤตขึ้นมาได้อย่า 
               


 
        การมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตในยุคโควิด-19 นี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่สำหรับ บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สามารถใช้จังหวะนี้ตรวจเช็กสุขภาพธุรกิจของตนเอง พร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง






      “จรัญพจน์ รุจิราโสภณ”
CEO (Processed Foods & Support Function) บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในสองทายาทธุรกิจที่เข้ามารับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ “เจริญ รุจิราโสภณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)


      เขาเล่าถึงผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าช่วงนั้นยอดขายสินค้าของบริษัทฯ ตกลงไปมาก เช่น ข้าวกล่องแช่แข็ง มียอดขายลดลงเนื่องจากร้านสะดวกซื้อเปิดได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม  ส่วนธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถเปิดบริการให้ลูกค้านั่งในร้านได้ ทำให้ยอดขายของร้านอาหารลดลงไปเช่นกัน แต่ลดลงไปไม่มากเพราะมียอดขายจากธุรกิจเดลิเวอรี่เข้ามาทดแทน





       ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารพื้นเมือง อาทิ แหนม หมูยอ หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ใส้กรอกอีสาน พบว่ามียอดขายเติบโตขึ้นในช่วง 1 เดือนแรกที่ผู้บริโภคต้องการซื้อของกักตุนเพื่อใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้าน จนมาถึงช่วงเดือนพฤษภาคม สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ


      การปรับตัวในท่ามกลางวิกฤติเหล่านั้น ส.ขอนแก่นฯ ได้วางแนวทางไว้ 3 ขั้นตอน คือ ออกมาตรการควบคุมการติดเชื้อโควิดภายในองค์กรอย่างเคร่งครัด ถัดมาคือการแก้ปัญหายอดขายสินค้าที่ลดลงไป โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ และธุรกิจเดลิเวอรี่มากขึ้น และสุดท้าย คือการมองถึงโอกาสการเติบโตในอนาคต





      “ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่เราสร้างมา ทำให้โชคดีมากที่พนักงานทุกคนตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหารให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจนไม่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น ขณะเดียวกันการมีทีมงานที่ดี พร้อมรับกับความท้าทายในการแก้ปัญหา เมื่อมีการประชุมระดมสมอง และผมบอกความจริงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้รับรู้ ทุกคนจึงพร้อมใจกันช่วยและพยายามหาโซลูชั่นเข้ามาเพื่อเพิ่มยอดขาย


     กลายเป็นว่าเราได้มีโอกาสตรวจสุขภาพธุรกิจไปในตัวด้วยว่า 8-9 ธุรกิจที่บริษัทฯ มีนั้น มีความแข็งแรงหรือไม่ และใช้โอกาสนี้ในการสะสางปัญหาทุกอย่างตั้งแต่ต้นตอ และบอกถึงความคาดหวังของเราไป ซึ่งทุกคนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทำให้ตอนนี้ธุรกิจสามารถ recover กลับมาได้ ต้องยอมรับว่าปีนี้อาจจะไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าปีหน้าจะกลับคืนมาปกติได้อย่างสมบูรณ์” จรัญพจน์ กล่าว


      เขาบอกอีกว่า เมื่อห้ามเลือดและแก้ปัญหาได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำจากนี้คือการมองไปในอนาคต โดยมองหาว่า New Normal จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้สร้างความทุกข์ให้กับผู้คน แต่เราคิดว่าน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจมหาศาล และเราก็มองเห็นโอกาสในวิกฤติครั้งนี้ โดยมองเห็นเทรนด์ใหญ่ใน 3 เรื่อง


      เรื่องแรกคือทุกคนจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ต้องเน้นสะอาดและปลอดภัย บริษัทฯ จะมุ่งยกระดับและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ในอนาคตนี้ให้มากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะครอบคลุมเทรนด์หลัก ๆ 6 ด้าน ประกอบด้วย อร่อย, ดีต่อสุขภาพ, สะดวกสบายมากขึ้น, ดีไซน์สวยงาม, ราคาเข้าถึงง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม






     เรื่องที่สองคือการให้ความสำคัญกับธุรกิจออนไลน์ แม้ว่า ส.ขอนแก่นจะเติบโตมากจากออฟไลน์ แต่ในช่วงโควิด พบว่ามีฐานลูกค้าใหม่จากตลาดออนไลน์ที่เราจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้พัฒนาต่อได้ อย่างไรก็ดี มองว่าธุรกิจอาหารยังต้องให้ความสำคัญกับตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป และเทรนด์สุดท้ายที่เรามองเห็น จะเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในระดับประเทศ ที่คาดการณ์ถึงอัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นนับจากนี้ เราจึงกำลังพัฒนาโมเดลฟู้ดทรัค ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ส่วนนี้ด้วย


     “ตอนนี้เราพยายามหา นิว เอสเคิร์ฟ ซึ่งก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจฟู้ดทรัค ให้เป็นระบบแฟรนไชส์ที่ทุกคนสามารถใช้เงินลงทุนไม่สูงนักแต่สามารถคืนทุนได้เร็ว เพราะจะเป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ทุกมื้ออาหาร” จรัญพจน์ กล่าว






       ทั้งนี้ นอกจากจะได้เห็นมุมมองและแนวทางการปรับตัวของธุรกิจอาหารรายใหญ่อย่าง ส.ขอนแก่นฯ แล้ว ในฐานะรุ่นพี่ที่เคยเป็นเอสเอ็มอีมาก่อน จนสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น จรัญพจน์ ชี้จุดแตกต่างว่า ข้อดีของการเป็นบริษัทจดทะเบียนคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีกว่า และมีโอกาสได้คนดีและเก่งเข้ามาร่วมงาน แต่หากมองถึงความคล่องตัวในการปรับตัวนั้น เอสเอ็มอีมีจุดแข็งในเรื่องของความคล่องตัวสูงกว่า


       “ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี คือการโฟกัสในธุรกิจของตนเองให้ชัดเจน เริ่มจากการมองหาตลาดเล็ก ๆ ก่อนขยายออกไปให้เป็นแมสมากขึ้น และในท่ามกลางวิกฤตินี้ เอสเอ็มอีควรสำรวจตัวเองให้มาก ต้องมองหาธุรกิจที่เรารักให้ได้มากจริง ๆ เพื่อเราจะได้มีภูมิต้านทานเวลาเกิดปัญหาและจะมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก” เขากล่าวทิ้งท้าย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย