Main Idea
- แม้ไม่มีวิกฤตโควิด-19 แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในบ้านเรา นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก โดยพฤติกรรมของผู้คนแปรเปลี่ยน คนไม่จงรักภักดีในแบรนด์ เบื่อความซ้ำซาก ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมอายุสั้นลงกว่าเดิมมาก
- ทำอย่างไรธุรกิจถึงจะอยู่รอดและยั่งยืนได้ โดยไม่ต้องล้มหายตายจากไปเหมือนหลายๆ แบรนด์ในวันนี้ มาฟังคำตอบจาก “วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์” ผู้ก่อตั้ง เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล และโฮมสเตย์ ระบบการจัดการ โรงแรมและชุมชนโรงแรมขนาดเล็ก กัน
กลายเป็นกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อมีข่าวว่า “ปาลิโอ เขาใหญ่” แหล่งท่องเที่ยวถ่ายภาพยอดนิยม และจุดเช็คอินสุดฮิต คอมมูนิตี้ไลฟ์สไตล์ ที่เคยโด่งดังมากว่า 10 ปี ได้ปิดตัวลง!
ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวคราวการล้มหายตายจากไปของโรงแรม ที่พัก และธุรกิจท่องเที่ยวหลายแห่ง เซ่นการมาถึงของวิกฤตโควิด-19
ปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไรกับผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยว ถ้าจะอยู่ในรอดในโลกยุคต่อจากนี้ต้องทำอย่างไร ไปหาคำตอบกับ “วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์” ผู้ก่อตั้ง เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล และโฮมสเตย์ ระบบการจัดการ โรงแรมและชุมชนโรงแรมขนาดเล็ก
จุดขายไม่ยั่งยืน ธุรกิจพร้อมตายจาก
แม้วันนี้จะเจอกับวิกฤตโควิด-19 แต่หากย้อนไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในบ้านเราเกิดการเปลี่ยนแปลงมาพักใหญ่แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บวกพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป คือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมมีอายุไขสั้นลงแม้ไม่มีวิกฤตไวรัส
“ในช่วง4-5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนเร็วมาก ถึงแม้ไม่มีโควิดเช่นในปัจจุบัน แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนเร็ว โดยเฉพาะพฤติกรรมคน มันไม่มีความจงรักภักดี (Loyalty) เหลืออีกเลยในคนรุ่นนี้ ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนที่ฉันจะไปนอนโรงแรมนี้ ไปพักห้องนี้ที่ฉันเคยนอน ไม่มีนิยายแบบนั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นสินค้าที่เรียกว่าโรงแรมอายุจะสั้นลง”
วรพันธ์บอกความท้าทายของธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในวันโลกเปลี่ยน โดยเฉพาะโรงแรมที่จุดขายไม่ยั่งยืน จะยิ่งทวีความเหนื่อยยากยิ่งขึ้นในการคงอยู่ในยุคนี้
“อย่างปาลิโอ เป็นตัวอย่างของจุดขายที่ไม่ยั่งยืน ต้องมองย้อนความจริงว่า ปาลิโอเปิดมากว่า 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นแม้ไม่มีโควิดแต่สินค้าตัวนี้ก็หมดอายุไปแล้ว เป็นไปตามวงจรของมัน โควิดเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่บอกว่าเหตุการณ์นี้ฉันใกล้ตายเต็มทน เหมือนกับโรงแรมหลายๆ แห่ง ที่ไซเคิลถึงอายุพอดี แล้วโควิดเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย มองว่า จุดขายของธุรกิจที่จะอยู่รอดมันจะต้องลึกไปกว่าแค่เรื่องของการตกแต่ง”
ทางรอดของธุรกิจคือพลิกสู่ Community Base Hotel
วรพันธ์ุ บอกเราว่า ธุรกิจที่จะอยู่ได้ในยุคนี้ ต้องเป็นโรงแรมขนาดเล็ก มีต้นทุน Fixed cost ที่ไม่สูงเกินไป ปรับตัวได้ไว และมีจุดขายที่ชัดเจน และหากอยากมีจุดขายที่ยั่งยืนก็ต้องเป็น Community Base Hotel หรือโรงแรมที่มีความผูกพันกับชุมชนให้ได้
“Community Base Hotel เป็นการแชร์ใน 3 เรื่อง คือ 1.แชร์รายได้ 2.แชร์โอกาสให้กับคนในชุมชน และ 3.แชร์องค์ความรู้ โดยต้องเป็นแหล่งกระจายความรู้สู่ชุมชนด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการโรงแรมในบ้านเรายังเป็นแบบนี้น้อย ส่วนใหญ่จะคิดว่า แค่เก็บเงินค่าห้องพักก็น่าจะพอ หรือไม่ก็แค่จ้างงานชาวบ้านก็น่าจะพอไหม แต่จริงๆ แล้วไม่พอ Community Base Hotel มันรวมไปถึงแบรนดิ้งและการสื่อสารด้วย ถ้าโรงแรมเรากระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ผมเรียกว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ที่แข็งแกร่ง แล้วก็ทำให้ลูกค้าอยากมาพัก เพราะรู้สึกว่าเราเป็นธุรกิจที่ให้ประโยชน์กับสังคมด้วย”
นี่ไม่ได้เป็นแค่วิธีคิดแบบโลกสวย แต่เป็นโมเดลธุรกิจที่มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นแล้ว เขายกตัวอย่าง “อุ่นไอมาง” (Oun I Mang) อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นพรีเมียมโฮมสเตย์ที่เป็น Community Base Hotel สร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ
“อุ่นไอมาง เขาไปทำอยู่ในป่า ริมลำธารเลย เข้าไปลึกมาก พอโรงแรมคนเต็มสิ่งที่เขาทำคือเขาไม่ขยายห้องเพิ่ม แต่กลับไปสนับสนุนให้ชาวบ้านในหมู่บ้านซึ่งเดิมมีอาชีพเก็บใบเมี่ยง ทำโรงแรมขนาดเล็กแบบเขาขึ้นมาแทน และบอกว่าถ้าอยากเปิดแล้วเก็บแพงๆ ต้องทำแบบเขา ชาวบ้านก็มาทำให้มีความกลมกลืน มีความเป็นธรรมชาติ สุดท้ายมันทำให้หมู่บ้านนี้ดีขึ้น กลไกของธุรกิจแบบนี้ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเขาไม่ได้มองการทำธุรกิจแบบเดิมๆ แต่มองเป็น Community Base Hotel ที่เข้าใจว่าโรงแรมจะอยู่ได้มันต้องเป็นพันธมิตรกับสังคมด้วย”
หนึ่งในภาพสะท้อนความสำเร็จ คือการตอบรับของลูกค้า ที่ยังคงเข้ามาพักอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาห้องพักของ อุ่นไอมาง จะสูงกว่าที่พักในเมืองอยู่พอสมควรเลยก็ตาม
ต้องเปลี่ยนแปลง! คาถารอดของโรงแรมหลังโควิด
แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีการคลายล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มออกมาท่องเที่ยวกันแล้ว แต่การจะอยู่รอดของธุรกิจโรงแรมนับจากนี้ก็ยังเป็นความท้าทาย วรพันธ์ุ บอกว่าคาถาเดียวที่จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้ก็คือ “ต้องเปลี่ยนแปลง”
“ถ้าคุณจะทำอย่างเดิม แล้วบอกว่าขอให้ทุกอย่างดีขึ้น มันคงเป็นไปไม่ได้ คาถาเดียวที่จะทำให้ธุรกิจรอดก็คือต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเปลี่ยนตัวเองอย่างมากด้วย เพราะกลุ่มลูกค้าที่เคยมาหาคุณเขาไม่ได้มาเหมือนเดิม โดยเฉพาะฝรั่ง กลุ่มนี้หายไปเลย 2 ปี ต่อให้กลับมาเงินก็ไม่มากเหมือนเดิม ฉะนั้น โรงแรมที่เคยรับต่างชาติเป็นหลัก อย่าง ภูเก็ต พัทยา หรือโรงแรมใหญ่ๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ กลุ่มนี้คุณต้องเปลี่ยนตัวเอง”
ถามว่าเปลี่ยนอย่างไร เขาบอกว่า ทำได้โดย 1.กลับมาโฟกัสตลาดไทย และตลาดที่ยังมีโอกาส เช่น CLMV และตลาดจีนที่กำลังจะกลับมา 2.ทำเป็นที่พักเชิงสุขภาพ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ หลังจากโควิดการแพทย์ไทยมีผลงานดี ทำให้คนเรียกร้องอยากมาไทยไม่ใช่แค่มาท่องเที่ยว แต่มารักษาสุขภาพในไทยด้วย จึงเป็นโอกาสและจุดขายที่ต้องตอกย้ำ โดยเปลี่ยนเป็นโรงแรมเชิงสุขภาพเพื่อรับโอกาสนี้
3.ขยายช่องทางหารายได้ เช่น เปิดคลาสเรียนในโรงแรม
“ทำยังไงให้คนเข้ามาใช้ห้องของเราในช่วงวันธรรมดา (Weekday) ให้ได้ จากเดิมใช้เป็นห้องจัดเลี้ยงสัมมนา พอไม่มีต้องเปลี่ยน อย่าง ครีเอทคลาสเรียนขึ้นมา เช่น คลาสทำขนม ทำกับข้าว โยคะ พัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งต้องเป็นการที่โรงแรมจัดคลาสเองไม่ใช่ให้คนอื่นเช่าห้องเพื่อจัดคลาส และต้องคิดราคาถูก เพราะเป้าหมายคือเอาคนมาใช้ห้องของคุณในช่วง Weekday เอาง่ายๆ ว่าเหมือนมาเรียนแล้วแถมห้องประมาณนั้น เพื่อให้มีเงินเลี้ยงลูกน้อง มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ก็ยังดีกว่าปล่อยว่างๆ ฉะนั้นนี่เป็นตัวอย่าง ซึ่งการจะอยู่รอดคุณต้องเปลี่ยนตัวเอง” เขาเล่า
ถามถึงเทรนด์ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในยุค New Normal คนอยู่ในสนามบอกเราว่า อย่างไรคนยังต้องเที่ยว แม้ไม่มีเงินก็ยังท่องเที่ยว เพราะการเที่ยวคือการผ่อนคลาย โดยหลังโควิดการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และโรงแรมเชิงสุขภาพ จะเติบโตเพิ่มขึ้น โดยลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่จะกลับมาคือ ลูกค้าคนไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และลูกค้าจีน ขณะที่คนจะยังเปิดธุรกิจโรงแรมอยู่ โดยเฉพาะตามหัวเมือง แหล่งธรรมชาติ และจังหวัดใหม่ๆ การแข่งขันยังมีแต่ไม่ได้สูงมาก เพราะคนเก่าก็ล้มหายตายจากไปเยอะแล้ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี