“พันท้ายนรสิงห์” เครื่องจิ้มจากรถเข็นที่เดินทางไปไกลกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

TEXT :    นิตยา สุเรียมมา




 
Main Idea
 
  • ถ้าพูดถึงแบรนด์น้ำจิ้มสุกี้ชื่อดังของไทย หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “ตราพันท้ายนรสิงห์” รวมอยู่ด้วยแน่นอน แต่รู้ไหมว่ากว่าจะเติบโตเป็นกิจการใหญ่โตขายอยู่ในประเทศ และส่งออกไปไกลกว่า 40 – 50 ประเทศทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ แบรนด์เริ่มต้นกิจการมาจากรถเข็นขายข้าวเกรียบกุ้งและน้ำพริกเผาเล็กๆ มาก่อน
 
  • จากกิจการรถเข็นเล็กๆ ทำไมอยู่ดีๆ ถึงเติบโตกลายเป็นธุรกิจพันล้านไปได้ อยากรู้ลองเปิดขวดเหยาะน้ำจิ้มปรุงรสลงไป และไปติดตามรสชาติความสำเร็จพร้อมๆ กัน
 
 
               

     ถ้าพูดถึงแบรนด์ “พันท้ายนรสิงห์” สำหรับผู้บริโภคชาวไทยเอง คงรู้จักกันดีในชื่อของน้ำจิ้มสุกี้รสเด็ด แต่สำหรับตลาดในต่างประเทศแล้วพันท้ายนรสิงห์เป็นที่รู้จักมากมายในฐานะเจ้าของสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรสและเครื่องจิ้มนานาชนิด แต่รู้ไหมว่ากว่าที่จะมาเป็นน้ำจิ้มสุกี้ที่โด่งดังของไทย หรือผู้นำเครื่องปรุงรสมากมายของเอเชียที่ส่งขายไปกว่า 40 – 50 ประเทศทั่วโลก แบรนด์ได้เริ่มต้นกิจการมาจากรถเข็นเล็กๆ ขายข้าวเกรียบมีน้ำพริกเผาเป็นเครื่องจิ้มและเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า
               


Cr. Pantainorasingh


     จุดเริ่มต้นของแบรนด์พันท้ายนรสิงห์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2505 โดย “สมศักดิ์ - สุรีย์ วัฒนาพร” สองสามีภรรยาคนขยันผู้เริ่มต้นกิจการจากร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่งหน้าโรงหนังในตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร แต่แล้วต้องประสบปัญหาจากเหตุไฟไหม้ จึงทำให้ต้องเปลี่ยนมาขายข้าวเกรียบซึ่งเป็นกิจการเดิมของที่บ้าน โดยเริ่มจากใส่ถุงเร่ขายตามท่าเรือให้ชาวประมง สถานีรถไฟมหาชัย และบนโบกี้รถไฟ


     เมื่อเห็นว่าได้รับการตอบรับที่ดีจึงได้ขยับขยายมาขายต่อยังกรุงเทพฯ โดยนำรถเข็นใส่ขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีวงเวียนใหญ่ และเข็นขายเดินข้ามตั้งแต่สะพานพุทธ ผ่านปากคลองตลาด และสิ้นสุดที่ตลาดนัดท้องสนามหลวงในยุคนั้น จากข้าวเกรียบกุ้ง ก็เริ่มเพิ่มสูตรมาเป็นข้าวเกรียบปู ข้าวเกรียบปลากระพง ข้าวเกรียบเผือก และอีกหลายตัวตามมา
               


Cr. Pantainorasingh


     หลังจากเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มมีคนเลียนแบบประกอบกับมีลูกค้าเริ่มถามหาน้ำจิ้มมากินกับข้าวเกรียบ จึงได้มีการทำน้ำพริกเผาออกมาแถมให้กับลูกค้า จนตอนหลังลูกค้าเกิดติดใจในรสชาติ จึงได้แตกไลน์ธุรกิจทำน้ำพริกเผาออกมาขายด้วย และได้มีการจดทะเบียนการค้าขึ้นในปี 2505 โดยชื่อแรกที่ใช้นั้นคือ “ตราสุวรรณหงษ์” มาก่อน แต่เมื่อเห็นว่ามีคนจดทะเบียนไว้แล้ว จึงได้เปลี่ยนมาเป็น “ตราพันท้ายนรสิงห์” อย่างที่รู้จักกันจนปัจจุบัน


     เมื่อกิจการเติบโตขึ้นจากตลาดนัดท้องสนามหลวง ก็เริ่มมีการออกตลาดกระจายแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นตามงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ งานกาชาด งานวชิราวุธ และมีการจัดตั้งโรงงานขึ้นมาหลังจากที่ผลิตเล็กๆ อยู่ในครัวเรือนเมื่อปี 2510 พร้อมผลิตเป็นน้ำพริกรสชาติต่างๆ ออกวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น อาทิ น้ำพริกนรก น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกปลาร้า น้ำจิ้มไก่







     จากที่ผลิตขายอยู่ในประเทศ บริษัท อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด ได้เริ่มหันมาบุกตลาดต่างประเทศขึ้นในปี 2517 ซึ่งแนวคิดในการทำตลาดต่างประเทศของแบรนด์พันท้ายนรสิงห์นั้นมีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเน้นทำตลาดกับคนไทยที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากอยู่ในแถบประเทศต่างๆ ซึ่งมีความคิดถึงรสชาติแบบเอเชีย เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย โดยนอกจากเป็นการทำตลาดกับคนไทยในต่างแดนแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่รสชาติแบบไทยๆ และเอเชียให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลกด้วย



Cr. Pantainorasingh


     ในส่วนของที่มาน้ำจิ้มสุกี้ที่กลายเป็นสินค้าโดดเด่นและขายดีในประเทศนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณปี 2528 มีการสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นมาเพื่อผลิตเครื่องปรุงรสและซอสต่างๆ กระทั่งในปี 2542 ได้มีการขยายโรงงานแห่งใหม่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง บนพื้นที่กว่า 82 ไร่ ตำบลกาหลง สมุทรสาคร


     ปัจจุบันแบรนด์พันท้ายนรสิงห์ส่งออกสินค้าไปกว่า 100 ชนิด กว่า 40 - 50 ประเทศทั่วโลกทั้งในกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศแถบโซนเอเชียด้วย ร้านอาหารไทยในต่างแดนกว่า 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ล้วนเป็นลูกค้าจากแบรนด์พันท้ายฯ ทำให้แต่ละปีนั้นมียอดการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรส เครื่องจิ้ม และซอสต่างๆ ไปต่างประเทศมากกว่าหลายพันล้านบาททีเดียว สำหรับตลาดในประเทศนั้นมีสินค้ากว่า 17 ชนิด ตัวที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่ง ก็คือ น้ำจิ้มสุกี้ ซึ่งสร้างรายได้กว่าปีละ 850 ล้านบาท หรือประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายในประเทศทั้งหมด โดยในปี 2559 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 2,291 ล้านบาท กำไร 478 ล้านบาท



Cr. Pantainorasingh


     สุดท้ายส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงใช้ชื่อแบรนด์ว่า “พันท้ายนรสิงห์” นั้น เป็นเพราะมีความเคารพและศรัทธาในความซื่อสัตย์ของพันท้ายนรสิงห์วีรบุรุษของไทย ซึ่งก็เหมือนกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ยืดถือในความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคตามสโลแกนที่ตั้งไว้ว่า “พันท้ายนรสิงห์ อร่อย! คำไหน…คำนั้น” ที่ทุกคำยังคงรักษาคุณภาพมาตรฐานเอาไว้ตามคำสัญญา
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย