แต่งงานบนเกาะ ชมท้องฟ้า ดูพระอาทิตย์ตก ไอเดียสร้างจุดขายบนพื้นที่รกร้างในแบบ “อินเลญา”

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : อินเลญา





Main Idea
 
  • นี่ไม่ใช่แค่โรงแรมที่พัก หรือร้านอาหารที่มีวิวสวยๆ แต่ยังเป็นฟาร์มผักออร์แกนิก เป็นที่ปั่นจักรยาน พายเรือคายัค ว่ายน้ำ ชมพระอาทิตย์ตก  หรือแม้แต่จัดงานแต่งงานสุด Exclusive บนเกาะส่วนตัว
 
  • ที่นี่คือ “อินเลญา” หนึ่งในหมุดหมายของคนชอบเที่ยว ที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองราชบุรี ในวันที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่หลังการมาเยือนของวิกฤตไวรัส พวกเขายอมรับและปรับตัวเพื่อนำพาธุรกิจครอบครัว ให้ยังมีอนาคตสดใสหลังจากนี้


       พระอาทิตย์สีเหลืองทองค่อยๆ เคลื่อนหายไปหลังหุบเขา เปลี่ยนพื้นที่ริมน้ำให้เป็นบรรยากาศยามค่ำคืน ประดับประดาไปด้วยแสงไฟ มองเห็นสะพานทอดยาวไปยังเกาะเล็กๆ กลางน้ำ พื้นที่ตรงนั้นใช้จัดงานแต่งงานสุดพิเศษ เป็นความทรงจำดีๆ ของใครหลายคนเมื่อได้นึกถึง “อินเลญา” (Inlaya) หนึ่งในหมุดหมายของคนชอบเที่ยวที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองราชบุรี
               




       เราได้รู้จักกับที่แห่งนี้มากขึ้นเมื่อได้พูดคุยกับ “ฉกรรจ์ พุ่มนาค” ผู้จัดการ อินเลญา (Inlaya) ทายาทวัย 28 ปี ของอดีตเจ้าของโรงพิมพ์ ที่วันนี้ตัดสินใจเลิกกิจการเดิมหันหน้าเข้าสู่ธุรกิจใหม่ โดยเริ่มสร้างจุดขายและความแตกต่างขึ้นมาจากพื้นที่รกร้างขนาด 200 ไร่ ใน ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี  ที่เรียกได้ว่าใกล้ตัวเมืองกว่าสวนผึ้ง  
 



 
  • เปลี่ยนที่ดินรกร้าง 200 ไร่ ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว


        “เมื่อกว่า 10 ปีก่อน คุณพ่อท่านได้ที่ตรงนี้มา ซึ่งเป็นที่รกร้างประมาณ 200 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเราไม่ได้ขุดเองแต่เกิดจากการที่เจ้าของเก่าขุดหน้าดินไปขาย ตอนนั้นก็ไม่ได้แพลนว่าจะทำอะไร รู้แค่ว่ามันสวย ช่วงเย็นจะมีพระอาทิตย์ตกตรงมุมหลังเขาพอดี ตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร แต่ติดอะไรหลายๆ อย่าง เลยมาดูว่าน่าจะเป็นที่พัก พอมีที่พักถ้าไม่มีร้านอาหารให้ลูกค้าก็คงไม่เวิร์ก เลยทำมาพร้อมๆ กัน ปรากฏร้านอาหารเสร็จก่อนจึงเปิดให้บริการเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว จำได้ว่าอีก 2 อาทิตย์เป็นวันลอยกระทง เราก็โปรโมทผ่าน  Facebook ว่า ลูกค้าที่มาทานอาหารที่นี่สามารถมาลอยกระทงได้ และลูกค้าที่เช็กอินจะได้กระทงและเครื่องดื่มฟรี ซึ่งนั่นเป็นวันแรกที่ทุกคนได้รู้จักอินเลญา” เขาย้อนเล่าจุดเริ่มต้น


        ก่อนจะบอกที่มาของชื่อ “อินเลญา” ว่ามาจาก ทะเลสาบอินเลของประเทศพม่า ซึ่งเขาและครอบครัวเคยไปท่องเที่ยวแล้วเกิดประทับใจ  หลังได้นั่งเรือผ่านลำคลองเล็กๆ ก่อนจะเข้าสู่ทะเลสาบสุดลูกหูลูกตา เหมือนได้หลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่งไม่ต่างจากพื้นที่ของพวกเขา พอมาตั้งเป็นชื่อที่พักก็เพิ่มคำว่า “ญา” เข้าไป เพื่อให้มีความนุ่มนวลขึ้น จนเป็นที่มาของชื่อ อินเลญา อย่างที่ทุกคนรู้จักกันในวันนี้  โดยมีจุดขายคือธรรมชาติ และมีแลนด์มาร์คเป็นภูเขา
 



 
  • ไม่ได้เริ่มจากสร้างของมันต้องมี แต่ใช้วิธีมอง Landscape แล้วสร้างจุดขายที่ใช่
               

         หลายคนที่ทำสถานที่ท่องเที่ยว หรือโรงแรมที่พัก มักเริ่มต้นจากโจทย์ว่า ที่เที่ยวควรมีอะไรบ้างที่จะเติมเต็มหรือดึงดูดผู้คนให้มาเยือนได้ แต่กับอินเลญาพวกเขาคิดต่างออกไป โดยเลือกที่จะมองภูมิทัศน์ที่มีแล้วคิดว่าจะสร้างอะไรให้เกิดขึ้นบนพื้นที่นั้นได้บ้าง


        อย่างเช่น เพราะมีน้ำเลยมีเรือคายัค มีสะพานทอดยาว เช่นเดียวกับ การมองเกาะเล็กๆ แล้วเกิดไอเดียว่า สามารถใช้จัดงานแต่งงานได้ เลยต่อยอด กลายเป็นบริการจัดงานแต่งงานในเวลาต่อมา           





       “เราไม่ได้เริ่มจากว่าอยากจะทำอะไร แต่จะเริ่มจากดูว่าสถานที่นั้นเหมาะกับอะไรมากกว่า อย่างผมมองไปบนเกาะแล้วคิดว่าน่าจะจัดงานแต่งงานได้ เลยขยายมาทำบริการงานแต่ง เริ่มต้นคิดแค่เรามีสถานที่ให้ ลูกค้าเอาอาหารเข้ามาเองหรือจะกินกับเราก็ได้ ภายหลังเราเรียนรู้งานไปเรื่อยๆ ก็เริ่มดีลกับออแกไนซ์ที่โอเคมารวมอยู่ในแพ็กเกจของเรา เพื่อให้บริการแบบครบวงจร ซึ่งค่าบริการจะขึ้นกับความต้องการของลูกค้า บางคนอาจอยากประหยัดงบหรือคิดว่าเขามีออแกไนซ์ที่ทำได้ดีกว่า ก็สามารถใช้ได้ โดยพื้นที่บนเกาะจุคนได้ประมาณ 180-200 คน กำลังสวย”


        จาก Landscape ที่มี เลยเกิดเป็นการแต่งงานบนเกาะส่วนตัว ขยายโอกาสธุรกิจให้กับพวกเขา ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการ ได้จัดงานแต่งให้ลูกค้าไปแล้วหลายสิบคู่
   





       ในขณะที่ลูกค้าหลักยังเป็นกลุ่มครอบครัวและวัยรุ่นที่แวะมาถ่ายรูปสวยๆ ไปอวดโฉมใน Instagram ยิ่งสร้างการเป็นที่รู้จักและจดจำให้กับพวกเขามากขึ้น          
               

       นอกจากวิวสวยๆ ให้ชื่นชม ที่นี่ยังมีกิจกรรมอย่าง ปั่นจักรยาน พายเรือคายัค โต๊ะพูล กิจกรรมสำหรับหมู่เพื่อนฝูง และสระว่ายน้ำที่อยู่ในส่วนของโรงแรม แถมยังมีฟาร์มผักสำหรับส่งเป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร ที่วันนี้กลายเป็นธุรกิจใหม่เมื่อกิจการต้องหยุดชะงักไปเพราะไวรัสโควิด-19
 


 
  • ธุรกิจท่องเที่ยวยุค New Normal ต้องพึ่งพาโลกออนไลน์
               

        หลังการมาเยือนของไวรัสโควิด-19 อินเลญาก็เหมือนธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไปที่ได้รับผลกระทบต้องปิดให้บริการไปชั่วคราว ทำให้รายได้หดหาย จากลูกค้าที่แวะมาเยือนโดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่สูงถึง 400-500 ราย ห้องพัก 25 ห้อง ก็เต็มแน่น กลับกลายเป็นรายได้เท่ากับศูนย์ตลอด 2 เดือนของวิกฤต ขณะที่ต้นทุนแรงงานหลายส่วนยังมีอยู่ เช่น คนสวนและช่าง ทำให้ต้องหาทางสร้างรายได้เพื่อเยียวยาสถานการณ์ในครั้งนี้


         คำตอบของพวกเขาคือผลผลิตจากฟาร์มอินเลญา ที่มีไฮไลท์คือ มะเขือเทศ และเมล่อน โดยเอามาเปิดตลาดบนโลกออนไลน์





        “ช่วงนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวพอดี ก็โชคดีที่ทำให้พอมีรายได้เข้ามา ซึ่งลูกค้าที่มาทานที่ร้านก็พอรู้จักผลผลิตจากฟาร์มของเราอยู่แล้วส่วนหนึ่ง อย่างมะเขือเทศพวกนี้จะค่อนข้างเป็นที่นิยม ซึ่งบทเรียนจากโควิดทำให้เราต้องมาปรับกลยุทธ์ โดยเพิ่มในส่วนของออนไลน์เข้ามามากขึ้น ที่รู้สึกว่าเป็นข้อผิดพลาดคือ เราโฆษณาผ่านออนไลน์ก็จริง แต่ไม่มีสินค้าอะไรที่อยู่บนออนไลน์เลย เรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพของออนไลน์ได้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ มาเริ่มเอาก็ตอนที่มีปัญหาแล้ว ซึ่งมองว่าถ้าเราปูทางออนไลน์ไว้ตั้งแต่แรก โควิดอาจจะไม่มีผลอะไรกับเราเลยก็ได้  เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจึงจะเน้นออนไลน์ เรียนรู้ออนไลน์ให้มากขึ้น สร้างโปรดักต์ที่จะขายได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะไม่รู้ว่าในวันหนึ่งหากเกิดอะไรขึ้นกับร้านอาหารหรือโรงแรม ถ้าเรามีโปรดักต์ส่วนอื่นเช่นที่เราผลิตจากฟาร์มหรืออะไรอย่างนี้ ขายอยู่บนออนไลน์ ก็น่าจะมาช่วยได้เวลาที่จะเกิดปัญหาอะไรกับธุรกิจ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นแค่ร้านอาหารหรือโรงแรมที่พักเท่านั้น ถ้าต้องปิดตัวก็ควรมีอะไรที่ทำให้เราอยู่ต่อไปได้” เขาสะท้อนมุมคิด


        ส่วนเทรนด์ของธุรกิจที่พักในอนาคต เขาบอกว่า ผู้บริโภคจะเน้นท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นโอกาสของอินเลญา ที่มีจุดขายคือธรรมชาติ ส่วนโจทย์ท้าทายไม่ต่างกันคือเรื่องของราคา โดยผู้บริโภคจะกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องราคามากขึ้น โดยจากนี้ราคาจะมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้า นั่นหมายความว่า ต้องไม่แพงหรือดูไม่คุ้มค่ากับเงินในกระเป๋าของลูกค้าด้วย





        “ต้องบอกว่าลูกค้าจะเริ่มคิดกับเรื่องการใช้เงินมากขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก ซึ่งเราใช้จุดขายธรรมชาติที่ต้องมีการดูแลรักษาแต่ก็ขายแพงไม่ได้ เราจึงต้องมาดูว่า พอจะมีรายได้จากช่องทางอื่นมาให้คอฟเวอร์ตรงนี้ได้หรือเปล่า ขณะที่ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเราก็ต้องรักษาไว้ด้วย เช่น เราจะไม่เน้นโปรโมชั่นเพราะไม่อย่างนั้นลูกค้าจะรอแต่โปรโมชั่น โดยเราจะจัดโปรโมชั่นแค่ 2 ปีครั้ง และลดหนัก แบบไม่มีเงื่อนไข คือจะพักวันไหนก็ได้รวมถึงเสาร์-อาทิตย์ และใช้ได้นานถึง 2 ปี  ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับที่ดีมาก” เขาบอกกลยุทธ์และแผนรับมืออนาคตที่ท้าทายมากขึ้นนับจากนี้
               

       อินเลญา คือหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในโครงการ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash วงเงิน 1 ล้านบาท สำหรับธุรกิจนิติบุคคลการท่องเที่ยว ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ซึ่งโครงการหลายอย่างที่เกิดขึ้น แม้แต่ธุรกิจจัดงานแต่งงานบนเกาะ ก็มาจากเม็ดเงินที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุน รวมถึงใช้ในการขับเคลื่อนกิจการ เพื่อให้อินเลญายังคงเดินหน้าต่อไปได้ แม้ในอนาคตอาจต้องพบเจอวิกฤตที่หนักหนากว่าไวรัส แต่การปรับตัวอย่างมีแผนจะทำให้พวกเขายังคงอยู่ ไม่ต้องเลือนหายไปหลังพายุร้ายผ่านพ้น
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย