เปลี่ยนขนมของฝาก มาขายไส้วัตถุดิบ โมเดลสู้โควิดฉบับ “แม่เอย”

TEXT & PHOTO : นิตยา สุเรียมมา
 


 

Main Idea
 
  • “แม่เอย” แบรนด์ของฝากที่หันมาเอาตัวรอดด้วยการเปลี่ยนจากการทำขนมเป็นของฝาก มาขายไส้วัตถุดิบทดแทน หลังได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ฉุดยอดคำสั่งซื้อแทบจะเป็นศูนย์
 
  • การปรับตัวครั้งนี้นอกจากช่วยกอบกู้วิกฤตให้กับพวกเขาแล้ว ยังนับเป็นการส่งต่ออาชีพ และสร้างรายได้ให้กับผู้อื่นด้วย ช่วยนำพาใครหลายคนข้ามผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
 
 
              

     จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจขนมของฝาก หนึ่งในแบรนด์ที่หลายคนคุ้นเคยดีคือ “แม่เอย” ขนมของฝากไทยที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 19 ปี โดยมีโรงงานผลิตและหน้าร้านตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม รวมถึงส่งขายไปทั่วประเทศ และอีกหลายประเทศทั่วโลก





     วันนี้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยจากไวรัสโควิด-19 โดยยอดคำสั่งซื้อแทบจะกลายเป็นศูนย์ ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง หลังการมาถึงของวิกฤตไวรัส


     หนึ่งการปรับตัวของพวกเขาคือการพลิกเกมธุรกิจโดยเปลี่ยนจากขายขนมของฝาก มาเป็นขายไส้วัตถุดิบคุณภาพทดแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นหนทางกู้วิกฤตให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการต่อยอดสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับ SME และบุคคลทั่วไปที่ต้องการหาอาชีพให้กับตนเองในยามวิกฤตเช่นนี้ด้วย
 



 
  • วิกฤตไวรัส ทำยอดขายหดหาย
              

     “จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เรารับมาเต็มๆ เลย คือ ไม่มีออร์เดอร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในประเทศ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดต่างๆ ก็ปิดหมด เพิ่งกลับมาขายได้ไม่นานนี้เอง ส่วนตามร้านขายของฝากและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ต้องพูดถึง หายหมด  ยอดต่างประเทศก็งด ในสนามบินเองก็ปิด ทุกอย่างนิ่งไปหมด ทำให้ยอดขายของเราลดลงกว่า 80 – 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว”


     “ดิศรณ์ มาริษชัย” กรรมการผู้จัดการ บริษัทขนมแม่เอย - เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด เล่าถึงผลกระทบของธุรกิจในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นให้ฟัง
              






     ซึ่งหากย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แบรนด์ขนมแม่เอยเริ่มต้นธุรกิจขึ้นเมื่อปี 2544 เกิดขึ้นมาจากความคิดที่อยากผลิตขนมไทยคุณภาพออกจำหน่าย กระทั่งปี 2546 จึงได้มีการจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา โดยขนมที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์แม่เอยจนเป็นที่รู้จักดี คือ ขนมเปี๊ยะและพาย ที่ดัดแปลงวัตถุดิบจากพืชผลเกษตรไทยมาทำเป็นไส้ต่างๆ ขึ้นมา จนแตกไลน์ต่อยอดเป็นขนมไทยอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยใช้นวัตกรรมในการผลิตจนสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น อาทิ ข้าวต้มมัด เบเกอร์รี่ ขนมแกงบวดต่างๆ เช่น แกงบวดมัน แกงบวดเผือก แกงบวดถั่วดำ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ทันสมัย ยังคงเอกลักษณ์รสชาติแบบไทยๆ และไม่หวานมากเกินไป
 
 
  • แตกกอธุรกิจใหม่ จากฐานธุรกิจเดิม
              
     หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้น ทำให้ยอดหดหายไป วิธีการที่ดิศรณ์นำมาใช้กอบกู้วิกฤตให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ นั่นคือ การปรับกระบวนการผลิตจากทำเป็นสินค้าสำเร็จรูปมาเป็นการผลิตเพื่อขายเป็นไส้วัตถุดิบต่างๆ แทน อาทิ เผือกกวน มันกวน สัปปะรด มะตูม เป็นต้น





     เขาเล่าว่า เดิมมีการผลิตเพื่อส่งให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่แล้ว แต่หลังจากเกิดวิกฤตทำให้ยอดการสั่งซื้อลดน้อยลง จึงหันมาผลิตและปรับรูปแบบการจัดส่ง ปริมาณ และราคาที่เหมาะกับผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ที่ต้องการสร้างอาชีพแทน โดยแนวทางดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งได้รับคำแนะนำและสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ “แตกกอผู้ประกอบการ” ที่เข้ามาช่วยปรับกลยุทธ์การผลิต แปรรูป และต่อยอดผลิตภัณฑ์ขึ้นมา รวมถึงให้คำปรึกษาในช่องทางการตลาด
              




     “จริงๆ มันเกิดจากปัญหาวัตถุดิบล้นสต็อกด้วย ในเมื่อเราไม่สามารถขายสินค้าออกไปได้เหมือนเก่า รายใหญ่ๆ ที่เคยสั่งก็ลดปริมาณลง จากที่เคยขายส่งเป็นวัตถุดิบล็อตใหญ่ เราก็เริ่มมองลูกค้ารายย่อยแทน ซึ่งด้วยสถานการณ์เช่นนี้ หลายคนต้องตกงานบ้าง หรืออยากหารายได้เสริมบ้าง เราจึงคิดว่าการที่เราหันมาขายสินค้าให้กับรายย่อยมากขึ้น  นอกจากเป็นการช่วยกระจายสินค้าของบริษัทออกไปแล้ว เรายังได้ช่วยต่อยอดสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนที่เขาอยากเริ่มต้นธุรกิจด้วย แทนที่จะรอแต่เจ้าใหญ่ๆ สั่งทีเป็นตัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะกลับมาสั่งได้อีกเมื่อไหร่ สู้หาคนร้อยคนมาซื้อ แต่ได้ยอดเท่ากับ 1 ตันดีกว่า โดยเขาจะสั่งซื้อ 1 ตัน 1 ลัง หรือ 1 กิโลกรัม ราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก





     “ซึ่งมีเงินแค่ไม่กี่ร้อยบาท เขาก็สามารถเริ่มต้นกิจการเล็กๆ ของตัวเองได้ แล้ว ขอแค่ขยัน เพราะทุกอย่างทำพร้อมไว้หมดแล้ว แค่เขาเอาไส้ไปใส่ทำเป็นขนมปังสังขยา หรือซาลาเปาออกมาก็ได้แล้ว เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และเป็นทางลัดที่สุดแล้ว เหมือนถ้าเขาอยากได้น้ำตาล ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกอ้อย เพื่อให้ได้น้ำตาล แค่เดินไปมินิมาร์ทก็ได้มาแล้ว และในความเป็นน้ำตาลไม่ว่าจะกาแฟแก้วละร้อยในโรงแรมหรือกาแฟทั่วไปแก้วละ 30 - 40 บาท ก็ใช้น้ำตาลจากโรงงานผลิตเดียวกันทั้งนั้น แถมไม่ต้องยุ่งยากในการจัดเก็บด้วย เพราะเราทำใหม่ทุกวัน ทุกอย่างเกิดขึ้นมาได้จากการที่เราลดทิฐิลง  เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ และนำกระแสเงินสดเข้ามา” เขาเล่า

 


 
  • ต่อยอดจากหวาน สู่คาว
              
     จากแนวคิดดังกล่าวส่งเสริมกระตุ้นยอดขายให้กับไส้ขนมของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เฉลี่ยคือ วันละ 1 ตัน โดยนอกจากผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไปแล้ว ไส้ขนมจากแม่เอยยังสามารถสร้างงานและรายได้เสริมให้กับพนักงานและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งช่องทางหลักที่ขนมแม่เอยใช้จำหน่ายสินค้าและสร้างรายได้กลับมาให้บริษัท คือ ช่องทางออนไลน์ มีจำหน่ายทั้งส่วนที่เป็นขนมสำเร็จรูป และไส้วัตถุดิบต่างๆ


     นอกจากตัวขนม ในอนาคตดิศรณ์ยังคิดทำเป็นอาหารไทยสำเร็จรูปออกจำหน่ายด้วย โดยใช้โมเดลแบบเดียวกัน คือ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับร้านกาแฟ คาเฟ่ และร้านอาหารต่างๆ ที่อยากเพิ่มเมนูอาหารและขนมในรูปแบบสำเร็จรูปที่ง่าย แค่ฉีกซอง อุ่นร้อนก็สามารถรับประทานได้เลยในทันที
              




     “เรากำลังคิดว่าถ้าทุกตึกของไทย มีตัวแทนจำหน่ายของเรา 1 คน สมมติมี 200 ตึก ผมก็สามารถมีสาขาเป็นร้านอาหาร 200 แห่งได้แล้ว โดยที่ทุกคนไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยากเลย แค่ฉีกซอง อุ่น และเสิร์ฟ เพราะเราผลิตให้เรียบร้อยแล้วจนจบกระบวนการผลิต แค่นี้ก็เพิ่มรายได้ให้ธุรกิจเขาได้ง่ายๆ ซึ่งนี่เป็นโมเดลที่เราจะทำควบคู่กันต่อไป ทั้งเมนูของหวานและของคาว นี่คือแนวคิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าของธุรกิจเรา” ดิศรณ์กล่าวทิ้งท้าย


     ดูเหมือนว่าเขาจะได้โมเดลธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกตัว จากการเกิดวิกฤตในครั้งนี้  ขอแค่ไม่ท้อผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะค้นพบทางออกในวิกฤตเช่นเดียวกับพวกเขา
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย