เป็นผู้นำ ใจต้องนิ่ง เคล็ดลับขจัดความกังวลจากวิกฤต ฉบับ CEO วันนี้

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea

 
 
  • ในยามที่เกิดวิกฤตต่างๆ ขึ้น บุคคลสำคัญที่จะนำพาองค์กรและธุรกิจให้ก้าวผ่านช่วงเวลาเลวร้ายต่างๆ ไปได้ ก็คือ “CEO”
 
  • แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่อาจต้องแบกรับมากกว่าคนอื่น บางครั้งก็อาจทำให้ซีอีโอเกิดความเครียดกังวลขึ้นมาได้บ้าง ทำอย่างไรจึงจะจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นให้ออกไปได้ ลองมาฟังเคล็ดลับขจัดความวิตกจากวิกฤตฉบับ CEO วันนี้กัน




     ในฐานะการเป็นผู้นำขององค์กร หรือ CEO ซึ่งมักต้องมีภาระรับผิดชอบนำพาองค์กรให้ก้าวเติบโตไปสู่ความเจริญ รวมถึงการพยายามแก้ไขกับปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา เพื่อนำพาทุกคนให้อยู่รอดผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ไปด้วยกันได้ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า แต่ในอีกภาคหนึ่งความจริงแล้ว CEO ก็คือ มนุษย์ บุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่ย่อมมีความกลัวและกังวลเกิดขึ้น แต่ด้วยหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทำให้ยิ่งต้องคิด และเกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากบุคคลทั่วไปอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อยามมีวิกฤตผ่านเข้ามา ดังนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้สามารถขจัดความวิตกกังวลเหล่านั้นออกไปได้ และแก้ไขปัญหาได้อย่างราบรื่น ลองไปฟังเคล็ดลับในแบบฉบับของ CEO วันนี้กัน




 
เปิดเผยสถานการณ์จริงให้รับรู้เป็นระยะ
               

     อันดับแรกที่จะช่วยคลายความกังวลให้กับคุณลงได้เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างได้เกิดขึ้นแล้ว คือ การทำใจยอมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น และหาหนทางแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่าในฐานะผู้นำขององค์กรแล้ว คุณจะต้องเป็นต้นของความคิดต่างๆ แต่อย่าลืมว่าองค์ประกอบที่ทำให้เกิดธุรกิจขึ้นมาได้ ไม่ได้มีเพียงแค่คุณคนเดียวเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยเหล่าสมาชิกอีกจำนวนมาก


     ดังนั้นจึงควรให้พวกเขาได้ร่วมรับรู้ เพื่อช่วยหาหนทางแก้ไขปัญหา อย่าเก็บงำไว้ลำพังคนเดียว หรือสุดท้ายแม้พวกเขาอาจไม่สามารถช่วยหาทางออกได้มากเท่าไหร่นัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ได้ร่วมรับรู้ความรู้สึกและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวขององค์กร เพื่อจะผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้พร้อมกัน และไม่ใช่เพียงแค่พนักงานของคุณเท่านั้น ลูกค้าก็ยังเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่คุณและองค์กรต้องสื่อสารออกไปให้พวกเขารับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นแก่พวกเขา 




 
ก้าวให้ช้าลงอีกหน่อย
               

     แน่นอนว่าในยามที่วิกฤตถาโถมเข้ามา อาจทำให้คุณรู้สึกเป็นกังวลและต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด แต่ก่อนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยากให้หยุดคิดสักนิดก่อน ลองนำตัวเองออกจากปัญหา เพื่อเฝ้ามองดูปัญหา อาจทำให้คุณได้คิดไตร่ตรองได้รอบคอบมากขึ้น คุณอาจลองใช้วิธีเขียนสิ่งที่คิดว่าจะทำจดบันทึกเอาไว้ก่อน และรอให้ 24 ชั่วโมงผ่านไปค่อยกลับมาดูใหม่ว่าคุณยังคิดและมั่นใจที่จะทำสิ่งเหล่านั้นเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า หรือมองเห็นข้อผิดพลาดอะไรบ้าง อย่าตกหลุมพรางของความคิด หรือความวิตกกังวลของตัวเอง ใจนิ่งๆ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ และสติจะพาเราผ่านพ้นทุกอย่างไปได้เสมอ




 
ละทิ้งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และมองไปที่ภาพใหญ่
               

      หลายครั้งที่เวลามีวิกฤตเข้ามา ก็มักจะตามมาด้วยปัญหาร้อยแปดให้แก้ไขอยู่เสมอ เพื่อจัดการกับทุกอย่างให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และไม่เกิดความกังวลว้าวุ่นในใจมากเกินไป บางครั้งคุณอาจต้องลองวางเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลงไปบ้าง และหาผู้มารับผิดชอบดูแล เพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมทิศทางการไปต่อขององค์กรในอนาคตว่าหลังจากนี้จะดำเนินธุรกิจไปในทิศทางใด อะไร คือ สิ่งสำคัญที่แท้จริงต่อแบรนด์และบริษัท อย่านำตัวเองไปแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะนอกจากอาจทำให้แก้ได้ไม่จบแล้ว สุขภาพกายและใจของคุณอาจแย่ลงไปด้วยก็ได้




 
มองหาจุดแข็งที่มีอยู่ของทีม
               

     สิ่งที่จะทำให้ทุกคนในองค์กรสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในเวลานี้ ก็คือ ศักยภาพทุกอย่างที่มีในองค์กร เพื่อทำให้ความกังวลของคุณลดน้อยลง รวมถึงมองเห็นทางออกของปัญหา คุณต้องสำรวจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในมือ ณ ขณะนี้ ไม่ว่าทรัพยากร หรือความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเวลานี้ จงอย่าลืมว่าบทบาทหน้าที่ของซีอีโอ คือ ไม่ใช่ต้องรู้ หรือต้องเก่งไปเสียทุกเรื่อง แต่กลับคือ การสามารถเสาะแสวงหาวางตัวบุคคลให้เหมาะกับงาน และดึงศักยภาพที่มีอยู่ของพนักงานหรือองค์กรออกมาใช้ได้ต่างหาก จึงจะเรียกว่าเป็นหน้าที่ของซีอีโอที่แท้จริงและสมบูรณ์




 
อย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพและให้เวลากับตัวเองบ้าง
               

     ข้อสุดท้าย ด้วยฐานะที่ต้องเป็นบุคคลที่รับกับแรงกดดันทุกอย่างที่เข้ามา ย่อมทำให้เกิดภาวะความตึงเครียดและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ จงอย่าลืมว่าในเวลาวิกฤตเช่นนี้ ผู้นำ คือ คนสำคัญที่จะเป็นที่พึ่งพิงให้กับพนักงานและนำพาองค์กรให้ก้าวผ่านปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไปได้ ดังนั้นแล้วจะดูแลธุรกิจได้เราต้องดูแลตัวเองและสุขภาพของทีมให้ดีก่อน พักผ่อนให้เพียงพอ ให้เวลากับตัวเองได้ผ่อนคลายลงบ้าง ที่สำคัญอย่าตำหนิหรือโทษตัวเองหากคุณยังแก้ไขได้ไม่ดีพอ เพราะคุณได้ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ณ เวลานั้นที่เกิดขึ้นไปแล้ว
               

      โปรดจงจำไว้ว่าการยอมรับตัวเอง ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้คุณอ่อนแอลงเลยสักนิด แต่มันกลับทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น กล้าเผชิญกับสิ่งต่างๆ กลายเป็นผู้นำที่ฉลาดเฉลียว และรอบรู้มากที่สุดคนหนึ่งในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี





 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย