หน้ากากล้น! กำลังซื้อหดหาย การ์เมนต์ไทยไปต่อยังไงหลังวิกฤตไวรัส


TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand




Main Idea
 
 
  • ในวันที่วิกฤตไวรัสโควิด-19 เล่นงานผู้คนไปทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มไทยต้องหยุดชะงัก แบรนด์ต่างๆ เริ่มเลื่อน ลดจำนวน และยกเลิกผลิตสินค้า เมื่อประเทศเข้าสู่การล็อกดาวน์ ผู้คนอยู่บ้านไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตหนักให้กับพวกเขา
 
  • หนึ่งในการปรับตัวคือพลิกโรงงานการ์เมนต์มาทำหน้ากากผ้าขาย บ้างก็ทำชุด PPE ให้กับคุณหมอ แต่เมื่อทุกคนหันมาทำหน้ากากกันหมดสุดท้ายล้นตลาด จนต้องหั่นราคาขาย ขณะที่แรงงานยังหายาก และต้นทุนแรงงานก็ยังเป็นปัญหา กำลังซื้อคนยังไม่กลับมา แล้วผู้ประกอบการไทยจะรับมือความท้าทายนี้อย่างไรไหว
 
  • มาฟังสถานการณ์จริงกับ “ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับชะตากรรมและหนทางไปต่อของผู้ประกอบการเครื่องนุ่มห่มไทย ในวันที่ประตูโรงงานถูกทักทายด้วยไวรัสตัวร้ายโควิด-19  



      ประเทศไทยมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่จดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ประมาณ 2,200 โรงงาน ไล่ตั้งแต่โรงงานห้องแถวไปจนโรงงานขนาดใหญ่ โดยโรงงานส่งออกเกือบทั้งหมดเป็น OEM ผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก
               

       หลังเจอกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทุกอย่างเหมือนถูกช็อต โดยยอดส่งออกหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดในประเทศลดลงถึง 70- 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตลาดเสื้อผ้าส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้า เมื่อปิดห้าง ตลาดก็หาย ขณะที่การขายออนไลน์ก็ชดเชยกันไม่ได้
               

        “ช่วงที่คนกลับไปทำงานที่บ้าน เขาออกไปไหนไม่ได้ เขาก็สั่งอาหารออนไลน์ สั่งเจลแอลกอฮอล์ สั่งหน้ากาก นี่คือสินค้าหลักๆ แต่เสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น เขามีเสื้อผ้าใส่อยู่แล้วเป็นปกติ อยู่บ้านก็ใส่ชุดง่ายๆ อะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นยิ่งไม่จำเป็นต้องสั่งเสื้อผ้าเลย มันเลยช็อตกันไปหมด”
               




        นี่คือคำบอกเล่าของ “ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สะท้อนสถานการณ์ความยากลำบากของธุรกิจการ์เมนต์ไทยในช่วงที่ผ่านมา หลังไวรัสโควิด-19 เข้ามาทักทายถึงหน้าประตูโรงงาน
 
 
               
        ปรับตัวก๊อกที่ 1 ทำหน้ากากผ้าขาย
               

       เมื่อขายเสื้อผ้าไม่ได้ ทำอย่างไรโรงงานถึงจะได้ไปต่อ และรักษาการจ้างงานเอาไว้ได้ การปรับตัวในช่วง 3 เดือนแรกของพวกเขา คือหยุดตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่น แล้วหันมาเย็บหน้ากากผ้าชดเชยรายได้ที่ขาดหายแทน ส่วนหนึ่งก็ทำชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล สำหรับคุณหมอในโรงพยาบาลออกมา  ขณะที่บางคนก็หันไปผลิตสินค้าอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอ โดยเพิ่มเติมในเรื่องของความสะอาด และ Hygiene เข้าไป ใส่ฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ทำให้สินค้ายังเป็นที่ต้องการในช่วงวิกฤตไวรัส
               




         แต่ทว่าเมื่อทุกคนหันมาใช้กลยุทธ์แบบเดียวกัน ทางออกก็เริ่มตีนตันในไม่ช้า


        “ผมเชื่อว่ากว่า 2 พันโรงงาน ก็หันมาเย็บหน้ากากผ้ากันเกือบหมด เพราะมันเย็บเสื้อผ้าขายไม่ได้แล้ว จะเห็นได้ว่าช่วงเดือน 3 แรก หน้ากากยังขาดแคลนอยู่ พอเข้าเดือนที่ 4 เริ่มไม่ค่อยมีใครพูดถึงหน้ากากขาดแคลนกันแล้ว พอเดือนที่ 5 ก็เริ่มเหลือ ขายกันเต็มไปหมด พอเข้าเดือนที่ 6 ก็ต้องลดราคากัน เพราะฉะนั้นจะไม่มีใครเย็บหน้ากากผ้าจำนวนมากๆออกมาอีก”


        แม้ตลาดจะล้น แต่การทำหน้ากากก็เป็นหนทางที่พอจะประคับประคองธุรกิจของพวกเขา ในวันนี้จึงยังมีการทำหน้ากากอยู่ โดยยุทธนา บอกเราว่า เป็นการทำหน้ากากใน 3 กลุ่ม คือ 1.หน้ากากสำหรับเด็กนักเรียนรับเปิดเทอม 2.หน้ากากสำหรับองค์กรต่างๆ ที่ติดโลโก้องค์กรสำหรับแจกให้ลูกค้า และพนักงาน ต้อนรับวันกลับมาทำงานเป็นปกติ และ 3. หน้ากากเพื่อการส่งออก เพราะในตลาดโลกยังต้องการหน้ากากผ้า ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐทำให้อเมริกายังเลี่ยงที่จะสั่งสินค้าจากจีน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับอานิงสงส์นี้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เหลืออยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นงานเก่าที่ค้างอยู่ แล้วก็งานที่เตรียมไว้สำหรับเปิดล็อกดาวน์ในอีก 3-4 เดือนสำหรับตลาดต่างประเทศ ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นการผลิตหน้ากาก และชุด  PPE เป็นหลัก
 




          เปลี่ยนเข็มทิศ หาโอกาสในตลาดส่งออก


         ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม  บอกเราว่า แม้ตลาดในประเทศจะเต็ม แต่ผู้ประกอบการการ์เมนต์ไทยก็ยังต้องดิ้นรน โดยหาทางส่งออก ไปสนองความต้องการของตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการส่งออกหน้ากากไปหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น และมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศเหล่านี้สถานการณ์โควิดยังไม่สงบ ฉะนั้นจึงยังต้องการใช้หน้ากากผ้าอยู่


        “ตอนนี้การปั๊มหน้ากากอนามัยเพื่อใช้ในประเทศเริ่มน้อยลง ผู้ประกอบการจึงต้องเริ่มหาตลาดอื่นๆ นั่นคือการไปขายในต่างประเทศ ในส่วนของการส่งออก จุดหนึ่งคือเขายังนิยมชมชอบสินค้าไทยอยู่ แม้ว่าต้นทุนเราอาจจะแพงกว่าหน่อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่เขาจะได้สินค้าที่เหมาะมีฟังก์ชั่นครบทั้งกันน้ำ กันเหม็น หน้ากากนาโนอะไรเรามีหมด ซึ่งพวกนี้ลูกค้าชอบ สามารถส่งออกได้เลย ลูกค้ายินดีซื้ออยู่แล้ว หรืออย่างชุด PPE เราได้พัฒนาร่วมกับอย. ตอนนี้ก็มีการส่งออกกราวน์ที่มีการแอฟพรูฟจากอย.ไปในหลายประเทศเป็นหลายแสนตัวแล้ว ซึ่งพวกนี้จะต้องรีบหาตลาดเพิ่มเติม เพื่อให้ยืดระยะเวลาออกไปจนถึงเดือน 7-10 ซึ่งตัวเลขโควิดในต่างประเทศยังโตอยู่ เราต้องไว แต่ปัญหาของเราคือเราบินออกไปขายเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยทูตพาณิชย์ที่อยู่ในประเทศต่างๆ ช่วยติดต่อกับผู้นำเข้าและผู้ซื้อให้ แล้วซื้อขายผ่านทางซูมนี่แหล่ะ ข้อดีคือช่วงนี้เขาต้องการของ เพราะฉะนั้นเขาจ่ายเงินดี และจ่ายเงินเร็ว นี่เป็นโอกาส”


        ส่วนตลาดในประเทศ ยุทธนาบอกว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐรีบสร้างดีมานด์ในประเทศโดยด่วน เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ และยังเกี่ยวข้องกับ Supply Chain จำนวนมาก เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องสร้างดีมานด์ ตั้งแต่เปิดท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเร็ว สนับสนุนเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของคน สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐใช้หน้ากากผ้าและชุด PPE ในประเทศ และซื้อให้จำนวนมากขึ้น เหล่านี้จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และฟื้นธุรกิจให้กลับมาได้โดยเร็ว


 


               

        ลดต้นทุน ดาวน์ไซส์ธุรกิจ เพื่อประคองกิจการให้ไปต่อ


       ระหว่างทางของการผลิตสินค้า และหาตลาดให้ธุรกิจยามวิกฤต สิ่งที่ผู้ประกอบการการ์เมนต์ทำ คือพยายามปรับลดเรื่องโอที ลดต้นทุนการผลิต ลดคน ลดกำลังการผลิตลง เพื่อควบคุมต้นทุนให้อยู่หมัด
               

        “ที่ผ่านมามีการปรับตัวหลายอย่าง บางโรงงานปิดโรงงานไปเลย 1-2 เดือน แต่ไม่ได้ปิดถาวรนะ แค่ชั่วคราว โดยหวังว่าในอนาคตเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะได้กลับมาเปิดใหม่ ซึ่งอันนี้ก็ยังมีความยากลำบากอยู่ เพราะว่ารัฐบาลช่วยแค่บางส่วน เช่น 62 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนขั้นต่ำ ที่เหลือโรงงานก็ต้องจ่ายให้พนักงานเพื่อหล่อเลี้ยงเขาให้เขามีรายได้ในช่วงที่หยุดงาน เพราะเขายังเป็นพนักงานอยู่ อีกกลุ่มหนึ่งคือใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งพวกนี้เขากลับประเทศไปแล้ว จนป่านนี้ก็ยังไม่กลับมา บางส่วนที่อยู่ในประเทศก็ถูกลดจำนวนลง ลดโอทีลง ดาวน์ไซส์ธุรกิจลง บางบริษัทก็ใช้วิธีลดวันทำงาน แล้วก็สลับหมุนเวียนกันทำงาน เพื่อให้มีงานต่อเนื่อง แล้วก็ลดต้นทุนลง ก็ใช้วิธีนี้”
               

         ยุทธนาบอกเราว่า การปรับตัวครั้งนี้ยังมีความท้าทายอยู่อีกมาก เพราะในช่วง 3-4 เดือนแรก ความต้องการหน้ากากอาจยังสูงอยู่ การที่ทุกคนปั๊มหน้ากากออกมาขายสามารถเป็นรายได้ไปหล่อเลี้ยงบริษัทได้ แต่รายได้จากแค่ 3-4 เดือนนั้น คงไม่สามารถเลี้ยงอีก 5-6 เดือนข้างหน้าได้ จะทำอย่างไรพี่จะเอารายได้จากหน้ากากที่ขายได้แค่ไม่กี่เดือน มาช่วยอีก 5 เดือน ที่เหลือได้ นี่คือความท้าทาย






        “มันไม่คอฟเวอร์กันหรอก เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเตรียมที่จะดาวน์ไซส์ธุรกิจ ลดคน เตรียมลดเวลาทำงาน เตรียมที่จะหางานต่างๆ มาชดเชยทดแทน ที่น่ากลัวของอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่เดือน 3-6 แต่คือเดือน 8-10 น่ากลัวที่สุด เพราะทั้งในประเทศและส่งออก เชื่อว่าปัญหายังไม่จบ ยอดขายไม่ได้ตามเป้า เงินที่รัฐบาลแจกก็หมดแล้ว คนไม่มีกำลังซื้อ ถึงตอนนั้นถ้าทุกอย่างยังไม่กลับมาจะเป็นปัญหาและปัญหาใหญ่ด้วย”
 

       แล้วจะต้องรับมือแบบไหน ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการอยู่ให้รอดพ้นพิษวิกฤตโควิด-19 ยุทธนาบอกว่า ในส่วนของผู้ประกอบการเองต้องพยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยพยายามหาการตลาดเพิ่มและลดต้นทุนต่างๆ ลง 





       พยายามรักษาสถานภาพของตัวเองให้ดี สำรวจตัวเอง อะไรที่ลดต้นทุนได้ก็ต้องพยายามทำ รวมถึงการฝึกคนงานให้มีทักษะใหม่ๆ และต้องหันมาศึกษาเรื่องเทคโนโลยีอย่างจริงจัง และต้องมองให้ยาว อย่ามองแค่ช่วง 1- 2 เดือนนี้ แต่ต้องมองไปให้ถึง 6 เดือน ถึงปีหน้าให้ได้ว่าเราจะทำอะไรเพื่ออยู่รอดต่อไปในอนาคต


       “สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมคิดว่า มันเป็นองค์ประกอบโดยรวม ไม่ใช่แค่เรื่องเดียวแล้วจบ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะอยู่ได้คือต้องเอาหลายๆ เรื่องมาประกอบกัน แล้วก็จะคิดออกได้เองว่า เราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อไปต่อ ขอให้ทุกคนโชคดี ไม่เดือดร้อนเสียหายไปมากกว่านี้ แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา อุตสาหกรรมของเราก็จะกลับมาดีขึ้นเองในอนาคต”
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย