เปิดวิชั่น “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” เปลี่ยนเกมรุกธุรกิจอาหารไทย ให้โตไกลหลังวิกฤตไวรัส

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับวิกฤต แต่อุตสาหกรรมอาหารกลับได้รับอานิสงส์  ทว่าความหอมหวานนี้จะยั่งยืนแค่ไหน  หลังจากนี้ต้องปรับเกมรุกอย่างไร อุตสาหกรรมอาหารไทยถึงจะกลับมาแข็งแกร่งได้ในตลาดโลก
 
  • SME Thailand พูดคุยกับ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อร่วมสะท้อนมุมคิดเกมรุกใหม่ของธุรกิจอาหารไทย ในยุคหลังวิกฤตไวรัส






      SME Thailand : ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างไร
ผู้ประกอบการ ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบอย่างไร 
 


      วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา : ในช่วงต้นแน่นอนทุกประเทศมีความกังวล แม้กระทั่งประเทศไทยเองที่เป็นประเทศผู้ผลิตอาหารและยังใช้คำว่าครัวของโลกด้วยซ้ำไป แต่ก็เกิดความตระหนกว่าอาหารจะไม่พอ ที่คนกังวลมากคือเรื่องมาตรการบังคับห้ามออกจากบ้าน กลัวจะไม่มีโอกาสได้ไปซื้อหาอาหารเข้ามาทาน อีกด้านหนึ่งก็กังวลว่า โรงงานที่ผลิตอาหารต่างๆ จะต้องถูกสั่งปิดลงด้วยเช่นกัน กระทั่งเกษตรกรที่ปลูกพืชพันธุ์ทางอาหาร ก็ต้องหยุดด้วยใช่ไหม คำถามเหล่านี้เข้ามาตลอดเวลา ซึ่งผู้ผลิตอาหารแปรรูปต่างๆ อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง อย่าง เกษตรกร บรรจุภัณฑ์ บริการขนส่งต่างๆ ในช่วงนั้นเรื่องใหญ่ที่ไม่แพ้การผลิตก็คือโลจิสติกส์ทั้งขาเข้า-ขาออก รวมถึงต้องมีจุดกระจายสินค้าด้วย


      แต่ด้วยมาตรการที่ไม่ว่าจะล็อกดาวน์อย่างไร ร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต  ยังอนุญาตให้เปิดได้อยู่ เพราะฉะนั้นคำตอบในช่วงนั้นที่ออกมาคือ คุณยังซื้อของได้แน่นอน ไม่ต้องกังวลที่จะต้องไปกักตุนอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสามารถผ่านวิกฤตตรงนั้นมาได้ด้วยดี และยังผลิตสินค้าต่อไปได้
 
 




      SME Thailand : จากเหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมอาหารจะได้รับอานิสงส์ใช่หรือไม่
โดยเฉพาะในช่วงที่มีการกักตุนสินค้ากันมากๆ  
 

      วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา : ต้องเรียนว่าผู้ผลิตอาหารดูเหมือนจะดีใจอยู่ได้แค่วันสองวัน เพราะถึงตอนนั้นคนก็เริ่มคิดกันแล้วว่า คุณคิดหรือว่ามันจะขายดีอย่างนี้ไปตลอด  คนที่ซื้อไปตุนไม่ได้ซื้อไปกิน หมายความว่าพอตุนถึงระดับหนึ่งเขาจะหยุดซื้อ ฉะนั้นมันมีการขึ้นแล้วก็มีการเบรก การตุนจึงไม่ใช่การซื้อขายปกติ วันนี้คุณขายดีพรุ่งนี้อาจจะขายไม่ดีแล้วก็ได้ อะไรอย่างนี้ แต่พอสถานการณ์ผ่านไประยะหนึ่งเราก็จะเห็นได้ว่าการตุนมันหายไปก็จริง แต่วิธีการบริโภคของคนก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย ยกตัวอย่าง ร้านอาหารต่างๆ ในช่วงน็อกดาวน์ขายไม่ได้  ก็ต้องทำเดลิเวอรี หรือมาทำเป็นกล่องวางขายหน้าร้าน เป็นการปรับตัวของธุรกิจอาหารในช่วงนั้น


      ถ้ามองในแง่ผู้ผลิตที่ทำโรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ เราจะมีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1. ทำแพ็กเกจแล้วเอาไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ต  ผู้บริโภคมาซื้อกลับไปปรุงเองที่บ้านหรือรับประทานได้เลย  ในกลุ่มนี้การขายก็ยังถือว่าดีอยู่ ยังพอไปได้ แต่แบบที่ 2. คือกิจการที่ผลิตแล้วเอาไปส่งให้พวกจัดเลี้ยงต่างๆ ส่งโรงแรม หรือขายในลักษณะแพ็กเกจใหญ่ๆ ให้กับภัตตาคารโดยเฉพาะที่มีเชนเยอะๆ อันนี้จะเหนื่อย เพราะถึงแม้ช่วงนี้ร้านอาหารจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว แต่หลายคนคงได้ลองไปนั่งที่ร้าน จะเห็นเลยว่ามันเหงามาก โต๊ะหนึ่งสมมุติว่าเคยนั่งได้ 5-6 คน ตอนนี้บางร้านเหลืออยู่แค่ 1-2 คน ฉะนั้นโอกาสที่อาหารที่ไปบริการกลุ่มนี้จะกลับมาปกติคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก ประกอบกับว่า วันนี้เรามีเชฟเกิดขึ้นมากมายในช่วงโควิด เป็นการปรับเปลี่ยนของสังคมด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันส่งผลกระทบถึงกันหมด


      ซึ่งถ้าผู้ประกอบการปรับโหมดได้ทัน ยอดขายอาจจะไม่ตกมากนัก เช่น เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น แน่นอนสิ่งที่ยังต้องมีอยู่ในครัวก็คือพวกเครื่องปรุงต่างๆ จากเดิมเขาอาจทำใส่แกลลอนส่งไปตามร้านอาหารหรือภัตตาคารใหญ่ๆ ตรงนี้จะขายลำบาก แต่ที่ขายดีคือขวดเล็กๆ ที่ไปอยู่ในซูเปอร์มาเก็ต เพราะฉะนั้นธุรกิจต้องมีการปรับตัว ต่อให้บอกว่าในวิกฤตอาหารเราสบายกว่าคนอื่น แต่จริงๆ ก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน
 
              



      SME Thailand : หลังโควิด-19 จบลง เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในอุตสาหกรรมอาหาร อะไรที่จะกระทบต่อธุรกิจ และผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร
 

       วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา : ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเหมือนตัวเร่ง โควิด-19 เร่งให้คนเราเร็วขึ้น ในสองแง่มุมด้วยกัน คือการปรับตัวเร็วขึ้น จากบางคนไม่เคยใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารมาก่อนเลย มาตอนนี้ใช้กันคล่องมาก ความเปลี่ยนแปลงนี้ผู้ประกอบการในฝั่งที่เป็นผู้ให้บริการเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยต้องรู้ว่าแอปพลิเคชันไหนที่ตรงกับสินค้าที่เราทำอยู่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตัวจริงของเรา อันนี้เป็นตัวอย่างของการปรับตัว
              

      อีกด้านหนึ่งคือ ในช่วงเกิดวิกฤตคนจะกังวลเรื่องพื้นฐานคือ Food Security ความมั่นคงทางอาหาร ในประเทศไทยเรามีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ตั้งแต่วัตถุดิบ มีการแปรรูปและการกระจายสินค้าที่ดี เรามีครบหมด ปศุสัตว์เรามีหมู ไก่ เนื้อ อาหารทะเล อะไรต่างๆ ก็พอมี มีพืชผักผลไม้ที่เพียงพอกับการใช้งานในประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยความที่ไทยเรามีความตั้งใจจะเป็นครัวของโลก เพราะว่าเศรษฐกิจจะหมุนเวียนได้ต้องนึกถึงคนจำนวนมากด้วย จึงมีแง่มุมที่บางทีอาจขัดแย้งกันอยู่ นั่นคือเราอยากเพิ่มมูลค่าให้ SME ที่ผลิตอาหารออกมาปริมาณน้อยๆ เพื่อความอยู่รอดของ SME เพื่อตลาดและกลุ่มเป้าหมายของ SME แต่ในแง่ประชากรจำนวนมากในโลกนี้ มีคนอีกจำนวนมากที่รายได้น้อย และคนเหล่านี้เขาจะอยู่ได้ด้วยอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่ผลิตอาหารออกมามากๆ ในต้นทุนต่ำ นี่เป็นส่วนหนึ่งของ Food Security


      นอกจากนี้ 65 เปอร์เซ็นต์ เราใช้วัตถุดิบในประเทศแปรรูปเป็นอาหารบริโภคทั้งในประเทศและส่งออก ส่วนอีก 35 เปอร์เซ็นต์ เรายังพึ่งพาการนำเข้าเพราะว่าในวัตถุดิบบางตัวต้นทุนสู้การนำเข้าไม่ได้ จึงยังมีหลายตัวที่เราไม่สามารถทำเองได้ต้องอาศัยการนำเข้าอยู่ ไม่ใช่ว่าทำในประเทศทั้งหมด ซึ่งการส่งออกสินค้าอาหารไปต่างประเทศเราต้องได้เปรียบเรื่องราคาด้วย เพราะตลาดใหญ่เป็นตลาดที่เล่นกับราคาอยู่  
 




      SME Thailand : ในกรณีเช่นนี้ผู้ประกอบการ SME จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้แข่งขันได้ จะเน้นผลิตจำนวนเยอะๆ หรือพยายามไปหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สำหรับอุตสาหกรรมอาหารควรต้องไปในทิศทางไหน

 

      วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา : ถ้าเป็นธุรกิจไซส์ S เลย แนะนำว่า มีวิธีเดียวคือต้องแตกต่างให้มากที่สุด จึงจะทำให้คุณแข่งขันได้ เพราะการผลิตสินค้าปริมาณมากๆ จะมีต้นทุนที่ต่ำมากๆ สมมติรายใหญ่ผลิตได้ 1 ล้านชิ้น เราเป็นตัว S เล็กที่สุด เราผลิตได้สมมุติว่าเก่งมากแล้ววันละ 5000 ชิ้น แน่นอนต้นทุนของเราไม่มีทางไปเทียบกับเขาที่ทำ 1 ล้านชิ้นได้เลย และเราก็ไม่ควรไปแย่งกลุ่มเป้าหมายของรายใหญ่ที่เขาทำแบบนั้นด้วย แต่ต้องทำสินค้าที่เพิ่มมูลค่า และเจาะกลุ่มที่มันเล็กลง เช่น เราเก่งเรื่องอาหารสุขภาพ อาจจะเจาะกลุ่มเป้าหมายสูงวัย ซึ่งในระยะเวลาอันสั้นจะเป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มนี้เขาจะมีความรักสุขภาพอยู่แล้ว จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ S สามารถทำได้
              

      พอมาเป็นตัว M หมายถึงมีเงินทุนระดับหนึ่งแล้ว มันก้ำกึ่งว่า คุณต้องผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นในปริมาณหนึ่ง กลุ่มเป้าหมายก็ต้องขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งก็ไปเกี่ยวโยงกับเรื่องของต้นทุนที่ลดต่ำลง กับการที่มีโอกาส มีทางเลือกในการทำสินค้าที่เยอะขึ้นด้วย
              
 

      SME Thailand : อนาคตการที่ไทยจะผันตัวไปเป็นผู้ผลิตอาหารป้อนให้กับคนทั้งโลก และเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลกได้นั้นมีความเป็นไปได้แค่ไหน หรือเราเองต้องกลับมาพัฒนาตัวเองอย่างไร เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

 

      วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา : เป็นคำถามที่ดีมาก คำตอบกว้างๆ มี 2 ด้าน คือ ด้านคุณภาพและปริมาณ ด้านคุณภาพตามที่ได้เกริ่นไปแล้วคือเรื่องของ Food Security หรือความมั่นคงทางอาหาร โดยเรามีเพียงพอและคนเข้าถึงได้ ขยับขึ้นมาก็คือเรื่องของโภชนาการต่างๆ คือไม่ใช่แค่กินอร่อยอย่างเดียว หรือพอกินอย่างเดียว ซื้อได้อย่างเดียว แต่โภชนาการต้องครบด้วย  เพื่อสุขภาพที่ดี พอสุขภาพดีก็ต่อยอดมาเชิงนวัตกรรม ซึ่งตัวนี้จะตอบโจทย์ SME พอสมควร ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เราจะทำยังไงให้กินอาหารเป็นยาแทนที่จะกินยาเป็นอาหาร กินอาหารที่ดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละด้านแทนการกินยา เช่น เราอาจจะต้องเข้าสู่เรื่อง Functional Food อาหารที่ไปตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพแต่ละส่วนของร่างกายมากขึ้น ซึ่งมันยังไปได้อีกไกลมาก รวมถึง สมุนไพรไทยๆ หรือแม้กระทั่งผักบางชนิดอย่าง เรากินยำที่มีใบชะพลู ซึ่งมีแคลเซียมสูง อันนี้ก็จะไปตอบโจทย์เรื่องผู้สูงวัยที่ต้องการแคลเซียมเพียงพอในการบำรุงกระดูก อะไรทำนองนี้ นี่เป็นตัวอย่างว่านวัตกรรมจริงๆ แล้วถ้าเราย้อนกลับมาดูเรื่องพื้นๆ มันมีหลายตัวที่เราสามารถทำได้ เพียงแต่ว่าเรายังไม่ดึงออกมาเป็นสตอรี่เท่านั้นเอง
 




      SME Thailand :  สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้เป็นอย่างไร และอยากฝากอะไรถึงผู้ประกอบการ SME ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในวันนี้บ้าง
 

      วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา : การส่งออกเราประเมินว่าน่าจะติดลบไปถึง 8 เปอร์เซ็นต์ ด้วยผลกระทบจากโควิด มาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา เรื่องของโลจิสติกส์ที่ลำบากขึ้นในทุกประเทศ มาตรการที่แต่ละประเทศมีคล้ายๆ กันก็คือพยายามให้คน Work from Home เพราะฉะนั้นในไตรมาส 2-3 ยังมีผลที่ทำให้การส่งออกอาจไม่ราบรื่นมากนัก อีกประเด็นคือ เรื่องของกำลังซื้อทั่วโลก โดยผลกระทบจากโควิดทำให้ธุรกิจที่เราไม่คิดว่าจะล้มได้ก็ล้ม หลายธุรกิจที่กระท่อนกระแท่นมานานถึงจังหวะนี้ไปต่อไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการลง เพราะฉะนั้นคนตกงานเยอะขึ้น ที่สูญเสียรายได้ก็เยอะ เพราะกำลังซื้อทั่วโลกหายหมด ฉะนั้นสินค้าที่ราคาแพงหรือมีมูลค่าเยอะในช่วงนี้อาจจะต้องรอหน่อย ยังไม่ใช่จังหวะ เพราะเป็นช่วงที่คนจะซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นกับการดำรงชีวิตก่อน กับสินค้าที่เกี่ยวกับ Work from Home หรือการทำงานออนไลน์จะขายดีขึ้น  ซึ่งพวกนี้ยังเป็นความท้าทายอยู่
              

      อย่างไรก็ตามสำหรับ SME หนึ่งในเรื่องสำคัญ ณ ตอนนี้ คือเป็นโอกาสและเวลาในการปรับฐานความรู้ของตนเอง โดยระบบออนไลน์ช่วยเราได้เยอะมาก มีวิธีที่จะหาความรู้เยอะมากในออนไลน์ ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อัดเต็มความรู้พร้อมกับการทดลองทำ เพราะ SME ใช้เงินไม่เยอะมาก เอาแค่เรื่องอาหาร เราทำอาหารอะไรอร่อย นาทีนี้ต้องรู้แล้วว่า วิธีจะเอาไปขายต้องทำยังไง ไปหาวิธีทำ เก็บรักษา ไปสู่การจัดส่งเดลิเวอรี่ ทำให้คนรู้ว่าเราทำอะไร เราจะแข่งขันอย่างไรคงไม่ใช่ถูกที่สุด แต่ของเราดีกว่าเขาอย่างไร อันนี้จะเป็นทางรอดของ SME ในช่วงเวลานี้ หรือสามารถพูดได้ว่า ใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสของตัวเอง อย่าไปท้อแท้กับอดีตที่ผ่านมา ยังมีหลายธุรกิจที่ต้องรีเซ็ตตัวเองใหม่ นับหนึ่งใหม่ คนที่ลำบากกว่าเรายังมีอีกเยอะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย