ส่องรอยช้ำและทางไปต่อของธุรกิจโรงแรม กับ “อนันดา เอเวอริ่งแฮม” และ “ภูริ หิรัญพฤกษ์”

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO :  Hotel Yayee และ Puripai Villa





Main Idea
 
 
  • พวกเขาไม่ใช่แค่ดารานักแสดง แต่ยังเป็นทั้งนักเดินทาง คนชอบเที่ยว และผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ที่เจอกับพิษโควิด-19 เหมือนกับผู้ประกอบการ SME ทุกคน
 
  • การยอมรับสถานการณ์และปรับตัวรับมือคือหนทางเดียวที่จะทำให้หลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ มาดูกันว่าพวกเขาทำอย่างไร และมีวิธีก้าวข้ามวิกฤตแบบไหน เพื่อไปต่อในยุค New Normal



     “อนันดา เอเวอริ่งแฮม” ไม่ใช่แค่นักแสดง แต่ยังเป็นเจ้าของ โฮเทลยาหยี (Hotel Yayee) จ.เชียงใหม่ เช่นเดียวกับ “ภูริ หิรัญพฤกษ์” นักแสดง และพิธีกรรายการท่องเที่ยว VIEWFIDER คนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวเป็นชีวิต เขาก็คือเจ้าของธุรกิจโรงแรม ภูริปาย วิลลา (Puripai Villa) อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน






     การมาถึงของไวรัสโควิด-19 ที่เล่นงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจนบอบช้ำ ส่งผลถึงธุรกิจของพวกเขาไม่ต่างกัน
 



 


      รายได้หดหาย ต้องหาทางให้ไปต่อ


      ทันทีที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับไวรัสโควิด-19 “อนันดา เอเวอริ่งแฮม” คือหนึ่งคนดังที่ออกมารณรงค์แคมเปญออนไลน์ “Unknown Together เปิดโลกใหม่ในใจคุณ” เพื่อรับมือกับการขยายตัวของปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อร่วมสะท้อนความรู้สึกของผู้คน ที่กำลังเผชิญกับความอึดอัดใจและความไม่แน่นอน หลังถูกกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยกันหาโซลูชั่นให้ผู้คนเดินหน้าต่อไปได้


      ในมุมของผู้ประกอบการ โควิดไม่ได้เล่นงานแค่ความรู้สึก แต่ยังกระทบกับธุรกิจโรงแรมเล็กๆ ของเขา ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และโควิดตัวร้ายก็ทำให้รายได้หดหายไปถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์





      “ในส่วนของโรงแรมโฮเทลยาหยี ต้องพูดตรงๆ ว่า 2 เดือนที่ผ่านมาเราก็ลำบาก รายได้หายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็โดน โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เป็น Hospitality คือโดนหนักสุดอยู่แล้ว ผมอาจจะโชคดีตรงที่ของธุรกิจผมมันไม่ได้ใหญ่มากส่วนการที่จะรับมือพวกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็พอไหว แต่เราคงจะจ่ายเงินเพื่อแค่อยู่รอดอย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีรักษาบาดแผลของเราด้วย คือมันต้องหาวิธีเดินหน้าต่อไป” เขาบอก


      แล้วจะทำแบบไหน ธุรกิจถึงจะได้ไปต่อ และรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ เขาบอกว่า ยกตัวอย่างพนักงานที่มีวันหยุดค้างอยู่ ก็ให้เสียสละเอาวันหยุดมาใช้ให้หมดก่อน การใช้ประกันสังคมเข้ามาช่วย เมื่อแนวทางเหล่านั้นหมดไป ก็มาหาทางพัฒนาทีมงาน เพราะในเวลาที่ว่างหลายคนก็รู้สึกไม่อยากอยู่เฉย


      “เราก็ให้โอกาสเขา อย่างบางคนอยากจะเรียนทำกาแฟ บางคนก็อยากเรียนทำอาหารก็ใช้เวลาช่วงนี้ให้เขาได้เรียนรู้ แล้วก็เป็นช่วงที่เรารีโนเวท ปรับปรุงซ่อมแซมโรงแรม ซึ่งตอนนี้ทุกคนพร้อมมากๆ แต่ที่ผ่านมาก็ต้องขอบคุณแขกประจำของเราด้วย เพราะส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอยู่รอดมาได้ทุกวันนี้ ก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากแขกประจำของยาหยี ที่เขาคงรู้สึกว่าทางเราก็ได้รับผลกระทบจากตรงนี้หนัก หลายๆ คนพยายามมา Support โทรมาถามว่า มีอะไรที่เขาพอช่วยซื้อได้ไหม เขาจะซื้ออาหารอะไรกลับบ้านบ้างได้ ก็ต้องขอบคุณแขกประจำของเราด้วย”

 



     เตรียมโรงแรม รับมือ New Normal


      แม้จะมีความพร้อมที่จะกลับมา แต่การกลับมาครั้งนี้ ก็มีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการปรับโรง
แรมให้เข้ากับวิถี New Normal ตามมาตรการที่ออกมา


     “เราต้องมีการลงทุนในเรื่องของการทำตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ซึ่งหลายอย่างก็เป็นสิ่งที่ยาหยีมีอยู่แล้ว แต่ว่าการจะเดินหน้าต่อเราก็ต้องทำทุกอย่างให้ละเอียดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวัดอุณหภูมิ การใส่หน้ากากอนามัย เรื่องของการดูแลความสะอาด ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง รวมทั้งแขกที่เข้ามาพักเขาเดินทางมาจากไหนอย่างไร ตรงนี้เราต้องดูหมดทุกอย่าง ซึ่งเวลานี้ผมเข้าใจว่าหลายคนกำลังลำบาก แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราได้ใช้เวลาช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่เราจะได้พัฒนาบริการของเรา แล้วตอนเรา Come Back กลับมา เราจะกลับมาอย่าง Stronger ก็ขอให้ใจเย็นๆ แล้วทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเอง” เขาทิ้งท้าย






      สำหรับโรงแรม ภูริปาย วิลลา (Puripai Villa) ที่มีเจ้าของชื่อ “ภูริ หิรัญพฤกษ์” ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณกรกฎาคม เวลานี้เขาเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยทำแคมเปญร่วมกับผู้ประกอบการในอ.ปาย ทำส่วนลดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และขายแพ็กเกจล่วงหน้า เพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวคนไทย เพราะเชื่อว่าหลังโควิดจะเป็นเวลาที่คนไทยจะมาช่วยกอบกู้ธุรกิจท่องเที่ยวของเมืองไทยได้


     หลังรวมตัวกัน พวกเขาสมัครขอมาตรฐานและแนวปฏิบัติของ SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยว ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำขึ้นร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อเข้าถึงแนวทางปฏิบัติของธุรกิจโรงแรมในยุค New Normal


     “ด้วยความที่ตัวจ.แม่ฮ่องสอน หรือปายเองเรามีทางเข้าแค่ทางเดียว ฉะนั้นจุดคัดกรองเราก็คุยกับทางท่านผู้ว่าฯว่าขอให้เข้มแข็งเหมือนเดิมถึงจะหลังจากที่เปิดประเทศกันแล้ว ขณะที่ตัวผู้ประกอบการเองก็เอาแนวปฏิบัติของ SHA เข้ามาใช้ จึงมีความพร้อมในเรื่องของสุขอนามัยเต็มที่ นอกเหนือจากนั้นในเรื่องของการเผชิญหน้าต่างๆ ในแง่ของโรงแรมตอนนี้เรามีการจองห้องพักหรืออะไรก็แล้วแต่อย่างการใช้บัตรประชาชน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ต้องเก็บเป็นข้อมูล เราก็ให้ส่งทางออนไลน์ รวมถึงเมื่อลูกค้ามาถึงที่จุดเช็คอินก็จะมีการสแกน QR code แล้วให้ลูกค้ากรอกประวัติของตัวเองว่าได้เดินทางไปไหนมาบ้าง และเป็นข้อมูลของลูกค้าที่เราจะเก็บไว้ นอกจากนี้พวกเมนูอาหารหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เคยใช้การสัมผัสเราก็เปลี่ยนมาใช้ระบบ QR code ให้ลูกค้าสแกนผ่านมือถือของตัวเอง รวมถึงมาตรการในเรื่องของความสะอาดในห้องพัก ไม่ว่าจะเป็นรีโมทหรืออะไรก็ตามที่จะมีการสัมผัสเราก็จะมีการฆ่าเชื้อก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า” เขาเล่าถึงความจริงจังที่จะเข้าสู่การบริการในวิถี New Normal


     ภูริบอกเราว่า สำหรับผู้ประกอบการเมืองปายเอง เวลานี้ทุกคนก็ยังกำลังใจดีอยู่ และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ เพราะหากดูแล้ว กายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ และเหมาะกับการที่จะไปเที่ยวแบบ Social Distancing อยู่แล้ว ด้วยพื้นที่ที่มีมาก มีผืนป่าและอากาศที่ดี ก็น่าจะทำให้ชีวิตหลังโควิดของทุกคนเป็นชีวิตที่ดีได้ หากจะไปเยี่ยมเยือนและพักผ่อนที่เมืองของพวกเขา


      “ผมคิดว่าวันนี้เรามีความพร้อม และเราพยายามที่จะเปลี่ยน Destination ของเรามาเป็น Destinations ในเรื่องของ Wellness ด้วย”
 




     นักท่องเที่ยวจะเลือกเที่ยวอย่างไรในวันนี้


       ในมุมของผู้ประกอบการเขาพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยว แต่ในมุมของคนชอบเที่ยวและนักเดินทางตัวยง ภูริแสดงความเห็นให้ฟังว่า เวลานี้ถ้าเขาจะไปท่องเที่ยวก็คงเลือกที่จะสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับเขาและครอบครัวมากขึ้น






      “ตอนนี้ถ้าถามผมในมุมของคนท่องเที่ยว รวมถึงคนที่มีครอบครัวมีลูก เราก็อยากจะพาเขาไปในที่ๆ ไม่ได้พบปะผู้คนมากๆ ไม่ได้แออัดยัดเยียด สถานที่ที่จะไปหนึ่งเลยก็ต้องมองด้านสุขอนามัยก่อน เราเห็นแล้วว่าสถานที่นั้นโอเคปลอดภัยแน่นอน แล้วก็ในเรื่องการเดินทางผมยังมองว่า Local Traveler หรือการเดินทางท่องเที่ยวในรอบรัศมีใกล้บ้านของเรายังจำเป็นอยู่ อย่างในรัศมีที่สามารถขับรถส่วนตัวไปได้ ผมมองว่ายังอยากพาครอบครัวไปเที่ยวแบบนั้นก่อน เที่ยวใกล้ๆ บ้าน แต่ถ้าจะให้นั่งเครื่องบินหรือนั่งรถโดยสารที่ต้องไปเจอกับคนอื่นที่เราไม่ได้รู้จัก ก็ยังกังวลอยู่มันจะเป็นลักษณะนั้นมากกว่า คือดูเรื่องของสุขอนามัย และการเดินทางที่สะดวกก่อนในตอนนี้” เขาทิ้งท้าย




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย