ถอดบทเรียน “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” จากคนเคยรวยสู่ ‘ล้มละลาย’ วัคซีนสู้วิกฤตโควิด-19

TEXT : กองบรรณาธิการ





 
Main Idea
 
 
  • “ศิริวัฒน์ วรเวทคุณวุฒิคุณ” คือชื่อของอดีตเศรษฐีที่ล้มละลายในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่สามารถฟื้นกลับมาได้เพราะการขายแซนด์วิชข้างถนน จนเป็นที่รู้จักในชื่อของ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” ซึ่งอยู่ในตลาดมาจนถึงทุกวันนี้
 
  • จากคนเคยรวย เป็นมนุษย์ทองคำ เจอวิกฤตต้มยำกุ้งจนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อเจอวิกฤตไวรัสโควิด-19 เขาเรียนรู้และปรับตัวอย่างไร? ไปหาคำตอบเรื่องนี้กัน



 
  • จากมนุษย์ทองคำ สู่มนุษย์ทองแดงในชั่วข้ามคืน

               
     ก่อนเกิดต้มยำกุ้ง ปี 2540 ตอนนั้นตลาดหุ้นเปลี่ยนใครหลายคนให้เป็น “มนุษย์ทองคำ” เช่นเดียวกับ “ศิริวัฒน์ วรเวทคุณวุฒิคุณ” ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก ทำกำไรได้อย่างหอมหวาน เป็นยุคที่ใครอยู่ในวงการหุ้นก็ร่ำรวยกัน ทว่าพอเกิดวิกฤตตลาดหุ้นก็ตกลง “มนุษย์ทองคำ” เลยกลายเป็น “มนุษย์ทองแดง” ในชั่วข้ามคืน
               

     “ผมเองในช่วงนั้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เยอะมาก พอเกิดวิกฤตเจ้าสัวกลายเป็นยาจกกันทั้งประเทศ มันหนักถึงขนาดนั้น ซึ่งไม่ใช่ง่าย ผมก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรา การที่หล่นตุ้บจากท้องฟ้าแล้วมาอยู่พื้นดินในชั่วข้ามคืน จากเศรษฐี กลายเป็นอดีตเศรษฐีหรือคนเคยรวยมันก็ทำใจลำบาก ช่วงนั้นผมเองมีพนักงานต้องดูแลอยู่ประมาณ 40 คน ก็เรียกประชุมแล้วบอกเขาว่าบริษัทเจ๊งแล้วนะ ถึงเวลาตัวใครตัวมัน”
                 


 

     หลังจากประชุมมีพนักงาน 20 ชีวิต ที่ขอให้เขาช่วยดูแลต่อ ศิริวัฒน์ บอกว่า นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้อดีตคนเคยรวยอย่างเขา ต้องลุกมาขายแซนด์วิช ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “ศิริวัฒน์แซนด์วิช”
               

     “ธุรกิจมันเกิดเพราะผมไม่ทิ้งลูกน้อง ไอเดียนี้เป็นของภรรยาผม เขาบอกว่าเรามาทำแซนด์วิชขายก็แล้วกัน เพราะทำง่ายดี ทีนี้สถานที่ขายเราไม่รู้จะขายที่ไหน ก็เลยไปยืนขายข้างถนน เพราะมันไม่ต้องเสียค่าเช่า แล้วอันที่ 2 เราสามารถขยับขยายได้ วันนี้ขายไม่ได้ จุดนี้ขายไม่ดี พรุ่งนี้ก็ไปขายที่อื่น มันเคลื่อนที่ได้” เขาบอกที่มาของธุรกิจใหม่ที่แจ้งเกิดในวิกฤต




 
  • ศึกครั้งใหม่ไวรัสโควิด-19 ที่หนักกว่าวิกฤตปี’40
               

     ผ่านมา 23 ปี ศิริวัฒน์ ก็เจอศึกหนักอีกครั้ง เมื่อโลกเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเขาบอกว่า ครั้งนี้หนักหนากว่าวิกฤตปี 2540
               

     “ความแตกต่างของโควิด-19 กับวิกฤตตอนปี 40 คือครั้งนี้มันเป็นเรื่องของเชื้อโรค แล้วก็ระบาดไปทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย อันที่ 2 เชื้อโรคนี้เป็นเชื้อโรคตัวใหม่ซึ่งเรายังไม่มีวัคซีน และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเจอวัคซีนด้วย อันที่ 3 สำคัญที่สุดคือมันเป็นเชื้อโรคที่คนติดต่อกับคน ก็เลยทำให้วุ่นวายไปทั้งโลกตอนนี้ ฉะนั้นวิกฤตนี้มันหนักกว่า คนเรามันอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ เราต้องไปมาหาสู่กัน ค้าขายติดต่อกัน พอทำไม่ได้มันก็เลยเกิดความยากลำบาก” เขาเล่า
               

     อีกหนึ่งเหตุผลคือวิกฤตครั้งนี้ไม่ได้กระทบกับแค่เศรษฐีหรือเจ้าสัวเท่านั้น แต่ทว่ากระทบกับคนในทุกระดับชั้นกลายเป็นความยากลำบากที่เล่นงานคนในทุกหย่อมหญ้า คนจะตกงานมหาศาล จากนี้ไปจะดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก ซึ่งเขามองว่าครั้งนี้จะหนักกว่าวิกฤตปี 40 หลายสิบเท่า



               
 
  • วัคซีนที่ได้จากวิกฤตครั้งก่อน ทำให้รอดพ้นวิกฤตครั้งใหม่


     แม้วิกฤตโควิด-19 จะเป็นสถานการณ์ที่หนักหน่วงกว่าครั้งก่อน แต่ศิริวัฒน์บอกเราว่า ประสบการณ์ครั้งก่อนสอนบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ให้กับเขา และช่วยให้รอดพ้นวิกฤตครั้งใหม่นี้มาได้
               

     “ผมต้องขอขอบพระคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2517 แต่พวกเราไม่ฟัง ผมเองก็ไม่เคยรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยประมาท จนได้นำมาใช้เมื่อเจอวิกฤตในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบอกให้เราต้องพึ่งตนเอง ทุกอย่างพอประมาณ และสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ผมก็เลยรอดมาได้ เพราะว่าเคยรวยมาแล้ว แล้วก็เคยเจ๊งมาแล้ว ก็เลยทำทุกอย่างสร้างภูมิคุ้มกัน วันนี้เจอโควิด-19 ถามว่าโดนไหมก็โดนเหมือนกัน ยอดขายแซนด์วิชผมตกลงไปกว่าครึ่ง แต่อย่างน้อยๆ เราสร้างภูมิคุ้มกันโดยพึ่งตนเองไม่ได้พึ่งเงินคนอื่น ขายได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ก็บอกกับพนักงานว่า เรายังดีกว่าคนอื่นที่วันนี้สินค้าเรายังขายได้ ยังพอมีเงินมี Cash Flow มาใช้จ่าย แล้วเราก็ไม่ได้ไปเป็นหนี้ใคร ฉะนั้นเลยทำให้เรารอดตัวมาได้” 
               

     แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ศิริวัฒน์บอกว่า ก็อยากให้ธุรกิจเติบโตไปกว่านี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องดูจังหวะ โอกาสและสถานการณ์ด้วย
               

     “วันนี้ไม่มีทางเลยที่เราจะไปคิดขยายธุรกิจให้ใหญ่โต เอาอย่างนี้อีก 2-3 ปี อย่าไปคิด วันนี้แค่เอาตัวให้รอดก่อน ถ้าเรายิ่งไปฝืนกระแสจะยิ่งเจ็บตัว เราในฐานะผู้ประกอบการ SME ทุนก็น้อยกว่าเขา เครดิตก็สู้คนอื่นเขาไม่ได้ สิ่งที่เราต้องตระหนักไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ขายบริการก็ดี ขายสินค้าก็ดี ขอให้ทุกคนต้องยึดความซื่อสัตย์เป็นหลัก ความซื่อสัตย์นี้กินไม่หมด คุณแม่ผมสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน ฉะนั้นการที่เราจะอยู่รอดต่อไปได้ และขยับขยายให้กิจการเติบโตขึ้นได้นั้นเราต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า และอีกสิ่งสำคัญคือต้องมีสัจจะ คำว่าสัจจะนี้สำคัญมาก ภาษาชาวบ้านก็คือคำไหนคำนั้น ถึงแม้เราจะต้องกลืนเลือดตัวเองก็ต้องทำ ตัวนี้เองที่จะทำให้เรามีเครดิต”



 
 
  • อดทน และยอมรับความจริง ช่วยชีวิตให้ผ่านทุกวิกฤตได้


      ศิริวัฒน์ บอกเราว่า ไม่เคยคิดว่า 23 ปีที่แล้ว อดีตคนเคยรวยอย่างเขาจะต้องมายืนขายแซนด์วิช และก็ไม่เคยคิดว่าเพราะแซนด์วิชราคาหลักสิบจะทำให้ตัวเขาสามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้และอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้
               

     “วิกฤตเป็นยังไงผมรู้ดีที่สุด เพราะผมยืนขายแซนด์วิชข้างถนนเมื่อ 23 ปีก่อน โดนคนปรามาสบ้าง โดนเทศกิจจับบ้าง โดนตำรวจไล่บ้าง แต่วันนี้ผมก็สามารถฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ได้ เพราะผมใช้ความอดทนและยอมรับสภาพ คนเราต้องยอมรับสภาพเราเลือกที่จะเกิดไม่ได้แต่เลือกที่จะเป็นได้ ในเมื่อเราเลือกทางเดินแล้วมันผิดก็เปลี่ยนแปลงใหม่ ผมเริ่มขายแซนด์วิชตอนอายุ 48 ปี ตอนนั้นผมมีหนี้เกือบพันล้านบาท ผมว่าผมยังอายุมากกว่าใครหลายคนในตอนนี้ด้วยซ้ำ แล้วผมจะไปคิดได้ไงว่าผมจะรอด วันนี้ผมอายุ 71 ปีแล้ว วันนั้นผมลำบาก เดินขึ้นศาลเยอะ ขึ้นศาลไปก็ไม่ต่อสู้บอกเขาว่าผมกู้จริง แล้วในที่สุดผมก็ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ตอนนั้นผมกลัวนะ กลัวและอายที่จะถูกตราหน้าว่า เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ในที่สุดพอมันเป็นจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไร



               

     เพราะฉะนั้นอยากขอฝากทุกท่านว่า นาทีนี้อย่าไปคิดสั้น จริงๆ มันไม่มีอะไรเลย เพียงแต่เราไปยึดติดมันเท่านั้นเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราไปยึดติดเราก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเรายอมรับว่าโอเคเราเดินทางผิดมา อย่างผมกู้เยอะเครดิตดีก็กู้มันอยู่เรื่อยๆ แล้วในที่สุดมันก็เจ๊ง ล้มละลาย ก็ไม่เป็นไรค่อยทำค่อยเป็นค่อยไป ขอฝากทุกๆ ท่านว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันชั่วคราว อย่าไปคิดสั้นเลยไม่มีประโยชน์ เพราะว่าคนข้างหลังเรา ลูกเมียเราหรือครอบครัวเรา เขาก็ยังต้องการที่พึ่ง วิกฤตนี้มันเป็นแค่วิกฤตชั่วคราว เชื่อผมเถอะ วิกฤตนี้หนักไหมหนัก หนักกว่าปี 40 ไหม หนักกว่าหลายสิบเท่า แต่ในที่สุดเราก็จะผ่านพ้นมันไปได้ อยู่ที่ว่าคุณจะสู้หรือไม่สู้เท่านั้นเอง” เขาฝากกำลังใจไว้ในตอนท้าย
 
               
     นี่คือสารจากอดีตคนเคยรวย คนเคยล้มละลาย ที่วันนี้กำลังเจอกับวิกฤตหนักเช่นเดียวกับทุกคน แต่เขาเชื่อว่าจะผ่านมันไปได้ เหมือนที่เคยผ่านความยากลำบากนั้นมาแล้ว เมื่อวิกฤตครั้งก่อนโน้น
 


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย