“The White Box” พลิกเกมสู้! จากวิกฤตไวรัส สู่ New Normal ร้านตัดผมยุคใหม่

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 

 

Main Idea
 
  • “ช่างตัดผม” หนึ่งในอาชีพที่มีผู้คนคิดถึงมากที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการออกประกาศของภาครัฐให้ปิดกิจการลงชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
 
  • มาในวันนี้ธุรกิจดังกล่าวสามารถกลับมาเปิดดำเนินการขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ด้วยกฏระเบียบ มาตรการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่ออกมา ทำให้การเข้าไปใช้บริการร้านตัดผมร้านหนึ่ง ไม่ใช่รูปแบบเดิมที่เราเคยได้รู้จักอีกต่อไป โควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นกับอาชีพดังกล่าว New Normal ของร้านตัดผมจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน!
 

     
         
     “ช่างตัดผม” อาชีพที่ใครหลายคนอาจไม่ได้นึกถึงหรือมองข้ามความสำคัญไปในเวลาที่เราใช้ชีวิตไปตามปกติสุข แต่วันหนึ่งเมื่อโรคระบาดร้ายเข้ามา อาชีพธรรมดาๆ ที่เหมือนกับอาชีพอื่นทั่วไป ก็กลับได้รับความสนใจขึ้นมา และดูจะเป็นสิ่งที่ผู้คนมากมายต้องการมากที่สุดอย่างหนึ่งในช่วงโควิด-19 นี้ด้วย กระทั่งเมื่อมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ออกมาให้ร้านตัดผมต่างๆ สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยมานานนับเดือน แต่รูปแบบการให้บริการร้านตัดผมในวันนี้ กลับไม่ใช่รูปแบบเดิมที่เราเคยคุ้นชินกันที่นึกอยากจะเข้าไปตัดผม สระซอย เซ็ต ก็สามารถเดินเข้าไปได้เลย เพราะวันนี้หากไม่ได้มีการจองคิวเอาไว้ล่วงหน้า คุณอาจพลาดไม่ได้รับการบริการในวันนั้นเลยก็ว่าได้





     ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ไปติดตามคำตอบจาก The White Box” บาร์เบอร์ช็อปสุดอินดี้ที่ปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์ออนไลน์ และการเก็บข้อมูลลูกค้ามาพลิกเกมสู้วิกฤตเป็น New Normal ร้านทำผมยุคใหม่ในวันนี้กัน
 

     “ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณโรคระบาดนี้ที่ทำให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของอาชีพตัดผมมากยิ่งขึ้น”

     ชัชวาล พัวธัญวงศ์ เจ้าของร้านบาร์เบอร์ช็อป The White Box เกริ่นถึงความรู้สึกในอีกแง่มุมหนึ่งให้ฟัง นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในช่วงที่เผชิญหน้ากับวิกฤตไวรัส
               


   

     The White Box เป็นร้านตัดผมสไตล์คนรุ่นใหม่ที่นำความเป็น Hair Stylist มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการตัดผม โดยพวกเขาไม่ใช่ร้านบาร์เบอร์ที่ตัดแค่ทรงพื้นฐาน รองทรงสูง กลาง ต่ำ แต่สามารถให้คำแนะนำและออกแบบทรงผมที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้าได้ ราคาค่าบริการจึงไม่ใช่ 80 – 100 บาท แต่มีขั้นต่ำอยู่ที่ 450 บาทขึ้นไป จนถึงหลักพันเลยก็มี ซึ่งไม่ใช่ลูกค้าจะไม่ยอมจ่าย เพราะผลตอบรับที่ได้นั้นกลับดีทีเดียว โดยเขามองว่า ราคาถูกหรือแพง ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อ แต่การแสดงให้ลูกค้าได้เห็นถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น ความคุ้มค่า และสมเหตุสมผลที่ได้รับต่างหากที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้
               






     โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น จากการออกประกาศของภาครัฐเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ร้านของเขาและร้านตัดผมอื่นๆ ต้องปิดบริการชั่วคราวลง แน่นอนว่าเมื่อไม่มีรายได้เข้ามา เขาก็ใช้เวลาช่วงนั้นให้เป็นประโยชน์ โดยการ Live สดในชื่อ “จอห์น จัด” เพื่อสอนเทคนิคการตัดแต่งทรงผมต่างๆ ซึ่งเป็นการโปรโมตร้านไปในตัวด้วย
               

     ชัชวาลมองว่า การทำธุรกิจร้านตัดผมในยุคนี้นั้น สามารถใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียได้หลายทาง ไม่ว่าจะเพื่อโปรโมตผลงาน โปรโมตบริการ โปรโมตโปรโมชั่น หรือแม้แต่การแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้กับลูกค้าได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตจากโรคระบาดเช่นนี้ที่ลูกค้าและร้านค้าไม่สามารถสื่อสารหากันโดยตรงได้ง่ายนัก
               




     นอกจากนี้เขายังมองว่าการเก็บข้อมูลลูกค้าเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการทำธุรกิจยุคนี้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจใดก็ตาม เพราะไม่เช่นนั้นแล้วคุณก็ต้องหาลูกค้าใหม่ไปอีกเรื่อยๆ และทำการตลาดได้ยากกว่าลูกค้าเดิมที่รู้จักคุ้นเคยกันมา
               

     ซึ่งหลังจากคลายมาตรการปลดล็อกคลายลง ทำให้ร้านตัดผมต่างๆ สามารถกลับมาเปิดให้บริการลูกค้าได้อีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการสุขอนามัยที่ถูกต้องด้วย โดยมีหลักการเกณฑ์การให้บริการ 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน ซึ่ง The White Box ก็ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามอย่างดี ได้แก่  1.ลดการฟุ้งกระจาย โดยทางร้านจะใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์เช็ดอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงถูทำความสะอาดพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 2. ลดการแออัด ไม่มีผู้นั่งรอคิว หรือผู้ติดตามนั่งรอ มีเพียงช่างและลูกค้าเท่านั้น และ 3.ลดระยะเวลาการอยู่ในร้าน โดยบริการที่ใช้เวลาทำนานๆ เช่น ดัด ทำสีผม ให้งดไปในช่วงนี้
               




     โดยชัชวาลมองว่า ด้วยกฎระเบียบดังกล่าวที่ออกมานี้ อาจทำให้เกิดการให้บริการในวิถีใหม่ หรือเรียกว่า New Normal สำหรับอาชีพตัดผมเลยก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อมีการจำกัดจำนวนคน และสร้างแนวทางเพื่อเว้นระยะห่าง จากการเข้าใช้บริการร้านทำผมแบบเดิมๆ ที่นึกอยากตัด อยากทำเมื่อไหร่ก็ได้เดินเข้ามาได้ ทำให้ต้องมีการติดต่อจองคิวเข้ามาล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดและลูกค้าแน่นจนเกินไป
               

     ซึ่งข้อดีนอกจากจะเป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว ยังเป็นผลดีในแง่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการร้านต่างๆ ด้วย โดยแทนที่จะเปิดร้านรอรับลูกค้าเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนให้ลูกค้าติดต่ออจองคิวเข้ามา ส่งผลให้ร้านตัดผมต่างๆ สามารถวางแผนบริหารจัดการธุรกิจของตน รวมถึงปริมาณการรับลูกค้าในแต่ละวันได้อีกด้วย
               




     “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของอาชีพคนตัดผม จากเดิมเราเปิดร้านรอให้ลูกค้าเข้ามาในแต่ละวัน แต่ทุกวันนี้กลายเป็นมีลูกค้าโทรมาขอจองคิวล่วงหน้า ร้านตัดผมเกือบทุกร้านคึกคักขึ้น มีคนรอต่อคิวยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับธุรกิจนี้ สุดท้ายผมเชื่อว่าโลกจะเปลี่ยนไปยังไงก็ตาม อาชีพตัดผมก็ยังคงอยู่ เพราะฉะนั้นร้านก็ต้องปรับตัวเอง ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้ากล้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น มองให้เป็นโอกาส เป็นเรื่องสนุก แล้วเราจะได้กลับมาทำงานที่เรารักกันแบบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเดิม ลูกค้าแฮปปี้ เราแฮปปี้ เต็มที่เลย” ชัชวาลกล่าวทิ้งท้าย
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย