คุยกับ “แคทลียา ท้วมประถม” ค้นหาจักรวาลใหม่ให้ไปต่อ เมื่อโควิดพ่นพิษใส่ธุรกิจ Wedding

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand





Main Idea
 
 
  • ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตไวรัส ธุรกิจเวดดิ้ง (Wedding) เหมือนถูกคลื่นซัดให้เรือโคลงเคลงมาพักใหญ่แล้ว เมื่อคนแต่งงานน้อยลง และใช้เงินกับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งลดลงด้วย
 
  • แต่การมาถึงของโควิด-19 เหมือนสึนามิที่ล่มเรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ให้พังพาบและยากจะไปต่อ ทั้งยังเห็นความเปลี่ยนแปลงอีกมากในยุค New Normal
 
  • สำหรับ “แคทลียา ท้วมประถม” หนึ่งในผู้เล่นสนามเวดดิ้ง ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง เธอเลือกปรับตัวและรับมือ โดยการไปหาจักรวาลใหม่ให้ธุรกิจได้ไปต่อ ไม่ท้อและมีความหวังอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่า ตัวเราเท่านั้นที่จะทำให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน และปีหน้าจะดีกว่าปีนี้




      จักรวาลที่ชื่อ “ธุรกิจเวดดิ้ง” (Wedding) กำลังอ่อนแรงลง และคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ก็เกิดขึ้นมาได้พักใหญ่แล้ว นี่คือคำบอกเล่าจาก “แคทลียา ท้วมประถม” กรรมการผู้จัดการ The Design Essential  และ The Idea Essential หนึ่งในผู้เล่นที่คร่ำหวอดอยู่ในสนามนี้มานานหลายปี ผ่านยุคหอมหวาน รุ่งโรจน์ ชนิดที่เก็บเงินกันไม่ทัน จนมาสู่ยุคที่ธุรกิจต้องหยุดชะงัก รายได้เท่ากับศูนย์ เมื่อวิกฤตโควิด-19 มาเยือน ส่งผลกระทบที่กระเทือนไปทั้งอุตสาหกรรม  
              

       มาฟังวิธีคิดรับมือวิกฤต และกลยุทธ์ที่ช่วยพลิกเกมธุรกิจงานแต่งให้ยังมีทางไปต่อของเธอคนนี้กัน
              






      SME Thailand : สถานการณ์ธุรกิจเวดดิ้งในวันนี้เป็นอย่างไร การมาถึงของโควิด-19 กระทบกับอุตสาหกรรมนี้อย่างไรบ้าง
              
     
      แคทลียา : ช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม เราจะเริ่มเห็นการที่ลูกค้าเลื่อนงานแต่งเยอะมาก ซึ่งถ้าพูดถึงธุรกิจเวดดิ้งมองว่า มันจะยังซบเซาและหลังจากโควิดก็จะยังซบเซาไปอีกยาว อย่างจากเดิมแขกที่มางานอาจจะเป็น 500-1,000 คน แต่จากนี้รูปแบบการแต่งงานจะเปลี่ยนไป โดยคนจะแต่งงานน้อยลง จะจัดงานที่เล็กลงมาก โดยอาจเชิญแค่เพื่อนสนิทหรือญาติผู้ใหญ่ 10-20 คน  และเป็นงานที่รวบรัด จากเดิมจะเห็นว่ามีอาฟเตอร์ปาร์ตี้ คนสนุกสนานเต็มไปหมด แต่มองว่ารูปแบบนี้จะไม่มีแล้วหลังจากนี้ แต่อาจจะเป็นแค่งานเช้า เลี้ยงกลางวัน 3 ชั่วโมงเสร็จ และการแต่งงานจะไม่แจกการ์ด แต่อาจจะเป็นการ์ดออนไลน์แทน และจำนวนการพิมพ์จะน้อยลง นี่จะเป็น New Normal ของอุตสาหกรรมเวดดิ้ง ซึ่งมองว่าเวดดิ้งจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
              

       เอาจริงๆ ก่อนหน้าที่จะมีโควิด เราเริ่มเห็นเทรนด์แล้วว่า เวดดิ้งกำลังเป็นขาลง นี่เป็นคลื่นหนึ่งที่ซัดเข้ามาทำให้เรือเรากะเทาะ แต่พอมีโควิด กลายเป็นว่ามันทำให้เรือเราล่ม มันคว่ำเรือเรา จากยอดที่เคยได้ทุกวัน วันนี้ไม่ได้แล้ว ทุกอย่างหายไปหมด เริ่มต้นเป็นศูนย์
 
              





       SME Thailand : หลังเจอกับสถานการณ์มีวิธีรับมืออย่างไร และพลิกกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้อย่างไร


      แคทลียา : มันเหมือนเราเป็นกัปตันเรือ แล้วมีน้องๆ มีทีมงาน มีครอบครัวที่กำลังรอคอยความรอบคอบ ความเก่ง ความสามารถของเราอยู่เพื่อให้พวกเขาอยู่รอด เพราะนั้นเราต้องห้ามท้อ แล้วก็ต้องห้ามแพ้ มันไม่มีสูตรสำเร็จของความสำเร็จ เราแค่ต้องลอง พยายาม และอย่าเพิ่งท้อ เพราะทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน และทุกคนก็เจอโควิดเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเราเอง


       สิ่งสำคัญคือเราต้องมองให้ออกว่า จักรวาลของเราอยู่ตรงไหน ถ้าเกิดคิดว่าความเก่งของเราเป็นแค่เวดดิ้ง เราจะตันมากเลยในเวลาแบบนี้ ฉะนั้นต้องมาดูว่า เราเป็นคนยังไงและชอบอะไร อย่างตัวเองเป็นคนชอบงานออกแบบ ชอบของสวยๆ งามๆ และทำให้มันดีขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะเอาคอร์ของสิ่งที่เราชอบนี่แหล่ะ มาทำเป็นโปรดักต์ เป็นเซอร์วิส ซึ่งการที่รู้ว่าเราเก่งด้านไหน แล้วพยายามดูว่ามันสามารถปรับไปทำอะไรได้บ้างนั้น จะทำให้การทำงานของเรา หรือว่าการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ หาบิสสิเนสโมเดลใหม่ๆ มันกว้างขึ้น
              

       วิธีการที่เราทำคือ กลับมาดูลูกค้าของเราว่าเขาถามอะไร ทริกง่ายๆ คือถ้าลูกค้าถามเราด้วยคำถามอะไร นั่นแปลว่าเขานึกถึงสิ่งนี้แล้วนึกถึงเรา เริ่มจากเข้าไปในช่องทางโซเชียลมีเดีย พบว่า ลูกค้าจะถามหาเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นของชำร่วยงานศพหรืองานแต่ง เพราะเป็นสิ่งที่เขาอยากแจกในตอนนั้น เราก็กลับมาคิดว่าเราต้องทำ แต่ไม่ใช่ซื้อแบรนด์มาทำนะ แต่จะทำแบรนด์ใหม่ ซึ่งสามารถทำออกมาขายได้ภายใน 2 อาทิตย์ ด้วยความที่เราไม่ชอบขายปลีก ก็มาเน้นขายส่ง และทำเป็นของสำหรับแจก เพราะก้อนความสามารถของเราจะอยู่ที่การทำของพรีเมียม




 

      SME Thailand : จากการปรับตัวที่เกิดขึ้นส่งผลกับธุรกิจอย่างไร และในระยะยาวเกมธุรกิจจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่อย่างไร   


       แคทลียา : เรามองเหตุการณ์นี้เป็นสองอย่าง คือในระยะสั้นมันเป็นวิธีที่ทำให้เราได้เงินเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้มียอดเข้ามา ซึ่งสิ่งสำคัญมากสำหรับคนทำธุรกิจคือ การที่ไม่มีเงินสดเข้าร้าน หรือว่าเงินสดมันน้อย เพราะทีมงานจะเครียด แล้วเวลาเครียด รู้สึกไม่มีทางออก มันไม่โอเค ฉะนั้นเราต้องหาทางทำยังไงก็ได้ให้ทุกอย่างดูคึกคักเหมือนเดิม หน้าที่ของเราคือทำให้มีเงินเข้า ให้ทีมงานรู้ว่า วันนี้ตื่นเช้ามาเขาต้องทำอะไร ก็เลยต้องหาธุรกิจใหม่ๆ แหล่งเงินใหม่ๆ เพื่อพยุงธุรกิจตอนนี้ให้ไปต่อ
              

       แต่หลังจากนี้เราต้องคิดอีกแบบหนึ่ง เราต้องหาหนทางว่า เราจะอยู่รอดได้ยังไง เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันเปลี่ยนไปหมด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน และแม้แต่ตัวเราเองยังเปลี่ยนเลย ก็ดีใจนะที่เกิดโควิดตอนที่อายุ 40 ปี เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เราไม่ได้เด็กเกินไปที่จะหุนหันพลันแล่น หรือว่าอารมณ์ขึ้นลงง่าย  แต่ก็ไม่ได้แก่ขนาดที่รู้สึกว่าทำอะไรใหม่ๆ ไม่ได้แล้ว เลยมองว่ามันมาในช่วงเวลาที่ยังแฮปปี้และรู้สึกยังมีแรงในการสู้ และหาอะไรใหม่ๆ มาบริการลูกค้า และมาทำให้ทีมงาน ทำให้องค์กรไปต่อได้อยู่
              

      จากนี้เราจะพยายามหาอะไรใหม่ๆ ต่อไป พยายามขยายจักรวาลของเราให้กว้างขึ้น อย่างตอนนี้เราก็ขยายไปทำของชำร่วยงานศพ ของชำร่วยองค์กร หรือกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งเวลาเราคิดอะไรออกมา ไม่ได้หมายความว่าทำรอบเดียวแล้วมันเวิร์คนะ เนื่องจากมันเป็นธุรกิจใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ไม่เหมือนเวดดิ้งที่หลับตาก็รู้แล้วว่าจะเป็นยังไง แต่นี่มันเป็นธุรกิจใหม่ ก็มีความท้าทาย เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าทางที่ทำอยู่มันถูกหรือผิด ฉะนั้นมองว่าสิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการอย่าเพิ่งท้อ ทาง 1 ไม่ได้ลองทาง 2 ถ้า 2 ไม่ได้ก็ลอง 3 ลอง 4 ลองไปทุกๆ ทาง แล้วธรรมชาติมันจะลากเส้นจุดทำให้เรารู้ว่าทางไหนมันเป็นทางที่ใช่ ทางไหนเป็น Winning Model ของเราเอง เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งคิดว่ามันมีทางตัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยรีดศักยภาพของเราออกมา แล้วเราจะเจอโมเดลใหม่ๆ ที่อาจนึกไม่ถึงด้วยซ้ำว่าเราจะทำได้
 
              




      SME Thailand : เคยกลัวบ้างไหมว่าสุดท้ายแล้วความพยายามของเราอาจถึงทางตัน ที่สุดแล้วธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้จริงๆ ถึงเวลานั้นจะคิดกับเหตุการณ์นี้ยังไง


       แคทลียา : ไม่เป็นไร มันสนุก ทำไม่ได้ ก็แค่เปลี่ยนโปรดักต์ เปลี่ยนบิสสิเนสโมเดลไป มองว่าทุกอย่างมันเหมือนการทดลอง ถ้าทางที่ 1-5  ทำไม่ได้ แล้วเราไม่ได้รักมันพอที่จะไปต่อ ก็แค่เปลี่ยนสินค้า เปลี่ยนโมเดลไปทำอย่างอื่น แต่คนเราจะแพ้ไม่ได้ แพ้แล้วจะเอาอะไรกิน ค่าเทอมลูกมันแพง และทีมงานก็รอเราอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าทางนี้ไม่เวิร์ค ไม่ซีเรียสเลย อย่างน้อยเราก็ได้ลอง และรู้แล้วว่าทางนี้ไม่ใช่ทางของเรา ลองแล้วไม่เวิร์ค ก็ไปลองอย่างอื่นต่อ
              

      แต่ถ้าจะลองอยากให้ไปเร็วหน่อย ทุกวันอยากให้รู้ว่าวันนี้เราต้องทำอะไรให้เสร็จ เพราะถ้าเกิดเราใช้เวลาในการลองที่นานเกินไปกว่าจะรู้ผล มันจะไม่ทัน สมมติถ้าเหนื่อยจริงๆ กลับไปนอน ไปอาบน้ำ ไปวิ่ง การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆ ได้เอง ขอแค่อย่าไปยอมแพ้ มองว่าเจ้าของกิจการต้องใจสู้ ต้องยิ้มแย้ม และต้องรู้ตัวเสมอว่าคนอื่นต้องพึ่งเราได้
              





      สำคัญคือเราต้องมีความหวัง รู้ว่าวันนี้เราทำอะไรอยู่ รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะทำอะไร รู้ว่าเป้าหมายที่อยากได้คืออะไร และอย่าลืมทาง 1 ไม่ได้ ไปทาง 2 ทาง 2 ไม่ได้ไปทาง 3 ทาง 3 ไม่ได้ไปทาง 4 ทาง 4 ไม่ได้ ลองไปถามคนรู้จัก ถามคนเก่งๆ แล้วพยายามหาทางไปต่อให้ได้ เพราะตัวเราเท่านั้นที่จะทำให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน และปีหน้าเราจะดีกว่าปีนี้
 





              
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย