Main Idea
- ภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ในระยะที่หนึ่งไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ระยะที่สองเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม และล่าสุดระยะที่สาม ในวันที่ 1 มิถุนายน เพื่อให้กิจการและกิจกรรมหลายประเภทสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง
- หลังได้เริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ผู้คนมีพฤติกรรมในการ ‘กิน ช้อป ใช้’ อย่างไร บรรยากาศกลับมาคึกคักแค่ไหน มีอะไรเป็นสัญญานที่ดีบ้าง ไปหาคำตอบจากบทวิเคราะห์นี้กัน
___________________________________________________________________________________________
EIC (Economic Intelligence Center) โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์แบบ High Frequency ที่สามารถบอกถึงสถานการณ์ปัจจุบันได้เร็วกว่าข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคทั่วไป พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยบางส่วนเริ่มกลับมาหลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยภาครัฐได้มีการผ่อนคลายในระยะที่หนึ่งไปเมื่อ 3 พฤษภาคม และระยะที่สองเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระยะที่สาม 1 มิถุนายน ทำให้กิจการหลายประเภทสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรม ‘กิน ช้อป ใช้’ ของผู้บริโภคอย่างไร มีอะไรที่กำลังส่งสัญญานดีๆ ถึงผู้ประกอบการ SME บ้าง ไปติดตามกัน
- มาตรการผ่อนคลาย ดึงคนออกจากบ้านกันมากขึ้น
ในวันที่ประเทศไทยยังมีมาตรการและขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างก็เหมือนหยุดชะงักไป แต่ในวันที่เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ผู้คนก็ได้เวลาออกจากบ้านกันมากขึ้น
ข้อมูล Community Mobility Reports ของ Google บ่งชี้ว่า คนเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ โดย Google ได้เปิดเผยข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ของคนในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเดินทางออกนอกบ้านของคนไทยได้ลดลงอย่างมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สูง และยังมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด เช่น การเดินทางไปยังสถานีขนส่งลดลงเกือบ -70 เปอร์เซ็นต์ หรือการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทพื้นที่ค้าปลีกและสันทนาการ เช่น ห้างสรรพสินค้าที่ลดลงกว่า -50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงประมาณต้นเดือนเมษายน เทียบกับปริมาณการเดินทางในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
แต่หลังจากมาตรการล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลาย การเดินทางออกนอกบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ จึงเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ดี จากข้อมูลล่าสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พบว่า กิจกรรมการเดินทางในภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับตัวเลขช่วงต้นปี โดยมีเพียงการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทร้านค้าและร้านขายยา เท่านั้นที่กลับมาเท่าช่วงก่อนล็อกดาวน์ ขณะที่การเดินทางออกจากบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ ยังคงลดลงเฉลี่ย -22.8 เปอร์เซ็นต์ ถึง -39.5 เปอร์เซ็นต์
- ธุรกิจเริ่มผ่อนคลาย คนเริ่มออกมาช้อปและวางแผนเที่ยวมากขึ้น
ในด้านของผู้ประกอบการ และพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค EIC ทำการเก็บข้อมูลจำนวนกิจการที่ลงทะเบียนจากการเชื่อมต่อ Application Program Interface (API) กับเว็บไซต์ไทยชนะ.com ในกรุงเทพมหานครและอีก 12 จังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ พบว่า จำนวนกิจการที่ให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวมีการลงทะเบียนรวมในวันที่ 27 พฤษภาคม อยู่ที่ 70,425 กิจการ เพิ่มขึ้นจาก 40,537 กิจการ ในวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการเปิดให้บริการที่มากขึ้น จากข้อมูลดังกล่าว EIC มีข้อสังเกตว่า จำนวนร้านค้าในห้างสรรพสินค้าในช่วงแรกหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์จะมีสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม มีจำนวนถึง 26,450 ร้านค้า คิดเป็นสัดส่วน 65.2 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนการลงทะเบียนทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว สะท้อนถึงการที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีการเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดให้บริการ
อย่างไรก็ดี ร้านค้าประเภทอื่นๆ ก็ได้ทยอยเปิดให้บริการตามมาด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านที่สูงกว่าอย่างชัดเจนในสัปดาห์ถัดมา โดยมีการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ขณะที่ร้านค้าในห้างฯ เพิ่มขึ้นที่ 31.0 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดียวกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการที่กิจการโดยทั่วไปเริ่มมีการเรียนรู้แนวทางปฏิบัติในการให้บริการในสภาวะ New Normal กันมากขึ้นนั่นเอง
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีสัญญานฟื้นกลับมา โดยข้อมูลห้องพักที่เปิดให้จองออนไลน์บนเว็บไซต์ TripAdvisor.com ที่เคยมีจำนวนลดลงไปสูงสุดถึง -52.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของล็อกดาวน์ก็เริ่มกลับมามีจำนวนข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นลบที่น้อยลงเหลือ -27.1 เปอร์เซ็นต์ (ณ วันที่ 28 พฤษภาคม) สะท้อนการกลับมาเปิดกิจการของโรงแรม นำโดยกลุ่มโรงแรม 3 ดาวลงไปและ Hostel (Budget) ขณะที่โรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาว (luxury) ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการพึ่งพาลูกค้าต่างชาติที่ยังมีข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศนั่นเอง
- การจ้างงานในธุรกิจท่องเที่ยวและค้าปลีกเริ่มกลับมา
ในส่วนของสถานการณ์ด้านการจ้างงาน ข้อมูลจาก JobsDB.com แสดงการฟื้นตัวของการเปิดรับสมัครงานในธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มค้าปลีก (Consumer Retail) ที่เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
โดย EIC ทำการ Web Scraping ข้อมูลจากเว็บไซต์ JobsDB.com ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงสัปดาห์ล่าสุดของข้อมูล (วันที่ 21-27 พฤษภาคม) จำนวนประกาศรับสมัครงานรวมเพิ่มขึ้น 11.0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่หนึ่ง (วันที่ 26 เมษายน-2 พฤษภาคม) และเป็นการเพิ่มขึ้นในหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และ Consumer Retail เช่น เสื้อผ้า ค้าปลีก ที่มีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ สอดคล้องกับการกลับมาดำเนินการของธุรกิจเหล่านี้หลังจากที่ถูกจำกัดจากมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี จำนวนประกาศรับสมัครงานโดยเฉลี่ยในปัจจุบันในภาพรวมยังต่ำกว่าระดับในช่วงเริ่มมาตรการล็อกดาวน์ (วันที่ 21–27 มี.ค.) อยู่ถึง -25.4 เปอร์เซ็นต์
- สัญญานดีเริ่มมา แต่ยังใช้เวลากว่าจะกลับสู่จุดเดิม
แม้การผ่อนคลายล็อกดาวน์ จะเริ่มเห็นสัญญานของการฟื้นตัว แต่พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 ซึ่ง EIC คาดว่า จะใช้เวลานานในการกลับไปสู่จุดเดิม โดยยังต้องเฝ้าระวังการระบาดระลอกที่สอง กิจกรรมต่างๆ ตามข้อมูลข้างต้นทั้งการเดินทางออกนอกบ้าน การให้บริการของห้างร้านและโรงแรม ตลอดจนการเปิดรับสมัครงานออนไลน์ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตค่อนข้างมาก แม้จะฟื้นตัวมาบ้างในระยะหลัง และเนื่องจากการดำเนินไปของกิจกรรมต่างๆ ในช่วงหลังจากนี้ มีแนวโน้มต่างไปจากเดิม เช่น การทำงานที่บ้านผ่านระบบออนไลน์มีสัดส่วนมากขึ้น การให้บริการลูกค้าในพื้นที่ค้าปลีก ร้านอาหารและโรงแรม ที่มีการจำกัดจำนวนและระยะห่างมากขึ้น ประกอบกับในฝั่งของผู้บริโภคเองก็ยังมีอุปสรรคจากทั้งกำลังซื้อที่ลดลงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมไปถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังทำได้ยาก
ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่า หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะส่วนที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะยังต้องใช้เวลานานก่อนจะฟื้นกลับไปยังจุดเดิม ทั้งนี้อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญคือ การเฝ้าระวังการระบาดของ โควิด-19 ระลอกที่สอง ที่หากเกิดขึ้นจะนำไปสู่การกลับมาของมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วทรุดตัวลงมากกว่าเดิมนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการ SME แล้ว การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งสามระยะ ทำให้หลายกิจการเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นสัญญานที่ดีที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและประคับประคองตัวเองท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในวันนี้ได้ แม้ทุกอย่างอาจจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ในเร็ววัน แต่ถ้า SME ยังพร้อมปรับตัวและเข้มแข็ง ก็จะยังมีโอกาสฟื้นคืนกลับมาแข็งแกร่งได้ หลังไวรัสผ่านพ้น
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี