“กินใจ” ถ่ายรูปแลกของกิน โปรเจกต์ดีๆ ที่เกิดในวิกฤตโควิด-19

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 


 

Main Idea
 
  • จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่การนำเมนูอาหารโฮมเมดที่ทำจากในบ้านออกมาวางขายในโลกออนไลน์ เพื่อประคองชีวิตเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้
 
  • หากพูดถึงอาหารโฮมเมดแล้ว ย่อมมั่นใจได้ถึงคุณภาพและรสชาติอาหารที่อร่อย เพราะเกิดมาจากการทำที่ใส่ใจ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ก็คือ ภาพถ่ายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความพิเศษของอาหารนั้นๆ
 
  • ด้วยเหตุนี้ “กินใจ” โปรเจกต์ดีๆ ของการถ่ายภาพอาหาร ที่ใช้ค่าตอบแทนเป็นของกินแลกภาพถ่าย จึงเกิดขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยเติมเต็มรสชาติแบบโฮมเมดให้ถูกถ่ายทอดออกมาบนภาพถ่ายได้อย่างน่าสนใจ และน่ากินมากยิ่งขึ้น
 
 


     ในขณะที่ทุกบ้านต่างงัดเมนูเด็ดออกมาทำอาหารขายในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เพื่อเอาตัวรอด สร้างรายได้เพิ่มให้กับตัวเองและครอบครัว แน่นอนว่าหากขึ้นต้นว่าเป็นอาหารโฮมเมดแล้ว ย่อมนึกถึงรสชาติที่อร่อย การทำที่ใส่ใจ เพราะปรุงออกมาจากครัวของแต่ละบ้าน แต่การจะบอกเล่าถ่ายทอดออกมาเพื่อจูงใจผู้ซื้อให้เกิดความสนใจขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องใช้ภาพถ่ายมานำเสนอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการโฮมเมดหลายคนยังขาดอยู่





     ด้วยเหตุนี้จึงทำใหช่างภาพหนุ่ม “แบงค์ - ชัยพฤกษ์ เฉลิมพลพานิช” และ “ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์” 2 ใน 4 ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนถ่ายภาพ “สังเคราะห์แสง” ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จนต้องปิดกิจการลงชั่วคราว พวกเขาคิดสร้างโปรเจกต์ดีๆ ขึ้นมาชื่อว่า “ l กิน.ใจl ” เพื่อนำประสบการณ์ความรู้จากวิชาชีพที่มีมาถ่ายภาพให้กับร้านค้าโฮมเมดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด โดยคิดค่าตอบแทนดีๆ ที่แสนกินใจเป็นของกินแลกรูปถ่ายเท่านั้น


     “ช่วงพอเจอภาวะวิกฤตโควิดกองถ่ายและกองโฆษณาที่ผมกำลังจะทำกระทบหมดเลย เพราะลูกค้าแคนเซิล อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นตกงาน โรงเรียนสอนถ่ายภาพที่ร่วมกันเปิดก็ต้องปิดลงชั่วคราว เพราะเปิดสอนไม่ได้ ทุกอย่างกระทบไปหมด พอว่างปุ๊บผมเลยลองเข้าไปที่ร้านอาหาร ซึ่งหุ้นกับเพื่อนอีกกลุ่ม เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ต้องปิดขายหน้าร้านให้คนเข้ามานั่งกินไม่ได้เหมือนกัน เอาโต๊ะมาลองตั้งทำเป็นสตูดิโอถ่ายรูปอาหารของร้านขึ้นมา บังเอิญพี่ที่สนิทกันเข้ามาเห็น ซึ่งตอนนั้นเขาก็เริ่มทำน้ำพริกโฮมเมดขายอยู่ ก็มาเลียบๆ เคียงๆ ว่าอยากให้ช่วยถ่ายภาพให้บ้าง ผมก็เลยลองจัดจานง่ายๆ เอาผัก เอาไข่ต้มมาวางคู่ ถ่ายเสร็จก็ทำกราฟฟิกใส่ราคา เบอร์โทรให้ และก็ส่งให้เขาไป วินาทีนั้นเองที่ผมได้เห็นสีหน้าเขายิ้มมีความสุข เลยเกิดความคิดอยากทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเลย เพราะรู้เลยว่าในช่วงวิกฤตแบบนี้ หลายบ้านต้องงัดเมนูเด็ดขึ้นมาทำเป็นอาหารโฮมเมดขาย แต่เขายังขาดภาพดีๆ เลยโทรไปคุยกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนและก็ทำโปรเจกต์กินใจขึ้นมาร่วมกัน” แบงค์ ชัยพฤกษ์ เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการดีๆ นี้ให้เราฟัง
               




     หลังจากที่ตกลงกันว่าจะทำโปรเจกต์ช่วยถ่ายภาพอาหารให้กับผู้ประกอบการโฮมเมดที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19  แบงก์และตุลย์ก็ได้ปรึกษากับเพื่อนๆ ในทีม โดยตั้งเกณฑ์ว่าร้านค้าต่างๆ ที่ต้องการให้พวกเขาถ่ายภาพให้นั้น 1.ต้องเป็นร้านโฮมเมดเล็กๆ และ 2.ขาดแคลนภาพเพื่อจะนำไปใช้โปรโมตสินค้า โดยค่าตอบแทนนั้นไม่ต้องมีอะไรมาก แค่อาหารที่ส่งมาให้ถ่ายเพียงเท่านั้น โดยใช้วิธีโพสต์โปรโมตในเพจของโรงเรียน รวมถึงบอกต่อเพื่อนๆ ให้ช่วยกระจายข่าว


     ซึ่งเพียงไม่นานโปรเจกต์กินใจ # 1 ก็ได้เกิดขึ้น โดยรอบแรกนั้นลองเปิดรับสมัครไปก่อน 20 ร้านค้า ร้านละ 1 -2 เมนู เมื่อได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงได้เปิดกินใจ # 2 ขึ้นมาขยายเป็น 50 ร้านค้า ซึ่งคราวนี้พวกเขาได้กระจายส่งงานต่อให้กับกลุ่มเพื่อนและนักเรียนของโรงเรียนที่มีฝีมือเข้ามาช่วยถ่ายให้อีกแรง เพื่อช่วยเหลือจำนวนร้านค้าได้มากขึ้น
               




     “จริงๆ ก็คือ เราช่วยถ่ายให้ฟรีนั่นแหละ แต่เพื่อไม่ให้เขาเคอะเขินเกินไป เราเลยตั้งเป็นกิมมิกน่ารักๆ ขึ้นมาว่า ถ่ายฟรี แต่มีข้อแม้ คือ เราจะไม่คืนของกินให้นะ มันก็เหมือนได้เป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วย เขาก็ตั้งใจทำอาหารดีๆ อยากให้เราได้ลองชิม เราก็ตั้งใจถ่ายรูปให้เขาดีๆ เพื่อให้เขาขายของได้ แต่พอเอาเข้าจริงทุกคนตั้งใจส่งมาเผื่อเกินกว่าที่จะให้ถ่ายรูปทั้งนั้น เพราะอยากให้เราได้ลองชิมด้วยจริงๆ ซึ่งเราก็ลองกินจริงๆ พอถ่ายเสร็จก็เอามาช่วยโพสต์โปรโมตในเพจให้อีกทีว่าแต่ละเมนูมีความพิเศษอะไรที่น่าสนใจบ้าง ก็เหมือนได้ช่วยเขารีวิวไปในตัว“
               

     โดยพวกเขาได้ยกตัวอย่างร้านค้าที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงความรู้สึกประทับใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการโฮมเมดต่างๆ ให้ฟังว่า
               




     “มีอยู่หลายเคสที่เราประทับใจและรู้สึกว่าการถ่ายภาพของเราได้ช่วยเหลือเขาจริงๆ อย่างเช่น พี่เล็ก เป็นคุณแม่ที่เจอวิกฤตโควิด ซึ่งทำธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ก็ได้รับผลกระทบต้องปิดทุกอย่าง พี่เขาก็เริ่มมาคิดว่าจะทำอะไรดี สุดท้ายก็นึกไปถึงเมนูโปรดของลูกสาว คือ บ๊ะจ่างและพุดดิ้งมะพร้าว เขาก็สมัครเข้ามาและส่งรูปที่มีมาให้ดู ซึ่งเป็นรูปบ๊ะจ่างที่ลูกสาววาดเอง มีข้อความเขียนสั้นๆ ว่า บ๊ะจ่าง ไส้ทะลัก ราคา 70 บาท ติดต่อได้ที่นี่นะ พอเราเห็นรูปนั้นแล้วก็รู้สึกเลยว่า เฮ้ย นี่แหละ เขาขาดรูปจากเราจริงๆ ซึ่งพอเขาส่งบ๊ะจ่างมาให้ลองถ่าย เราก็เห็นว่ามันไส้ทะลักเหมือนที่ลูกเขาวาดไว้จริงๆ แต่เขาถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายแบบนั้นไม่ได้ พอหลังจากเราโพสต์รูปขึ้นให้ รุ่งขึ้นเขาก็ส่งข้อความมาใน Inbox เพจว่า ได้ออร์เดอร์แรกแล้ว ขอบคุณมาก เป็นความรู้สึกชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก ที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ และทำให้เขารู้สึกว่าในช่วงเวลาที่แย่ๆ แบบนี้ ก็ยังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นมาได้นะ”
               




     หลังจากช่วยถ่ายภาพโปรโมตอาหารให้กับร้านค้าโฮมเมดต่างๆ ได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทั้งแบงก์และตุลย์รวมถึงเพื่อนๆ ในทีม ก็คิดต่อว่าการจะช่วยผู้ประกอบการต่างๆ เหล่านั้นให้ยั่งยืนได้ การสอนให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเอง เติบโตและเข้มแข็งได้ด้วยตนเองน่าจะดีกว่า
               

     “เฟสต่อไปที่เราคิดกัน คือ เราอยากจะถอยกลับมาในสิ่งที่เราถนัด ซึ่งเราเป็นโรงเรียนสอนถ่ายภาพ เราจึงอยากลองเปิดสอนออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าโฮมเมดต่างๆ เหล่านั้นได้มีทักษะในการถ่ายภาพเบื้องต้นด้วยตัวเอง เพราะเราคิดกันว่าต่อให้เราทำโปรเจกต์กินใจออกไปสักกี่ครั้ง ถ้าเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดที่มีก็ช่วยได้แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เอง เราจึงคิดกันว่าแต่ถ้าเราช่วยให้เขาสามารถถ่ายภาพด้วยตัวเองได้ น่าจะเป็นการดีกับเขามากกว่า เพราะจริงๆ แล้วการขายสินค้าโฮมเมดหรือขายออนไลน์ทุกวันนี้ หลักการที่ดีที่สุดที่ผู้ประกอบการควรมี คือ ต้องจบทุกอย่างให้ได้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าคุณถ่ายภาพเองได้ พรีเซ็นต์เองได้ ต่อให้มีสินค้าใหม่ออกมาทุกวัน หรือทำโปรโมชั่นทุกวัน คุณก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องไปพึ่งใคร” ทั้งสองกล่าวทิ้งท้าย
 




     และนี่คือ อีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ของการปันน้ำใจให้แก่กันที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่แสดงให้เห็นว่าในขณะที่หลายคนอาจกำลังท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจอยู่ คุณไม่ได้สู้เพียงลำพังคนเดียว แต่ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกัน และหากวันใดถ้าคุณเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว ก็อย่าลืมส่งต่อกำลังใจกลับไปให้คนอื่นบ้างล่ะ


 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย