TEXT : นิตยา สุเรียมมา
Main Idea
- ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ความนิยมในการบริโภคอาหารจากพืช หรือ Plant-Based ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งทั่วโลกและในเมืองไทย เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว การงดบริโภคเนื้อสัตว์ ยังช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
- ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการฆ่าสัตว์แล้ว รสชาติ และกลิ่นที่ปรุงขึ้นมา ก็แทบจะไม่แตกต่างจากการบริโภคเนื้อสัตว์จริงๆ เลย จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ยังชื่นชอบการบริโภคเนื้อ แต่ขณะเดียวกันก็อยากช่วยดูแลโลกใบนี้ไปพร้อมกันด้วย
- แต่การผลิต Plant-Based ส่วนใหญ่นั้น ยังอยู่ในยุโรปและอเมริกามากกว่า การนำเข้ามาจึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง “Let’s Plant Meat” แบรนด์เบอร์เกอร์เนื้อจากพืชสัญชาติไทยเจ้าแรก จึงได้เข้ามาช่วยตอบโจทย์ ทั้งรสชาติที่เสมือนกับการได้กินเบอร์เกอร์เนื้อจริงๆ และราคาที่จับต้องได้ เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย
มาบริโภคเนื้อจากพืชกันเถอะ!
ว่ากันว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ คือ หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน? โดยเคยมีรายงานกล่าวไว้ว่ากระบวนการผลิตอาหารบนโลกนั้นได้สร้างให้เกิดก๊าซเรือนกระจกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยในจำนวนนี้กว่าครึ่งมาจากการทำปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนมาก ซึ่งในเว็บไซต์ The New Yorker ถึงกับเคยมีบทความเขียนเปรียบเทียบว่า การบริโภคเนื้อวัว 1.8 กิโลกรัม ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เท่าๆ กับการนั่งเครื่องบินจากนิวยอร์กไปกรุงลอนดอนเลยทีเดียว
นอกจากนี้การเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคขึ้นมาสักตัวหนึ่ง ยังต้องใช้ทรัพยากรมากมาย ไม่ว่าอาหาร น้ำ และพื้นที่การทำฟาร์ม ซึ่งได้มาจากการทำลายป่า
จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จึงทำให้ปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายคนหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง จึงทำให้อาหารในกลุ่มของเจ มังสวิรัติ และวีแกนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ไปจนถึงนวัตกรรมใหม่อย่างการผลิตเนื้อสัตว์เทียมที่ทำมาจากพืช หรือที่เรียกว่า “Plant-Based Meat” ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่นั้นยังอยู่ในแถบประเทศยุโรปและอเมริกา จึงทำให้ต้องนำเข้าและมีราคาแพง
จากปัญหาหมอกควัน สู่นวัตกรรมเนื้อจากพืช
‘นิธิฟู้ดส์’ บริษัทผู้ผลิตเครื่องเทศ เครื่องปรุงรสชั้นนำ และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร จากจังหวัดเชียงใหม่ ได้คิดค้นเนื้อจากพืชขึ้นมา โดยผลิตออกมาในรูปของเบอร์เกอร์เนื้อจากพืชเจ้าแรกในไทย เพื่อตอบโจทย์ชาววีแกนและผู้บริโภคสายกรีนที่อยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากการที่เราอยู่เชียงใหม่หลายปีที่ผ่านมาได้เห็นปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าเพื่อทำพื้นที่เพาะปลูก โดยพืชส่วนหนึ่งที่เพาะปลูก ก็เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นเราจึงคิดว่าหากสามารถลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทาง ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมาได้ลองกินอาหารมังสวิรัติและวีแกนด้วย รวมถึงศึกษางานวิจัยจากต่างประเทศได้เห็นหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาเริ่มมีการผลิตเนื้อจากพืชมาทดแทนมากขึ้น โดยรูปร่างหน้าตา รสชาติ เหมือนกับเนื้อสัตว์เลย ก็เลยสนใจอยากลองผลิตขึ้นมาบ้าง เพราะเราก็เป็นองค์กรวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นนวัตกรรมด้านอาหารอยู่แล้ว เลยคุยกันกับทีมงานและทดลองทำมาเมื่อ 15 เดือนที่แล้ว จากวันที่ไม่รู้อะไรเลย จนวันหนึ่งสามารถผลิตออกมาเป็นสินค้าวางจำหน่ายได้สำเร็จ” สมิต ทวีเลิศนิธิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์ เล็ท แพล็น มีท เล่าที่มาให้ฟัง
โดยนวัตกรรมเนื้อสัตว์จากพืชที่เขาเลือกผลิตขึ้นนั้น ถูกทำในรูปแบบของเบอร์เกอร์เนื้อจากพืชที่มีชื่อแบรนด์เก๋ๆว่า “Let’s Plant Meat” (เล็ท แพล็น มีท) เพื่อให้สามารถรับประทานได้ง่าย พกพาได้สะดวก ซึ่งหากเป็นราคาปกติของเบอร์เกอร์เนื้อจากพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศจะอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 150 บาท หรือหากเป็นราคาเบอร์เกอร์เนื้อสัตว์ทั่วไปที่มีคุณภาพระดับพรีเมียมแบบนี้ก็ตกชิ้นละ 200 – 300 บาทเลยทีเดียว แต่สำหรับเบอร์เกอร์ Let’s Plant Meat จากที่ผลิตขึ้นเองได้ในประเทศ ทำให้ต้นทุนถูกลง จึงจำหน่ายได้ในราคาที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือเพียงชิ้นละ 75 บาทเท่านั้น
เจาะกลุ่มผู้บริโภคสายเนื้อ ขยายตลาดสู่วงกว้าง
โดยเบอร์เกอร์เนื้อจากพืช Let’s Plant Meat นั้น ทำจากส่วนประกอบหลัก คือ ถั่วเหลือง ข้าว ที่เหลือคือ ส่วนผสมให้เกิดรสชาติ กลิ่น สี ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ โดยตั้งเป้าจะขยายตลาดไม่ใช่เฉพาะกลุ่มลูกค้าชาววีแกนหรือผู้ที่ทานมังสวิรัติเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำ เพื่อให้ได้ลองหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชดูบ้าง โดยมองว่าหากสามารถทำได้สำเร็จก็จะช่วยลดการบริโภคเนื้อสัตว์และปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นทีเดียว
“วัตถุประสงค์ของเราไม่ได้ต้องการจะขายแค่ชาววีแกน หรือผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติเท่านั้น เพราะหากจะนับสัดส่วนในตลาดธุรกิจอาหารแล้วยังเป็นส่วนน้อยเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เราอยากนำเสนอให้กับกลุ่มคนที่บริโภคเนื้อสัตว์อยู่แล้วในชีวิตประจำวันได้ลองหันมาบริโภคเนื้อจากพืชดูบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับตัวเอง อย่างบางคนอาจเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพให้กระเพาะและระบบย่อยทำงานได้ดีขึ้น บางคนกินเพื่อทำบุญลดการฆ่าสัตว์ หรือแม้แต่เพื่อสิ่งแวดล้อม อยากให้เขาได้ลองเปิดใจและตระหนักถึงสิ่งที่รับประทานเข้าไปว่าบริโภคอย่างไรให้โลกเราอยู่ได้นานขึ้นบ้างเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป” เขาบอก
ต่อยอดเป็นวัตถุดิบ ป้อนส่งโรงแรม ร้านอาหาร
สมิตได้จับมือร่วมกับ บริษัท จาโกต้า บราเดอร์ส เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายเบอร์เกอร์ Let’s Plant Meat ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายแล้วที่ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต เชียงใหม่, เทสโก้ โลตัสทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด, กูร์เมต์มาร์เก็ต, โฮมเฟรชมาร์ท ในเครือเดอะมอลล์, แม็กซ์แวลู และจาโกต้า กูร์เมต์ และอีกหลายๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของประเทศไทย
ในอนาคตนั้น สมิตกล่าวว่า เขาไม่ได้มองแค่การผลิตเบอร์เกอร์เพียงอย่างเดียว เพราะรู้ว่าด้วยวิถีคนไทยไม่ได้นิยมบริโภคเบอร์เกอร์กันเป็นประจำอยู่แล้ว จึงคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้ตอบโจทย์มากขึ้น เช่น อาจทำเป็นรูปแบบของเนื้อบด เนื้อยางเสียบไม้ และไส้กรอกจากพืชให้มากขึ้น รวมถึงการขยายผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับโรงแรมร้านอาหารต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้นนั่นเอง
“เราไม่ได้มองแค่ผู้บริโภคอย่างเดียว แต่ยังมองโอกาสขยายต่อยอดไปถึงการส่งเป็นวัตถุดิบหรือผลิตแบรนด์สินค้าให้กับโรงแรมและร้านอาหารที่สนใจด้วย เพื่อกระจายทางเลือกออกไปให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งถ้าเราช่วยกันทุกภาคส่วนไม่ว่าบริษัทเล็กหรือใหญ่ ทำเรื่องนี้ออกมามากขึ้น ตั้งแต่โรงงานผู้ผลิตอาหาร พ่อครัวในการปรุงรสให้อร่อย ราคาจับต้องได้ โรงแรมร้านอาหารต่างๆ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันได้ก็น่าจะทำให้ตลาดนี้ได้รับความนิยม และยังเป็นการสร้างตลาดทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมและตัวเราเองด้วย” สมิตกล่าวทิ้งท้าย
จากการรายงานมูลค่าตลาดในเอเชียแปซิฟิกของสินค้าประเภทเนื้อจากพืชในปีที่ผ่านมา พบว่าอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 3,500 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตเฉลี่ย 12 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่ตลาดเนื้อสัตว์เติบโตขึ้นเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น ฟังดูแล้วอนาคตธุรกิจของ Let’s Plant Meat และสินค้าเนื้อจากพืชอื่นๆ หรือ Plant-Based Meat น่าจะสดใสได้อย่างแน่นอน...
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี