พลิกไวรัสเป็นโอกาส! SOdA PrintinG ปรับธุรกิจสิ่งพิมพ์สู่หน้ากากผ้าแฟชั่นสุดฮิต

TEXT : กองบรรณาธิการ
 

 

Main Idea
 
  • ในวิกฤตมีโอกาสเสมอสำหรับคนที่มองเห็น และเลือกรับมือกับวิกฤตนั้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับ SOdA PrintinG ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่น่าจะกลายเป็นขาลง แต่สามารถพลิกมาทำหน้ากากผ้าสุดชิกที่วัยรุ่นสุดปลื้มได้อย่างเยี่ยมยุทธ์
 
  • การปรับตัวของพวกเขาไม่เพียงแจ้งเกิดธุรกิจใหม่ ทำให้กิจการยังคงอยู่รอดในวิกฤต แต่ทว่ายังช่วยรักษาพนักงานให้ยังมีงานทำ ช่วยให้คนในพื้นที่มีรายได้ เพื่อนำพาทุกคนข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
 



     ก่อนหน้าที่จะมีโควิด “ธุรกิจสิ่งพิมพ์” ก็ไม่ได้หอมหวานมานานแล้ว


     นี่คือ ความจริงที่สองพี่น้องอย่าง “ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์” และ “ธวัชชัย สหัสสพาศน์” ผู้ให้กำเนิด “เจ๊กเม้ง” ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อชื่อดังเมืองเพชรบุรี เจ้าของคอนเซ็ปต์ หน้าไม่งอรอไม่นาน ซึ่งมีอีกธุรกิจคือ SOdA PrintinG ธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังเผชิญอยู่





     แต่การเป็นนักกลยุทธ์ ที่เดินเกมธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ และความแตกต่าง ทำให้ที่ผ่านมา SOdA PrintinG ยังคงปรับตัวอยู่รอด ด้วยการสร้างจุดขายใหม่ โดยมาเจาะกลุ่มตลาดของขวัญ วางตัวเองเป็น ‘ของขวัญแบบนี้มีชิ้นเดียวในโลก’ สินค้าที่เป็นพระเอกคือการพิมพ์ภาพที่ต้องการลงบนผ้าใบแคนวาส เพื่อมอบเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด วันวาเลนไทน์ วันรับปริญญา ฯลฯ ปลุกธุรกิจที่กำลังจะจากไปให้กลับมารุ่งโรจน์ได้อีกครั้ง


     แต่ไม่ใช่กับวันนี้...วันที่ทั้งโลกมีศัตรูตัวร้ายที่ชื่อ โควิด-19 เดินทางมาเยี่ยมเยือน และพ่นพิษใส่ธุรกิจต่างๆ จนบอบช้ำไปถ้วนหน้า
 



 
  • เมื่อหน้ากาก จำเป็นมากกว่าของขวัญ
               
     หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 พ่นพิษไปทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตามมาด้วยมาตรการในการรับมือต่างๆ ทำให้ธุรกิจชื่อดังแห่งเมืองเพชรบุรี ได้รับผลกระทบ เริ่มจากร้านอาหารที่ลูกค้าส่วนใหญ่คือทัวร์จีน ขณะที่ระบบเดลิเวอรีในจังหวัดก็ยังไม่แพร่หลาย พวกเขาจึงตัดสินใจปิดร้านลงชั่วคราว โดยที่ลูกจ้างที่มีอยู่ในทั้งสองธุรกิจราว 120 คน ก็ต้องหยุดงานตามไปด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่พวกเขาต้องคิดหาทางปรับธุรกิจให้สามารถไปต่อได้ เพื่อประคองพนักงานให้ยังคงมีงานทำ และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
               

     แต่โจทย์ครั้งนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนทุกครั้ง เพราะผู้คนไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่อยากจะมอบขวัญให้กัน เกมรุกจึงต้องเปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง
               




     “แทนที่จะเล่นในตลาดของขวัญแบบเดิม เราก็กลับมาดูที่ทรัพยากรที่มีอยู่ นั่นก็คือเครื่องพิมพ์ที่สามารถผลิตงานพิมพ์ผ้าได้อย่างมีคุณภาพ และมีแรงงานที่พร้อมทำงานจากที่บ้านได้ กอปรกับจุดแข็งของธุรกิจเดิม นั่นคือ ฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น ที่เรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความต้องการของพวกเขา รวมทั้งสถานการณ์ที่บีบคั้นให้ผู้คนต้องปรับตัวในการใช้ชีวิต ด้วยการใส่แมสก์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงเบนเข็มมาพัฒนาแมสก์เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่น” ดร.ธีรศานต์ บอกกับเราถึงเกมรุกใหม่ของพวกเขา
               



 
  • ไม่ใช่แค่ทำสินค้าจำเป็น แต่ต้องเข้าใจลูกค้าด้วย

     แม้ชัดเจนว่าลูกค้าคือกลุ่มวัยรุ่น และพวกเขาก็ทำตลาดกับกลุ่มนี้มานาน แต่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ไม่ได้คิดแค่ผลิตสินค้า แต่เริ่มจากหา Pain Point ที่มี แล้วคิดสินค้าที่จะมาตอบปัญหาเหล่านั้น


     “เราพบว่าการใส่แมสก์ของกลุ่มวัยรุ่นมีความละเอียดอ่อนกว่าที่ใครๆ คิด ปัญหาที่สำคัญเป็นเรื่องของความอึดอัดในการสวมใส่ ใส่แล้วทำให้เครื่องสำอางเลอะเทอะ หายใจแล้วมีไอน้ำเกาะแว่น ที่สำคัญคือใส่แล้วทำให้รูปหน้าดูไม่สวย พวกเราจึงปรับมาทำสินค้าที่ช่วยแก้ไขจุดบกพร่องเหล่านี้ โดยการพัฒนาแมสก์ผ้าของ SOdA PrintinG ให้มีคุณภาพ ตอบโจทย์การใช้งานของวัยรุ่นได้อย่างแท้จริง วัสดุมีคุณภาพ น้ำหนักเบา สวมใส่แล้วไม่อึดอัด หายใจสะดวกกว่าแมสก์ผ้าทั่วไป โดยไม่ทำให้มีไอน้ำเกาะแว่นตา รวมทั้งมีความสวยงาม รูปทรงที่เข้ากับใบหน้า และลวดลายที่พิมพ์ลงบนผ้าก็มีความสวยงามอีกด้วย” พวกเขาบอกจุดขายของแบรนด์ที่เพิ่งเข้ามาสู่ตลาดหน้ากากผ้าเป็นครั้งแรก
 



 
  • ธุรกิจอยู่ได้ พนักงานได้ไปต่อ ช่วยสร้างงานให้ท้องถิ่นด้วย

     การปรับตัวอย่างรวดเร็วของ SOdA PrintinG ในครั้งนี้ บวกความเชี่ยวชาญจากการทำการตลาดออนไลน์ ทำให้สินค้าของพวกเขากลายเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นในเวลารวดเร็ว ธุรกิจค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกความต้องการกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น นั่นเองที่นำมาสู่การจ้างงานจ้างอาชีพให้กับคนในเพชรบุรีตามมา


     “นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหม่สำหรับธุรกิจ ที่เราสามารถตีโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นได้ แต่ความสำเร็จที่สำคัญกว่าคือการทำให้เราสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวเพชรบุรีด้วย โดยหลังจากที่วัสดุในการผลิตถูกพิมพ์ออกจากโรงงานแล้ว จะถูกรับไปตัดเย็บจากชาวบ้าน และส่งกลับมาเพื่อทำความสะอาดและตรวจสอบคุณภาพก่อนการจัดจำหน่าย ปัจจุบันเรามีเครือข่ายของพนักงานและลูกจ้างเดิม รวมทั้งผู้ที่ต้องการมีรายได้ในช่วงโควิดที่รับงานไปตัดเย็บอยู่ราว 400 คน แต่ละคนสามารถตัดเย็บแมสก์ผ้าได้ประมาณ 50-100 ชิ้นต่อวัน ขึ้นอยู่กับความชำนาญ ทำให้พวกเขามีรายได้หลักพันต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำกว่าเท่าตัว ทั้งยังสามารถทำงานจากที่บ้านได้อีกด้วย” ธวัชชัย บอกความสำเร็จที่เกิดขึ้น
               



 
  • เปลี่ยนไวรัส สู่โอกาส สร้างการเติบโตในอนาคต

     หน้ากากสุดชิกที่วัยรุ่นสุดปลื้ม เริ่มต้นผลิตได้สัปดาห์ละ 2,000 ชิ้น ปัจจุบัน SOdA PrintinG สามารถขยายกำลังผลิตในการเย็บได้ถึงสัปดาห์ละ 30,000 ชิ้น แม้จะสามารถพิมพ์ได้ถึง 15,000 ชิ้นต่อวัน แต่ด้วยข้อจำกัดที่ต้องอาศัยฝีมือแรงงานในการตัดเย็บเลยยังผลิตได้จำนวนจำกัด


     “เรามองเห็นโอกาสในการเติบโตมากขึ้นจากการรับจ้างผลิต นอกเหนือจากการขายส่งผ่านตัวแทนและขายปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันเรามีส่วนหนึ่งที่รับจ้างผลิตเพิ่มเติม เพื่อให้แบรนด์หรือธุรกิจที่สนใจได้นำไปเป็นสินค้าใหม่วางจำหน่ายด้วย เพื่อมอบให้กับพนักงานหรือลูกค้า รวมทั้งเป็นของที่ระลึกหรือของขวัญที่จะมอบให้กันในช่วงนี้ ตลอดจนเหล่านักออกแบบและศิลปินที่อยากจะต่อยอดผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองเพื่อพิมพ์ลงบนแมสก์ผ้า ก็สามารถสั่งผลิตจากเราได้ตามความต้องการเช่นกัน” พวกเขาบอกโอกาสที่ตามมา จากการพัฒนาไม่หยุด และตอบโจทย์ได้ทุกปัญหาของลูกค้า





     โดยปัจจุบันลูกค้าสามารถสั่งซื้อแมสก์ผ้าแฟชั่นหรือสั่งผลิตแมสก์ผ้าพิมพ์ลายได้อย่างสะดวก ผ่านทาง SOdAPrintinG.com รวมทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของแบรนด์ ซึ่ง SME รายใดที่สนใจสร้างแบรนด์หน้ากากผ้าของตัวเอง แต่มีข้อจำกัดด้านการผลิต ก็สามารถไปใช้บริการของพวกเขาได้
               
               
     และนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของคนที่เลือกแก้เกมวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการมองอุปสรรคให้เป็นความท้าทาย และหาช่องทางที่จะไปต่อ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงส่งถึงธุรกิจของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้คนมีงานทำ พนักงานมีรายได้ หล่อเลี้ยงกิจการให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตต่อไปได้
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย