GEMIO รองเท้ารักษ์โลกแบบ Upcycle ยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลงด้วยนวัตกรรม

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา
 
 



 
Main Idea
 
  • ต้องยอมรับความจริงว่า หนึ่งในต้นเหตุที่สร้างปัญหาขยะล้นโลก มาจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่หลายๆ ครั้งมักถูกมองว่าเป็นธุรกิจผลิตขยะตัวดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความพยายามของหลายๆ แบรนด์ ที่คิดนำเอาขยะมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ซึ่งยังคงคุณค่าและสวยงามในแบบของตัวเองไว้ได้อย่างลงตัว
 
  • เช่นเดียว GEMIO แบรนด์รองเท้าของคนยุคใหม่ ที่ได้มีการนำเอาขยะจากโรงงานของตัวเองอย่างเศษผ้าเหลือทิ้งมาผสมกับยางพาราเพื่อนำไปขึ้นรูปเป็นพื้นรองเท้าคุณสมบัติพิเศษ จนออกมาเป็น GEMIO รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดูดีมีสไตล์แถมยังดีต่อโลกอีกด้วย
 




     ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมักจะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบความเป็น ECO อยู่เสมอ ยิ่งในปัจจุบันผู้คนให้ความใส่ใจกับปัญหาภาวะโลกร้อน และวิกฤตขยะล้นโลกมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้สินค้าเหล่านี้ถูกจับตามอง เพราะธุรกิจที่ดีต่อโลกนั้นไม่เพียงทำให้ขยะลดลงหรือมลภาวะหายไปเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริงอีกด้วย          





     “GEMIO” เป็นหนึ่งในแบรนด์รองเท้าไทยที่เล็งเห็นถึงปัญหาขยะ และพยายามแก้ไขในแบบของตัวเอง โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นกลายเป็นตัวอย่างของธุรกิจรักษ์โลก พยายามจุดกระแสเพื่อให้ผู้คนสนใจความเป็น ECO มากขึ้น จึงก่อเกิดเป็นแบรนด์รองเท้าของคนยุคใหม่ที่มีทั้งแฟชั่นและฟังก์ชั่นครบจบในคู่เดียว! ผู้ร่วมก่อตั้งของธุรกิจน้ำดี คือ “อภิกษณา” และ “อัครชัย” เตชะวีรภัทร สองพี่น้องที่เข้ามาสานต่อกิจการโรงงานรองเท้าของพ่อ ซึ่งอยู่มานานกว่า 50 ปี
 

     “คุณพ่อทำโรงงานมากว่า 50 ปีแล้ว ส่วนรุ่นของพวกเราเหมือนมาสานต่อสิ่งที่พ่อทำ โดยโรงงานของเราทำรองเท้าเป็นงานทำมือในระบบวัลคาไนซ์ (Vulcanization) หรือระบบที่จะใช้ยางดิบมาขึ้นรูปเป็นแผ่นยางแล้วนำมารีดให้กลายพื้นรองเท้า โดยกระบวนการทำต้องใช้มือรีดออกมาเรียกได้ว่าเป็นการประกอบด้วยมือและนำไปเอาเข้าเตาอบเพื่อให้ยางเซ็ตตัวจึงจะเอาออกมาใช้งานได้ ซึ่งระบบวัลคาไนซ์นั้นจะทำให้ยางมีความทนทานต่างจากการทำรองเท้าในแบบฉีดให้ขึ้นรูปทั่วไป”





     โรงงานของผู้เป็นพ่อ นอกจากจะมีแบรนด์เป็นของตัวเองแล้วยังมีการรับทำรองเท้าให้กับแบรนด์วัยรุ่นใน IG หรือแบรนด์รองเท้าแฟชั่นอีกด้วย ซึ่งทายาทมองว่า โรงงานแห่งนี้มีศักยภาพในการทำรองเท้าแฟชั่นเป็นอย่างมาก และเมื่อวันที่ต้องสานต่อจึงได้พัฒนานวัตกรรม การผลิตด้วยระบบวัลคาไนซ์ที่สามารถนำเศษยางมาผสมใหม่ แล้วมาบวกกับเศษผ้าทอที่เหลือจากการนำมาประกอบรองเท้า เพื่อขึ้นรูปให้กลายพื้นรองเท้าแบบใหม่ จนเกิดเป็นแบรนด์ GEMIO อย่างในปัจจุบัน


     “เรามองว่ายางของเรานั้นนอกจากจะนำมาผสมใหม่ได้อีกครั้งโดยที่คุณสมบัติยังคงเดิมแล้ว ยังสามารถทำสีหรือเพิ่มวัสดุอื่นๆ เข้าไปได้อีกด้วย อีกทั้งยังเห็นว่าในกระบวนการทำรองเท้าในขั้นตอนการตัดผ้าเพื่อขึ้นรูปรองเท้านั้นก่อให้เกิดเศษผ้าจำนวนมาก จึงเริ่มทดลองเอายางพารากับเศษผ้าที่เหลือจากการขึ้นรูปนี้มาผสมกัน จนกลายเป็นนวัตกรรมยางพาราผสมเส้นใยธรรมชาติที่มาพร้อมคุณสมบัติมากมาย จากการทดสอบพบว่า ยางเหล่านี้มีความทนทานมากขึ้น กันลื่นได้ดี ไม่เปียกน้ำ ซึ่งกระบวนการนี้จะสามารถยืดอายุขยะให้ช้าลงได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ดังนั้นเราจึงนำมาเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์” ทายาทเล่า





     GEMIO  เลือกซื้อยางพารากับสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และยังใช้ความชอบของทั้งสองคนที่หลงใหลในความสวยงามของผ้าทอเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทยที่มีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว ผ้าทอมือ ผ้าย้อมสีธรรมชาติลวดลายต่างๆ โดยไม่ได้เจาะจงว่าต้องมาจากชุมชนไหน


     ส่วนการดีไซน์นั้นพยายามทำให้รองเท้าไม่ออกมาในรูปแบบไทยจ๋า เพราะหลายครั้งที่รองเท้ารักษ์โลกหรือรองเท้าเพื่อสุขภาพมักจะมีภาพลักษณ์ไม่ทันสมัย ดังนั้นจึงเลือกสร้างสรรค์รองเท้าให้สามารถนำมามิกซ์แอนด์แมทช์กับเสื้อผ้าได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางการแบบใส่สูท หรือแบบไม่เป็นทางการก็สามารถสวมใส่ได้





     อีกหนึ่งเป้าหมายของแบรนด์คือเมื่อลูกค้าใส่รองเท้า GEMIO แล้ว สีสันและรองเท้าจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ เพราะรูปแบบและสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร บวกกับแฟชั่นไทยร่วมสมัยที่รองเท้าบางรุ่นก็มีแค่คู่เดียวในโลก ในขณะเดียวกันทางแบรนด์ยังคำนึงถึงความสะดวกสบายของสวมใส่ทั้งของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดของการเป็นรองเท้า


     “ต้องบอกว่าเราทำ ECO มานานแล้ว แต่สมัยก่อน ECO ไม่ค่อยมีคนเข้าใจเยอะมากนัก แต่ในตอนนี้เราต้องการเป็นตัวอย่างที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักในเรื่องการดูแลรักษาธรรมชาติมากขึ้น ธุรกิจของเราอาจไม่ได้ออกไปช่วยเก็บขยะ แต่เราจะทำให้โรงงานไม่ต้องทิ้งเศษขยะออกไปเป็นภาระของโลก แถมโรงงานของเรายังถูกรับรองด้วย GI - Green Industry โรงงานสีเขียว และนวัตกรรมยางพาราผสมเศษผ้า หรือ ยางนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยังได้รับมาตรฐาน G หรือ G production จากกรมสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นี่คือ วิธีหนึ่งที่เราจะช่วยธรรมชาติด้วยการนำขยะกลับมาเป็นวัสดุใหม่ ซึ่งในตอนนี้เราก็มีแผนในการต่อยอด คือผลิตภัณฑ์ของเราจะไม่ได้มีแค่รองเท้าอย่างเดียว แต่จะมีกระเป๋าใส่เหรียญ กระเป๋าแว่นตา กระเป๋าในรูปแบบต่างๆ ที่ทำจากยางพวกนี้ ด้วยคุณสมบัติเรื่องความทนทานจึงทำให้เวลาตกจะไม่แตก แถมยังสามารถนำไปล้างแล้วเอามาใช้ใหม่ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเปื่อยยุ่ยอีกด้วย”





     นอกจากนี้ GEMIO ยังมีแผนที่จะนำวัสดุเหลือทิ้งหรือขยะในรูปแบบอื่นๆ มาผสมรวมกับยางเพื่อสร้างเป็นวัสดุชิ้นใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหล่านั้น ที่ทำคัญคือการช่วยยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลงได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
 

     GEMIO เป็นอีกตัวอย่างของแบรนด์รักษ์โลก ที่ใช้จุดแข็งของตัวเองมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้ทั้งแฟชั่นและฟังก์ชั่นการใช้งาน อีกทั้งยังเลือกวางตัวเองให้เป็นมิตรกับโลก เพื่อร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขยะล้นโลก เพื่อสร้างธุรกิจยั่งยืนเคียงคู่ผู้คนและโลกใบนี้
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย