เปิดวิชั่น “จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์” พลิกเกมเฟอร์นิเจอร์ไทย ผงาดในโลกยุค New Normal

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand





Main Idea
 
 
  • วันนี้ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทยอาจกำลังบาดเจ็บจากวิกฤตไวรัส แต่ในวันที่ทุกอย่างสงบลง นั่นคือโอกาสที่จะได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ด้วยกลยุทธ์ใหม่ และ Mindset ที่แปรเปลี่ยน จากเคยกินอิ่ม อาจต้องสมถะลง อยู่แบบพอเพียงและรักษาสมดุลมากขึ้น และคำนึงถึงโจทย์ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจยุค New Normal
 
  • SME Thailand พูดคุยกับ “จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ ผู้บริหารแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ “ดีสวัสดิ์” (DEESAWAT) ประธานสมาคมกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทย และนายกสมาคมธุรกิจไม้ เพื่อร่วมสะท้อนอนาคตและหนทางอยู่รอดของธุรกิจไทยในวันโลกเปลี่ยน 





      หลังโควิด-19 ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไทยจะเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างไร?


       จิรวัฒน์ : ที่ผ่านมาตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของบ้านเรา คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ รวมถึงตลาดอื่นๆ อย่างเพื่อนบ้าน ก็น่าสนใจมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีชายแดนติดกับเรา อย่าง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา รอบๆ นี้ เพราะประเทศเขาโตขึ้น เฟอร์นิเจอร์ในประเทศก็ยังไม่แข็งแรง โลจิสติกส์เราก็ถูก ฉะนั้นเรายังใช้ประโยชน์จากตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้อยู่ รวมถึงตลาดภายในประเทศเองก็ยังมีโอกาส เนื่องจากสินค้าเรามีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม ผมไม่ได้บอกว่าถูกที่สุดนะ แต่เหมาะสม นี่จึงยังเป็นโอกาสอยู่


       แต่หลังโควิดผมเชื่อว่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังประเทศอย่าง  อเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น จะเติบโตในระดับที่เล็กลงมาก แน่นอนว่าเราจะไม่กินอิ่มเหมือนเดิม จากเคยกินเยอะๆ ในช่วงนี้อาจจะต้องหัดสมถะลง อยู่แบบพอเพียงมากขึ้น เพราะว่าตลาดจะเล็กลงมาก ธุรกิจจะต้องมีสมดุลมากขึ้น ไม่ใช่แย่งกันโตเหมือนที่ผ่านมา โดย KPI ที่ใช้วัดการเติบโตในอนาคตมันจะไม่ใช่ในเรื่องของยอดขายหรือการขยายตัวของธุรกิจ แต่จะเป็นเรื่องของการจัดสมดุล ความเหมาะสม มีขนาดธุรกิจกำลังดี สามารถบริหารจัดการคนของตัวเองได้ดี มีศักยภาพในเรื่องของการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย พวกนี้จะเป็นโจทย์ที่สำคัญมากในอนาคต
 




      หมายความว่าโมเดลการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หลังจากนี้อาจจะเปลี่ยนไป?


       จิรวัฒน์ : โมเดลเปลี่ยนแน่นอน ขนาดสังคมไทยในปัจจุบันยังเปลี่ยนเลย ดูได้จากการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ไม่น่าเชื่อว่าสังคมไทยจะสร้างระบบระเบียบขึ้นมาได้ดีขนาดนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤต อาจจะเซอร์ไพรส์ว่าดีกว่าญี่ปุ่นช่วงนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นการทำธุรกิจโมเดลเปลี่ยนแน่นอน


      ผมคิดว่าคนจะกลับมาสู่สมดุลมากขึ้น มองเรื่องของการใช้ชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) ความสมถะ ความพอเพียง ความเหมาะสม ความสะอาด การตระหนักถึงสุขภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลับเข้ามาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการจัดการ และการทำธุรกิจให้เหมาะสมมากขึ้น


       ในส่วนของธุรกิจสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การหันมาศึกษาเรื่องของออนไลน์มากขึ้น เพราะว่าในช่วงโควิดจะเห็นเลยว่าธุรกิจที่ไปต่อได้ก็คือออนไลน์เท่านั้น ฉะนั้นเห็นแล้วว่าออนไลน์มีประโยชน์ ซึ่งตอนนี้มันมีแอปพลิเคชัน เครื่องมือใหม่ๆ มีเว็บไซต์ และเรื่องของออนไลน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เราก็มีหน้าที่ศึกษา และวางแผนการขายทางออนไลน์ให้มากขึ้น มีระบบระเบียบเรื่องออนไลน์ที่ชัดเจนขึ้น


      อีกเรื่องหนึ่งคือการสร้างชุมชน (Community) ให้เกิดขึ้น อย่างวันนี้จะเห็นเลยว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีแพลตฟอร์มของตัวเอง อนาคตจะเป็นเรื่องของธุรกิจที่จะเชื่อมโยงกันเองมากขึ้น ผมรู้จักคุณในฐานะเป็นพี่น้องที่มหาวิทยาลัย หรือรู้จักกันเพราะเคยไปลงเรียนด้วยกัน ไปร่วมโครงการต่างๆ ด้วยกัน สิ่งนี้จะทำให้เกิดเป็น Community เล็กๆ และแต่ละคนจะซัพพอร์ทกันใน Community นี้


      นอกจากนี้การตลาดทางตรง (Direct Marketing) หรือการตลาดที่ไปสู่ผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านคนกลางจะมีมากขึ้น จากเมื่อก่อนเราจะเห็นว่ามีคนกลางเต็มไปหมด แต่วันนี้แม้แต่คนที่ปลูกต้นมะม่วงขายก็ขายตรงให้ลูกค้าได้เลย ฉะนั้นมันเกิดช่องทางการขายใหม่ๆ ซึ่งในอดีตอาจจะไม่ค่อยได้เห็นกัน เราก็ต้องอยู่กับระบบใหม่นี้ให้ได้ โจทย์คือธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะสร้าง Community ใหม่นี้ขึ้นมาอย่างไร สร้างแพลตฟอร์ม หรือโอกาสจากตรงนี้อย่างไร
อย่างดีสวัสดิ์เอง เราเป็นผู้ผลิต ก็สามารถที่จะสร้างจุดเชื่อมไปยังผู้บริโภคโดยตรงได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้ถ้าคุณไม่สนใจ หรือไม่พยายามพัฒนาตัวเอง ก็อาจเสียโอกาสไปได้
 





      วันนี้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เจอวิกฤต มองว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวนานหรือไม่ และอนาคตของเฟอร์นิเจอร์ไทยจะเป็นอย่างไรในวันที่คนเข้าสู่วิถีใหม่
New Normal?


      จิรวัฒน์ : ผมยังมองในมุมบวกนะ อย่างที่บอกว่า พอตีโจทย์เรื่องของความสะอาดหรือสิ่งที่คนตระหนักในอนาคต ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็ยังตอบโจทย์อยู่ แต่ในอนาคตธุรกิจจะกลับไปสู่ความสมถะและสมดุลมากขึ้น จากเมื่อก่อนเราอาจออกแบบให้ฟุ้งเฟ้อ แต่จากนี้โปรดักต์จะกลับมาสู่ความเรียบง่ายมากขึ้น ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าขึ้น ผมเชื่อว่าคนจะมองถึงความสูญเสียต่างๆ มากขึ้น แต่อย่างไรเขาก็จะยังใช้อยู่ดี จึงเชื่อว่าตลาดไม่ได้เล็กลง และยังมีโอกาสเติบโตได้อยู่


      เพียงแต่ตอนนี้เราเจอวิกฤต ตลาดเลยอาจจะหยุดนิ่งไปสักพัก  แต่พอผ่านไปทุกอย่างจะกลับมาเอง ผมให้เวลาไว้ 2 ปี 1 ปีแรกคือให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวก่อน เพราะเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่สิ่งแรกที่คนจะนึกถึง แต่จะเป็นสิ่งที่ 2  อย่างเขาสร้างบ้านขึ้นมา บ้านเสร็จแล้ว 1 ปี เฟอร์นิเจอร์ถึงจะเข้าไป เพราะฉะนั้นผมมองว่า กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้จะเป็นเฟสที่ 2 ที่จะฟื้นกลับมา เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้เราต้องประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดให้ได้ใน 2 ปี คือปีนี้ถึงสิ้นปี แล้วปีหน้าทั้งปี ถ้าสามารถประคับประคองไปได้ ผมเชื่อว่าหลังปี 2022  ธุรกิจน่าจะกลับมาเป็นปกติในรูปแบบใหม่ของมัน แบบที่เหมาะสมขึ้น สมดุลขึ้น ซึ่งคนที่อยู่ตรงนั้นในวันนั้นก็จะสามารถอยู่ต่อไปได้
 




       จากวิกฤตที่ต้องเจอ ธุรกิจได้บทเรียนอะไร?


       จิรวัฒน์ : อย่าวัดการบินของนกอินทรีกับนกกระจอกว่าใครเหินบินได้สูงกว่ากัน เพราะนกกระจอกก็ไม่รู้ความสวยบนภูผา ขณะที่นกอินทรีก็ไม่รู้ไอดินกลิ่นหญ้า และความสุขเหนือต้นไม้เตี้ยๆ วันนี้บางคนอาจจะมีเป้าหมายเป็นนกอินทรี อยากจะบินไกล แต่บางคนอยากเป็นแค่นกกระจอก ผมว่าทุกบริบทของอุตสาหกรรม เราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ อยู่อย่างสมถะในบริบทของตัวเอง ไม่ได้แย่งพื้นที่กัน


      ผมว่า SME ช่วงนี้เป็นช่วงที่ท้าทาย เป็นช่วงที่จะบอกตัวเองว่าเราจะไปรอดไหม เป็นช่วงเวลาที่จะได้กลับมาสะท้อนตัวเองว่าเรายังขาดอะไรอยู่ อะไรที่ต้องหามาเติมเต็ม ถ้าเป็นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ อาจใช้เวลานี้ตกแต่งโชว์รูมใหม่ เลือกสินค้าใหม่อีกรอบ จัดโกดังใหม่ จัดสะต๊อกใหม่ เวลาเกิดวิกฤตแม้ไม่มีลูกค้า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องให้ลูกน้องหยุดทำงาน ยังทำได้อยู่ ผมเห็นบางคนนั่งบ่น ไม่มีลูกค้าเข้ามาเลย ซึ่งการไม่มีลูกค้าไม่ได้หมายความว่า คุณไม่มีงานนะ เพราะคุณสามารถสร้างงานขึ้นมาเองได้ และงานพวกนี้ตอนจบมันช่วยให้ธุรกิจของคุณคล่องตัวขึ้น เมื่อโควิดหมดไปและทุกอย่างกลับมาสู่สภาพที่บริหารจัดการได้แล้ว


      และอยากฝากรัฐบาลในเวลานี้คือเรื่องของสินเชื่อ Soft Loan  อยากให้เตรียม Soft Loan ต่อยอดให้ SME กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ด้วย เพราะมี SME อยู่จำนวนมากทั่วประเทศ  อยากให้ SME เข้าถึงได้จริง ถ้าเข้าถึงได้แล้วทุกคนยังรู้สึกว่าเขายังอยู่ต่อไปได้ มีกระสุนที่จะเดินต่อ มีพลังที่จะไปต่อได้อีกระยะหนึ่ง และพอพ้นปีหน้าไป ผมเชื่ออย่างมั่นใจว่าเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จะกลับมาแข็งแรงอย่างแน่นอน และจะแข็งแรงมากกว่าเดิมด้วย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย