Main Idea
- เมื่อวิศวกรหนุ่มอดีตนักศึกษา MIT สหรัฐอเมริกา กลับมาสานต่อกิจการรีสอร์ทของครอบครัว ที่อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เกมธุรกิจบทใหม่จึงเริ่มขึ้น ด้วยการแจ้งเกิดโรงแรมน้องใหม่ “ริเวอร์ตัน อัมพวา” หวังเจาะตลาดสัมมนาที่สามารถรองรับได้ถึง 600 คน
- แม้จะเตรียมการมาอย่างดีตลอด 5 ปี แต่ในวันที่ต้องเปิดโรงแรมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลับต้องเจอกับสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ล้มพับฝันหวานตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดให้บริการ
- ในเวลาไม่นานหลังตั้งสติได้ เขาสามารถแก้เกม พลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยเปิดตัว “ริเวอร์ตัน Delivery” ขึ้น ซึ่งเป็น Food Delivery จากโรงแรมส่งตรงถึงบ้าน ด้วยบริการระดับโรงแรม เป็นเจ้าแรกของอัมพวา
กว่าที่ธุรกิจหนึ่ง หรือความฝันของคนๆ หนึ่ง จะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้สำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนรอคอยวันเปิดกิจการและหวังจะให้เป็นวันเริ่มต้นที่ดี มีอนาคตที่สดใสรออยู่ในวันข้างหน้า
แต่ถ้าวันเปิดตัวดันมาพร้อมกับวิกฤตครั้งใหญ่ล่ะ? คุณจะตั้งรับมันแบบไหน
นี่คือเรื่องราวของทายาทธุรกิจคนหนึ่งที่ชื่อ “ชินรัตน์ พงศ์พรรณากูล" คนหนุ่มที่อยู่เมืองนอกมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา ที่ University of Auckland นิวซีแลนด์ ก่อนไปต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา หรือ MIT (Massachusetts Institute of Technology) สถาบันที่มีชื่อเสียงของโลก
เขากลับมาเมืองไทยเพื่อสานต่อกิจการรีสอร์ทของครอบครัว ชื่อ “กนกรัตน์ รีสอร์ท” ในอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ก่อนมีความฝันอยากทำธุรกิจของตัวเอง จึงได้คิด วางแผน และริเริ่มก่อสร้างโรงแรมน้องใหม่ชื่อ “ริเวอร์ตัน อัมพวา” (Riverton Amphawa) ขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน โดยเป็นคนที่ดูแลเรื่องการออกแบบโรงแรมด้วยตัวเอง และมุ่งไปที่ตลาดงานสัมมนาเป็นหลัก ด้วยห้องสัมมนาขนาดใหญ่ที่จุคนได้ถึงประมาณ 600 คน ซึ่งใหญ่ที่สุดในอัมพวา ณ ปัจจุบัน และมีจำนวนห้องพักที่รองรับได้ถึงประมาณ 200 คน
ริเวอร์ตัน อัมพวา ใช้เวลาก่อสร้างอยู่หลายปี ก่อนทดลองให้บริการห้องสัมมนาเมื่อ 1-2 ปีก่อน จนมา 1 มีนาคม 2563 ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวโรงแรมอย่างเป็นทางการ โดยมียอดจองคึกคักชนิดเต็มยาวตลอดทั้งเดือน เฉพาะห้องสัมมนามีถึง 14-15 งาน ภายในเดือนเดียว
แต่ทว่าภาพหวานนั้นก็ต้องดับสลายลง เมื่ออีกไม่กี่วันต่อมาวิกฤตโควิด-19 ก็ทวีความรุนแรงขึ้น ตามมาด้วยมาตรการในการรับมือ ตลอดจนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส กระทบต่อธุรกิจโรงแรมที่พักอย่างเลี่ยงไม่ได้
นาทีนั้นหลายคนอาจกำลังจมอยู่กับวิกฤตจนมองไม่เห็นทางออก บางคนอาจเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ยอมรับชะตากรรม แต่กับชินรัตน์ เขาเลือกที่จะพลิกกลยุทธ์ให้เป็นโอกาส โดยมองต้นทุนรอบตัวและศักยภาพที่พอมี เพื่อแก้เกมในครั้งนี้
และนั่นคือที่มาของ “ริเวอร์ตัน Delivery” ซึ่งเป็น Food Delivery จากโรงแรมส่งตรงความอร่อยถึงบ้าน บริการโดยพนักงานโรงแรม เจ้าแรกในอัมพวา
การที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน หรือสถานที่ทำงาน ลดการออกมาสัมผัสเชื้อข้างนอก ส่งผลให้ชาวอัมพวาที่ก่อนหน้านี้ยังใช้บริการของ Food Delivery ไม่มากนัก กลับมาใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เป็นจังหวะเดียวกับที่ ริเวอร์ตัน Delivery เปิดตัว จึงได้รับการตอบรับที่ดีตามมา
โดยวิธีคิดของพวกเขาไม่ได้เน้นทำอาหารที่เลิศหรูอลังการหรือทานยาก แต่กลับคิดบนพื้นฐานที่เรียบง่าย คือขายอาหารที่คนจะทานได้บ่อยๆ ในราคาไม่แพง กินได้ทุกวัน เพื่อให้ตลอดเดือนแห่งการกักตัว พวกเขาจะยังมีลูกค้าที่สนับสนุนต่อเนื่อง
ริเวอร์ตัน Delivery ไม่ได้ผูกกับ Food Delivery เจ้าใด แต่พวกเขาเลือกทำระบบนี้ขึ้นมาเอง โดยเอาพนักงานโรงแรมทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 35 ชีวิต มาให้บริการ ทั้งเป็นฝ่ายขาย คนรับออเดอร์ คนทำอาหาร กระทั่งพนักงานจัดส่งก็เป็นคนของโรงแรมทั้งสิ้น
จึงสามารถควบคุมคุณภาพของอาหารตั้งแต่เดินทางออกจากโรงแรม และยังควบคุมบริการในแบบฉบับพนักงานโรงแรม ทั้งการไหว้ ทักทาย และขอบคุณ ไปจนถึงมือลูกค้าอีกด้วย
วันที่เริ่มทำอาจคิดเป็นเจ้าแรก แต่วันนี้หลายๆ โรงแรมก็ลุกมาทำ Food Delivery กันทั้งนั้น แต่พวกเขาก็ยังมีแต้มต่อที่สำคัญอยู่ นั่นคือเรื่องของ “โลเคชั่น”
ด้วยพิกัดของริเวอร์ตัน อัมพวา ที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง ทำให้ได้เปรียบเรื่องการขนส่ง โดยพวกเขาสามารถจัดส่งอาหารได้เร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง พนักงานสามารถทำรอบได้มากขึ้น และนี่คือแต้มต่อของพวกเขา
ริเวอร์ตัน Delivery มีกลุ่มลูกค้าหลักคือข้าราชการในพื้นที่ประมาณ50-60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเปิดร้านทำกิจการ และใช้บริการสั่งอาหารมาทาน เขาบอกว่าการขายอาหารก็เหมือนกับการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าแค่ภาพและเสียงในสื่อโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ เพราะคนได้สัมผัส และรู้จักโรงแรมน้องใหม่อย่างพวกเขาได้มากขึ้น โดยหวังว่าหลังไวรัสผ่านพ้น อย่างน้อยๆ คนในจังหวัดก็อาจจะกลับมาเป็นลูกค้าของโรงแรม ไม่ว่าจะกลุ่มงานสัมมนา หรืองานแต่ง งานเลี้ยงในพื้นที่ก็ตาม
ความคิดที่เฉียบคม บวกความพร้อมในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้ ริเวอร์ตัน อัมพวา ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ผ่านโครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการในช่วงวิกฤตเช่นนี้ด้วย
กลยุทธ์ธุรกิจจะเปลี่ยนไปไหมในยุคหลังไวรัส ชินรัตน์ บอกเราว่า เขาไม่เชื่อว่า New Normal จะมีอยู่จริง ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนได้ในเวลาเพียง 3 เดือน แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คนจะไม่ผูกติดชีวิตอยู่แต่กับออนไลน์เหมือนช่วงกักตัว แต่ยังต้องการประสบการณ์ในการเดินทาง ไปเที่ยว ไปพักผ่อน ไปทานอาหารดีๆ ที่ร้าน นั่นจึงทำให้ Food Delivery จะกลายเป็นเพียงตัวเสริมของธุรกิจที่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้คน แต่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของพวกเขาในอนาคต
แต่หมากรุกต้องเปลี่ยน โดยจากโรงแรมที่เคยคิดจะรับตลาดสัมมนาเป็นหลัก ก็จะมามุ่งเพิ่มสัดส่วนผู้เข้าพักให้มากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ขายซีฟู้ดบวกห้องพัก เปลี่ยนภาพคนมาอัมพวาที่มีแต่ตลาดน้ำและเดินชมสวน มาเป็นกินซีฟู้ดรสเด็ด ในราคาแพงไม่แพง สร้างความแตกต่างให้กับโรงแรมน้องใหม่อย่างพวกเขา
คนอื่นอาจมองว่า โควิด-19 เป็นวิกฤต เป็นความโชคร้ายที่ไม่อยากพบเจอ แต่สำหรับชินรัตน์เขากลับมองว่านี่เป็นเหมือนของขวัญ และโอกาสที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในชีวิต
“ผมมองว่าโควิดเป็นเหมือนของขวัญชิ้นใหญ่ ที่ทำให้ผมเห็นโอกาสในหลายๆ เรื่อง กลายเป็นว่าผมทำงานได้เต็มที่ 40 วัน ไม่หยุด ตื่นขึ้นมาคิดกลยุทธ์ใหม่ทุกวัน กลายเป็นทำธุรกิจใหม่ได้ภายใน 40 วัน จากไม่เคยทำ Food Delivery เราทำรูป ทำการตลาด เซ็ตระบบ และทำออเดอร์ได้ภายในวันเดียว มันสอนให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้ว เราไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้มันมีมูลค่ามากกว่าการทำกำไร 2 เดือนนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งหากเราทำให้ทีมงานปรับเปลี่ยนไปกับเราได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนได้ดีขึ้น ในอีก 30 ปีข้างหน้า ผมจะมีมากกว่าตอนนี้”
Did you know
“ชินรัตน์ พงศ์พรรณากูล" ถูกส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่อายุ 14 ปี เขาเรียนรู้การเอาตัวรอดในต่างแดน การใช้ชีวิตตัวคนเดียว พยายามเอาชนะอุปสรรคทางด้านภาษาและการเรียน ตั้งใจและต่อสู้ จนสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา ที่ University of Auckland นิวซีแลนด์ มาได้ ก่อนจะมีโอกาสเข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงของโลกอย่าง MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในเวลาต่อมา
ชินรัตน์ เป็นเด็กวิศวะ วิธีคิดหลายอย่างของเขาจึงเป็นการคิดในเชิงระบบ มองเป็นห่วงโซ่ เป็นชุดความคิดที่แตกต่างจากเด็กสายธุรกิจทั่วไป ระหว่างอยู่ MIT เขามีโอกาสเรียนกับอาจารย์ด้านบริหารธุรกิจนวัตกรรมเบอร์ต้นๆ ของโลก จึงเก็บเกี่ยวความคิดอีกด้านมาใช้ในการทำธุรกิจในวันนี้ ส่วนประสบการณ์ในต่างแดนก็สอนให้มีความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้การเจอวิกฤตโควิดตั้งแต่เดือนแรกของการทำธุรกิจ จึงไม่สามารถบั่นทอนความมุ่งมั่นที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวเขา
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี