ฉีกกลยุทธ์ “มาม่า” จากแบรนด์รองสู่เจ้าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 




Main Idea
 
  • “มาม่า” แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อยู่คู่เมืองไทยมายาวนานกว่า 48 ปี แม้ไม่ใช่แบรนด์แรกที่เกิดขึ้นในตลาด แต่กลับเป็นแบรนด์ที่ถูกนำมาเรียกกันติดปาก แทนชื่อเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนไทยมาจนทุกวันนี้
 
  • แถมยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย ที่ถือครองสัดส่วนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้นำเทรนด์ตลาดที่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคคนไทยด้วย
 


               

     หนึ่งในสินค้ายามยากที่ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตขึ้นครั้งใด สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยธรรมชาติ หรือภัยจากโรคระบาด ที่มักจะถูกนึกถึงและเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคคนไทยเสมอ ก็คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “มาม่า” เพราะเป็นสินค้าที่สามารถรับประทานได้ง่าย และมีราคาถูก
               

     แต่รู้ไหม มาม่า ไม่ใช่แค่ชื่อเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ติดปากคนไทยมานานกว่า 48 ปีเท่านั้น แต่ยังเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ประสบความสำเร็จและเอาชนะคู่แข่งมาได้ แม้จะเป็นแบรนด์รองที่เข้าสู่ตลาดทีหลังก็ตามที
               




     ก่อนจะมาฟังเรื่องราวความเป็นมาและการต่อสู้ของมาม่า เราลองไปทำความรู้จักกับเจ้าเส้นบะหมี่สีเหลืองหยักอีกหนึ่งนวัตกรรมสุดล้ำแห่งศตวรรษที่ 20 กันก่อน
               

      โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก้อนแรกของโลกนั้น เกิดขึ้นมาจากความคิดของ “อันโด โมโมฟุกุ” ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัทนิชชิน ในปี 2501 โดยเป็นช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นได้ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ทำให้ประชาชนต้องอดอยาก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนข้าวสาลีจากสหรัฐอเมริกาและนำมาผลิตเป็นขนมปังเพื่อช่วยเหลือประชาชน


     แต่อันโดเกิดความคิดว่าขนมปังไม่ใช่วิถีการบริโภคของคนญี่ปุ่น จึงได้ทดลองนำแป้งจากข้าวสาลีมาทดลองผลิตเป็นบะหมี่หรือราเมงที่สามารถกินได้ง่าย เก็บได้นาน ราคาถูกขึ้นมา โดยการนำเส้นบะหมี่ที่ได้ผสมรวมกับน้ำซุปกระดูกไก่ จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันปาล์มเพื่อไล่ความชื้นออก เพื่อทำให้เก็บรักษาได้นานขึ้น เมื่อนำมาเติมน้ำร้อนเส้นก็จะกลับมาคืนสภาพเช่นเดิมและกินได้ทันทีและมีความหวานจากน้ำซุปไก่แล้ว ทำให้ไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก้อนแรกของโลกจึงได้เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
               




     ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยกันบ้าง “มาม่า” ผลิตขึ้นโดยบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ด้วยทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ของไต้หวัน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยมีบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด รับผิดชอบด้านการทำตลาดและจัดจำหน่ายสินค้าให้ โดยหลังจากการดำเนินธุรกิจผ่านไปได้ปีแรก หุ้นทั้งหมดก็ถูกโอนกลับมายังผู้ถือหุ้นคนไทย
               

     ในช่วงแรกที่เริ่มเปิดตัวเข้าสู่ตลาดเมืองไทยนั้น อาจได้รับเสียงตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากถ้าพูดถึงแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย มาม่าได้เดินทางเข้าสู่ตลาดเป็นอันดับที่ 4 รองจากซันวา ยำยำ และไวไวตามลำดับ





    แต่เนื่องจากถือกฏมาทีหลังก็ดังกว่าได้และไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาอุปสรรคง่ายๆ มาม่าจึงมีการปรับเกมธุรกิจเพิ่มเติมรสชาติขึ้นมาให้มากขึ้น โดยรสชาติแรกที่ผลิตออกมา คือ รสซุปไก่ ตามมาด้วยรสหมูสับ และต้มยำกุ้ง ซึ่งกลายเป็นรสชาติยอดนิยมมาจนทุกวันนี้


     บวกกับกลยุทธ์การตลาดเร่งสร้างแบรนด์ โดยให้ผู้บริโภคส่งซองเข้ามาชิงโชคชิงรางวัลแจกทองและของสมนาคุณต่างๆ มากมาย จึงทำให้ชื่อเสียงของมาม่าแม้จะเป็นแบรนด์รองมาทีหลัง แต่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น จนกลายเป็น Generic Name หรือชื่อสามัญที่คนไทยเอาไว้ใช้เรียกสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปแล้ว





     ซึ่งไม่เพียงแต่แซงขึ้นมาเป็นที่จดจำแก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ในส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย มาม่ายังก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ถือครองสัดส่วนเกินครึ่งอยู่ในขณะนี้ด้วย โดยการเป็นผู้นำเทรนด์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งทุกครั้งที่มาม่ามีการปรับตัวก็ทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการเติบโตของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยตามไปด้วย


     ตั้งแต่การเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองที่ออกแบบรสชาติมาให้เลือกหลากหลาย การพัฒนารูปแบบจากซองมาเป็นคัพ เพื่อความสะดวกแก่ผู้บริโภค อยู่ที่ไหนก็รับประทานได้ การเลือกใช้ถ้วยกระดาษเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างแบรนด์พรีเมียมเพื่อแข่งขันกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศที่เข้ามา ไปจนถึงการกำหนดราคาขาย





     แต่จากการเป็นผู้นำตลาดที่ต้องคอยคิดนำเสนอสิ่งใหม่ป้อนให้กับตลาดเสมอ ก็ใช่ว่ามาม่าจะไม่เคยพลาดเลย หากยังพอจำกันได้ยุคหนึ่งมาม่าเคยออกเส้นบะหมี่โฮลวีท สำหรับคนรักสุขภาพ และเส้นชาเขียวในยุคที่ทุกอย่างอะไรก็ฮิตเป็นชาเขียวไปหมด แต่เนื่องจากอาจเป็นสินค้าที่ดูล้ำสมัยและมาเร็วเกินไป ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร จึงเลิกผลิตไปแล้ว


     โดยปัจจุบันจากการขึ้นเป็นผู้นำของตลาดที่มีสัดส่วนมากกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ในปี 2560 บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของผลิตภัณฑ์มาม่า มีรายได้อยู่ที่ 2,790,780,010 บาท กำไร 480,931,677 บาท และปี 2561 รายได้ 13,252,371,157 บาท กำไร 2,582,095,114 บาท นอกจากผลิตอยู่ในเมืองไทยแล้ว ยังมีการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย อาทิ เมียนมาร์ กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี ซึ่งตั้งใจจะใช้เป็นฐานการผลิตส่งไปยังตลาดยุโรป





     จากในแง่ของธุรกิจแล้วในด้านของเศรษฐกิจและสังคมเอง มาม่าหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วไปยังทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวชี้วัดสภาพเศรษฐกิจได้ดีอีกด้วย เพราะจากการเป็นสินค้าราคาย่อมเยา รับประทานง่าย อิ่มท้องได้ในราคาไม่กี่บาท จึงเป็นสินค้าที่ทุกครัวเรือนนิยมมีติดบ้านไว้ ดังนั้นในช่วงไหนที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือมีภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นไม่ว่าทางธรรมชาติหรือโรคระบาด จึงเป็นสินค้าที่ขายดีและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น


     แต่ก็ใช่ว่าการบริโภคมาม่าหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วไป จะเป็นที่ต้องการเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือที่พึ่งในยามวิฤตเท่านั้น ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนยุคใหม่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จึงเป็นสินค้าที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ได้ดีอีกทางหนึ่ง เพราะกินง่ายกว่า สะดวกกว่า แค่กดน้ำร้อนเติมลงไปอยู่ที่ไหนก็กินได้เลย แถมมีรสชาติให้เลือกเยอะแยะแบบไม่จำเจอีกด้วย
           

     และนี่คือ เรื่องราวของมาม่าและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สินค้ายอดนิยมที่คนไทยบริโภคเฉลี่ย 49 ชิ้นต่อคนต่อปีนั่นเอง
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย