TEXT : กองบรรณาธิการ
Main Idea
- Google ประเทศไทย รายงานคำค้นหายอดนิยมเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า การค้นหาเกี่ยวกับเมนูผัดและอาหารดอง พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยคำค้นหา “แกงไก่หน่อไม้ดอง” และ “วุ้นเส้นผัดไข่” พุ่งขึ้นถึงกว่า 5,000 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนถึงเทรนด์ที่คนอยากลุกมาทำอาหารทานเองกันมากขึ้น
- ส่งผลต่อเนื่องถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหาร ที่เติบโตเพิ่มขึ้นตามมา อาทิ เครื่องครัว อุปกรณ์การทำอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งบางชนิดถึงขนาดขาดตลาด ในวันที่กระแสนิยมเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวด
- ผู้ประกอบการร้านอาหารจะเรียนรู้อะไรจากปรากฎการณ์นี้ และต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจสตรองได้ในอนาคต ไปติดตามกัน!
___________________________________________________________________________________________
“แกงไก่หน่อไม้ดอง” และ “วุ้นเส้นผัดไข่” คือสองเมนูค้นหาที่พุ่งขึ้นถึงกว่า 5,000 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนเมษายนแค่เดือนเดียว
นี่คือตัวอย่างคำค้นหายอดนิยมตลอดช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดย Google ประเทศไทย สะท้อนพฤติกรรมในช่วงกักตัวของคนไทย ที่มีความสนใจและลุกมาทำอาหารเองกันมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องให้เติบโตเพิ่มขึ้นตามมา อาทิ เครื่องครัว อุปกรณ์การทำอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบต่างๆ ที่บางชนิดถึงขนาด “ขาดตลาด” ในวันที่กระแสนิยมเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวด
และนี่คือปรากฎการณ์ที่ธุรกิจร้านอาหารต้องจับตา!
- 10 เมนูสุดฮอต ที่คนอยากลุกมาทำในช่วงกักตัว
คนอยากทำอะไรในช่วงกักตัว Google ประเทศไทย เผยเทรนด์การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาตลอดช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า การค้นหาเกี่ยวกับเมนูผัดและอาหารดอง พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยคำค้นหา “แกงไก่หน่อไม้ดอง” และ “วุ้นเส้นผัดไข่” พุ่งขึ้นถึงกว่า 5,000 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ 10 เมนูอาหารยอดนิยมที่คนค้นหามากที่สุดในเดือนเมษายน 2563 มีดังนี้
1.Pancake recipe (สูตรแพนเค้ก)
2.สูตรอาหารลดน้ำหนัก
3.วิธีการทําไข่ตุ๋น
4.วิธีการทําหมูกรอบ
5.วิธีการทําผัดกะเพรา
6.วิธีการทําหมูแดดเดียว
7.วิธีการทําข้าวมันไก่
8.Dalgona coffee recipe (สูตรกาแฟดัลโกน่า)
9.Waffle recipe (สูตรวาฟเฟิล)
10.วิธีการทําข้าวเหนียวมูน
- ธุรกิจอาหารเรียนรู้อะไร ในวันที่ใครๆ ก็ลุกมาเป็นเชฟ
จากปราฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดเดือนแห่งการกักตัวที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้คนที่ลุกมาหากิจกรรมทำเพื่อคลายความเหงากันมากขึ้น จนผู้ประกอบการธุรกิจอาหารบางส่วน เริ่มเป็นกังวลว่า ถ้าคนทำอาหารกันเก่งขึ้น อาจจะเลือกทำอาหารเอง แทนที่จะมาใช้บริการที่ร้านอาหาร นั่นอาจทำให้จำนวนลูกค้าในอนาคตจะลดน้อยลง และกระทบถึงยอดรายได้ของร้านอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้
แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ความจริงเสมอไป และนี่คือบทเรียนที่ SME ร้านอาหารจะได้รู้ เพื่อกำหนดเกมธุรกิจอาหารของตัวเองในอนาคต
- โควิดทำให้คนทำอาหารเก่งขึ้น แต่หลังโควิด ‘เวลา’ จะแย่งพรสวรรค์นั้นกลับไป
นักการตลาดหลายรายแสดงความเห็นว่า พฤติกรรมที่คนลุกมาทำอาหารเองในช่วงกักตัว เป็นเพราะมีเวลาว่างมากขึ้น และต้องการหากิจกรรมเพื่อคลายเหงา การทำอาหารเอง ได้ถ่ายรูปลงบนโซเชียล สะท้อนความภูมิใจ และนั่นอาจทำให้บางคนได้อาชีพใหม่ระหว่างการกักตัว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ลุกมาทำอาหารจะไม่เป็นลูกค้าร้านอาหารอีกในอนาคต เพราะเมื่อไวรัสสงบ ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ สิ่งที่ทุกคนจะสูญเสียไปก็คือเวลา คนไม่มีเวลามาหาวัตถุดิบ ไม่มีเวลามาทำอาหาร แต่ละวันยังต้องวุ่นกับการทำงาน ฉะนั้นหลังโควิดธุรกิจร้านอาหารจะยังไม่ตาย
เพียงแต่สิ่งที่ท้าทายคือ ระหว่างการกักตัวทำให้คนรู้จักร้านอาหารใหม่ๆ มากขึ้น ที่ขายผ่านทางออนไลน์ หลายร้านที่ไม่มีโอกาสกินในยามปกติเพราะลูกค้าเยอะ อยู่ไกล ลำบากในการเดินทางหรือจอดรถ แต่วันนี้พวกเขาสามารถสั่งทานได้ง่ายๆ ที่บ้าน ฉะนั้นถ้าลองใช้บริการแล้วติดใจ แม้จะเคยเป็นลูกค้าประจำร้านเรามาก่อนในช่วงก่อนโควิด ก็อาจเปลี่ยนใจไปเป็นลูกค้าร้านอื่นได้ง่ายๆ เช่นกันจากปรากฎการณ์นี้
- เมนูอาหารต้องตอบโจทย์และสนุกขึ้น
ในวันที่ผู้คนเรียนรู้การทำอาหารเอง และเริ่มทำเมนูต่างๆ ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น นั่นหมายความว่า เมนูเดิมๆ ที่เขาเห็นจนชินตา อาจจะไม่ดึงดูดใจอีกต่อไป ถ้าเขามีตัวเลือกที่ดีกว่านั้น หรือการตั้งราคาที่สูงเกินไปในบางเมนูซึ่งคนได้เห็นต้นทุนวัตถุดิบที่แท้จริงแล้วระหว่างฝึกทำอาหาร เหล่านี้ก็อาจต้องปรับตัว เพราะคนอาจจะเลี่ยงที่จะทานแต่ไปเลือกสิ่งที่รู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายมากขึ้นแทน ซึ่งการปรับตัวของร้านอาหารก็อาจทำได้โดยการปรับพัฒนาเมนูให้น่าสนใจขึ้น ตอบความต้องการของผู้คนมากขึ้น มีการตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ทำสินค้าให้มีความแตกต่างมากขึ้น ชนิดที่ต่อให้ทำทานเองได้ คนก็ยังรู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินซื้อ
จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกักตัว บอกพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่ชอบทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น สนุกกับงาน DIY และการสร้างสรรค์เมนูต่างๆ ด้วยตัวเอง และยังชอบอวดความภาคภูมิใจนี้ให้ผู้คนบนโลกโซเชียลอีกด้วย นี่จึงเป็นโอกาสของคนทำธุรกิจอาหาร ที่อาจลองคิดเมนูที่คนจะสนุกและมีส่วนร่วมในการทำได้มากขึ้น เช่น ชุดพร้อมปรุงที่สามารถนำมาทำเองได้ง่ายๆ อาหารที่มาพร้อมส่วนประกอบบางอย่าง ให้คนสามารถมามิกซ์เป็นรสชาติในแบบของตัวเองได้ เป็นต้น แทนที่จะขายอาหารสำเร็จเพียงอย่างเดียว หรือเมนูเดิมๆ ที่คนต้องเจออยู่ทุกวัน ก็ลองเอาวิธีนี้ไปใช้ได้
- จับกระแสได้ไว ก็สร้างโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจอาหาร
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกักตัว สะท้อนเทรนด์ความสนใจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดสามารถตามกระแสได้ทัน แล้วพลิกเป็นกลยุทธ์การตลาดหรือไอเดียธุรกิจให้กับร้านของตัวเอง ก็จะสามารถสร้างโอกาสในวิกฤตได้ เช่น บางร้านอาหารที่ปรับตัวมาทำเมนูพร้อมปรุงส่งถึงบ้าน อาหารทานยากอย่าง พวกสุกี้ ชาบู ที่ขายพร้อมอุปกรณ์ เพื่อให้คนสนุกและยังสะดวกในการกินมากขึ้น แม้ในวันที่ออกไปทานที่ร้านเหมือนวิถีปกติไม่ได้ หรือวันที่เมนูเขียวหวานกลายเป็นกระแสดราม่า ร้านอาหารทั้งที่ขายเขียวหวานและไม่มีในเมนูก็หยิบเรื่องนี้มาเล่นได้อย่างทันท่วงที เพื่อใช้กระแสทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก เหล่านี้เป็นต้น
ดังนั้นการทำธุรกิจร้านอาหารจากนี้ไป ผู้ประกอบการต้องไม่อยู่แค่ในโลกของตัวเอง แต่ต้องเปิดหูเปิดตาและหาทางเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคด้วย เพื่อให้ร้านของเรายังเป็นตัวเลือกของลูกค้าแม้ในวันที่เขามีแบรนด์ให้เลือกมากมาย หรือแม้แต่ทำอาหารเองเก่งขึ้นแล้วก็ตาม
- คนยังทานอาหารที่ร้าน แต่ออนไลน์จะสำคัญมากขึ้น
โควิดสอนให้คนคุ้นชินกับการสั่งอาหารออนไลน์กินมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สอนให้ผู้ประกอบการร้านอาหารปรับตัวเองเข้าสู่โลกของออนไลน์ ปรับเมนูอาหาร แพ็กเกจจิ้ง การขนส่ง และปรับการบริการแบบใหม่เพื่อให้ธุรกิจยังไปต่อได้แม้ในวันที่ไม่มีลูกค้ามาทานที่ร้าน
หลังโควิดร้านอาหารจะยังคงอยู่ เพราะคนยังต้องการพื้นที่ให้มีปฏิสัมพันธ์กัน ยังอยากได้ประสบการณ์จากการนั่งทานที่ร้าน แต่โอกาสที่เพิ่มขึ้นตามมาคือ “ออนไลน์” เนื่องจากเทรนด์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ คนจะเจอกันแบบไม่เจอตัวมากขึ้น Work From Home จะยังมีอยู่ในงานบางกลุ่ม คนเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น การจ้างลูกจ้างประจำจะลดลง แต่องค์กรจะเปลี่ยนมาจ้างเอาท์ซอร์สมากขึ้น ฉะนั้นการสั่งอาหารออนไลน์จึงยังมีความต้องการ และเติบโตได้ ร้านอาหารจึงจำเป็นต้องผูกตัวเองเข้ากับออนไลน์ และเพิ่มช่องทางหารายได้ให้หลากหลายขึ้น ถ้าคนเข้าร้านน้อยลง เช่น ไปผูกตัวเองกับบริการ Food Delivery เพื่อขยายช่องทางในการสร้างรายได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรวมถึงการคิดโมเดลใหม่ๆ ในการหารายได้ เช่น การทำอาหารปิ่นโตผูกกับออฟฟิศและลูกบ้าน โดยใช้ระบบจ่ายเป็นรายเดือน หรือขายในระบบสมาชิก เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะไม่แน่ว่าหลังจากไวรัสจากไป ผู้ประกอบการจะยังต้องเจอโจทย์ท้าทายอะไรอีกบ้าง แต่ถ้ารู้จักวางแผน และกระจายความเสี่ยงไปในหลายๆ ช่องทาง แม้เจอวิกฤตที่หนักกว่าโควิดก็จะยังผ่านมันไปได้อย่างฉลุย
ในวันที่ไวรัสโควิด-19 เข้ามาบุกโลกธุรกิจ สร้างพฤติกรรมใหม่ให้ผู้คนลุกมาเป็นเชฟกันมากขึ้น ส่งผลถึงตลาดเครื่องครัวและอุปกรณ์การทำอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบต่างๆ ที่เติบโตเพิ่มขึ้นตามมา สวนกระแสสถานการณ์วิกฤต สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร นี่คือโอกาสในการเรียนรู้ถึงเมนูที่คนนิยม ความต้องการของคนที่เปลี่ยนไป รวมถึงสัญญานแห่งโอกาสใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับการพัฒนาสูตรอาหารของตัวเอง ตลอดจนการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อให้อยู่ได้อย่างสตรองในโลกหลังจากนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี