เช็คอิน 5 สูตรลับ โรงแรมเล็กบริหารยังไงให้รอดพ้นยุคโควิด

TEXT : นิตยา สุเรียมมา



 
 
Main Idea
 
  • โรงแรมที่พักขนาดเล็กถือเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงและค่อนข้างมาก
 
  • ด้วยสายป่านที่ไม่ได้ยาวพอเหมือนกับธุรกิจใหญ่ทั่วไป การปรับตัวให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้สำหรับโรงแรมขนาดเล็กพวกเขาจะต้องทำเช่นไร ลองไปเช็คอินหาคำตอบกับ 5 สูตรลับบริหารโรงแรมเล็กยังให้รอดพ้นยุคโควิดกัน
___________________________________________________________________________________________
 
 
     ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก นับเป็นอีกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การออกกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ จากภาครัฐ ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มจะถดถอย ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งต้องขาดแคลนรายได้ บางที่ถึงขนาดตัดสินใจปิดกิจการลงไปอย่างน่าเสียดาย บางแห่งสายป่านยาวหน่อย ก็สามารถประคองตัวให้รอดพ้นไปได้ แต่กับโรงแรมที่พักขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนสำรองเอาไว้มากมาย การจะดำเนินธุรกิจให้รอดพ้นฝ่าวิกฤตไปได้นั้นจะต้องทำอย่างไร 


     ลองไปเช็คอินหาคำตอบ 5 สูตรลับบริหารธุรกิจและการเงินยังไงให้รอดพ้นยุคโควิด-19 กัน  


 
  • สำรวจรายจ่ายทั้งหมดที่มี

     อันดับแรกก่อนที่จะลงมือทำทุกอย่าง เราควรมาสำรวจค่าใช้จ่ายทั้งหมดของธุรกิจออกมาก่อน เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของภาระทั้งหมดที่เกิดขึ้น ว่าปกติในแต่ละเดือนนั้น เรามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ เป็นค่าใช้จ่ายมาจากส่วนใดบ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจโรงแรมค่าใช้จ่ายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าผ่อนชำระสินเชื่อธนาคาร และ 2.ค่าใช้จ่ายผันแปร ได้แก่ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าซักผ้า สบู่ แชมพู น้ำดื่ม ฯลฯ โดยเมื่อคำนวณตัวเลขออกมาได้แล้ว จะทำให้เราสามารถตั้งรับ คิดหาทางออกได้ง่ายขึ้นกว่าที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย


 
  • คำนวณหารายได้ล่วงหน้า

     หลังจากรู้แล้วว่าในแต่ละเดือนนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ข้อต่อไปที่ต้องทำ คือ การประเมินศักยภาพรายได้ที่จะเข้ามา ซึ่งจะทำให้เรารู้ได้ว่ารายได้ที่เข้ามานั้นเพียงพอหรือขาดอยู่อีกเท่าไหร่ จึงจะสามารถครอบคลุมรายจ่ายที่เกิดขึ้นได้


     โดยควรคิดเผื่อไว้เป็นระยะๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน ว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นในแต่ละช่วงนั้นเราจะสามารถหารายได้หรือเงินทุนเข้ามาจากทางใดได้บ้าง โดยในเบื้องต้นของการประเมินหารายได้ เราอาจลองเปรียบเทียบกับข้อมูลรายได้และจำนวนห้องพักกับเมื่อปีก่อนๆ และลบออกไป 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ เพื่อให้ใกล้เคียงหรือตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด


 
  • ประเมินศักยภาพโดยรวมของธุรกิจ

     เมื่อเราสามารถประเมินภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและรวมถึงรายได้ล่วงหน้าของธุรกิจได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การบูรณาการทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด เริ่มจากรายจ่ายที่เกิดขึ้น มีหนทางใดบ้างที่เราจะสามารถปรับลดหรือประหยัดให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม หรือจะมีช่องทางเพิ่มรายได้จากทางใดอีกบ้าง จะหาคอนเนคชันและเปิดช่องทางการขายใหม่ๆ ได้อย่างไรบ้าง ในส่วนของหนี้สินเองซึ่งถือเป็นรายจ่ายส่วนหนึ่ง เราจะสามารถเจรจาประนอมหนี้ได้อย่างไร และสุดท้ายหากต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไป จำนวนเงินที่เหลืออยู่จะสามารถพยุงตัวต่อไปได้อีกสักกี่เดือน หรือเราต้องหาเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมมาจากที่ใดได้บ้าง
 


 
  • ตรวจเช็คความสามารถในการก่อหนี้

     แน่นอนว่าเมื่อไม่สามารถหารายได้เข้ามาได้เพียงพอกับรายจ่ายจำเป็นที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักนึกไปถึงการขอสินเชื่อและแหล่งเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้ก่อน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในวิธีหาทางออกที่สามารถช่วยได้ และปัจจุบันเองหลายแบงก์ก็เตรียมความช่วยเหลือไว้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนตัดสินใจกู้เงินหรือต้องกู้ในปริมาณเท่าไหร่ ให้ลองคิดเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าด้วยว่าเมื่อถึงเวลาต้องผ่อนชำระคืนนั้น เราจะมีความสามารถในการผ่อนชำระได้มากน้อยเพียงใด ไม่ควรกู้เกินศักยภาพที่คิดว่าตัวเองจะรับผิดชอบได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระหรือปัญหาเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง



 
  • เตรียมทุนสำรองสำหรับฟื้นฟูกิจการ

     ข้อสุดท้าย ในช่วงแรกนั้นแม้จะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติแล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ในทันที เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาในการปรับตัว ไม่ว่าจะลูกค้าเองที่ต้องปรับกับวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ระบบการเดินทางขนส่ง ไปจนถึงการทำงานของหน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่ทางโรงแรมเองก็เช่นกันที่อาจต้องมีการซ่อมแซมหรือปรับปรุงพื้นที่ใช้งานให้เหมาะสมเพื่อเตรียมตัวต้อนรับลูกค้า เช่น ที่พักบางแห่งหากเป็นห้องน้ำรวม ก็อาจต้องลองออกแบบพื้นที่การใช้งานเสียใหม่ โดยในช่วงระหว่างที่ทุกอย่างกำลังปรับจูนอยู่นี้ ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมทุนสำรองไว้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจอย่างน้อยสัก 1 - 2 เดือนเผื่อไว้ด้วย เพราะไม่แน่ใจว่ารายได้จะกลับมาสักเท่าไหร่ และในลักษณะรูปแบบใด
 

     และนี่คือ 5 ข้อที่อยากชวนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กเตรียมตัวเอาไว้แต่เนิ่นๆ สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอน การพยายามสำรวจตัวเอง ทำความรู้จักกับธุรกิจให้มากที่สุดในทุกด้าน น่าจะพอช่วยให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดีพร้อมกัน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย