TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
Main Idea
- ในที่สุดเวลาที่ผู้ประกอบการธุรกิจหลายคนรอคอยก็มาถึง เมื่อรัฐบาลประกาศผ่อนปรนกิจการบางประเภทให้สามารถเปิดให้บริการได้ อาทิ ร้านอาหาร ตลาด ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สนามกีฬา ร้านตัดขนสัตว์
- แต่ในวันนี้ทุกธุรกิจจะต้องปรับตัว ปรับรูปแบบการให้บริการที่ต่างไปจากเดิม เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่วิถี New Normal
___________________________________________________________________________________________
ในที่สุดเวลาที่ผู้ประกอบการรอคอยก็มาถึง เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนกิจการบางประเภทให้สามารถเปิดให้บริการได้ อาทิ ร้านอาหาร ตลาด ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สนามกีฬา ร้านตัดขนสัตว์ เป็นต้น มาดูกันว่า ธุรกิจเหล่านี้จะต้องปรับตัวอย่างไร ปรับรูปแบบของธุรกิจไปเป็นแบบไหน ในวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่วิถี New Normal
- ลงทุนปรับเปลี่ยนพื้นที่ร้านหรือรูปแบบการให้บริการ
วันนี้เราต้องอยู่ในสังคมปลอดเชื้อ ซึ่งตามคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ร้านค้าหรือธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องเพิ่มขั้นตอนหรือกระบวนการให้บริการ อาทิ ทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งก่อนและหลังการให้บริการ มีฉากกั้นระหว่างให้บริการ พนักงานในร้านต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่การเปลี่ยนภาชนะและแพ็กเกจจิ้งของอาหารและสินค้าเพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
- ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ด้วยเงื่อนไขและมาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้เจ้าของกิจการต้องให้บริการโดยคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) 2 เมตร ลดเวลาการให้บริการให้สั้นลง หรือให้บริการได้ไม่เต็มรูปแบบ อาทิ ร้านอาหารต้องงดการให้บริการในลักษณะที่ลูกค้าประกอบอาหารที่โต๊ะเอง ทั้ง ชาบู สุกี้ ปิ้งย่าง หรืองดบริการประเภทบุฟเฟ่ต์ที่ลูกค้าตักอาหารเอง ร้านเสริมสวยที่ให้บริการได้เฉพาะตัด สระ ไดร์ เท่านั้น นั่นหมายความว่ารายได้ที่เข้ามาย่อมไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่เคย สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำคือ บริหารจัดการการเงินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เริ่มต้นจากดูกระแสเงินสดของธุรกิจว่าจะมีเงินเข้ามาและจ่ายออกไปเท่าไร คาดการณ์สถานการณ์และแนวโน้มลูกค้าที่จะเข้ามาที่ร้าน เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าจะมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจได้เพียงพอ ซึ่งผู้ประกอบการต้องพิจารณาใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น มีอะไรบ้างที่ต้องจ่ายในช่วงนี้ คุ้มค่าหรือไม่ ถ้ายังไม่จำเป็นคงต้องชะลอการจ่ายไปก่อน
- จัดทำระบบจองคิว
เมื่อพื้นที่ในร้านเปิดให้บริการได้น้อยลง ต้องงดการรอรับบริการภายในร้านแต่จำนวนลูกค้าที่ต้องการซื้อและใช้บริการมีจำนวนมาก การทำระบบจองคิวล่วงหน้าคือคำตอบ อาจจะใช้วิธีการง่ายๆ เช่น ให้ลูกค้ามาลงชื่อในสมุดจองคิวหน้าร้าน โทรศัพท์เข้ามาจอง หรือจองผ่านระบบออนไลน์ก็ตาม จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการหน้าร้านได้ง่ายยิ่งขึ้น
- รับชำระเงินผ่านระบบ E-Payment
การจับจ่ายใช้สอยโดยการใช้เงินสดอาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไปและยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสจะยืดเยื้อออกไปนานแค่ไหน หากไม่อยากยุ่งยากในการทำความสะอาดเงินสดบ่อยๆ ผู้ประกอบการควรเปลี่ยนพฤติกรรมมารับ-จ่ายเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงลดความวิตกกังวลของลูกค้าไปพร้อมกัน นอกเหนือไปจากการสแกน QR code เพื่อจ่ายหรือโอนเงินแล้ว ยังมีรูปแบบการชำระเงินผ่านวอลเลตต่างๆ อาทิ Apple Pay, Google Pay, Line Pay ที่จะสามารถนำมาต่อยอดทำโปรโมชันกับลูกค้าได้อีกด้วย
- จดบันทึกผู้ใช้บริการและช่องทางการติดต่อลูกค้า
เพื่อสะดวกในกรณีที่ต้องมีการสอบสวนโรค ร้านค้าต่างๆ จึงต้องมีการบันทึกรายชื่อ วัน-เวลาเข้าใช้บริการและช่องทางติดต่อผู้ใช้บริการทุกราย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ก็ได้
- เน้นให้บริการออนไลน์
นับตั้งแต่เผชิญกับสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการจับจ่ายใช้สอยผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้กลยุทธ์การให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อสร้างประสบการณ์ความสะดวกสบายให้กับลูกค้าไปพร้อมกับให้บริการหน้าร้าน ที่สำคัญจะต้องไม่ลืมสื่อสารเพื่อสร้างการจดจำของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ด้วย
เมื่อโลกเปลี่ยนทิศ ผู้คนเปลี่ยนวิถี ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการ SME จะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกับโลกและผู้บริโภค ซึ่งการปรับตัวที่รวดเร็วและทันท่วงที จะทำให้เราไม่เพียงอยู่รอดในโลกยุคใหม่ได้ หากทว่ายังสามารถเปลี่ยนช่วงเวลาที่ยากลำบากให้กลายเป็นโอกาสธุรกิจได้เช่นกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี