“ศิริวัฒน์ แซนด์วิช” ชายผู้ล้มแล้วลุกตั้งแต่ยุค’40 จนถึงโควิด-19

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 

 

Main Idea
 
 
  • “ศิริวัฒน์ วรเวทคุณวุฒิคุณ” อดีตเศรษฐีพันล้านที่ล้มละลายในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ปลุกปั้นธุรกิจใหม่ขึ้นมาเลี้ยงครอบครัวและลูกน้อง เวลาผ่านมา 23 ปี ธุรกิจเล็กๆ ของเขาต้องเผชิญกับวิกฤตอีกครั้ง ชายมากประสบการณ์คนนี้สามารถตั้งรับกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
 
  • ศิริวัฒน์แซนด์วิช เป็นธุรกิจที่เกิดและเติบโตจากความคิดที่จะไม่ทอดทิ้งลูกน้อง ในวันนี้เขากำลังทำธุรกิจด้วยแนวคิดที่จะช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่ต่างกัน
 
 


     ในวงการธุรกิจไม่มีใครไม่รู้จัก “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” เศรษฐีพันล้านที่ล้มละลายจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ต้องมากลายเป็นพ่อค้าขายแซนด์วิชข้างถนนจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ผ่านเวลามาถึง 23 ปี ศิริวัฒน์แซนด์วิชต้องเผชิญกับ Covid-19 ไม่ต่างกับธุรกิจอื่น เราจึงยกหูโทรศัพท์คุยกับชายวัยเก๋ามากประสบการณ์ว่าเขารับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้อย่างไร
 
 
  • เล่าความต่างของวิกฤตที่ห่างกัน 23 ปี
               

     วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลกระทบกับธุรกิจขนาดใหญ่หรือนายทุนที่มีเครดิตไปกู้เงินจากต่างประเทศประมาณ 2 แสนคน ศิริวัฒน์เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ถึงขั้นล้มละลาย เขาชี้ให้เห็นความแตกต่างของเหตุการณ์ในปีนี้ที่ทำให้เศรษฐกิจดำดิ่งยิ่งกว่าปี 2540 ว่าในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ภาคครัวเรือนเติบโตปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และบัตรเครดิต ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนนี้เกิดขึ้นกับชนชั้นกลาง คนกินเงินเดือน ข้าราชการ และเกษตรกร ในขณะที่รายได้เพิ่มไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รายได้ที่ได้ไม่ได้สูงขึ้นตามดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีด้วยเช่นกัน





     ในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากนั้นมาจากรายได้ภาคการท่องเที่ยว หากเทียบกันดูในปี 2540 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่เกิน 2 แสนล้านบาท จนกระทั่งผ่านมา 22 ปี ในปี 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว เมื่อเกิดวิกฤต Covid-19 ยิ่งมาซ้ำเติมกับเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ซบเซาอยู่แล้ว ทำให้นี่คือจุดที่หนักและลำบากของประเทศไทย


     “เราเซเราทรุดอยู่แล้ว สถานการณ์ Covid-19 มากระทืบซ้ำ เหตุการณ์ขณะนี้ต่างจากปี 2540 โดยสิ้นเชิง แต่ผลกระทบของ Covid-19 ในที่สุดก็ต้องหายไป ต้องมีทางแก้ไขได้ แต่ผลกระทบภาคเศรษฐกิจหลังจากนั้นต่อให้สายการบินสามารถให้บริการได้ทันที แต่ไม่รู้ว่าอีกกี่เดือนกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา มันต้องใช้เวลา พอเป็นอย่างนี้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจตั้งแต่ก่อนโควิด ระหว่างโควิด และหลังโควิด เรายังคาดการณ์กันไม่ได้ว่าอีกกี่เดือนไม่รู้ ผมขอมองว่าปีนี้จีดีพีไทยจะติดลบ ส่งออกก็ยากเพราะประเทศผู้ซื้อของเราก็เจอปัญหาเหมือนกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจปีนี้จะหนักกว่าปี 40 และใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่า”
 



 
  • การขยับขยายของร้านแซนด์วิชต้องสะดุด


     20 ปีที่แล้วศิริวัฒน์แซนด์วิชวางขายอยู่ริมถนน ผ่านประสบการณ์นำสินค้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้า เปิดหน้าร้านของตัวเองที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


     “ผมผ่านประสบการณ์วางขายผ่านห้างสรรพสินค้า แต่ห้างเอากำไรไปเยอะ 35-40 เปอร์เซ็นต์ กว่าจะได้เงินก็ 45-60 วัน และเวลาจัดโปรโมชันอะไรก็ตามเราซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ต้องเป็นคนจ่าย หลังจากขายในห้างมาหลายปีเราพบว่ามีกำไรไม่พอค่าใช้จ่ายเลยหันมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่าน Line : @Sirivatsandwitch และคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะขายสินค้าซึ่งคนรู้จักอยู่แล้ว ขายง่าย ในราคาไม่แพงได้ ผมจึงใช้ระบบเอเย่นต์ ตัวแทนจำหน่าย วันนี้เราต้องทำธุรกิจ SME แบบพึ่งตนเอง ไม่ต้องไปพึ่งคนอื่น ผมเอาแซนด์วิชคล้องขอขายมาตั้งแต่อายุ 48 วันนี้ผมก็ยังขายแซนด์วิชอยู่”


     ล่าสุดศิริวัฒน์แซนด์วิชขยับขยายขึ้นไปเช่าพื้นที่บนรถสถานีไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น คว้าโอกาสจากการที่มีคนไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่บนสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติและอารีย์ เพราะเศรษฐกิจซบเซาบวกกับเหตุการณ์ Covid-19 ทำให้เขาไปต่อไม่ไหว





     “ถ้าวันนี้เราไม่เอาพื้นที่นี้ไว้ พอ Covid-19 หายเขาก็ไม่มีที่ให้เราแล้ว เราคว้าโอกาสตอนที่คนอื่นมองว่าเป็นช่วงไม่ดี นี่คือธุรกิจที่เราต้องตัดสินใจ ต้องยอมรับว่าวันนี้ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติขายไม่ดี แต่โชคดีที่ทางบีทีเอสเข้าใจร้านค้าทุกร้านบนสถานีและพิจารณาลดค่าเช่าให้ ถามว่ากลัวความเสี่ยงไหม ผมกลัวเพราะอายุก็มากขึ้นผมพลาดไม่ได้แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าทำธุรกิจทุกอย่างต้องมีความเสี่ยง แต่จะทำอย่างไรให้มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งร้านขายน้ำผลไม้เขาก็จะเลิกขายที่ทองหล่อ เอกมัย และศาลาแดง เราก็จะไปแทนเขา ซึ่งเขายกเลิกที่สถานีหมอชิตและชิดลมด้วย แต่ผมเลือกเอาสถานีที่ค่าเช่าไม่แพงเพื่อไปถัวกับค่าเช่าแพงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ วันนี้หลักคิดก็คือไม่ต้องไปคิดว่ามันจะขายดีหรือขายไม่ดีเท่าไร เพราะสินค้าผมอย่างไรก็ขายได้อยู่แล้วไม่จำเป็นต้องไปสถานีที่ที่แพงๆ”


     แม้วันนี้ร้านต่างๆ บนสถานีสนามกีฬาแห่งชาติที่เพิ่งลงทุนไปจะขายได้ไม่ดีนัก แต่ศิริวัฒน์แซนด์วิชยังพอขายได้ ด้วยเหตุผลที่ผู้บริโภครู้ดีว่าเป็นแซนด์วิชที่ผลิตสดใหม่ทุกวัน





     “ผมไม่ขายของเหลือ ซึ่งถ้าเหลือผมก็ให้ลูกน้อง หรือส่วนหนึ่งเอาใส่ตู้เย็นไว้วันรุ่งขึ้นก็เอาไปแจกคนกวาดถนน ตำรวจจราจร พนักงานห้างสรรพสินค้า แต่ผมบอกเด็กๆ ว่าอย่าแจกทุกวันเพราะเขาจะเบื่อแล้วอาจเอาไปทิ้ง และอย่าแจกซ้ำๆ ผมผลิตของใหม่ออกมาขายทุกวัน รักษาคุณภาพแซนด์วิชมา 23 ปี”


     นอกจากแซนวิชที่เป็นสินค้าหลัก วันนี้ศิริวัฒน์แซนวิชนำสินค้าจากเกษตรกรมาขาย ไม่ว่าจะเป็นกระท้อนแก้วจากจังหวัดน่าน ทุเรียนอบกรอบและมังคุดกวนจากจันทบุรี เขาบอกว่าในสถานการณ์นี้สินค้าเหล่านี้ขายได้ดีที่หน้าร้านในโรงพยาบาล แต่บนสถานีบีทีเอสยังขายไม่ได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ต้องให้ลูกค้าชิมก่อนเขาจึงจะซื้อ แต่วันนี้ลูกค้าไม่สะดวกชิมเพราะใส่หน้ากากอนามัยกันหมด แล้วรอเวลาที่ Covid-19 หายไป ตอนนั้นจึงจะมีโอกาสหาย


     “ทุกอย่างมันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่เราก็ต้องทำต่อ เพราะว่าหลังโควิดหมดไปแล้วทุกอย่างก็จะกลับมาปกติ”
 



 
  • เกิดและเติบโตจากการให้
               

     หากย้อนไปการกำเนิดของศิริวัฒน์แซนด์วิช คือทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวและเป็นที่พึ่งของลูกน้องอีก 20 ชีวิต ไม่ทิ้งคนที่ทำงานมาด้วยกัน
               

     “ผมพูดมาตลอดว่าถ้าวันนั้นผมทิ้งลูกน้องผมคงไม่ได้มาขายแซนวิช และศิริวัฒน์แซนวิชคงไม่เกิด เพื่อนหลายคนเคยพูดในช่วงที่ผมขายแซนวิชใหม่ๆ ว่าทำไมไม่ฉลาดเลย ไม่รู้จักเอาคอนเนคชัน ความสามารถ ความรู้ ไปทำอย่างอื่น เอามาขายแซนวิช ผมก็บอกว่าตอนนั้นผมตกต่ำไม่มีใครพร้อมที่จะช่วยผม และเราก็ไม่มีเครดิตแล้ว ถูกแบล็กลิสต์ ก็เลยก้มหน้าก้มตารับชะตากรรม และไม่เคยคิดว่าก้มหน้าก้มตาทำแซนวิชแล้ววันหนึ่งจะฟื้น”
               

     แบรนด์ศิริวัฒน์แซนด์วิชกลายเป็นตัวแทนของคนล้มจากพิษเศรษฐกิจแล้วสามารถยืนขึ้นได้ใหม่ ซึ่งในวันนี้เจ้าของแบรนด์ก็ยังคงแนวคิดดั้งเดิมเพื่อขยายธุรกิจต่อนั่นก็คือการมองเห็นและพร้อมช่วยเหลือคนอื่น
               


     สเต็ปต่อไปของแบรนด์คือการขยายไลน์สินค้า จากที่เน้นแซนด์วิชไปขายน้ำผลไม้ไทย ใช้วัตถุดิบที่อยู่ในประเทศไทย เช่น น้ำเม่าเบอรี และน้ำมะนาวแท้ 6 เปอร์เซ็นต์ โดยจะซื้อวัตถุดิบในรคาที่เกษตรกรอยู่ได้มีกำไร โรงงานที่ผลิตอยู่ได้มีกำไร และสุดท้ายธุรกิจของศิริวัฒน์แซนด์วิชก็มีกำไร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทุกคนอยู่ได้ทั้งหมด
               

     เขายกตัวอย่างการผลิตน้ำมะนาวแท้ซื้อน้ำมะนาวจากสหกรณ์ผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว ดำเนินสะดวก ซึ่งมะนาวที่ออกผลทั้งปีนั้นมีเพียงช่วงหน้าแล้งที่เกษตรกรขายมะนาวได้ลูกละ 5-6 บาทและได้กำไร แต่อีก 8 เดือนต่อปีที่เหลือมะนาวออกเยอะจนขายได้เพียงลูกละ 20-25 สตางค์จนขาดทุนและอยู่ไม่ได้ ศิริวัฒน์แซนด์วิชจึงรับซื้อในราคา 80 สตางค์ถึง 1 บาทในช่วงนั้น
               

     นั่นคือน้ำผลไม้ที่ศิริวัฒน์แซนด์วิชวางขายอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอายุการเก็บรักษาไม่กี่วัน เรียกว่าต้องดื่มกันสดๆ แต่ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็นน้ำผลไม้และสมุนไพรไทยอีก 12 ชนิดที่จะสามารถเก็บได้ 1 ปีเพื่อกระจายขายได้ทั่วประเทศ
               

     “ผลไม้เหล่านี้เป็นวัตถุดิบและขึ้นจากดินประเทศไทย นั่นคือแนวคิดผม และลูกค้าดื่มเข้าไปก็ดีต่อสุขภาพ ขายในราคาขวดละ 20 บาท เพราะช่วงนี้คนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำธุรกิจแล้วอาจไม่ประสบความสำเร็จ คนตกงานก็เยอะ ผมก็เลยทำสินค้านี้ให้กับคนที่สนใจมาเป็นตัวแทนจำหน่าย ไม่ต้องลงทุนเยอะ ผมจะมีนโยบายว่าค่าขนส่งครั้งแรกที่คุณสั่งผมออกให้ คุณได้กำไรเต็มๆ แต่เมื่อขายได้แล้ว ครั้งต่อไปเขาต้องจ่ายค่าขนส่งเอง ผมมีไอเดียนี้เพื่อช่วยเหลือกัน ให้คนสามารถมีรายได้ เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจแย่ เพราะน้ำสมุนไพรหรือน้ำผลไม้ราคา 20 บาทคนก็ลองได้ทันที ไม่ต้องมานั่งอธิบาย นี่คือโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น”
               




     เป็นเพราะเคยผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ในชีวิต นั่นทำให้ในวันนี้ศิริวัฒน์ตั้งรับกับวิกฤตครั้งนี้ได้ดีกว่าเดิม ซึ่งต้องเกิดจากการคิดบวก


     “ผมก็อยากบอกว่าขอให้คิดบวกว่าวันนี้แย่ ก็มีพรุ่งนี้อีก ในฐานะที่เป็นลูกหนี้มาก่อน ในวิกฤตเราก็คุยกับเจ้าหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ ซึ่งมาตรการตอนนี้มีอยู่แล้ว เพราะในที่สุดเดี๋ยวมันก็ไป อย่าท้อก็แล้วกัน วันนี้ธุรกิจเราไม่ได้ใหญ่โต เราเป็น SME ที่ไม่ได้มีทุนเยอะ หลังๆ ผมก็เอาธรรมมะเข้ามาช่วย ไม่มีอะไรที่แน่นอน มันสูงได้ก็ต่ำได้ รวยได้ก็จนได้ เป็นวัฏจักร ก็ยอมรับว่าตอนนั้นก็คิดหนักแต่ไม่รู้จะทำอะไร ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย